วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 6/18 (2)


พระอาจารย์
6/18 (550102B)
(ชุดแทร็กต่อเนื่อง)
2 มกราคม 2555
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ :  ต่อจากแทร็ก 6/18  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  แต่จริงๆ น่ะ เมื่อมันชัดเจนดีแล้ว ญาณทัสสนะ ญาณวิมุติแจ่มใสดีแล้ว มันจะเห็นการดับไปทั้งสองตัว เมื่อสิ่งที่ถูกรู้ดับ ตัวนี้ก็ดับ ...แล้วก็ตัวนี้เกิดขึ้นมาใหม่ รู้ใหม่กับสิ่งใหม่

รู้ว่าไม่มีอะไร มันก็เป็นตัวรู้อันนึงเกิดขึ้นมารู้ว่าไม่มีอะไร พอมีอะไรเกิดขึ้น ก็มีรู้ใหม่มารู้ นี่ ไอ้ตัวที่รู้ว่าไม่มีอะไรเมื่อกี้น่ะมันดับไปพร้อมกับไม่มีอะไรแล้ว 

แล้วก็เกิดมีอะไรขึ้นมา แล้วก็รู้เกิดขึ้นมาใหม่ มีไอ้ตัวที่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น นี่ มันจะเห็นการดับไปของสองสิ่ง  ...แต่ตอนนี้เราจะเห็นว่าผู้รู้มันดับหรือว่ามันหาย


โยม –  มันยังไม่ดับใช่มั้ยอาจารย์

พระอาจารย์ –  เออ แล้วมันไปพยายามรักษาตัวที่รู้ให้มันมั่นคงอยู่ เข้าใจมั้ย ให้มันเที่ยง ตรงนั้นน่ะเขาเรียกว่าไปทำผู้รู้ให้เที่ยง ...ซึ่งจริงๆ มันก็ต้องใช้อย่างนั้นก่อน เข้าใจมั้ย 

ต้องรักษา ...เพราะว่าปัญญายังไม่เฉียบคมพอถึงขั้นที่ว่าเห็นความดับไปของของคู่กัน ...ยังไงก็ต้องเอาไว้ก่อน เอาผู้รู้ ยึดผู้รู้ไว้ ยึดผู้รู้ไว้ก่อน 

เพราะอะไร ...เพราะบางอารมณ์นี่ เช่น โกรธ หรือว่ารำคาญ หรือว่าเศร้าหมอง แล้วมันรู้อยู่ ... เพราะมันเศร้าหมองต่อเนื่อง รู้มันจึงต้องมีต่อเนื่อง เข้าใจมั้ย 

เพราะมันยังไม่ดับน่ะ มันก็รู้ มันก็ต้องรู้อยู่อย่างนั้นน่ะ เข้าใจมั้ย แล้วก็พอมาดูกายปุ๊บนี่ กายก็ต่อเนื่อง รู้ก็ต้องต่อเนื่องกับกาย เข้าใจมั้ย ...ต้องรู้อย่างนั้นก่อน ต้องอาศัยรู้ต่อเนื่องไปก่อน

แล้วมันจะค่อยชำนาญขึ้นๆ แล้วมันเห็นรายละเอียดว่าจริงๆ น่ะ แค่ขณะแว่บนึงที่มันมีการเปลี่ยนไป...รู้นี่ไม่ใช่ตัวเดิมแล้ว...ตัวผู้รู้น่ะ ไม่ใช่ตัวเดิมแล้ว 

คือตัวผู้รู้ไม่ใช่ใจนะ ไม่ใช่อมตะธาตุนะ ...ยังไม่ใช่นะ เข้าใจมั้ย แต่ว่ามันมีลักษณะคล้ายใจ แค่นั้นเอง

เพราะว่าตัวตนน่ะ ตัวตน...ตัวตนของใจน่ะอยู่ที่ผู้รู้นี่แหละ ...ผู้รู้นี่แหละคือตัวตนของใจ ที่ว่าใจเราๆ นั่นแหละ ...อย่างนี่ เคยอ่านหนังสือลุงหวีดรึเปล่า


โยม –  อ่านค่ะ

พระอาจารย์ –  เออ ที่ตั้งหน้าตั้งตาทำลายตัวผู้รู้นั่นแหละ


โยม –  ปล่อยผู้รู้ วางผู้รู้

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องวางหรอก ...มันก็ค่อยๆ แยบคายไป ชัดเจนขึ้นในตัวของมันเอง คือต่อไปมันก็จะเข้าใจความหมายว่า เกิดดับพร้อมกัน สิ่งที่รู้ก็ดับ ตัวที่รู้ว่าสิ่งนั้นเกิดก็ดับพร้อมกัน ดับทั้งคู่น่ะ แล้วก็ว่าง

อาศัยผู้รู้ที่ต่อเนื่องไปก่อนน่ะ รักษา ...เพราะว่าถ้าไปเห็น ไปจดจ่อจะไปดูผู้รู้ดับ เดี๋ยวมันก็ดับไม่เกิดซะเลย ...รักษาใจไว้ รักษาใจผู้รู้ไว้ก่อน แล้วปัญญามันก็จะค่อยจำแนกแยกชัดขึ้นไป

ต่อไปมันจะรู้เองว่า เมื่อใดที่มีผู้รู้อยู่นี่ เมื่อนั้นน่ะทุกข์ ตัวผู้รู้เองนั่นแหละเป็นตัวทุกข์เลย ก็ถ้าไม่รู้เลยมันจะทุกข์มั้ย ...นั่นแหละต้นเหตุใหญ่เลย  ใจผู้รู้นั่นแหละ 

ก็ถ้าไม่มีคนรู้เลย มันจะไปรู้อะไร มันจะมีทุกข์เกิดได้ยังไง เพราะนั้นน่ะ มหาเหตุจริงๆ คือใจผู้รู้นั่นแหละ

แต่ว่าตอนนี้น่ะ เรายังทุกข์กับเรื่องราวภายนอกอยู่ ต้องเรียนรู้แล้วก็ละไปตามลำดับ ...ยังละในส่วนที่มันยังติดขันธ์ มันยังทุกข์กับขันธ์อยู่ ยังเห็นขันธ์ว่าเป็นทุกข์อยู่ ก็ต้องละความทุกข์ในขันธ์นั้นก่อน

แล้วค่อยสุดท้ายค่อยมาละทุกข์ที่ใจ คือใจน่ะคือต้นเหตุของทั้งหลายทั้งปวง ...ใจในที่นี้ไม่ใช่ใจเดิมใจแท้ใจบริสุทธิ์นะ ใจในที่นี้คือใจผู้รู้ ความเป็นผู้รู้

ชื่อก็บอกแล้วผู้รู้ คือมันมีความเป็นบุคคล คือผู้น่ะ...ผู้ คือเป็นตัวตนหนึ่ง ต้องมีบุคคลหนึ่งเป็นผู้ที่รู้อยู่ แม้จะหน้าไม่เหมือนเราก็ตาม ใช่มั้ย 

นั่น มันไม่มีหน้าเหมือนเราแล้วนะ มันไม่มีหน้ามีตา ...แต่มันเป็นผู้รู้ เป็นผู้หนึ่งน่ะ ไม่รู้ใคร

เพราะนั้นไอ้ตัวผู้รู้นี่ หน้ามันจะเหมือนกันหมดทุกคนเลย เป็นตัวเดียวกัน เป็นผู้เดียวกัน เป็นผู้รู้เดียวกันก่อน ...แต่มันยังเป็นบุคคลอยู่ ยังมีความเป็นบุคคลอยู่ นั่นน่ะคือเหตุ

เพราะนั้นจะไปละเอาดื้อๆ ง่ายๆ ไม่ได้นะ ...อาศัยผู้รู้นี่ไปละตัวนอกก่อน เห็นก่อน เห็นขันธ์ตามจริงก่อน เห็นโลกตามจริงก่อน แล้วก็ละๆๆๆ 

จนที่สุดก็ละตัวมันเองนั่นแหละ คนไม่เอากิเลสก็อยู่ที่นั่นน่ะ อาสวะทั้งหมดมันก็รวมอยู่ที่นั่น


โยม –  ถ้าละผู้รู้ก็ปลอดภัยแล้วสิ

พระอาจารย์ –  อู้ย ละผู้รู้ก็เป็นพระอรหันต์แล้ว (โยมหัวเราะกัน) 

อย่างที่ภาวนานี่ ต่อไปผู้รู้นี่ มันจะเหลือเป็นแค่ต่อม เป็นจุดเล็กๆ จุดนึง นิดนึง ปึ้บ มันรู้สึก...ฮื้อ หงุดหงิดกับมัน จะว่าไม่มีอะไรก็มีต่อมนี่ มันมีการรู้ มันก็รู้อยู่ข้างในนั่น

ไม่เป็นทุกข์อันอื่นแล้วนะ ...แต่มันรู้สึกตะขิดตะขวงว่ามันมีอะไรเป็นรู้อยู่วะ นั่นแหละ มันก็ไม่ได้ทุกข์แบบโดนตีโดนอะไร แต่มันดูเหมือนกับมันเกะกะ ทำไมมันไม่โล่งแจ้งวะ ทำไมมันต้องรู้อยู่อย่างนี้วะ

เหมือนมีสะเก็ดอยู่ในแผล อยู่ในหนังอย่างนี้ ดูดีๆ ทำไมมันยังมีสะเก็ดอยู่ ทำไมมันไม่เรียบเนียน  มันเป็นทุกข์แค่ตรงนั้นน่ะ เข้าใจมั้ย ...แต่ไอ้สะเก็ดนี่แหละ โคตรพ่อโคตรแม่ของการเกิดเลย

เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดการตายของสรรพสิ่ง นี่ แค่นิดเดียว เหมือนกับเป็นแค่ปรมาณูนึงของรู้ ไม่มีอะไรเลยนะ หมายความว่าในรู้ ไม่มีความว่าเป็นกิเลสไม่มีกิเลสอะไร เป็นแค่รู้จริงๆ นั่นน่ะ

แต่มันเป็นจุดรู้ ...เหมือนทศนิยมในอวกาศ เข้าใจมั้ย เหมือนอณูนึง ละอองนึงในอวกาศ หรือ อนันตาจักรวาล แล้วมันดันมีอะไรอยู่วะ 

เหมือนอวกาศที่มันว่างเปล่านี่ แล้วดันมีละอองอะไรอยู่ตรงนี้ แล้วเอาไม่ออก ...เหมือนเป็นมลทินๆ

อย่างอื่นน่ะไม่สนใจ ไม่เหลืออะไรแล้วๆ มันไม่เหลืออะไรแล้ว คือไม่เห็นค่าไม่เห็นคุณไม่เห็นโทษไม่เป็นทุกข์กับอะไร ไม่สนใจแล้ว ...แต่ยังเหลือนี่


โยม –  มันยังพามาเกิดได้มั้ยตัวนี้

พระอาจารย์ –  ได้ อย่างน้อยก็ชาตินึง ...ก็ตัวมันคือตัวชาติตัวหนึ่ง ตัวมันก็คือตัวภพอันนึง ของมันอยู่อย่างนั้นน่ะ

แต่ถึงภาวะอย่างนั้นไม่ต้องกลัวหรอก มันเป็นไปตามธรรม มันก็จะเป็นไปตามเหตุอันควร ตามอินทรีย์ ...จะอยากละ จะไม่อยากละ จะอะไรนี่ มันเป็นไปตามครรลองของมรรค จนถึงที่สุดของมรรควันยังค่ำ

คือเป็นผู้ไม่ถอยแล้ว เข้าใจมั้ย ลองเข้าสู่ภาวะนี้แล้วเป็นผู้ที่ไม่ถอย ไม่หันหลังกลับ มันมีแต่เดินหน้าไปทางเดียว คือเริ่มเดินหน้าไปตั้งแต่โสดาบัน 

คือไม่ถอยกลับแล้ว ยังไงๆ ก็ไม่ถอย ไม่ต้องกลัวหรอก ไม่ต้องไปรีบเร่งรีบร้อน ถึงจุดมันจะเดินตามกระแส มันเป็นกระแส กระแสจิต กระแสวิถีมรรค 

มันจะเป็นกระแสที่มันผลัก ครรลอง ...ช้าเร็วไม่เกี่ยวแล้ว ถึงจุดนั้นมันก็จะทอดธุระหมด เป็นผู้ที่ไม่ขวนขวายในขันธ์ เริ่มวาง ไม่ขวนขวายแล้ว

พวกเรายังขวนขวายอยู่มั้ย ยังอาวรณ์อยู่มั้ย ...นั่นแหละ ยังอนาทรร้อนใจอยู่กับอดีตอนาคตของขันธ์ ไม่เฉพาะขันธ์ปัจจุบัน มันอนาทรไปถึงขันธ์ล่วงหน้า ขันธ์ลับหลังน่ะ ...มันยังมีการขวนขวายในขันธ์

แต่พอถึงจุดนั้นการขวนขวายในขันธ์จะเริ่มน้อยลงไปๆ น้อยลงไป ...จนถึงไม่เข้าไปขวนขวายในขันธ์ ไม่เข้าไปขวนขวายในโลก 

เห็นอะไร ได้ยินอะไร ใครจะเป็นยังไง มันไม่มีจิตที่เข้าไปขวนขวาย ไปปรุง ไปคาด ไปเดาไปหมาย ...ดูเหมือนคนไร้มนุษยธรรม คนใจจืดใจดำประมาณนั้น 

แต่นั่นน่ะคือเมตตาที่ไม่มีประมาณ ...เพราะไม่ได้หวังผลในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเลย ไม่มีดีร้ายถูกผิดใดๆ ...แต่ตามธรรมที่มากระทบสัมผัสกัน


(ต่อแทร็ก 6/19)



วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 6/18 (1)


พระอาจารย์
6/18 (550102B)
(ชุดแทร็กต่อเนื่อง)
2 มกราคม 2555
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ :  แทร็กนี้แบ่งโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  นี่ มีโยมบางคนนะ ไม่เคยนั่งสมาธิมาก่อนเลย  พอนั่งไปปึ้บ เห็นแต่กระดูกเลย นี่ ไม่เคยนั่งเลย ดันไปเห็นกระดูกเองน่ะ 

พอนั่งครั้งแรกก็เห็นแต่กระดูก...เห็นตัวเป็นกระดูก ตกใจ นั่งอีกหลับตาปุ๊บ เห็นตัวเป็นกระดูกเลย ...นั่งไปนั่งมาลืมตาขึ้น เอ้า เห็นคนข้างๆ เป็นกระดูกอีก 

ไม่ใช่แค่คนน่ะ ดูหมา หมาเป็นกระดูกอีก ...เอ้า เด็กนะนั่น อายุยี่สิบกว่าๆ เอง เป็นผู้หญิง ...เราก็บอก ดูไป เห็นกระดูก ก็ดูกระดูกไป ทำใจเฉยๆ แล้วก็รู้ว่ามีกระดูกไป

เราบอก...เดี๋ยวกระดูกเป็นแก้วนะ ... มานั่งอยู่นี่ นั่งหัวเราะเอิ๊กๆ อยู่อย่างนี้ บอก...อาจารย์ กระดูกหนูกำลังเป็นแก้วแล้ว เห็นใสขึ้นเลย ...เราบอกเป็นแก้วนี่เดี๋ยวแตกนะ พอพูดว่า จะแตกนะ...แตกเลย

แต่แตกเดี๋ยวก็รวมใหม่ แตกอีกรวมใหม่ เดี๋ยวก็ใสเป็นแก้ว เป็นประกายพรึกเลย กระดูกใสเลย ...นิมิตทั้งนั้นนะ ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องวิเศษอะไรหรอก ไม่ใช่วิเศษกว่าใครนะ มันเป็นนิมิตหมด เขาเคยทำมา

เห็นมั้ย แต่ละคนมันจะไม่เหมือนกัน ...เราจะไปเอาธรรมคนอื่นมาเป็นมาตรฐานไม่ได้ หรือว่าจะบอกว่าเขาดีกว่าเก่งกว่า ...ก็ไม่ดีก็ไม่เก่ง กิเลสยังเท่าเก่า บอกให้ มันเป็นคุณลักษณะจำเพาะจิตแต่ละคน ไม่เหมือนกัน

แต่ว่าถึงเห็นกระดูกแตก เราก็ต้องคอยเตือนอยู่เสมอว่ามันมีอะไรรู้อยู่ อย่าลืม มีตัวนึงที่รู้อยู่ ...อันนี้เป็นคนนึง แล้วยังมีอีกคนนึงเป็นผู้ชายตอนนี้ไปเรียนเมืองนอก ... ไอ้นี่ก็กระดูก เห็นกระดูก

เห็นกระดูกมันก็เพ่งกระดูก เพ่งกระดูกจนใสเหมือนกัน นั่น พอมันใสแล้วมันดันเห็นองค์พระ พระอยู่ในกระดูก เป็นพระแก้ว ใส แล้วมันก็ใส่เพ่งเข้าไป มันยิ่งใสขึ้นไปอีกเรื่อยๆ

ไอ้นี่ความรู้เกิดขึ้นตรงนี้เลย ถามอะไร รู้หมด ...เห็นมั้ย ลักษณะของการพิจารณากายอย่างนี้นี่ มันมีผลข้างเคียงเยอะ ถ้าเพ่งด้วยอำนาจของกำลังของสมถะนี่ 

ถ้าไม่เข้าใจ มันทะลุทะลวงออกไปสุดโลกสุดจักรวาลเลย บอกให้ มันมีความรู้จากตรงนี้ ไปรู้รอบขอบจักรวาลยังได้เลย ...อยากรู้อะไร มันออกไปรู้ได้หมดเลย ...แต่มันไม่รู้อย่างเดียวว่าใจอยู่ตรงนี้


โยม –  นี่ส่งออกเหมือนกันใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ออกหมดน่ะ แม้แต่เพ่งอยู่อย่างนี้ มันก็เข้าไปเรื่อยๆ มันก็ใสขึ้นไปเรื่อยๆ กระดูกแตกไปแล้วก็มีแก้วใส เหมือนเป็นใจน่ะ ...ก็เข้าใจว่าเป็นใจ สว่างอยู่อย่างนั้นน่ะ

เขาบอกว่ามันไม่มีกายแล้ว แต่มันมีความสว่าง เห็นเป็นแก้วสว่างใส แล้วก็เดี๋ยวก็มีอะไรผุดขึ้นในความสว่างนั้นอยู่ตลอดเลย บางทีก็เป็นดอกบัวผุดขึ้นมาข้างใน แล้วมีความรู้ความอะไรอยู่ในนั้น ...สนุกเลย 


โยม –  ตามเข้าไปดูเรื่อยๆ

พระอาจารย์ –  เออ หลงน่ะ บอกให้เลย เรียกว่าหลง หลงกายอีกแล้วเข้าใจมั้ย ...ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยรั้งคอยดึงไว้ เก่งเลยแหละ ได้อภิญญาเลย...แต่เป็นอภิญญาเทียม เข้าใจมั้ย 

แบบรู้ไปหมด...แต่จริงรึเปล่าไม่รู้นะ เข้าใจมั้ย  ไอ้ที่มันรู้ไปหมดนี่ แต่ถามก่อน จริงรึเปล่าไม่รู้นะ ...แต่มันเชื่อว่ามันจริงเลยนะ ตัวมันเองนี่จะเชื่อเลยว่าจริง 

เนี่ย มันเป็นเรื่องของความปรุงแต่งทั้งหมด เป็นสังขารธรรมหมดเลย ...แต่มันน่าปลื้มมาก มันน่าใคร่มาก ...อย่างผู้หญิงเห็นผู้ชายแล้วชอบ ผู้ชายเห็นผู้หญิงแล้วชอบผู้หญิง นี่ก็ว่าติดแล้วนะ 

แต่ไอ้นี่ติดยิ่งกว่าอีก บอกให้ มันเป็นความติดที่ลึกซึ้งกว่าการชอบในลักษณะของเพศ ...ติดในฌาน ติดในนิมิตนี่ บอกให้ ถึงบอกว่าการภาวนาทั้งหลายต้องไม่ห่างครูบาอาจารย์เลย

เพราะนั้นมาถึงเรา เราก็พยายามดึงกลับ อย่างเดียวน่ะต้องดึงกลับ ดึงกลับมาอยู่ที่ฐานรู้ ...รู้ไม่มีแสง รู้ไม่มีดวงไฟ รู้ไม่มีนีออนติด ...รู้คือรู้ คือความแจ้ง แจ้งคือแจ้ง

แจ้ง...เข้าใจคำว่าแจ้งมั้ย เข้าใจคำว่าสว่างมั้ย คือเรามองเห็นอะไรนี่ด้วยความแจ้ง เข้าใจมั้ย มันเป็นแจ้งแบบนี้ แจ้งแบบเรามองเห็น ตัวใจมันจะแจ้งแบบโปร่งๆ อย่างนี้ 

มันไม่ใช่เป็นดวงสว่าง เป็นรูปพระอาทิตย์อย่างนั้น เข้าใจมั้ย ...ไอ้นั่นนิมิตเลย ไม่ใช่ใจ 


โยม –  คือเขาก็จะเชื่อมั่นในตัวเขาเอง

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ มานะมันจะสูง ทิฏฐิสูง มานะสูง ...บอกให้เลยว่าแก้ยาก จนกว่าจะรู้ตัวมันเอง หรือว่าจนกว่าจะเจออาจารย์ที่ลงล็อคกัน ถ้าไม่เจอคู่ปรับนี่ยาก


โยม –  เหมือนเป็นกรรมรึเปล่า

พระอาจารย์ –  มันก็เป็นกรรมที่ตัวเองทำเป็นอาจิณน่ะ 

บอกว่าใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ไม่มีอะไรสำคัญกว่าใจ ...แต่ถ้ามันคลาดเคลื่อนออกจากใจ คือมันไปหมายเอาที่อื่นว่าเป็นใจ เนี่ย ติดง่ายที่สุด เพราะความที่ไม่มีปัญญาสัมมาทิฏฐิ

ไอ้นั่นก็เป็นใจ ไอ้นี่ก็ใช่ใจ ไอ้นี่ก็เรียกว่าใจ เลยเห็นสว่างๆ ไสวหน่อย มีความรู้มากมายมหาศาลในนั้นก็ว่าใจ ...แต่ว่าใจเทียม ใจปลอม เข้าใจมั้ย ใจที่เป็นนิมิตมันหลอก 

จิตสังขารนี่มันหลอกได้หมด ...เพราะนั้นถ้าเราฝึกสติในอิริยาบถปกติ รู้ตัว เราจะเข้าใจว่าใจรู้จริงๆ คืออะไร แล้วมันจะไม่ถูกหลอกง่ายๆ 

อย่างเวลานั่งสมาธิ เห็นอะไรเป็นสีเป็นสันขึ้นมา เป็นปีติเย็นซาบซ่านขึ้นมา อะไรก็ตาม ให้รู้ไว้ ...แล้วมันก็จะรู้เลยว่ามันเป็นแค่อาการ ทั้งหมดเป็นแค่อาการ 

ส่วนรู้ที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังน่ะ มันมีคู่ที่รู้อยู่เบื้องหลังนะ ...อันนั้นน่ะใจ ไม่มีสีสัน ไม่มีวรรณะ ไม่มีสถานะ ไม่มีที่ตั้ง แต่เป็นแค่รู้กับเห็นอยู่เฉยๆ ธรรมดา

เพราะนั้นมันต้องฝึกสติเพื่อให้เห็นใจ ให้เข้าใจ แล้วก็ตั้งมั่นลงที่ใจดวงนั้น จะได้ไม่เผลอเพลินออกไป จะได้ไม่หลงในสิ่งที่ไม่ใช่ใจ ...พอไปหลงมันก็จะเห็นว่าอันนั้นน่ะสำคัญกว่าใจ

เพราะมันจะไปแช่...เราบอกว่าแช่เหมือนกับควายแช่ปลักน่ะ จะไปแช่  ควายกับปลักนี่ ของคู่กันเลย ...พอลุกขึ้นจากปลักนี้ กูก็จะแช่ปลักใหม่ ที่มันคิดว่าดีกว่า แต่ยังไงก็ควายกับปลัก

จิตที่มันคุ้นเคยกับขันธ์ อาสวะที่มันเคยนอนเนื่องอยู่กับขันธ์มานมนานกาเลแล้ว มันเหมือนของที่เป็นแบบ วัวเคยขาม้าเคยขี่ มันก็คุ้นเคย เคยชิน เข้าใจคำว่าอนุสัยคือความเคยชินไหม มันอดไม่ได้

เหมือนขี้เมาเจอเหล้า ยังไงก็ยกแก้วกิน เหล้าไม่เคยเดินมาเข้าปากใครนะ มันน่ะไปกินเอง เพราะมันชิน มันเมาอยู่น่ะ มันยังกรึ่มๆ มึนๆ อยู่อย่างนี้ มันก็ติดเหล้าโดยปริยาย มันหักห้ามใจไม่ได้ ไม่มีปัญญาพอ

แต่ทว่าถ้าเราฝึกสติ สมาธิ ปัญญา คอยอบรมรักษาใจไว้...ให้ตั้งมั่นไว้ ให้แข็งไว้ ขืนไว้  อย่าไหล อย่าตาม อย่าหายไปเมามันไปกับมัน อย่าไปกลืนกินมัน อย่าไปให้ความสำคัญเอามาเป็นที่อยู่ที่อาศัย 

มันก็จะค่อยๆ คลี่คลายออกไป มันก็จะค่อยๆ สร่างเมาน่ะ คำว่าสร่างเมาก็คือ มันกินเหล้าน้อยลง มันก็จะเริ่มสร่างขึ้นๆ  พอสร่างขึ้นก็...คนที่กำลังสร่างเมากับคนเมาเดินน่ะ ดูเอา ใครเดินตรงกว่า

นั่นสัมมาทิฏฐิหรือว่ามรรคมันก็จะตรงขึ้นไป ...คือมันสร่างเมาแล้วมันก็เดินตรงขึ้นๆๆ จนตัวตรงแน่วเดินไม่ผิดไม่เพี้ยนทาง ไม่ไปตกข้างทางนอนแอ้งแม้ง

ก็มองเห็นนี่ ...ไม่ใช่หูตามัวแล้วก็เมาด้วย เดินขาเป๋ไปเป๋มา โซซัดโซเซ อย่างนั้น มันก็ตกร่องตกรูตกข้างถนนไป ...นั่นก็คือเมา ยังไม่หายเมา

เพราะนั้นมันก็ขัดเกลา ขัด ...มรรคมันก็ เพ๊ะๆๆ อยู่แค่นี้ พอดีกับปัจจุบัน โพ๊ะๆ อยู่แค่นี้ ...มันก็ขาดจากความปรุงแต่ง ละความปรุงแต่งที่จะออกนอกจากปัจจุบันนี้ไป 

อะไรที่มันจะมาปรุง มาแต้มสีสันเติมค่าให้ค่าอะไรนิดนึง หน่อยนึง พั้บๆๆ ดับหมด  ทัน...พั้บ...ดับ  นี่ ตรงต่อองค์มรรคในปัจจุบัน แล้วจากนั้นปัจจุบัน เดี๋ยวก็ดับไปๆ 

แต่คราวนี้ว่า ระหว่างนี้ต้องรักษาปัจจุบัน ...เพราะมันดับแล้วมันจะไม่ยอม มันจะไปหาใหม่อีกน่ะ 

พยายามรู้ มันต้องตั้งมั่นไว้ให้ดี ...เมื่อมันดับไปก็ดับ รู้ว่าดับ ไม่ต้องหาอะไรมาให้มัน มาแทนมัน หรือว่าไปตามว่ามันดับไปไหนวะ ...ไม่ต้อง 

อยู่อย่างนี้ ...ดับก็เรื่องของมัน ก็รู้ว่ามันดับ มีอะไรเกิดก็รู้ใหม่ อย่างงั้น ดับก็ดับไปซิ เกิดก็เกิด ไม่เกิดก็ไม่เกิด ไม่ต้องไปหาอะไรอีก

แต่ถ้ายังไม่ชำนาญกันนี่ พอมันดับแล้ว ใจนี่ดับด้วย ...คือใจรู้มันหายไป ญาณก็หายไป  ใจรู้หายไป ญาณทัสสนะก็หายไป


(ต่อแทร็ก 6/18  ช่วง 2)



แทร็ก 6/17 (2)


พระอาจารย์
6/17 (550102A)
2 มกราคม 2555
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ :  ต่อจากแทร็ก 6/17  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  แค่นี้ รักษาอาการอยู่แค่นี้ เป็นกลางอยู่แค่นี้พอแล้ว ...ไม่ต้องไปอะไรมากกว่านั้นแล้ว 

อย่าไปจดจำสภาวะคนอื่นที่เคยได้ยินได้ฟังมาว่าสภาวะนั้นดี ต้องเป็นสภาวะนี้ก่อน ต้องเป็นสภาวะนั้นก่อน อะไรอย่างนี้ ปวดหัว แล้วก็เครียด ก็เลยจะไปบังคับให้มันเกิดสภาวะนั้น เห็นสภาวะนี้ 

ไม่มีอะไรหรอก ...มันก็เห็นแค่นี้ รู้แค่นี้ เบาๆ อยู่ข้างใน  แต่มันชัดเจนในสองอาการ อาการนึงก็ตั้งอยู่ อาการนึงก็ไปๆ มาๆ แค่เนี้ย มันเห็นไตรลักษณ์ในตัวของมันเองน่ะ เป็นสันทิฏฐิโก มันเห็นไตรลักษณ์โดยที่ไม่มีภาษาด้วย

แต่มันคลาย มันเบาลงไป การใช้ชีวิตก็...ทำอะไรได้ทุกอย่างน่ะ แต่มันเบา เป็นเหมือนกับตีนมันลอยอยู่ในอากาศน่ะ เดินเหินไปมา มีเรื่องอะไร มันเหมือนกับว่ามันสำเร็จเสร็จสิ้นไปในขณะๆ นั้นน่ะ

มันก็ผ่านไปโดยที่ว่า...ไม่แบกไม่หามมันน่ะ เช่นเขาพูดอะไร ก็ไม่เก็บคำพูดนั้นมาเวลาที่เขาพูดเสร็จแล้วอย่างนี้  มันก็วางซะตั้งแต่ที่มันได้ยินอันนั้น ก็ผ่านไป ไม่มีสัญญาอารมณ์ไปนั่งนอนคิดต่อเนื่องไป

เพราะนั้น ถ้ารู้ไป อยู่รักษาสภาวะอย่างนี้ เป็นกลางๆ เห็นคู่กันอยู่ตลอดเวลาแค่เนี้ย มันเปลี่ยนไปโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย มันเกิดความจางคลายไปโดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่า..เอ๊ะ มันเป็นไปได้ยังไงวะ บางทียังงงตัวเอง

บางคนมาบอกเราว่า...ผมว่าผมไม่ได้ภาวนาเลยนะ หนูว่าหนูไม่ได้ทำอะไรเลยนะ แต่ทำไมมันเปลี่ยนไปหมดเลย อย่างนี้ ...เออ ไอ้อย่างนั้นน่ะใช่แล้ว ไอ้ที่ทำแทบตายน่ะ...โหย ติดเต็มๆ เลย

บางทีก็บอกว่า...ผมไม่เห็นทำอะไร หนูไม่ได้ทำอะไรเลย ก็แค่เห็นมันไปธรรมดาๆ อย่างนี้ รู้มันไป เห็นไปธรรมดานี่ ไม่ได้คิด ไตรล้งไตรลักษณ์ก็ไม่รู้อะไร แต่รู้สึกว่ามันรับอะไรก็ได้มากขึ้น ผ่านได้ง่ายขึ้น

มันไม่ค่อยมีอารมณ์ผูกโกรธ หรือว่าอารมณ์หงุดหงิดรำคาญในเรื่องที่น่าจะหงุดหงิดรำคาญอย่างนี้ ...โดยที่เขาก็บอกไม่ได้ทำอะไร แต่มันเปลี่ยนไปน่ะ

นั่นแหละดีแล้ว อย่างนั้นน่ะ ผลของมันจะเป็นอย่างนั้น ...ไม่มีใครทำหรอก จิตมันรู้เอง เห็นเอง ละเอง  ท่านเรียกว่าสันทิฏฐิโก แปลว่ารู้เองเห็นเอง ใจมันรู้เองเห็นเองด้วยความเป็นกลาง พอดี

มันพอดี มันก็เข้าใจในตัวของมันเองเป็นปัจจัตตัง ...ไม่ใช่เรารู้นะ  ใจเขารู้ ใจเขาเห็น แล้วเขาก็วาง แล้วเขาก็ซึบซาบสภาวะของไตรลักษณ์โดยปริยาย

โดยที่เราไม่ต้องบอกว่านี่คือเที่ยง นี่คือไม่เที่ยง นี่คืออนัตตา นี่คืออัตตา มันไม่สนหรอก ไอ้นั่นเป็นแค่สมมุติธรรม สังขารธรรม ภาษาธรรม เท่านั้นเอง

แต่เวลาเราพูดนี่ เราต้องใช้คำพวกนี้ แค่นั้นเอง ...แต่เวลาไปปฏิบัติจริง ไม่ต้องไปบอกมันมากหรอก เดี๋ยวเครียด ...เอ๊ะ ทำไมไม่เห็นเป็นไม่เที่ยง ทำไมไม่เห็นเป็นอนัตตา 

ไปนั่งกำหนดให้มันเห็นอนัตตาอีก หรือกำหนดให้เห็นความไม่เที่ยง คอยจ้องความไม่เที่ยงอยู่อย่างนี้ เกร็ง เครียดอีก จะเอาสมมุติไปทาบทากับความเป็นจริงของธรรมชาติ มันเป็นแค่สมมุติภาษาเท่านั้นเอง

จริงๆ น่ะอยู่ในความเป็นกลาง ใจเป็นกลาง รู้อยู่ เฉยๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ ...แต่ที่มันไม่ค่อยเป็นกลางเพราะมันจะเคลื่อนออกไปข้างหน้า มันเคลื่อน มันเลื่อน ...ก็เลยต้องพยายามรักษาสติ สมาธิ ต้องมั่นไว้ที่ฐานใจ

แล้วคราวนี้ส่วนมากคนมาหาเรา ก็จะมาถามว่าฐานใจอยู่ที่ไหน เพราะอาจารย์เขาบอกว่า นี่ยังไม่ถึงฐานใจ ...เอาแล้ว มีปัญหา เป็นปัญหาโลกแตก หาก็ไม่เจอ  แล้วไปกี่ทีๆ เพิ่นก็บอกยังไม่ถึงฐานใจ ก็หาอีก

เอ้า จะไปหามันทำซากอะไร ... ถามตัวเองดู..รู้มั้ย ถามตัวเองก่อนว่า ตอนนี้...รู้มั้ย ว่าทำอะไร รู้มั้ย  ...ก็รู้ลงไป แค่นั้นแหละ ...ตรงที่รู้นั่นแหละ รู้ว่านั่ง รู้ว่ากำลังหาน่ะ รู้มั้ย ...ก็อยู่ตรงนั้นน่ะ 

ฐานก็อยู่ตรงที่รู้นั่นแหละ ...ถ้าหาอีกก็รู้อีก เอ้า กำลังหา ก็รู้อีก ดูซิ มันจะไม่ลงฐานยังไง ...แล้วก็หยั่งลงไปไอ้ตรงที่รู้จริงเห็นจริงตรงนั้น ถ้ามัวแต่หาน่ะมันลืมรู้ไปแล้ว ...มันออกนอกใจรู้ไปแล้ว 

แล้วยิ่งไปเอาคำพูด ...บอกแล้วว่าถ้าติดคำครูบาอาจารย์นะ มันจะเป็นตัวบังปัญญาเลยนะ มันจะเป็นตัวที่ทำให้เกิดความลังเลสงสัย แล้วเกิดความกลัว ไม่กล้า ไม่แน่ใจ แล้วกลายเป็นวิจิกิจฉา

เพราะนั้นฟังแล้วก็อย่าไปจำมาก อย่าไปยึดเป็นมาตรฐาน ยึดจนเกินไป ...ถ้ายึดแล้วเนี่ย มันจะเป็นตัวที่ทำให้ปิดบังปัญญา คือใจที่รู้เห็นตรงๆ ใจที่รู้เห็นตรงๆ

มันไม่ได้เป็นฐานแบบ อู้หู เป็นแผ่นดิน เป็นเกาะหรืออะไรหรอก แล้วก็ไม่ได้ลึกซึ้งลึกลับซับซ้อนอะไร ...ธรรมดามากเลย ฐานใจ...คือฐานรู้น่ะ คือการรู้การเห็นที่ตรง ที่เป็นจริงในปัจจุบันที่จริงน่ะ แค่นั้นเอง

กำลังทำอะไรอยู่ ถามเลย หรือไม่ก็ถามว่า รู้ป่าว ตอนนี้รู้มั้ย ...ถามตัวเองบ่อยๆ ตอนนี้รู้รึเปล่า รู้มั้ย ...เนี่ย ก็ให้มันรู้ซะ ให้มันตื่นรู้ตรงนั้นซะ แค่นั้นเอง

แล้วไม่ต้องซีเรียส เดี๋ยวมันก็หาย เดี๋ยวมันก็หายไป ...รู้ใหม่ดิ หายไปก็รู้ใหม่ อย่างนี้  เอารู้บ่อยๆ รู้บ่อยๆ ...จนมันชัดเจนในตัวของมันเอง เข้าใจมั้ย

อย่าไปอยากทำให้มันแข็งแกร่งขึ้นด้วยความอยาก ไม่ได้หรอก มันเป็นความโลภแล้ว เป็นความอยากเข้าไปเกี่ยวข้องแล้ว ...ไม่เอาอ่ะ รู้ไปเรื่อยๆ รู้ไปเรื่อยๆ รู้อีกรู้ซ้ำๆ รู้แล้วรู้อีกๆ อยู่อย่างนั้นน่ะสติ

เอาความบ่อยๆ รู้บ่อยๆ แล้วมันจะชัดเจนขึ้นๆ ตามลำดับในตัวของมันเอง ...แล้วเราก็พยายามสังเกต ให้เกิดความสังเกต หรือการหยั่งลงที่ฐานนั้น ตรงที่รู้นั้น แค่นั้นเอง นิดเดียว

แล้วมันจะค่อยๆ ชัดเจน ...ไอ้คำว่าชัดเจนนั่นคือคำว่าตั้งมั่น มันตั้งมั่นคือความชัดเจนที่ว่าเป็นของสองสิ่งชัดเจนน่ะ มีรู้ชัดเจน ...แต่ว่าเวลาเราเห็นแรกๆ มันก็เห็นชัดแค่ชั่วขณะนึง แป๊บนึง 

ต่อไปมันจะชัดเจนมากขึ้นๆ ...ต่อไปก็ทำอะไรโดยที่ว่าไม่เครียดไม่เกร็ง เป็นสบายๆ แต่มันก็...มันดูเหมือนมีเชื้อไวรัสอยู่ข้างในติดอยู่น่ะ ...คือติดรู้ติดเห็นอยู่ข้างใน 

มันมีรู้เห็นติดอยู่ข้างในอยู่ตลอด...นิดนึงน่ะ ไม่ว่าตั้งใจดูหรือไม่ตั้งใจ มันก็เห็น มันมีรู้อยู่ ...คล้ายๆ กับมีผีสิงอยู่ข้างในตัวนึง แต่ว่าเป็นผีผู้รู้อยู่ข้างในนั้นน่ะ

แค่นั้นน่ะพอแล้ว ...แล้วมันจะค่อยๆ เรียนรู้ด้วยตัวของมันเองไป ...อะไรๆ ก็รับได้ อะไรๆ ก็ไม่มีปัญหากับอะไร มันจะเป็นกลางมากขึ้นๆ

แล้วส่วนมากที่มันจะหายไปก็กับไอ้ที่เกิดความยึดมั่นถือมั่นมาก หรือว่าเข้าไปจริงจังกับมันมาก ...นี่ ภาวะไอ้รู้จางๆ รู้เห็นอยู่ข้างในภายในที่มันมีติดอยู่ มันจะหายไป 

ก็ต้องเรียนรู้ แยบคายกับอารมณ์ กับสิ่งนั้น กับอาการนั้น อาการของขันธ์เช่นนั้น

เพราะนั้นว่า แต่ละคนนี่ อย่าทิ้งการภาวนาในรูปแบบ ต้องฝึก นั่งสมาธิให้ได้ อย่างน้อยวันละชั่วโมง-สองชั่วโมง รวมจิตรวมใจไว้ ...แล้วก็เรียนรู้ดูอาการ 

ไม่ได้เอากำลังนะ ...แต่เพื่อรวมจิตรวมใจ แล้วแยกจิตแยกใจ ให้เห็นจิต ให้เห็นใจ ให้เห็นกายชัดเจน แค่นั้นเอง

เพราะอะไร เพราะว่าโดยปกติเราทำงาน เราไม่ได้อยู่ในรูปแบบของการปฏิบัตินี่ แล้วเจริญสติแบบสติธรรมชาตินี่ มันมักจะติดความเผลอเพลิน ...รู้ตัวได้น้อย 

มันทำความชัดเจนกับรู้ได้น้อย ทำความชัดเจนกับอารมณ์ กับขันธ์ แยกกายแยกขันธ์ แยกกายแยกใจได้น้อย ...มันรู้อยู่น่ะมันเคยแยกได้ แต่เวลาจริงแล้วมันจะหลงเผลอเพลินมาก

ก่อนนอน ตื่นนอน หรืออะไรก็ตาม ต้องทบทวนใจ ...ที่ให้นั่งนี่ ให้นั่งในรูปแบบนี่ ไม่ได้เอาอะไรหรอก ...นั่งเพื่อทบทวนใจ อันไหนเป็นใจ อันไหนเป็นกาย อันไหนเป็นรู้ ให้มันเกิดความแม่นยำ ชัดเจน 

ไม่ใช่เอาความสงบเป็นกำลังหรืออะไร หรือรูปแบบเป็นกำลัง ...แต่นั่ง เพราะอะไร ...คือมันนั่งแล้วมันตั้งท่าตั้งทางแล้วมันควบคุม มันสามารถจะตั้งอกตั้งใจรู้ได้ หรือว่าจำแนกแยบคายได้โดยชัดเจน อย่างนี้

จะอะไรก็ได้ จะพุทโธก็ได้ จะลมหายใจก็ได้ หรือจะไม่เอาอะไรเลยก็ได้ แล้วก็รู้เฉยๆ กับกายที่นั่งเฉยๆ ก็ได้ มันแล้วแต่กุศโลบาย ...แต่เพื่ออะไร ...เพื่อให้แม่นยำ แม่นยำว่าเป็นของสองสิ่ง 

ตรงไหนเป็นของสองสิ่ง อันไหนเป็นสิ่งที่ถูกรู้...อันไหนเป็นรู้ ...ไม่เอาอะไรมากกว่านั้นหรอก เอาความแม่นยำชัดเจน ...อ๋อ นี่ใจ มันจะได้จดจำสภาวะใจ จดจำสภาวะขันธ์...ที่มันต่างบุคลิกกัน แค่นั้นเอง

แล้วจากนั้นไปน่ะ เราก็ใช้ชีวิต ก็พยายามไปเติมเต็มสติในอิริยาบถปกติให้ได้ ให้มากที่สุด นั่นถือเป็นกำไร ...นั่นถือเป็นกำไรแล้ว...ในชีวิตจริงน่ะ

เพราะว่าสติมันต้องใช้กับชีวิตจริง สมาธิต้องใช้กับชีวิตจริง ปัญญาต้องใช้กับชีวิตจริง 

ไม่ใช่มาอยู่ในที่...สถานที่ว่าห่างไกลสุดกู่จากรูปเสียงกลิ่นรสผัสสะ ...ไม่มีประโยชน์หรอก สำหรับคนที่ไม่เจริญทางสมถะกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐานนี่

เพราะนั้นตัวสมถะกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานนี่ จึงเหมาะสำหรับคนบางกลุ่มเท่านั้นเอง ไม่ใช่คนเมือง ไม่ใช่คนที่ยังต้องสัมผัสสัมพันธ์กับโลกโดยตรง

ก็เลยต้องไล่ให้ไปอยู่ในป่าซะเลย หรือไปอยู่ที่รกร้างว่างเปล่าซะ แล้วก็ไปทำให้เต็มรูปแบบของสมถะกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐาน ยกกายยกจิตขึ้นมาพิจารณาเป็นนิมิต แล้วก็เห็นนิมิตนั้นแตกดับไป 

จนที่บอกดับว่าหมดแล้วเหลืออะไรน่ะ ก็กลับมาเหลือใจดวงเดียวเหมือนกันน่ะแหละ นั่น พิจารณากาย พิจารณาไป พิจารณายกขึ้นมาเป็นอสุภะๆๆ เน่าๆๆๆ เน่าแล้วเหลืออะไร เหลือกระดูก ดูกระดูกไป 

ดูกระดูกไปดูกระดูกมา กระดูกแตก เอ้า แตกแล้ว แตกๆๆ แตกไปหายไปไหน กลายเป็นผุยผง ผุยผงไปไหน เอ้า เกลี้ยง ว่าง ดับ นั่นน่ะที่สุดของกาย ของการพิจารณาวิปัสสนากรรมฐานน่ะมันจะเป็นอย่างนั้น

เอ้า ถ้ายังไม่ดับๆ เดี๋ยวมันมารวมใหม่ เอ้า สมถะกำลังไม่พอ วิปัสสนาไม่พอ มันจะรวม กลับมารวมใหม่อีก เดี๋ยวเนื้อเดี๋ยวหนังมาเติม เดี๋ยวเครื่องในมันห่อกลับมารวมกันใหม่อีก ไม่เห็นความดับความว่าง

แล้วก็พิจารณาจนแตกๆๆๆ แยกออกๆๆๆ ใหม่ไปเรื่อย ...นี่เป็นเรื่องของจินตาหมดเลย ล้วนๆ ...แต่ด้วยกำลังของสมถะ มันก็เห็นเป็นนิมิตไปเรื่อยๆ จนแตก แตกแล้วแตกอีกๆๆ น่ะ

นิมิตมันแตกนะ กายยังนั่งอยู่ทนโท่เลยนะ แต่ที่เห็นแตกนั่นเป็นนิมิตหมด แต่ว่าเป็นอุคคหนิมิต เป็นปฏิภาคนิมิต โอ้ย ท่านก็อยู่ได้คนเดียวอยู่แล้ว ไม่สนใจโลกแล้ว ไม่มีเสียงไม่มีอะไร 

ท่านก็ง่วนทำของท่านอยู่อย่างนั้น ซ้ำแล้วซ้ำอีกๆ อยู่อย่างนั้น จนโลกธาตุแตก คือขันธ์นี่แตก แตกไปแล้วพึ่บนี่ มันเหลือใจ...ผู้รู้นี่ ใจนี่เด่นขึ้นมาตรงนั้นน่ะ 

เหลือใจ ...สุดท้ายก็เหลือใจ ไม่มีอะไรเหลือหรอก นอกจากใจ ...มันก็กลับมารวมที่เดียวกันน่ะ ไม่ว่าจะมหาสติปัฏฐานก็เป็นไปเพื่อกลับมาอยู่ที่ใจ

เพราะใจมันไม่แตก พิจารณายังไงก็ไม่แตก อยู่อย่างนั้นน่ะ มันก็รู้ ทื่อๆ รู้ซื่อๆ รู้ ...เป็นของที่มีมาก่อนโลกน่ะ ใจ ธรรมชาติของความไม่มี ธรรมชาติของความว่าง ธรรมชาติของความไม่มีอะไร 

มันมีมาก่อนโลกอีก ก่อนจักรวาลตั้งอีก นั่น มันทำอะไรเขาไม่ได้หรอก มันก็จะพิจารณาขนาดไหนก็รู้แล้วว่าหัวชนฝา ไม่มีน่ะ ปึ้บ แล้วก็ปล่อยหมด 

แล้วจากนั้นก็มาพิจารณาใจดวงเดียว ใจดวงเดียวแล้วยังไง มันยังมีอะไร...เป็นนามน่ะ วุบๆ วับๆ ออกมา ...กายนี่ไม่สนแล้ว เข้าใจแล้ว

(ต่อแทร็ก 6/18)