วันศุกร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 6/31


พระอาจารย์
6/31 (550110D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
10 มกราคม 2555


พระอาจารย์ –  บอกแล้วว่าตามธรรม แต่ละคน ตามเหตุปัจจัย ทุกอย่างควบคุมไม่ได้ ใครจะไปใครจะมา บอกว่าจะไม่มาก็มา บอกว่าจะมาก็ไม่ได้มา ...เห็นมั้ย ทุกอย่างเป็นไปตามธรรม 

แต่ใจเรายอมรับสิ่งที่เป็นไปตามธรรมนี้ได้มั้ย เป็นกลางมั้ย ดีใจมั้ย เสียใจมั้ย ...ก็ต้องทัน แล้วก็ละความไม่เป็นกลางต่อสิ่งที่มันเป็นกลาง คือตามที่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ อย่างนี้

การภาวนาก็ทำอยู่อย่างเนี้ย เรียนรู้อย่างเนี้ย สังเกตดูตรงนี้ บ่อยๆ ...แต่ถ้าไม่มีสติ มันก็ไม่เห็นอาการที่ปรากฏผุดโผล่เดี๋ยวนี้ ตั้งอยู่ในปัจจุบัน ...แล้วเราไปติดข้องอะไรกับปัจจุบันนี้มั้ย

มันก็ไม่เห็นว่าเราติดข้องมั้ยกับปัจจุบัน ...มันอยู่ในความติดข้อง มันไม่รู้หรอกว่ามันติดข้อง ...แต่เมื่อใดที่เราตั้ง รู้อยู่ เห็นอยู่ มันก็จะเห็นว่าตอนนี้ติดข้องหรือไม่ติดข้อง

แล้วก็รู้หยั่งลงไปอีกว่าติดข้องเพราะอะไร ไม่ติดข้องเพราะอะไร  มันก็เข้าใจ...อ๋อ ติดข้องเพราะยึดว่ามันเที่ยง อ๋อ ติดข้องเพราะว่ามีตัวมีตนเป็นเรื่องเป็นราวเป็นสุขเป็นทุกข์

มันก็ดูลงไป มันอยู่ตรงไหน สุข-ทุกข์ ตัวตนนั้นมีจริงมั้ย เป็นจริงมั้ย  ธรรมที่ว่า ธรรมที่มันเชื่อนี่ว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ...เอ้า ดูไปดูมา วาบๆๆๆ ดับๆๆ ไม่มี

อ้าว ก็มีแค่อะไรปรากฏอยู่เท่านี้ เขามาก็มา เขาไปก็ไป จบอยู่แค่นี้ ...นี่คือธรรมที่ปรากฏตามจริง ...แล้วกับภายนอกเนี่ย มันก็เรียนรู้อย่างนี้

พอไม่มีเรื่องราว ...เอ้า อย่างสมมุติธรรมดาไม่มีอะไร มีกายมั้ยล่ะ ดูเข้าไปดิ นี่ก็เป็นธรรม ก็รู้กายเห็นกายไว้ ...นี่ล่ะ ก็เรื่องเดียวกัน ดูแบบเดียวกัน

มันติดมั้ย ยึดมั้ย ให้ค่ามันมั้ย ทำไมถึงให้ค่า มันมีค่าจริงมั้ยอย่างเราที่ให้ค่าตามความเชื่อความเห็นนี้ว่า มีค่าว่าเป็นชาย มีค่าว่าเป็นหญิง มีค่าว่าเป็นเรา

ดูดีๆ จำแนกลงไป ก็จะเห็นว่าความมีค่าที่แท้จริงของมันคืออะไร ค่าที่แท้จริงของมันเท่าไหน ...ดูไปดูมาจะเห็นค่าเสมอกันคือสูญ

นั่นเรียกว่าธรรมนั้นเป็นสูญ ธรรมนั้นเป็นสุญญตา ธรรมนั้นสุญโญ มันเป็นอย่างนั้น เห็นอย่างนั้น ...เห็นลงไป ซ้ำลงไป ย้ำลงไป

เพราะนั้นการภาวนาจริงๆ คือการศึกษาธรรมตามความเป็นจริง ...เราถึงบอกว่าทุกอย่างเป็นธรรมไง ไม่มีอะไรไม่เป็นธรรมหรอก เป็นธรรม...แต่เราไปว่าเขาเองว่าไม่เป็นธรรม

การไปการมาของสัตว์บุคคล ทุกอย่าง เรื่องราวต่างๆ ที่ปรากฏผุดโผล่เดี๋ยวนี้ขณะนี้ ทุกอย่างเป็นธรรมที่แสดง คือธรรมที่ปรากฏ ที่สุดของธรรมนี้..ดับ เห็นถึงความดับไปเป็นปกติ เป็นธรรมดา

มันดับ...ทำไมมึงไม่ดับ แค่นั้นเองปัญหา... อ้าว มันดับไปแล้วนี่ภาพนี้ ยังคิดต่อ ทำไมไม่ดับ ทำไมยังเก็บมาเป็นเรื่องอีก ...ก็เรียนรู้ต่อไป ศึกษาธรรมนี้ต่อไปว่า อ๋อ ธรรมนี้เรียกว่าสัญญา 

อ๋อ ธรรมนี้เรียกว่าเป็นแค่ความปรุงแต่งหนึ่งของนามขันธ์ ...มีตัวมั้ย มีตนมั้ย มีชีวิตมั้ย เป็นสัตว์เป็นบุคคลมั้ย ดูต่อ สำเหนียกต่อ ตั้งมั่นไว้ เป็นกลางไว้ เห็นต่อ ...ก็เห็นว่าที่สุดก็คือดับเหมือนกัน ไม่มีตัวไม่มีตน

ต่อไปมันก็ทันหมดน่ะ พอตรงนี้ดับ ตรงนี้ผุด ข้างหน้าดับ ตาเห็นรูปแล้วดับ ปุ๊บ ข้างในมันยังมีสัญญาผุดโผล่ขึ้นมาปั๊บ..ดับ ...ไม่มีประโยชน์ เก็บไว้ทำซากทำไม ก็ดับ

แล้วต่อไป พอมันฝึกไปเรียนรู้ไปปัญญามากขึ้นไป  มันจะเห็นความดับพร้อมกันในปัจจุบัน ข้างนอกดับข้างในก็ดับ ไม่เกิด ...พอมันจะเกิดก็ แวบ วูบ ดับ ขันธ์ ๕ ภายในดับ

ไม่ใช่ว่าขันธ์ ๕ ภายนอกเขาดับไปตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว ไอ้นี่ยัง หูย ข้ามภพข้ามชาติอยู่นั่น  นี่มันไม่สมดุล ปัญญามันไม่พอดีกันลงในปัจจุบัน ...มันต้องลงพอดีกัน

จิตใจก็จะเบา สบาย มันไม่แบก ...มันเบาเพราะมันไม่แบก มันไม่หาม มันไม่รู้จะไปแบกอะไร นี่มันดับไปแล้วภาพเมื่อกี้ ก็ไม่คิดก็ไม่จำ ก็ไม่หาจริงหาเท็จอะไร ถูก ผิด ควร ร้าย ดี ชอบ

หนักนะนั่น ถ้าคิดก็หนัก ถ้าคิดก็แบก ...แบกอะไร แบกในสิ่งที่มันดับไปแล้ว แบกในสิ่งที่เขาจะทำหรือไม่ทำอะไร ทั้งที่เขายังไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่มีอะไรจริงทั้งนั้น แล้วไปแบกความไม่จริงอยู่นั่นได้ยังไง

แต่มนุษย์ทุกวันนี่แบกโลก แบกทั้งโลกเลย แบกเรื่องราว แบกสัตว์บุคคล แบกเรื่องราวของสัตว์บุคคล แบกเรื่องของเราทั้งอดีตทั้งอนาคต ...มันไม่รู้กี่แบกน่ะ

ทั้งๆ ที่มันยังไม่มีอะไรเลยนะ ดูสิ ดูดีๆ สิ ...แต่มันไม่เชื่อ ใจยังไม่เชื่อ เห็นอยู่ตอนนี้นะ แต่ใจยังไม่เชื่อ ...ต้องซ้ำ ย้ำๆๆๆ ซ้ำซากอยู่อย่างนั้น ถึงเรียกว่า ภาวิตา พะหุลีกะตา

การภาวนาต้องเพียรเพ่งอยู่อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องซ้ำแล้วซ้ำอีก ๆ จึงจะเกิดเป็นญาณวิมุตติทัสสนะ ความรู้นี้จึงจะรู้ชอบเห็นชอบ รู้แจ้งเห็นจริง ยอมรับตามความเป็นจริงนั้นได้

ปัจจัตตัง...ใจมันยอมรับเอง ...คราวนี้บอกให้มันยึด บอกให้มันคิด มันก็ไม่คิด มันไม่รู้จะคิดทำไม เหนื่อย ไม่มีเรื่องไม่มีสาระจะไปคิดทำไม บอกให้มันคิดก็ไม่รู้จะคิดทำไม

มันรู้สึกว่าเป็นทุกข์ซะอีกถ้าไปบังคับให้มันคิด ให้หาเหตุหาผลว่าควรจะทำยังไงหรือไม่ทำยังไง มันบอกว่าเหนื่อย มันรู้สึกเลยว่าเบื่อหน่ายที่จะคิด ที่จะเห็นแต่ความทุกข์

มันเห็นแต่ความไม่จบไม่สิ้น ...ไม่เอาน่ะ มันเบื่อ เบื่อ เห็นความน่าเบื่อของการที่คิดไป หาออกไป มันก็อยู่แค่นี้ มันมีความพอใจ ยินดีพอใจในแค่รู้เห็นในปัจจุบันนี่

เพราะนั้นเขาเรียกว่าพอดี พอดีคือพอใจแค่ปัจจุบัน พอดีนะ...ไม่ใช่สุขนะ ...เพราะนั้นตัวรู้ตัวเห็นแค่นี้ อะไรที่มันปรากฏเท่านี้ มันราบเรียบเหมือนแผ่นกระดาน

มันไม่ใช่สุขและก็ไม่ใช่ทุกข์ จะเรียกว่าสุขก็ไม่ได้ จะเรียกว่าทุกข์ก็ไม่ได้ มันเป็นความพอดี มันเป็นความปกติ มันเป็นความธรรมดา มันมีความเสมอกัน คือความราบเรียบสม่ำเสมอ เท่ากัน

จนต่อไปมันจะเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นอันเดียวกัน เป็นธรรมเดียวกัน ไม่ว่ากาย ไม่ว่าใจ ไม่ว่ารูป ไม่ว่านาม ไม่ว่ารู้ ก็เป็นธรรมเดียวกัน เกิดที่ใดก็ดับที่นั้นพร้อมกันไป


โยม –  เป็นอย่างนั้นแล้วจะออกจากคุกแห่งสังสารวัฏได้มั้ยครับอาจารย์

พระอาจารย์ –  ได้ อย่างน้อยก็เอาขาก้าวออกมาก้าวนึงแล้ว เอาตัวออกมาอีกครึ่งซีก อีกข้างนึงยังอยู่ในฝั่งตะแกรงลูกกรง แล้วมันก็ค่อยๆ หลุดๆๆๆๆ เคลื่อนออก ...หลุดพ้น

เข้าใจคำว่าหลุดพ้นมั้ย ใจดวงนี้จะหลุดพ้นออกจากขันธ์ หลุดพ้นออกจากสามโลก ...มันก็เหมือนกับเรากำลังเบียดตัวเองออกจากลูกกรง

คือมันไม่ได้เบียดหรือไม่ได้ทำอะไร ...จริงๆ มันกลับมาตั้งมั่นอยู่ที่ใจดวงเดียวนี่แหละ ดวงจิตผู้รู้อยู่เห็นอยู่นี่แหละ...เริ่มต้นตรงนี้ ระหว่างทางอยู่ตรงนี้ ที่สุดก็เหลือแค่นี้

สุดท้าย...ท้ายสุด หมด จบ หมดสิ้น ดับโดยสิ้นเชิง ไม่เหลือเลย ทั้งโลกทั้งขันธ์ ทั้งใจทั้งผู้รู้...ดับโดยสิ้นเชิง คือไม่มีความหมายมั่นในที่ใดทั้งปวง

ไม่มีที่ใดที่มันหมายมั่นตั้งขึ้นในที่ทั้งปวง หมด ดับ  นี่เขาเรียกว่านิโรธ ไม่หวนไม่คืน ...ท่านเปรียบเหมือนไม้เปียกจุ่มน้ำน่ะ สีไฟก็ไม่ติด พระพุทธเจ้าท่านเปรียบอย่างนี้

เหมือนล้อเกวียนที่หักเพลา...เกวียนไม่เดิน มีแต่ล้อ มีแต่เพลาที่หักแล้ว ...พอถึงจุดนี้มันหมดแล้ว ดับสิ้นซึ่งการเดิน อะไรเดิน..จิตไม่เดินแล้ว หยุดการเดินแล้ว ไม่มีการเดินทางไกลทางใกล้แล้ว

แต่ตอนนี้จิตมันไม่ยอมหยุด อะไรนิดอะไรหน่อย มันแพล้บ แพล้บออกๆๆ  ทั้งๆ ที่ว่ามันไม่รู้จะออกไปทำซากอะไรนะ มันออกก่อนแล้ว ...พ่อแม่มันสอนมัน พ่อแม่มันคือจิตไม่รู้

เอะอะๆ อะไรปุ๊บ..หา กระโตกกระตาก กระวนกระวาย วูบวาบๆ ออกไปเลย ...นั่นเป็นปฏิสัมพันธ์แรกของผัสสะ หรือว่าอะไรที่เกิดขึ้นแล้วไม่มีสติสมาธิรักษาครองใจอยู่นะ

ปฏิสัมพันธ์แรกคือมันแกว่งแล้ว ส่ายไป ยิ่งนานไปปุ๊บมันก็ให้ค่าเป็นสมมุติบัญญัติ  แล้วก็พอกๆๆๆ จนเป็นหน้าตาตัวตน ขันธ์ ๕ เริ่มแข็งแกร่งขึ้นแล้ว

ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ตัวนี้ของเรานะ  ขันธ์ ๕ คนอื่นด้วย ความเป็นสัตว์บุคคลของคนอื่นก็พร้อมกันพอกันกับขันธ์ ๕ ที่มีตัวเรากำลังคิดกำลังปรุงอยู่

ขันธ์ ๕ เขา ขันธ์ ๕ เรา ขันธ์ ๕ ของสัตว์โลก ก็ปนอยู่ในโลกที่มันสร้างขึ้นมาภายในน่ะ ...นั่นเขาเรียกว่ากามภพ รูปภพ อรูปภพก็เกิดจากนี่ เกิดจากขันธ์ ๕ นี่แหละ

(เสียงสัมผัสกาย)...นี่ตรงนี้กามภพ ทั้งหมดนี่รูปภพกับอรูปภพ คือนาม ...รู้เท่ารู้ทัน รู้ละรู้วาง รู้ปล่อย นั่นแหละที่ว่าพระพุทธเจ้าสอน ไม่ผิดจากพระพุทธเจ้าสอน

เราไม่รู้อ่ะใครเขาว่าผิด ใครเขาว่าถูก เราไม่สน ...แต่เรารู้ว่าเรา “ตรงต่อธรรม” เราสอนให้ทุกคนตรงต่อธรรม เราไม่เคยสอนให้บิดพลิ้วออกจากธรรม เราไม่เคยสอนให้เข้าไปเบี่ยงเบนธรรม

เราไม่เคยสอนให้ไปเห็นธรรมที่เหนือกว่าธรรมที่มันปรากฏ  เราถือว่าเราตรง...เราสอนตรง เราถือว่าเราแนะนำให้ทุกคนเข้าสู่ความตรงต่อธรรม

เพราะนั้นปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง นั่นแหละเป็นเบื้องต้นของผู้ปฏิบัติ เป็นปากทางของนิพพาน ต้นทางของมรรค...ต้องเริ่มด้วยสัมมาทิฏฐิที่รู้ตรงเห็นตรงก่อน

ธรรม...อะไรเป็นธรรม ตรงต่อธรรมจริงๆ แล้วเริ่มจากจุดนั้น จะไม่คลาดเคลื่อน ...พอเคลื่อนก็คอยตะล่อมกลับมา คนอื่นไม่ตะล่อม ก็ตัวเองก็ต้องตะล่อม

ว่านี่มันเกินธรรมแล้ว รู้เกินธรรมแล้ว หรือทำเกินธรรมแล้ว หาเกินธรรมแล้ว เห็นเกินธรรมแล้ว ...ก็ไม่เข้าไปจริงจังกับไอ้อะไรที่มันเกินๆ ออกมา

กลับมาทำความสมดุลคือ เป็นกลางอยู่ภายใน คือรู้กลางๆ ไว้ ...รู้กลางๆ ไว้  อย่าตื่นเต้น อย่าจับทีเดียวอยู่ ก็เรียกว่ารู้กลางๆ ไว้ ทำความสมดุลไว้

ตัวกลาง ตัวจิตรู้นี่ก็ทำความสมดุลกับอาการของขันธ์ ...ที่บางขันธ์บางอาการนี่ ไอ้ที่มันตื่นเต้นเพราะมันไม่เคยเจอมาก่อนตั้งแต่เกิดมาอย่างนี้ มันก็ตื่นเต้น

หรือไอ้ที่มันดีใจเสียใจ ก็เพราะมันเกิดมาแล้วดันไปตรงกับสัญญาความทรงจำที่คนอื่นเขาพูดว่าสภาวะนั้นสภาวะนี้ ปุ๊บ มันก็ดีใจ เห็นมั้ย ...สมดุลไว้ๆ รู้เฉยๆ มันก็จะปรับสมดุล เกิดความราบเรียบในธรรม 

พอตั้งมั่นเป็นกลางดีแล้ว สมาธิตั้งมั่นดีแล้ว ธรรมนั้นยังปรากฏอยู่ตามเหตุและปัจจัยอันควร ...เมื่อสิ้นเหตุและปัจจัยอันควรนั้น คือหมดเหตุปัจจัยการตั้งอยู่ปุ๊บ ด้วยความเป็นกลางนี่ก็จะเห็นความดับไป

ถ้าเข้าใจอย่างนี้ การปฏิบัติธรรมไม่ยากหรอก ให้เข้าใจอย่างนี้ ให้ปฏิบัติลงอย่างนี้ ...ไม่ต้องไปแข่งกับใคร ไม่ต้องไปเอาใครมาเปรียบเทียบ ...ตัวเองนี่แหละ เป็นเรื่องของตัวเองล้วนๆ

จนไม่มีตัวเอง จนเป็นเรื่องของธรรมชาติล้วนๆ ...ตัว "เรา" หมดไปเมื่อไหร่ ทั้งหมดนี่เป็นเรื่องของธรรมชาติล้วนๆ เลย ขันธ์เป็นเรื่องของธรรมชาติ

ก็ลมมันเย็นอ่ะ(หัวเราะ) ...จะทำยังไง ก็ลมมันเย็น ลมมันไม่ร้อน ก็ลมมันเย็น จะไปว่าลมมันดีลมมันร้าย ลมมันถูกลมมันผิด ลมก็คือลม อย่างนี้ มันก็เป็นธรรมชาติล้วนๆ

ทุกอย่างเป็นธรรมชาติล้วนๆ คืนสู่ธรรมชาติเดิมล้วนๆ ใจก็คืนสู่ธรรมชาติใจล้วนๆ คือรู้เห็น ไม่มีอะไรในรู้ในเห็น ไม่มีอะไรออกมาจากรู้จากเห็น ...มันคืนสู่ธรรมชาติของใจ

ขันธ์ก็คืนสู่ธรรมชาติขันธ์ คือความเป็นปกติของเขาในการเกิด การตั้ง การดับ ด้วยความที่ไม่มีความเป็นสัตว์บุคคลในการเกิด การตั้ง การดับ ...นี่ ธรรมชาติ

เพราะนั้นมนุษย์ สัตว์ ก็ไม่ต่างกับก้อนดินก้อนหิน ...ก้อนดินก้อนหินมันต่างแค่ที่มันเคลื่อนไหวไม่ได้ แต่มนุษย์ สัตว์ มันเคลื่อนไหวได้

แต่ในความเป็นความอยู่ ในความเป็นธรรม..คือเหมือนกันน่ะ ...แต่ดูแตกต่างกัน ตามการประกอบขึ้นโดยธรรมนั้นๆ เท่านั้นเอง


โยม –  พระอาจารย์ครับ แล้วอย่างกรณีถ้าช่วงที่ตั้งมั่นหรือเป็นกลางๆ ที่บอกว่า..รู้ตรงไหน ดับตรงนั้นนี่ มันจะไม่มีเจตนาเข้ามาเกิดขึ้น แล้วมันเหมือนกับจะเรียบๆ ไปธรรมดา ใช่ไหมครับ แต่เหมือนกับว่าช่วงที่มันไม่ตั้งมั่น มันจะต้องมีเจตนาที่ดึงกลับมา ให้มาอยู่กับตัว

พระอาจารย์ –  ใช่


โยม –  แต่ว่าไอ้ช่วงที่สมูธอย่างนี้ มันบังคับมันไม่ได้ แต่มันก็เหมือนรู้สึกเองบางช่วงมันเองสั้นๆ อย่างนั้นน่ะครับ ใช้เจตนาที่ช่วยไปเรื่อยอย่างนี้หรือครับ

พระอาจารย์ –  น้อมกลับบ่อยๆ พยายามอยู่กับน้อมระลึกขึ้น รู้อยู่ ให้มีรู้อยู่ในความเป็นกลางๆ รู้สึกกลางๆ เพราะไอ้ที่ว่าเป็นกลางๆ นั่นมันยังเป็นอารมณ์ มันยังเป็นความรู้สึก ไม่ใช่ใจ ยังไม่ใช่ใจกลางๆ  

แต่ว่าอย่างที่พูดเมื่อกี้น่ะมันเป็นอารมณ์ สมูธ ยังเป็นแค่อาการของขันธ์ ที่ปกติของขันธ์มันไม่มีอะไร ไม่มีสุขไม่มีทุกข์ นั่นเขาเรียกว่าเป็นธรรมอันหนึ่งที่เรียกว่าอัพยากฤต เป็นอัพยากฤตธรรม 

คำว่าราบเรียบจริงๆ โดยสมดุลจริงๆ ข้างหน้าราบเรียบ ตัวใจราบเรียบ..คือรู้ กลางจริงๆ คือรู้ รู้กลางๆ รู้กลางๆ ...ต้องมีรู้อยู่นะ ถึงจะเป็นกลางจริง

เพราะนั้นไอ้อารมณ์ที่รู้สึกว่าราบเรียบเห็นความราบเรียบ เห็นว่ามันราบเรียบนี่ มันยังมีตัวนึงที่รู้เห็นอยู่ ...ตัวรู้เห็นนั่นแหละคือตัวกลางที่แท้จริง

เพราะไอ้ตัวตรงนี้เดี๋ยวก็ไม่กลางแล้ว อัพยากฤตน่ะ เดี๋ยวก็เป็นกุศลแล้ว เดี๋ยวก็เป็นอกุศลแล้ว เดี๋ยวก็ร้อนแล้ว เดี๋ยวก็เย็น เดี๋ยวก็ไม่มีเย็นไม่มีร้อนแล้ว ...นั่นคือสภาวะหนึ่งของขันธ์

เพราะนั้นสภาวะพวกนี้มันจะละเอียดขึ้นไปถึงขั้นอรูปน่ะ พอขั้นอรูปปุ๊บก็ว่างหมดแล้ว แยกไม่ออกระหว่างสุขทุกข์ หรือมีหรือไม่มี ...มันรู้สึกว่าไม่มีอะไรอยู่ตรงนั้นเลย

ใจมันจะกระโดดเข้าไปงับเลย สำคัญว่านี่เป็นใจแล้ว ตรงนี้คือใจแล้ว รู้ก็ไปแช่อยู่ตรงนั้น เหมือนควายอ่ะ หาน้ำใสมานาน ไปเจอน้ำใสปุ๊บ กระโดดแช่เลย ใช่เลย

คือแต่ก่อนมันเจอแต่น้ำคลำ น้ำเน่าน้ำเหม็นอย่างนี้ หรือน้ำมีสีสวยๆ  แต่พอเจอน้ำใสบริสุทธิ์มันก็ลงเลยสิ มันไม่ไปไหนแล้ว หามานาน พอถึงภาวะว่างไม่มีไม่อะไร ปึ๊บ มันก็...ไม่มีรู้เลย

รู้สำคัญนะ ตอนนั้นรู้นิดนึงก็ต้องเอา รู้หน่อยนึงก็ต้องเอา แค่รู้นิดนึง แค่เป็นต่อมนิดนึงก็ต้องรู้ ...ถอยออก แยกไว้ พั่บนี่กระโดดออกมา ให้มันกระเด็นออกมา ไม่งั้นมันจะนอนเนื่อง จม กลืนกัน

แต่ปกติน่ะดีแล้ว ...แต่ให้รู้ว่าปกติ ต้องมีรู้อยู่ว่าปกติ ไม่งั้นก็จะหมายเอาว่าปกติเป็นใจอีก จิตมันยังแอบหมายอยู่ ใจมันยังแอบหมายอยู่

อะไรเกิดขึ้นเป็นอาการใดที่ใกล้เคียงกับที่เคยได้ยินได้ฟังมาว่าใจรู้ใจเห็นเป็นปกติ กลาง ...มันจะเข้าไปหมายเอาปกติเป็นใจอีก

หมายเอาอย่างเดียว ใจคือรู้...ไม่รู้คือไม่ใช่ใจ จำไว้เลย ให้ชัด ...จนมันชัดเจน ในใจชัดเจนเลยว่าใจคือรู้ รู้คือใจ ผู้รู้ชื่อก็บอกแล้วว่าผู้รู้ ไม่ใช่ผู้ปกตินี่ ใช่มั้ย

ถ้าไม่งั้นก็ไม่ต้องพูดเรื่องว่ากลับมาที่ผู้รู้ผู้เห็นสิ ก็ทำไมถึงไม่บอกว่า เอ้า กลับมาที่ผู้ปกติเลย หรือผู้ไม่มีอะไร ใช่ป่าว

ก็ทั้งที่ยังบอกว่า ผู้รู้ๆๆ นี่ ไม่ใช่ว่าผู้ปกติ หรือผู้ว่าง ผู้เบา หรือผู้โล่ง ก็ใช้คำนั้นซะเลยสิ ถ้ามันเป็นอย่างนั้น ...ก็ไม่ใช้นี่ ครูบาอาจารย์ท่านก็ใช้ว่าผู้รู้ ผู้รู้ต้องเป็นผู้ที่รู้ มีรู้อยู่ นะ

แล้วในรู้นั่นแหละมันจะชัดเจนเอง ว่าในรู้นั่นแหละคือกลาง ในรู้นั่นแหละคือปกติ ในรู้ธรรมดานั่นแหละคือความว่างความบางจากตัวตน เรา เขา สัตว์  บุคคล


...................................




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น