วันอาทิตย์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 6/2




พระอาจารย์

6/2 (541211B)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

11 ธันวาคม 2554


พระอาจารย์ –  รู้ที่ใจ...ก็คือการละ การวาง การปล่อย การคลายที่ใจ  ถ้าใจมันจะเข้าไปถืออะไร เข้าไปหาอะไร เข้าไปมีอะไร จะไปเป็นอะไร ...จับมันบวชซะ  อย่าไปกับมัน อย่าให้มันไป อย่าไปตามมัน  อยู่กับปัจจุบันไว้ 

ลักษณะของใจก็คือแค่...ลักษณะรู้ ลักษณะที่ว่าเป็นการเห็น ... นี่คือบุคลิก บุคลิกของธาตุ  
กายนี่มีบุคลิกคือเป็นธาตุ แข็ง อ่อน นิ่ม ยืดหยุ่น เย็น อุ่น ร้อน กระเพื่อม ขยับ พวกนี้เป็นบุคลิกของกาย 
บุคลิกของนามคือ วูบๆ วาบๆ  ไหลไปไหลมา จับต้องไม่ได้ 
ห็นไหม คือขันธ์ เป็นบุคลิก   เข้าใจคำว่าเป็นบุคลิกไหม มันมีบุคลิก หรือลักษณะของมัน  

ส่วนใจนี่ ที่พูดว่าใจ...ใจ  บุคลิกของใจง่ายๆ ชัดๆ สั้นๆ ตรงๆ คือ.. รู้กับเห็น  นั่นแหละใจ มีลักษณะอาการนั้น ... ต้องแยกให้ออก อันไหนเป็นใจ อันไหนไม่ใช่ใจ  ถ้าแยกไม่ออก มันบวชไปเรื่อย

ไอ้ที่ควรเอาไว้ก็ดันเอาออก ไอ้ที่ควรเอาออกก็ดันเอาไว้ ... ไอ้ใจที่ควรเอาไว้ดันเอาออกคือปล่อยให้มันหายไปเสียอย่างนั้น  ไอ้ที่ไม่อยากให้เอาไว้ดันเก็บไว้เลย รักษาหวงแหนปานชีวิต...อารมณ์บ้าง ความคิดบ้าง ความสุขบ้าง ความทุกข์บ้าง เรื่องราวบ้าง สัญญาบ้าง ความรู้สึกบ้าง ความเห็นบ้าง ไอ้พวกนี้คือของที่ต้องออกบวช คือของที่ต้องละ ไม่เอาไว้ 

เอาไว้อันเดียว เหลือใจไว้ อย่างอื่นทิ้งให้หมด ... นี่เขาเรียกว่านักบวช ท่านให้สละออกไป 

แล้วทำไมท่านถึงบอกว่าไม่ให้สละใจออกไป ... เพราะใจมันสละไม่ได้ ใจมันทิ้งไปไม่ได้  ใจไม่เคยตาย ใจไม่เกิด ใจไม่ดับ ใจไม่ขึ้น ใจไม่ลง ใจไม่มีทางที่จะไปทำอะไรให้มันหายไปได้  พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าต้องเหลือไว้ ยังไงก็ต้องเหลือ 

แต่อย่างอื่นน่ะทิ้งให้หมด ละให้หมด ... ยิ่งละได้เท่าไหร่ ยิ่งทิ้งได้เท่าไหร่ จะเห็นว่าเหลือใจชัดเจนขึ้นเท่านั้นแหละ จะเห็นใจได้ชัดขึ้นมากขึ้นเท่านั้นเลย
 
แต่ถ้ายังทิ้งไม่ได้ ไม่ยอมทิ้ง ใจก็จะคลุมๆ เครือๆ  มืดๆ หม่นๆ  หาไม่ถูกหาไม่เจอ ไม่รู้มันอยู่ตรงไหน ไม่รู้มันเป็นอะไร  เขาเรียกว่าใจมันหาย ... ภาษาเขาก็เรียกว่าใจหาย ทั้งๆ ที่ว่าใจน่ะไม่ได้หาย  ใจก็ยังมีอยู่  แต่มันถูกครอบคลุมครอบงำ ปิดบัง ด้วยขันธ์ที่ห่อหุ้มมันด้วยความไม่รู้ ...ปัญหามันอยู่ตรงนั้นน่ะ ทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงมันอยู่ตรงนั้น  

ถ้าเหลือแค่ใจหรืออยู่กับใจไว้ ไม่ไปอยู่กับขันธ์ ... สัตว์นั้นบุคคลนั้นจะรู้ได้ด้วยตัวเองว่า...นี่แหละทุกข์น้อยลง  นี่แหละทุกข์อยู่ได้แป๊บเดียว นี่แหละไม่มีทุกข์เกิดเลย ... นั่นแหละพระพุทธเจ้าถึงเรียกว่ามันเป็นปัจจัตตัง มันจะรู้เอง สำหรับผู้ที่ปฏิบัติจริง ปฏิบัติตรง  

ไม่ใช่ปฏิบัติในตำรา คือนั่งปฏิบัติหน้าโต๊ะหนังสือแล้วก็คิดๆ นึกๆ ถึงความน่าจะเป็น  อย่างนี้ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติจริง...จะไม่เข้าใจ จะไม่เข้าใจอะไรเลย จะไม่เห็นความเป็นจริงอะไรเลย จะไม่เห็นว่าตรงไหนมันไม่มีทุกข์อย่างนั้นจริงได้อย่างไร จะไม่เข้าไปสัมผัส

แต่ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติที่จริงแล้ว จะเข้าใจว่าเมื่อใดที่เหลือแค่ใจรู้ เมื่อใดที่อยู่กับใจรู้นานขึ้นเท่าไหร่ ทุกข์น้อยลงเท่านั้น  เมื่อใดที่ไม่มีใจ ไม่อยู่กับใจ จะรู้สึกเลยว่า เหมือนยาจกขอทาน อดๆ อยากๆ  คับแค้น ไม่อิ่ม ไม่เต็ม ไม่พอ  

หาอะไรอยู่ก็ไม่รู้ เหมือนขอทาน like the homeless to find everything  ไม่รู้มันหาอะไร ได้เท่าไหร่ก็ไม่เต็ม ได้เท่าไหร่ก็ไม่พอ ... นั่นแหละมันถึงจะรู้ ทุกข์มันอยู่ตรงนี้ 

แต่เมื่อใดที่ตั้งลง ตรงลงไปที่ใจ อยู่กับใจ อยู่ที่ใจรู้ใจเห็นไว้  ทุกข์จะน้อยลง น้อยลงเองจนน่าสงสัย ... มันจะสงสัย เอ๊ะ ทำไมมันไม่ค่อยทุกข์เลย 

แต่แรกๆ ตอนที่จะจับให้มันมาอยู่กับใจนี่ทุกข์นะ จับให้มาอยู่กับรู้เฉยๆ แรกๆ เบื้องต้นของนักปฏิบัตินี่ เหมือนจับลิงมาอยู่ในกรง  มันดิ้น มันไม่ยอมหยุด มันไม่ยอมอยู่ตรงนี้  

มันเข้าใจว่า มันคิดเอาเองว่า '...ตรงนั้นดีกว่า ตรงนู้นดีกว่า สถานที่นั้นดีกว่า เสียงนั้นดีกว่า สิ่งนั้นดีกว่า รูปรสกลิ่นเสียงตรงนั้นดีกว่า ตรงนี้สนุกกว่า น่าเลื่อมใสน่าเพลิดเพลินกว่า'

มันยากตอนเริ่มต้น...เหมือนเด็กหัดเดิน  ยังไงก็หลง...ยังไงก็หลง ... ออกมาจากท้องแม่มันยังเดินไม่เป็น ดิ้นแง่กๆๆๆ อยู่บนเบาะนั่น  พอเริ่มเดินก็ล้ม ลุกอีกก็ล้มอีกๆ ล้ม ... แต่ทุกวันนี้เป็นไง...เดินกันปร๋อเลย 

เช่นเดียวกัน ผู้ปฏิบัติธรรม...เริ่มต้นเหมือนเด็กแบเบาะกำลังหัดเดิน  แต่พอล้มสักทีสองที...ไม่เอาแล้ว ยากเกินไป เป็นไปไม่ได้ บารมีไม่พอ เหตุปัจจัยไม่เพียงพอ วาสนาไม่ถึง รอก่อน ชาติหน้าก่อน มันเป็นซะอย่างนั้น 

เกิดใหม่...เหมือนเดิมอีก  พอเริ่มตั้งไข่...ล้มอีกแล้วๆ ... ขยันได้จริงๆ จังๆ สักห้าครั้งสิบครั้งก็ไม่เอาแล้ว ท้อแล้ว  

ความเพียรเท่าปลายเข็ม ความอยากเท่ามหาสมุทร  สู้มันไม่ได้หรอก ... ความอยากนี่เต็มหัวใจไปหมดไม่ยอมเลิกไม่ยอมละ  แต่ความเพียรที่จะมาตั้งไข่ล้มต้มไข่ลุกนี่ น้อย อ่อน

ใจก็หลง...ซ้ำซากอยู่อย่างนั้น  ใจมันก็เพลิน...ซ้ำซากอยู่อย่างนั้น  ใจมันก็หายไป...ซ้ำซากอยู่อย่างนั้น ... ไม่แข็งขืน ไม่แข็งขัน ไม่ทวนกลับมา...บ่อยๆ เสมอ เป็นนิจ เป็นนิสัย เป็นอาจิณ  ถ้าความเพียรมันได้อย่างนี้ ไม่ต้องเดินน่ะ วิ่งยังได้เลย วิ่งปร๋อเลย 

แต่ถ้ามานั่งคิดๆ นึกๆ อยากๆ ก็แค่นั้นน่ะ  ลมดีลมร้าย ขยันก็ทำ ขี้เกียจก็ไม่เอา  วันไหนอารมณ์ดีก็ทำเอาเป็นเอาตายเลย  พอมันท้อ มันถอย มันเบื่อ หรือมีอะไรมากระทบ...ก็ไม่เอาแล้ว  พอกลับจะมาเดินใหม่ก็ติดนั่นติดนี่ โทษนั้นโทษนี้ หาวิธีการใหม่อีก วิธีนั้นวิธีนี้เยอะแยะไปหมด 

สุดท้ายก็วิธีเก่าๆ ... วิธีเก่าคือวิชาการขี้เกียจ มันเป็นวิชาที่หมักหมมหมักดองข้ามภพข้ามชาติ ไอ้วิชาขี้เกียจขี้คร้านนี่  เอาหมอนเป็นสรณะ เอาที่นอนเป็นสรณะ เอา ตา หู จมูก ลิ้น เป็นสรณะที่พึ่งที่อาศัย  วิชานี้วิชามาร เข้าใจรึเปล่า 

วิชามารคืออะไร คือขันธมาร มันเป็นมาร ขันธมาร ขันธ์นี่เป็นมาร  ตัวของเรานี่แหละคือมารร้าย ไม่ใช่มารอยู่ข้างนอก  มารคือตัวเรานี่แหละ คือความคิดของเรา คือกายของเรา คือเสียง กลิ่น รส ที่เรากระทบสัมผัส ทุกอย่างคือมาร...ที่เราหลงไปกับมัน  

รู้บ่อยๆ ตั้งใจบ่อยๆ ให้ใจมันตั้ง ... ถ้าไม่ตั้ง ใจก็ไม่ตั้ง  ถ้าไม่ตั้งลงที่ใจ มันก็จะไปตั้งในที่อื่นๆ  เช่นไปตั้งอยู่ในเรื่องราวของคนอื่น เช่นไปตั้งอยู่ในอดีต ไปตั้งอยู่ในอนาคต  พระพุทธเจ้าบอกให้ตั้งที่ใจ ให้ใจมันตั้ง ไม่ได้ให้ไปตั้งที่อื่น 

ถ้าตั้งที่อื่นน่ะมันก็ไม่เข้าใจอะไร  มันก็มีแต่ทุกข์กับสุข ...ไม่ทุกข์มากก็สุขน้อย ไม่ทุกข์น้อยก็สุขมาก ไม่สุขนานก็สุขแป๊บเดียว ไม่ทุกข์นานก็ทุกข์แป๊บเดียว มันก็มีอยู่แค่นั้น  ถ้าตั้งที่อื่นนะ ผลของมันมีอยู่แค่นั้นไม่สุขก็ทุกข์ ไม่มากก็น้อย ไม่ขึ้นก็ลง ไม่นานก็ช้า ไม่เร็ว ก็แค่นั้น
 
แต่ไม่เข้าใจ...ไม่เข้าใจกระบวนการของโลก ไม่เข้าใจกระบวนการของธรรม  ไม่เข้าใจวิถีแห่งโลก ไม่เข้าใจวิถีแห่งธรรม ไม่เข้าใจวิถีแห่งชีวิต ไม่เข้าใจวิถีแห่งจิต ไม่เข้าใจในวิถีแห่งมรรค ไม่เข้าใจวิถีแห่งการหลุดพ้น ไม่เข้าใจวิถีแห่งการรู้แจ้ง 

มีที่เดียว ตั้งมันลงไป คือที่ใจ  สั้น... ตรงไหนก็ได้ ที่ไหนก็ได้ เวลาไหนก็ได้ ใจมันมีอยู่ตลอด  ตั้งลงตรงนั้นน่ะ หยั่งลงไป จี้ลงไป ที่ใจดวงนั้นแหละ  และไอ้ที่พูดมาทั้งหมดนี่ วิถีทั้งหลายนี่ ...มันจะเข้าใจเอง

ไม่ต้องไปถามใคร ... ไม่ต้องมาหาเราอีกก็ได้  ไอ้ที่เราสอนนี่ เราสอนเพื่อให้ไม่ต้องมาหาเราอีก ไม่ได้สอนให้มาหาเราบ่อยๆ  สอนเพื่อให้มันเข้าใจแล้ว เออเฮ้ย กูไม่ฟังมึงอีกแล้ว  ครูบาอาจารย์นี่ไม่ได้สอนให้มาฟังเราบ่อยๆ นะ  ...สอนให้เข้าใจ 

ให้เข้าใจ...และให้ใจมันหยุดเอง  เพราะมันเห็นเองแล้ว ... มันไม่มาเห็นตามเราเห็นหรอก  ไอ้ที่เราพูดนี่คือเราเห็นแล้วเรามาพูด ... อย่ามาตามเราเห็น อย่ามาเชื่อตามที่เราเห็น ... พวกโยมพวกท่านหลายทั้งฝรั่งทั้งไทยนี่ ... มันต้องไปเห็นเอง แล้วมันจะเชื่อด้วยตัวของมันเอง ใจนั่นแหละ  

ใครก็หลอกไม่ได้แล้ว ใครเขามาบอกว่าถูก ใครเขามาบอกว่าผิด ก็ไม่เชื่อแล้ว  ใครบอกว่าใช่ ใครบอกว่าไม่ใช่ ไม่เชื่ออะไรแล้ว ใจมันรู้เอง  นี่แหละ ภาวนาเป็น...ได้หลัก  จะได้หลัก  ไม่อาศัยหลักคนอื่นแล้ว 

ถ้าอาศัยหลักคนอื่นก็เหมือนไม้หลักปักขี้เลนน่ะ พอเขาพูดนิดหนึ่ง ปั๊บนี่กระเทือนเลยนะ ... นับถือใครมากล่ะ  ถ้านับถือใครมาก ถ้าคนนั้นพูดนิดนึงว่าไม่ใช่นะ.. ล้มทั้งยืน เสียอกเสียใจ หวังว่าครูบาอาจารย์จะชมกูสักหน่อย  ที่ไหนได้...ผิด ... อูย ...ใจนี่เหมือนสูญเสียทรัพย์สิน หมดสิ้นเนื้อประดาตัว ท้อถอยเลย 

นี่เพราะเราไปตั้งไว้กับท่านน่ะ ... ไปตั้งที่อื่นน่ะทุกข์ทั้งนั้นแหละ  ถ้าอยู่ที่ใจ ใจไม่เสียหาย  นี่...ใจไม่เสียหายนะ ไม่มีใครบังอาจมาทำให้ใจเสียหายได้  ไม่มีใครทำให้ใจใครเสียหายได้ 

เพราะฉะนั้นไอ้ที่เสียหายนั้นน่ะ แค่ความรู้สึก หรือความเห็น หรือความเชื่อน่ะ ... ดูสิ แค่นี้พวกเราก็จะเป็นจะตายกับมันแล้ว  เพราะไม่อยู่ที่หลัก...หลักใจ  มันไปอยู่ที่หลักอื่น มันก็ง่อนแง่นคลอนแคลน หรือไม่เที่ยง เอาแน่เอานอนไม่ได้ 

ที่เราสอนที่เราแนะนำทุกคนไปนี่ เราสอนอยู่เรื่องเดียวคือสติ  เราสอนเรื่องสติที่เป็นสติที่แท้จริง  ไม่ใช่สติเพื่ออะไร หรือเพื่อให้ได้อะไร  แต่คือสติที่จะระลึกเพื่อให้เกิดการปรากฏขึ้นของใจรู้...ใจเห็น  

ทุกครั้งที่มีสติ ขณะนั้นจะมีอยู่สองอาการ  สิ่งหนึ่งถูกรู้ สิ่งหนึ่งรู้  มันมีสองบุคลิกในขณะเดียวกัน ที่รู้ ที่ระลึกขึ้นมา  นั่นแหละ แล้วให้หยั่งลงไป จี้ลงไป โอปนยิโกกลับมาตรงบุคลิกที่รู้และเห็น...เสมอ เนืองๆ เป็นนิจ  

เอามันจนจำได้ในตัวของมันเองว่า ถ้ากูอยู่ตรงนี้ กูจะทุกข์น้อยที่สุดจนถึงไม่มีทุกข์เลย  จนใจดวงนั้นมันเชื่อ มันเห็นอย่างนั้นจริงๆ ... เมื่อมันเห็นจริงอย่างนั้น เชื่อได้อย่างนั้น ด้วยตัวของมันอย่างนั้น ด้วยการที่ว่าฝึกรู้บ่อยๆ เห็นบ่อยๆ  ความเป็นอัตโนมัติ คราวนี้ไม่ต้องบอกเลย มีอะไรเกิดขึ้นปุ๊บ มันรู้ ๆ  รู้ก่อนเลย

แต่ก่อนนี้ต้องอาศัยครูบาอาจารย์สั่งไว้ 'ต้องรู้ไว้ก่อน' ... เพราะมันไม่ค่อยยอมรู้  มีอะไรเกิดขึ้นมันก็ไม่อยากรู้ มันก็ไม่ค่อยระลึกรู้ ... มันก็ต้องเอาคำสอนของครูบาอาจารย์หรือคนที่เขาภาวนาดีๆ เก่งๆ เขาแนะนำ  เขาบอกว่าให้รู้ ก็จำไว้เชื่อไว้ ก็รู้ไว้ 

แต่พอรู้บ่อยๆ ด้วยการที่บังคับบ้าง เตือนบ้าง บอกกล่าวมันบ้าง สั่งสอนมันบ้าง ... จนมันรู้ได้โดยตัวของมันเองว่า...ถ้าอยู่ตรงนี้แล้วทุกข์มันรู้สึกจะน้อยลงว่ะ  

คราวนี้ไม่ต้องสอนมันแล้ว ไม่ต้องตามทุกฝีก้าวคอยบอกให้ต้องรู้อยู่นะ ...มันรู้เอง มีอะไรเกิดขึ้นปุ๊บ...รู้ ตาเห็นรูป...รู้ หูได้ยินเสียง...รู้  มันรู้ก่อนเลย...รู้ก่อนที่จะคิดอีก รู้ก่อนที่จะมีอารมณ์อีก รู้ก่อนที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์มันอีก ...รู้ก่อนเลย  มันรู้ก่อนที่ทุกข์จะเกิด

เพราะฉะนั้นการปฏิบัตินี่ มันพิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอให้ใครพยากรณ์  ไม่ต้องรอให้ใครบอกว่าคุณทำถูกแล้ว  อย่าไปเชื่อ ... รู้เอง ให้ใจรู้เองว่า ใจเรา...สมมติว่าเป็นของเราตอนนี้...มันทุกข์น้อยลงหรือมันทุกข์มากขึ้น  

รู้เองน่ะ จะมาโกหกเราขนาดไหนมันก็รู้ โกหกตัวเองไม่ได้หรอก  ถึงจะมาพูดว่า โอ้ย ใจผมไม่ได้เรื่องได้ราวเลย มีแต่ทุกข์เต็มไปหมด  มันก็รู้เอง ตัวมันทุกข์จริงหรือเปล่า หรือมันพูดไปอย่างนั้น  มันโกหกไม่ได้ 

ตรงลงไปตรงนั้นแหละ มันจะเข้าใจด้วยตัวเอง ... คนอื่นอยู่ได้ไม่นานหรอก เขาพูดได้ไม่นานเดี๋ยวเขาก็ตายไปหมด เชื่อไม่ได้ ... ต้องให้ใจนี่มันเชื่อตัวของมันเอง เป็นสันทิฏฐิโก  รู้เองเห็นเองๆๆ  อย่าให้คนอื่นคอยบอก  

อย่าอาศัยแต่ครูบาอาจารย์คอยบอกคอยเตือน  ตัวเองนั่นแหละมันต้องเตือนตัวเอง ... ใครจะไปตามสอนได้ในเวลาฝันล่ะ เกิดฝันเห็นผี เห็นอะไรขึ้นมาแล้วตกอกตกใจ หรือเขาจะลากไปลงนรกนี่  มาเรียกร้องหาครูบาจารย์ ...ฮู้ย กูนอนหลับไม่รู้เรื่องแล้ว...ไม่ไปล่ะ 

ใครก็ช่วยไม่ได้...มีแต่ตัวเองเท่านั้นแหละเป็นที่พึ่ง  อาศัยตัวเอง ตัวตนของตัวเองนั่นแหละ ตัวตนที่ฝึกฝนดีแล้ว ตัวตนที่อยู่กับสติ สมาธิ ปัญญา นั่นแหละช่วยได้ 

ต้องทวน...ทวนกลับมาที่ใจ  ใจคือรู้ ใจคือเห็น ใจไม่ใช่คิด ใจไม่ใช่อารมณ์ ใจไม่ใช่ความอยาก ใจไม่ใช่ความสุข ใจไม่ใช่ความทุกข์ ใจไม่ใช่อดีต ใจไม่ใช่อนาคต  พวกนั้นไม่ใช่ใจนะ พวกนั้นเป็นนาม

ใจคือรู้ว่าคิด ใจคือรู้ว่าโกรธ ใจคือรู้ว่าหงุดหงิด ใจคือรู้ว่าสบายใจ ใจคือรู้ว่าเบา ใจคือรู้ว่าหนัก ... ไอ้ที่ว่าหนักใจๆ น่ะ  ใจไม่หนักนะ ... โอ้ย วันนี้ใจสบาย ... ใจไม่สบายนะ  ดูดีๆ อย่าไปเชื่อ โมเมเอา ตามความเชื่อในโลกหรือความเห็นในโลก 

มันว่าใจสบาย ใจที่ไหนมันสบายได้วะ  เราดูมาสามสิบปีแล้ว เราไม่เห็นใจมันสบายเลย  เชื่อรึเปล่า  อย่าเพิ่งเชื่อ ไปลองดูก่อน...ต้องไปลอง จะรู้เลยว่าใจนี่ไม่สบายเลยว่ะ  ในขณะเดียวกัน ใจก็ไม่เคยทุกข์เลยว่ะเฮ้ย ประหลาด มหัศจรรย์  ไม่ได้ไปทำขึ้นนะ แต่มันมหัศจรรย์ในตัวของมันเอง 

แต่ด้วยความหลงก็เชื่อไปว่าใจนี้เป็นทุกข์บ้าง ใจเป็นสุขบ้าง ใจสบายบ้าง หนักใจ ใจขุ่น ใจมัว ใจหมอง ใจเศร้า ใจโปร่ง ใจโล่ง ใจเบา  โมเมเอาว่าใจเป็นอย่างนั้น ... ใจไม่เคยเป็นอย่างนั้น ใจไม่มีหน้า ใจไม่มีตา ใจไม่มีตัว ใจไม่มีรูปร่าง ใจไม่มีสีสัน ใจไม่มีที่ตั้ง ใจไม่มีวรรณะ ใจไม่มีสถานะ ใจไม่มีเพศ ใจไม่มีทรวดทรง ... ใจมีแต่รู้กับเห็น 

หาใจให้เจอ แล้วอยู่ที่ใจดวงนั้น ... เหมือนกันหมดทุกคน  มีใจดวงเดียวกัน เสมอกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน รู้เห็นเหมือนกัน ... ไม่มีใครรู้เห็นเก่งกว่าใครหรอก  ไม่มีรู้เห็นของคนไหนดีกว่าหรือต่ำกว่าหรือสูงกว่าใครหรอก ...รู้เห็นเท่ากัน เดียวกัน อันเดียวกัน นั่นแหละใจ 

อยู่ที่ใจตรงนั้น ทุกอย่างจะง่าย ทุกอย่างจะสั้น ทุกอย่างจะจบได้ ... ไม่งั้นจบไม่ได้ ไม่งั้นหาที่จบไม่เจอ  ใช้ชีวิตมาตลอดยังหาเลยว่าชีวิตกูจะเป็นยังไง หาจุดหมายไม่เจอ  ไอ้ที่ตั้งไว้ก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง แล้วก็ยังตั้งต่อไปอีก มันจะหาที่ตั้งให้ได้ 

จนมันงงว่ากูจะไปตั้งอยู่ตรงไหน บุคลิกของเราจะเป็นยังไง จะทำงาน จะเป็นนักภาวนาดี หรือเอาทุกอย่างเลย เป็นหมอดีมั้ง หรือเป็นอาจารย์  ฮู้ย งง สับสน มันมีที่ให้เลือกเยอะ ที่ให้เลือกไม่มีประมาณเลย  ...คิดไปคิดมานี่ไม่มีประมาณนะ 

ความเป็นไปน่ะไม่มีที่จบสิ้น  ต่อให้เกิดตายๆ มาล้านชาติ มันก็ไม่จบไม่สิ้น  ในความที่ว่า ความน่าจะเป็น infinity น่ะ  เพราะความคาดคะเน ความคาดหมายไว้นี่ ตั้งตรงไหนก็ได้ แล้วแต่มันจะปรุงขึ้นมา  เห็นไหม เราถึงบอกว่ามันไม่มีที่จบ

ลองเหลืออยู่กับรู้กับเห็น มันมีที่ให้ไปไหมไหมล่ะ ...ไม่ไป มันไม่มีที่เลยน่ะ มันมีแค่รู้แค่เห็นเท่านั้น  ไปไม่ได้แล้ว ไม่มีที่ให้ไปแล้ว มีอยู่ที่เดียว ... ใจนั่นแหละ ถึงเรียกว่าไม่มีประมาณที่สุด  แต่ไม่มีประมาณในแง่ที่ว่า ไม่ใช่ไม่จบไม่สิ้น ...เป็นความว่างที่ไม่มีประมาณ เป็นความสมบูรณ์ที่ไม่มีประมาณ ไม่ขาดตกบกพร่องเลย  ไม่ขาดไม่เหลือ มันมีเท่านั้น มีแค่นั้น 

เพราะฉะนั้น สภาวะที่สุดของการภาวนา...เหลือแค่นั้นแหละ เหลือแค่รู้กับเห็น  ไม่เหลืออะไรเลย ล่อนจ้อน หมด สิ้นเลย เป็นผู้ที่หมดสิ้นเลย เหลือแค่ใจดวงเดียว คือเหลือแค่รู้และเห็น  อดีตก็หมด อนาคตก็หมด  เป็นคนหมดอนาคต

อยากเป็นไหม ... เราสอนให้เป็นนะ ให้อยู่แบบเป็นคนหมดอนาคต ไร้อดีต สิ้นอนาคต หมดความคาดหวัง  เป็นพวกที่เขาเรียกว่า สิ้นเนื้อประดาตัว อยากเป็นไหม ... ควรเป็นไหม  อยู่แบบสิ้นเนื้อประดาตัว  ไม่เหลือตัวไม่เหลือตนไว้เลยดีที่สุด 

แล้วจะรู้เลย เมื่อใดที่เป็นคนที่สิ้นเนื้อประดาตัว จะเป็นคนที่สุขมากเลย ไม่เอาเรื่องเอาราวอะไรกับใคร เพราะไม่มีตัวตนรองรับกับตัวตนที่กระทบ ... แต่พวกเราอยู่แบบตัวตนมันแข็งแกร่ง แข็งกล้า  มันก็ทุกข์ตั้งแต่หัวจดตีน เชื่อไหมละ ทุกข์ตั้งแต่หัวยันตีนเลยคิดดู เรื่องไม่เป็นเรื่องเห็นไหม...ตัวตน

สำคัญว่าตัวตนนี้เป็นเรา ตัวตนนี้เป็นของเรา...นี่หลง ...  ตัวตนคือตัวตน ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร... ผมคือผม หนังคือหนัง เนื้อคือเนื้อ กระดูกคือกระดูก เลือดคือเลือด เอ็นคือเอ็น แขนคือแขน ขาคือขา มือคือมือ ตีนคือตีน  มันบอกไหมมันเป็นใคร ของใคร ... มาหน้าด้านบอกว่าเป็นของเราได้ยังไงนี่ ...ก็มันเป็นตัวตนที่ไม่มีความหมาย

แต่ใจมันไม่เห็นนี่ ...ใจมันไม่เห็นอย่างนี้  เห็นอะไรก็เป็นของเราทั้งนั้นน่ะ  ไอ้นั้นก็เรา ไอ้นี่ก็ของเรา  เอาเลือดเอาเนื้อมากองไว้ แบ่งออกมาสิ  ไม่เห็นมันดิ้นรนเลยว่าเฮ้ย กูขอกลับไปอยู่กับมึงนะ เอามาผสมปนกัน ...มันไม่พูดเลยสักคำ  

มีแต่ไอ้คนที่นั่งขยะแขยง 'เอาของกูไปปนของมึงได้ยังไง' ... นี่โง่หรือฉลาด หลงหรือรู้จริง ... ให้ใจมันฉลาด อย่าลุ่มหลงไปตามความคิดความเห็นตื้นๆ ... แต่ไอ้ตื้นๆ นี่แหละที่มันปิดบังหมดเลยสามโลกธาตุนี่ เพราะความเห็นนี้  มันติดตัวตนนี่...นับภพนับชาติไม่ถ้วนเลย  มันติดเนื้อหนังเอ็นกระดูกนี่ ว่าเป็นเราของเรา ตัวเราของเรา 

มันเป็นตัวตน มันไม่ได้เป็นตัวเรา  มันไม่ได้เป็นของเรา  มันเป็นแค่ของสิ่งหนึ่ง มันเป็นแค่ลักษณะหนึ่งที่ตั้งอยู่ปรากฏอยู่ตามเหตุอันควร แล้วหมดไปเมื่อหมดเหตุอันควรนั้นๆ 

ถ้าใจมันเห็นอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ ยอมรับอย่างนี้...สบาย ไม่ต้องมาเกิดแล้ว ไม่เกิดแล้ว ...ไอ้ที่มาเกิดนี่เพราะว่า “เอาของกูคืนมา เอาดินกูคืนมา เอาน้ำ เอาไฟ เอาลมของกูคืนมา”  มีหรือมันจะไม่มาเกิด  มากินง้วนดินสะเก็ดดิน ... จิตออกมากินง้วนดิน สะเก็ดดิน  ก็ได้มาเป็นดำๆ ขาวๆ สูงๆ ต่ำๆ อย่างทุกวันนี้  ...นี่หลงทั้งนั้นน่ะ ถึงได้มาเกิดอย่างนี้

เคยเล่นเกมไหม ... ถ้าเกิดอีก...เกมมันจะโอเวอร์ไหม ... พวกเรามันไม่มีเกมโอเวอร์นี่ ต่อไม่รู้กี่ภาคแล้ว ...เกมโอเวอร์ก็จะจบ  ใจดวงนั้นมันก็จะสิ้นสุด หยุดการเข้าไปค้นหา การเข้าไปครอบครอง การเข้าไปจับจองธาตุที่เรียกว่ารูปกาย เข้าไปจับจองสภาวะนามที่เรียกว่านามขันธ์ มาเป็นเราของเราต่อไป 

แต่ตอนนี้ให้มันละให้มันถอน...มันก็ไม่ยอม มันก็ยังเป็นตัวเราของเราทั้งวันทั้งคืน  เพราะฉะนั้นมันต้องฝึกอบรมให้เกิดปัญญา ให้ใจมันเกิดปัญญา คือเห็นตามความเป็นจริง ... ปัญญาไม่ใช่ว่าลึกลับซับซ้อนอะไรหรอก เห็นธรรมตามความเป็นจริง 

ธรรมคืออะไร ธรรมคือทุกสิ่งที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน  รูปที่เห็น นี่ธรรมปรากฏ ที่ลักษณะเป็นรูปที่ปรากฏ  เสียงที่ได้ยิน นี่คือธรรมที่ปรากฏเป็นเสียงที่ได้ยินในปัจจุบัน  กลิ่น รส ผัสสะทางกาย ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ทุกอย่างนี่คือธรรมที่ปรากฏในปัจจุบัน

ใจที่มารู้เห็นธรรมในปัจจุบัน...ตรงๆ  มันจะสำเหนียกในธรรมที่ปรากฏนั้น แยบคายในธรรมที่ปรากฏนั้น ทั้งสองส่วน  มันสำเหนียกไม่ใช่สำเหนียกแค่สิ่งที่ถูกรู้นะ มันก็สำเหนียกแยบคายในสิ่งที่รู้ด้วย 

อะไรนั่ง ใครนั่ง เห็นไหมมันเข้าไปสำเหนียกเริ่มต้น ไอ้ที่ว่านั่งๆๆ นี่ ใครนั่งละนี่  หรือมันเป็นแค่นั่งบ่ดาย ซื่อๆ  ไม่มีใครนั่ง  อย่างนี้มันก็จะเห็นว่านั่งคืออะไร ใครคือนั่ง นั่งเป็นของใคร แล้วตัวอะไรมารู้ว่านั่ง  

มันเข้ามาเห็นอย่างนี้ ...มันมีอีกบุคคลหนึ่ง เหมือนๆ เป็นอีกบุคคลหนึ่งลักษณะหนึ่ง...ที่รู้ว่ามีอาการนั่ง  มันมาเห็นความเป็นจริงของสองสิ่ง...ตรงๆ ไม่อ้อมค้อม ไม่ต้องคิดต้องหา  มันดูเห็นเลยตรงๆ นั่นแหละ ...ทั้งสองสิ่งเลย 

ดูไปดูมา รู้ไปรู้มา เห็นไปเห็นมา มันจะสำเหนียกได้อย่างหนึ่งว่า...ไอ้สิ่งที่มันเห็นนี่เดี๋ยวมันก็เปลี่ยน ...จากนั่งเดี๋ยวนี้มันทำไมไม่นั่งแล้ว  ขยับ เห็นขยับไหม มันเปลี่ยนนะ  ถ้ามันเห็นทันตอนนั้นมันก็เห็นว่า อ๋อ มันขยับ...กำลังขยับ...อ้อ มันขยับเสร็จแล้ว  

แล้วมันก็สำเหนียกว่า คนที่รู้ว่าขยับมันก็ไม่เปลี่ยน...มันก็รู้เห็นอยู่เหมือนเดิม  นี่ ค่อยฉลาดขึ้นมานิดหนึ่ง ... นิดหนึ่งนี่ก็ดีแล้ว บางคนหลายภพหลายชาติยังไม่เห็นเลย

พระพุทธเจ้าท่านบอกเลย มีอายุร้อยปี ศึกษาวิชาการมากมายมหาศาลถึงขั้นดอกเตอร์อะไรก็ตาม บวชมากี่พรรษามากจนแก่เฒ่าตายในผ้าเหลืองก็ตาม  แต่ถ้าไม่เห็นไตรลักษณ์แม้ขณะเดียว ท่านบอกว่า โมฆะบุรุษ โมฆะสตรี 

แต่ถ้าสัตว์ใดบุคคลใด ไม่เลือกชาติ ภาษา ศาสนา วรรณะ อายุ ... "แค่เห็นความเกิดดับหรือเห็นไตรลักษณ์แค่ขณะหนึ่ง" พระพุทธเจ้าท่านสรรเสริญเลย ... จึงอย่าประมาทว่าแค่เห็นแค่นี้  มันไม่ใช่เห็นง่ายๆ นะ

พูดจนปากเปียกแล้ว พูดอยู่อย่างนี้ ซ้ำลงไป...เพื่อให้มันเห็นกัน นิดหนึ่งก็ดีแล้ว  อูย ภูมิใจมากเลยที่เห็นกัน  ยังมีคนอีกมากมายที่ไม่ได้ยินได้ฟังอย่างนี้ ... แต่คราวนี้ว่าเห็นแล้ว กลับบ้านมันก็กลับไปแต่ตัวแล้วก็ ...'กูไม่ทำต่อ มีไรรึเปล่า ขี้เกียจอ่ะ'

ไอ้นี่ก็เสียชาติเกิด เสียเวลา...ใช่ไหม  เหนื่อยนะ อย่างนี้เหนื่อยนะ...มากี่ทีมันก็เท่านี้ ... ไอ้ฟังน่ะเชื่อ เห็น เข้าใจ ยอมรับ ... แต่กลับไป 'กูไม่ทำน่ะ'  ซะงั้น  นี่ถ้าพูดภาษาชาวบ้าน ก็บอกว่ากูก็เหนื่อยเหมือนกันนะโว้ย ไม่ใช่ไม่เหนื่อยนะที่พูดน่ะ...เหนื่อยสอน  

หูย กว่าจะทำได้แทบตาย ล้มชักดิ้นชักงอไม่รู้กี่ครั้ง  นี่ ความพากเพียรไม่ใช่ง่ายๆ นะ กว่าจะมาพูดแค่ประโยคสองประโยคแล้วให้เห็นเข้าไปได้นี่  ดูมันเหมือนง่ายเกินไปหรือเปล่ากับไอ้ที่ทำมาแทบตาย 

เดี๋ยวตายแล้ว หมดคนพูดแล้ว หมดคนมาบ่นแล้ว  คราวนี้ก็เพลินเลยๆ ๆ ไม่มีใครคอยมาสั่งสอนกูแล้ว เพลิน หลง สบายเลย ... ต่อไปนี้จะน้อยลงนะ คนคอยมาบอกคอยมาเตือน...ให้เห็นความมีค่าของการมีชีวิต...เพื่ออะไร ให้เห็นคุณค่าของคำว่าภาวนา...เพื่ออะไร เพื่อให้เห็นสาระของการมีชีวิต...เพื่ออะไร 

ไม่ใช่งาน ไม่ใช่เงิน ไม่ใช่ลาภยศสรรเสริญ ไม่ใช่ความสุขความสบาย ไม่ใช่ความมั่งคั่ง ... แต่เพื่อให้เข้าใจว่าชีวิตที่มีอยู่ ยังคงอยู่  ยังคงมีลมหายใจเข้าออกอยู่  ประโยชน์สูงสุดของการมีชีวิตที่แท้จริงนั้นเพื่ออะไร 

ถ้าไม่มีคนมาเทศน์คอยบอกคอยเตือนอย่างนี้นะ มันจะจมหายไปกับอะไรก็ไม่รู้ ไม่ได้เห็นเดือนเห็นตะวันเลยแหละ  จมปลักลงไป ลุ่มหลงลงไป มัวเมาลงไป เหมือนเหล้าที่กินไม่รู้จักเลิก ... ใจที่ไม่รู้นี่ กับทุกสิ่งที่กระทบสัมผัสนี่ มันเหมือนกับเราเห็นเหล้า

เหล้าเขาไม่เคยเรียกร้อง เขาไม่เคยเชิญชวนบอกว่า 'เฮ้ย กินกูดิๆ กินกูแล้วมึงเมาแล้วสบายนะ' เขาไม่เคยบอก เขาไม่ได้เรียกร้อง ไม่ได้เชิญชวนให้คุณมาเมากับผมสิ  แต่มันเห็นไม่ได้นะ มายกขึ้นกินเลย ... ตั้งอกตั้งใจเมาเลยแหละ เพราะมันเป็นขี้เมา ...ใจนี่ขี้เมา ใจน่ะขี้หลง ใจน่ะไม่รู้...ไม่รู้คือเมา ไม่รู้คือหลง

นั่นแหละเปรียบเหมือนเป็นใจของสัตว์มนุษย์ทุกคนนี่เหมือนแอลกอฮอลิซึ่มน่ะ  เพราะฉะนั้นพอกระทบอะไรนี่ ไม่ว่าจะเสียง ไม่ว่ากลิ่น ไม่ว่าความคิด ไม่ว่าความปรุง  มันเข้าไปกระโดดกลืนกินทันที  เหมือนคนกินเหล้า ... มีหรือจะไม่เมา ฮึ 

กินน้อยเมาน้อย กินมากเมามาก  ไม่ว่าเหล้านั้นจะรสชาติอย่างไร  ไม่เหมือนกันนะ เอ็กซ์โอ เฮนเนสซี่ เหล้าขาว เหล้าข้าวโพด แชมเปญ ไวน์  เห็นไหม รสชาติไม่เหมือนกัน  นุ่ม บาดคอ อันนี้อื้อฮือนุ่ม ซาบซ่าน ... แต่เมา สุดท้ายเมา  ไม่ว่ารสมันจะอร่อยหรือไม่อร่อย หรือว่าบาดลิ้นขนาดไหน  ผลคือเมาเป็นที่สุดไป 

เหมือนจิต เหมือนใจที่ไม่รู้ เข้าไปอยู่กับขันธ์ ... ไม่ว่าอะไรกินหมด เป็นเนื้อหนึ่งใจเดียวกันหมด กลมกลืนกันหมด  แล้วไม่รู้จักหยุดหย่อน ...มันจะไม่เรียกว่าขี้เมา แล้วจะเรียกว่าเป็นผู้ทรงศีลเหรอ 

เพราะฉะนั้นใจมันจึงขาดตกบกพร่อง หลงไป เผลอไป เพลินไป ตกหลุมตกโคลนตกเลน ตกถังเหล้าไหเหล้า หมักหมมมันอยู่อย่างนั้นแหละ  แล้วก็ชักชวนกันเมา ชวนกันไป ตรงนั้นไหม ทำอันนั้นดีไหม ไปอย่างนั้นดีไหม

เห็นไหม พระพุทธเจ้าท่านจึงบอกว่าท่านสรรเสริญบุคคลผู้ไม่คลุกคลี บุคคลผู้อยู่แบบสมถะเรียบง่าย  เพราะอะไร...เชื้อเมามันมีอยู่แล้ว  และถ้าคนเมาอยู่กับคนเมามันจะ เอ้ย กูไม่เมา  ที่ไหนได้...เมาแอ๋  ทั้งโลกนี่มันเมากันแอ๋เลย แต่มันบอกว่า กูไม่เมาๆ ... ถ้าไปอยู่ด้วยกันน่ะ เสร็จ มันก็ลากกันไป 

ให้เห็นการอยู่อิสระ เอกเทศ หาที่อยู่สงบสงัดบ้าง อยู่คนเดียวซะบ้าง  มันจะอ่านใจตัวเองได้ง่ายขึ้น เห็นความคิดความปรุงได้ชัดเจนขึ้น ... อดทนกับมัน ดูกับมันสักตั้งซิว่าใครจะแน่กว่ากัน จะทนได้ไหม ... ทนอะไร ทนต่อความอยาก อยากไปคุย อยากไปเที่ยว อยากไปเพลิน ...ดูซิ เอากันสักตั้งอย่างนี้  ...ฝึก

แต่เมื่อชำนาญในการฝึกสติดีแล้ว ต้องไม่มีคำว่า เวลามาเกี่ยวข้องเลย  ทุกขณะ ตอนไหนเวลาไหนที่ไหน...รู้ได้ ต้องรู้ให้ได้ ต้องรู้อยู่ให้ได้ ต้องแยกออกให้ได้ ระหว่างใจกับขันธ์ ใจกับผัสสะ ใจกับอายตนะ ใจกับอารมณ์ ใจกับความคิด ใจกับความปรุงแต่ง ใจกับทุกสรรพสิ่งขณะนั้น ...นี่ขั้นตอน

จนถึงที่สุดของขั้นตอนนั้น  ใจดวงนั้นจึงจะลอยตัวออกจากขันธ์  ไม่เข้าไปแนบแน่น แนบชิดกลืนกินในขันธ์นั้น ... ขนาดนั้นยังไม่หลุดนะ ให้มันเป็นฝาออกมาก่อน...เหมือนกะทิน่ะ เคยเคี่ยวกะทิไหม เอาไปต้มไฟให้มันแตกมัน ข้างล่างเป็นน้ำกะทิใส เห็นไหม นี่...เคี่ยว 

ใจนี่ต้องเคี่ยว จนมันแยกออก แยกออกจากขันธ์  เอาอะไรเคี่ยว...สติ สมาธิ ปัญญา นี่คือหม้อไฟ เคี่ยวใจที่มันกลืนกันเป็นกะทิ  พอเคี่ยวแล้วมันไม่ใช่กะทิ มันแบ่งออกเป็นชั้นเลย  มันเอาจิตออกมาจากใจ เอาใจออกมาจากจิต เอาจิตออกมาจากขันธ์ เอาใจออกมาจากขันธ์  เหมือนน้ำกับน้ำมัน 

แต่ถ้าไฟไม่ถึง เคี่ยวไม่พอ ก็คือกะทิบูดๆ  เดี๋ยวก็บูด เดี๋ยวก็เน่า  อยู่กับของบูดของเน่าไปจนตาย เสาะท้อง มันลุท้อง ... แล้วก็บ่นแล้วก็โทษกัน แล้วก็ติกันตำหนิกัน โทษนั้นโทษนี้ ...โทษไปหมด ไม่เคยโทษตัวเองเลย 

เพราะมันไม่รู้ความเป็นจริง  ทั้งหมด...ปัญหาทั้งหมดมันอยู่ที่นี่ อยู่ที่ใจที่เป็นกะทิที่ไม่ได้เคี่ยวนี่  มันถึงมีปัญหาบูดเน่ากับทุกสิ่ง ... ตัวมันน่ะคือตัวบูดเน่า  ถ้ามันไม่เห็นความจริงอย่างนี้ มันก็จะว่าทุกสิ่งน่ะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ .

(ต่อแทร็ก 6/3)


วันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 6/1








พระอาจารย์

6/1 (541211A)

11 ธันวาคม 2554


พระอาจารย์  –  รู้บ่อยๆ ... เริ่มต้นที่รู้ 
ระหว่างการดำเนินอยู่ในเส้นทางของการปฏิบัติ...ก็รู้อยู่ 
ถึงขั้นที่สุดของการปฏิบัติ...เหลือแค่รู้ ...แค่นั้นเอง

ถ้านักปฏิบัตินักภาวนาทั้งหลายไม่ทิ้งภาวะรู้ ที่เป็นที่ตั้ง...ฐาน แล้วนี่  
การหลงออกนอกทาง นอกองค์มรรคนี่ ออกได้ยากมาก

แต่ถ้าระหว่างเส้นทางการปฏิบัตินี่ไปมาตามอาการต่างๆ นานา ที่ปรากฏผุดโผล่ขึ้นมาหรือกระทบสัมผัสมา ...ไปค้นหาความจริงกับมันก็ตาม ไปลังเลสงสัยกับมันก็ตาม ไปมีไปเป็นกับมันก็ตาม 

พวกนี้คือธรรม ที่เรียกว่าเป็นธรรมที่ให้เกิดความเนิ่นช้า เป็นธรรมที่ให้เกิดความเหนี่ยวรั้ง ข้อง ติด ... เราไม่เรียกหรอกว่าธรรมนี้ไม่ดีธรรมนี้ร้าย แต่เราเรียกว่าเป็นธรรมที่ให้เกิดความเนิ่นช้า  

ผู้มีปัญญา ผู้มีความพากเพียร ผู้มีความแน่วแน่ ก็จะสลัดทิ้ง สลัดออกจากอาการต่างๆ นานา ที่มันร้อยรัด  กลับมาอยู่ในที่ รู้อยู่ที่เดียว ธรรมเดียว ดวงเดียว ... นั่นแหละมันก็จะกลับเข้าอยู่ในองค์มรรค ดำเนินไปในองค์มรรค จนถึงที่สุดขององค์มรรค


การภาวนาจริงๆ ไม่ยาก  มันยากเพราะเบี้ยใบ้รายทาง ... เราไปให้ค่า ให้ความหมาย ให้ความสำคัญ  แล้วเราไปปรุงแต่งร่วมกับมัน ด้วยความคิดความเห็นต่างๆ นานา  มันทำให้เกิดความหลง ...เข้าไปเกลือกกลั้ว เข้าไปมี เข้าไปเป็น  มันทำให้ติดข้อง ... ธรรมนั้นเลยกลายเป็นธรรมที่ติดข้อง

ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ติดข้องเราหรอก ... กิเลสไม่เคยติดเรา...เราไปติดกิเลส  กิเลสไม่เคยติดเราหรอก  เราไปติดความอยาก เราไปติดตัณหา ... ตัณหาไม่เคยติดเรา ตัณหาไม่เคยติดใจ เขาเกิดตรงไหน เขาก็ดับอยู่ที่นั้น เป็นนิจ เป็นปกติวิสัย 

ผู้ที่มีปัญญาเท่านั้นน่ะ  อาศัยปัญญาที่มี รักษาประคับประคองใจ...ให้ดำเนินไปต่อเนื่องในองค์มรรคอย่างสม่ำเสมอ ราบเรียบ เป็นกลาง ... ก็จะอยู่เย็นเป็นสุข ห่างไกลกิเลส ห่างไกลจากทุกข์ ห่างไกลจากเหตุที่เกิดทุกข์  จนถึงขั้นที่เรียกว่าหลุดพ้นออกจากทุกข์ 


"ทุกข์" มีอยู่สองอาการ คือ "ทุกขสัจ" หรือว่าทุกข์ตามธรรมชาติ ... กับทุกข์ที่เรียกว่าเป็น "ทุกข์อุปาทาน" 

ที่ว่าหลุดพ้น คือมันจะหลุดพ้นออกจากทุกข์อุปาทาน  ไม่ได้หลุดพ้นออกจากทุกขสัจ ... เพราะทุกขสัจนี่เป็นทุกข์ประจำโลก ทุกข์ประจำขันธ์ เป็นทุกข์ธรรมชาติอยู่แล้ว 

ฝนตก ฟ้าร้อง แดดออก พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก เหล่านี้เป็นทุกขสัจ  เกิดแก่เจ็บตาย พวกนี้ขันธ์ เย็นร้อนอ่อนแข็ง พวกนี้เป็นทุกขสัจ...คือความเป็นจริงที่ปรากฏ หนีไม่พ้น แก้ไม่ได้  

แต่ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็นในทุกข์ที่ปรากฏ  หรือการเข้าไปคาดหมายคาดหวังต่อทุกข์ที่ปรากฏ  อันนี้ต่างหากคือทุกข์อุปาทาน...ซึ่งจะหลุดพ้นออกจากอาการพวกนี้ได้ด้วยองค์มรรค ด้วยการอยู่ในองค์มรรค ด้วยการที่ใจแนบแน่นอยู่ในมรรค ที่มีศีล สมาธิ ปัญญา เป็นตัวประคับประคองค้ำจุน


ยังไงๆ สติ...อย่าทิ้งนะ  รักษาสติให้มากจนถึงมากที่สุด จนถึงเรียกว่าเป็นเส้นตรงอันเดียวกัน  อยู่ด้วยสติล้วนๆ อยู่ด้วยใจล้วนๆ อยู่กับใจล้วนๆ  อยู่กับใจจนเป็นธรรมชาติ อยู่กับใจจนเป็นปกติ อยู่กับใจจนเป็นนิสัย อยู่กับใจจนเป็นอัตโนมัติ  ถึงขั้นนั้นจึงเรียกว่าเป็นมหาสติจริงๆ 

ไม่ใช่ว่าของที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่ว่าของที่ยากเกินกว่ามนุษย์ปุถุชนจะทำได้ ...อาศัยความพากเพียร ความใส่ใจ ความตั้งใจ ความแน่วแน่ในองค์สติ ศีล สมาธิ ปัญญา  แน่วแน่อยู่ในองค์มรรค ไม่มีออกจากองค์มรรคได้เลย 

ใจที่มันตั้งมั่นอยู่เป็นดวงเดียวนั้นน่ะ จึงจะเป็นผู้รู้ผู้เห็นที่ถูกที่สุด เป็นผู้รู้ผู้เห็นที่ตรงที่สุด จึงจะเป็นผู้รู้ผู้เห็นที่เป็นสัมมาที่สุด 

ใจหลายดวงหรือจิตที่มันไปๆ มาๆ  ที่มันไปรู้เห็นในสิ่งต่างๆ ด้วยความอยาก ด้วยความไม่อยากใดๆ ก็ตาม  สิ่งที่รู้สิ่งที่เห็นนั้นไม่เรียกว่าเป็นสัมมา ไม่เรียกว่าตรง ยังไม่เรียกว่าสัจจะ ... ต้องอาศัยดวงใจที่รู้ดวงเดียวเท่านั้น จึงจะเป็นผู้รู้ผู้เห็นที่ชัดเจน ชัดตรง ตามธรรมนั้นๆ

เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าถึงใจ การที่จะอยู่ที่ใจ การจะระลึกรู้อยู่ที่ใจ...ต้องอาศัยสติ ตัวเดียว ...นั่งรู้ ขยับรู้ นิ่งรู้ ไหวรู้ คิดรู้ อยากรู้ ไม่อยากรู้  อะไรก็รู้ๆ อะไรเกิดขึ้นก็รู้ แค่นี้แหละ  อาศัยรู้ในปัจจุบันนี่แหละ จึงจะเข้าไปสู่ที่ฐานของใจ หรือฐานที่เรียกว่าดวงจิตผู้รู้นี่ได้

แล้วอาศัยดวงจิตผู้รู้นั่นแหละ ที่ออกมาเห็นตรง เห็นชัดในสิ่งที่ปรากฏต่อหน้ามัน...ไม่ว่าอะไร โดยไม่เลือก  มันจึงจะเห็นธรรมตามจริง ว่าธรรมที่ปรากฏนั้นเป็นอะไร คืออะไร หรือไม่เป็นอะไร หรือไม่ใช่คืออะไร  นั่นแหละมันจะเข้าไปเห็น โดยอาศัยดวงจิตผู้รู้ดวงเดียวนี่แหละ รู้เฉยๆ นี่แหละ เห็นเฉยๆ นี่แหละ 

จนมันเห็นว่าทุกสิ่งที่อยู่ต่อหน้ามัน...กลวง มันเป็นอะไรกลวงๆ ...เหมือนกองฟาง  มันไม่มีแก่น มันไม่มีแก่นสาร  เหมือนไม้ไม่มีแก่น เหมือนไม่ไผ่ ... มันจะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างกลวง ไม่มีค่าในตัวของมันเอง  ไม่มีตัวตนที่ถาวร มันเป็นตัวตนที่กลวงๆ  เท่านั้นแหละ  ธรรมตามความจริง...ก็เท่านั้นแหละ 

ใจที่เข้าไปเห็นธรรมตามความเป็นจริงเท่านั้นแหละ มันจึงจะไปเพิกถอนความเห็นผิด การเข้าไปหมายมั่น  มันจะหมายมั่นเพราะอะไร...เพราะมันเห็นแก่นในสิ่งที่กลวง  มันเห็นเที่ยงในสิ่งที่มันไม่เที่ยง มันเห็นสุขในทุกข์  มันเห็นความดำรงคงเป็นตัวตนในสิ่งที่มันไม่มีความเป็นตัวตน  ...นี่เป็นเหตุให้เกิดความหมายมั่น 

มันมั่นหมายหมดไม่ว่าอะไร  นิดหนึ่งก็เอา หน่อยหนึ่งก็เป็น  อะไรนิด อะไรนะ อะไรวะ หยิบจับอะไร เห็นอะไร ได้ยินอะไร คิดอะไร มีอารมณ์อะไร  มันกระโดดเข้าไปงับเหมือนหมางับกระดูก...ไม่ยอมปล่อย  

เหมือนหมามันบอกว่ากระดูกเป็นอาหารของมัน ทั้งๆ ที่ว่ามันไม่มีคุณค่า มีแต่โทษ  สารอาหารก็ไม่มี ติดคออีกต่างหาก กระดูกแทงไส้แทงกระเพาะทะลุอีก

จิตที่ไม่รู้น่ะ  อะไรสัมผัสสัมพันธ์มัน มันก็เข้าไปหมาย เข้าไปจับจอง  มันเข้าไปถือ มันเข้าไปมี มันเข้าไปเป็น  จนกว่าอาศัยดวงจิตผู้รู้ที่มีสติ สมาธิ ปัญญาอยู่ภายใน เป็นดวงจิตผู้รู้นั้นแหละ คือรู้เฉยๆ เป็นกลาง 

คำว่ารู้เฉย ๆ รู้แบบไม่คาดหมาย รู้แบบไม่เอาอะไรกับมัน ... ถ้าพูดภาษาธรรมะก็พูดว่า รู้นั้นเรียกว่าเป็นรู้ที่มีศีล สมาธิ ปัญญาในตัว  แต่ถ้าพูดแบบภาษาชาวบ้านทั่วๆ ไป ก็บอกว่ารู้เฉยๆ รู้แบบไม่คาดหมายอะไรกับมัน รู้แบบยังไงก็ได้ รู้แบบธรรมดา เป็นปกติ ... แต่ในความเป็นจริงรู้นั้นน่ะ  คือรู้ที่มีศีล สมาธิ ปัญญา ในตัวรู้นั้น ในใจดวงนั้น ขณะนั้น 

อาศัยใจที่มีศีล สมาธิ ปัญญาภายในนั้นน่ะ  มันจึงจะเห็นแจ้ง เห็นแทง เห็นตลอดของธรรมที่ปรากฏเบื้องหน้า  ไม่ว่ารูปหรือนาม ไม่ว่าขันธ์ทั้งห้า หรืออะไรก็ตาม  มันก็จะเห็นธรรมตามความเป็นจริง...ว่าอะไรมันนั่ง นั่งเป็นใคร นั่งเป็นของใคร มีใครนั่ง ... มันเห็นเองน่ะ

แต่ถ้าเป็นดวงจิตผู้รู้ที่ไม่มีสติ ไม่มีศีล สมาธิ ปัญญา  มันจะเกิดความคิดขึ้นมาแทรก มันจะเกิดความเห็นว่านี่คือเรา ว่านี่เป็นนั้นเป็นนี้ ... มันไม่รู้เฉยๆ มันดันมีความคิดความเชื่อเข้ามาสอดแทรกตรงนั้น มันก็ไม่เห็นธรรมที่ปรากฏนั้นตรงๆ  มันก็เห็นธรรมแบบบิดเบือน ถูกบิดเบือนด้วยใจที่ไม่รู้ขึ้นมาในขณะนั้น

เพราะศีล สมาธิ ปัญญาไม่เพียงพอ ... แอบคิด แอบปรุง แล้วก็หลงไปตามความคิดความปรุง... ก็มันยังเป็นของเราอยู่น่ะ ดูกี่ทีๆ ก็เป็นเรา ของเรา ... ก็มันไม่อาศัยใจผู้รู้ที่มีศีลสมาธิปัญญาดู 

มันเอาใจผู้รู้ที่แอบมีผู้หลง ผู้คิด ผู้ให้ความเห็น เข้ามาตีค่าให้ค่า  แล้วก็บอก ทำไม ดูยังไงก็ไม่เห็นว่ามันไม่ใช่เราของเรา ...ดูกี่ทีๆ ก็เป็นเรา ของเรา ...ดูกี่ทีๆ ก็เป็นชาย ...ดูกี่ทีๆ ก็มีชื่อ’ … มันรู้ไม่เป็น ยังรู้ไม่เป็น ... ยังเป็นรู้ที่ไม่มีองค์ของศีล สมาธิ ปัญญาที่เพียงพอ

ทำยังไง ... รู้ลงไป ไม่ต้องสนใจมัน ไอ้ความเห็นวันนั้น ไอ้ความเห็นความเชื่ออย่างนั้น  รู้อีกดูอีก รู้อีกดูอีก  อย่าเชื่อตามความเห็นนั้น ... จนมันเหลือแต่รู้เปล่า ๆ เห็นเปล่าๆ ไม่มีคำพูด

รู้ไปอย่างงั้นน่ะ  เห็นก็เห็นไปอย่างงั้นน่ะ ...อะไรก็ไม่รู้ เป็นก้อนอะไรก็ไม่รู้ เป็นสิ่งหนึ่งอะไรก็ไม่รู้ เป็นของอันหนึ่งอะไรก็ไม่รู้  พอมันจะว่าอะไร...ก็ไม่รู้กับมัน แกล้งเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับมัน 

นั่นแหละ แล้วมันจะ …‘อ๋อ อ้อ เออ เอ่อเฮอะ เออออออ มันเป็นอย่างนั้น ...ไม่งั้นก็จะ ฮู้ ฮื้อๆ หือ อะไรอย่างนี้ ...มันมีลูกคู่คอยสนับสนุน

(ต่อแทร็ก 6/2)