วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 6/22 (2)


พระอาจารย์
6/22(550104C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
4 มกราคม 2555
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 6/22  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  กลับมาหยุดอยู่..บ่อยๆ มากๆ  หยุดอยู่ที่นี้ เดี๋ยวนี้ กับธรรมอันนี้พอแล้ว รู้อยู่แค่นี้ ...เอาให้แจ้ง เอาธรรมนี้ให้แจ้ง ไม่ว่าจะเป็นรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อากาศที่แวดล้อมอยู่เดี๋ยวนี้ กายที่รู้สึกสัมผัส

รู้อยู่กับธรรมที่เป็นตรงนี้ เดี๋ยวนี้...เท่านั้นน่ะพอแล้ว พอที่จะไม่กลับมาเกิดอีกแล้ว ...ถ้าเราเข้าใจในธรรมบทนี้ เรียกว่าธรรมอันนี้ ธรรมเดียว เป็นธรรมเดียว คือธรรมหนึ่ง หนึ่งในปัจจุบัน

อดีต-อนาคตไม่ต้องไปพิจารณา  ไม่ต้องคาด ไม่ต้องหมาย ไม่ต้องหวัง ไม่ต้องไปดู ไม่ต้องหา ...รู้อยู่เห็นอยู่กับธรรมอันเดียวที่เป็นปัจจุบัน ตื่นรู้ตื่นเห็นกับธรรมอันนี้..เสมอ

เตือนตัวเองไว้บ่อยๆ  พอมันแล่นออกไปหาอะไร กำลังกำหนดอะไร จะหาอะไรข้างหน้า-ข้างหลัง ...ให้ละซะ อย่าไปเผลอเพลิน อย่าไปคล้อยตามมัน

อย่าไปอ้อยอิ่ง อย่าไปประมาทกับธรรม ...ไม่งั้นมันจะเพลิน แล้วจะเป็นนิสัย แล้วจะล้างนิสัยเดิมไม่ได้ ...เพราะธรรมดามันเป็นนิสัยเดิมอยู่แล้ว

ถ้าเราเปรียบ..ก็เคยเปรียบไว้ว่า จิตผู้ไม่รู้นี่เหมือนขี้เมาที่เป็นแอลกอฮอลิซึ่ม มันเป็นแอลกอฮอลิซึ่ม ...คือมันเมาข้ามภพข้ามชาติ เมาโดยสันดาน เมาแบบไม่ฟื้น เข้ากระแสเลือด

เพราะฉะนั้น ขันธ์ห้า โลก ผัสสะ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ทุกสิ่งทุกอย่าง อดีต อนาคต ...พวกนี้เหมือนเหล้า มันเหมือนเหล้า

แต่เป็นเหล้าก็คือเหล้า เหล้าก็คือเหล้า ตัวมันคือความเมา ...แต่เหล้านี่เขาไม่เดินมาเข้าปากคน  ไอ้ขี้เมานี่ไปหยิบเหล้ากิน แต่เหล้านี้เขาไม่เดินมาหาขี้เมานะ ใช่มั้ย

จิตที่เป็นขี้เมานี่ คือจิตไม่รู้นี่ มันเป็นแอลกอฮอลิซึ่ม ...เพราะนั้นมันเห็นอะไร มันสัมผัสสัมพันธ์อะไรปั๊บนี่ เหมือนขี้เมากับเหล้า คว้าได้..คว้า กรอกได้..กรอก กินได้..กิน หาได้..หา ซื้อได้..ซื้อ

พอกินเสร็จแล้วก็ว่า 'ฮื้อ ไอ้นี่มันไวน์ห้าปี ไม่เท่า..ตอนนั้นกูกินไวน์ร้อยปี รสชาติดีกว่านี้' ...เห็นมั้ย มันเปรียบเทียบนะ เปรียบเทียบสุขเวทนาในผัสสะ ในความเมามายในอารมณ์นั้นที่มันได้ ที่มันเสพ

แล้วมันได้เสพไวน์ร้อยปี มันก็เกิดความคำนึงไปข้างหน้าว่า 'ถ้าไวน์พันปีล่ะ มันจะเลิศกว่าไหม เลิศขนาดไหน' ...เนี่ย มันก็อยู่ด้วยความกระวนกระวาย กระเหี้ยนกระหือรือ กระหายใคร่อยาก ใคร่มี ใคร่เป็น

ทั้งๆ ที่ว่ายังหาไม่เจอนะ ...แต่มันมีความกระหายอยู่ภายใน เหมือนขี้เหล้าที่ไม่ได้กินเหล้า กำลังจะลงแดง...จิตผู้ไม่รู้น่ะแหละ ...นั่นแหละคืออาสวะกิเลสอยู่ภายใน มันฝังอยู่ เป็นขี้เมาอยู่นั่นน่ะ

แล้วคราวนี้...ยังไงในการใช้ชีวิตของพวกเรานี่ ยังไงมันต้องมีรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมารมณ์  มันเป็นธรรมชาติของโลกอยู่แล้ว ...มันต้องมีสุข-ทุกข์ มันต้องมีเวทนาอยู่แล้ว

แต่ด้วยความไม่รู้ไม่เท่าทันนี่...มันเข้าไปกิน มันเข้าไปเสพ ...แล้วมันเข้าไปติดในรสชาติของสิ่งที่มันสัมผัสสัมพันธ์ 

ถ้าไม่มีการแก้ การเยียวยารักษาด้วยศีลสมาธิปัญญา มันไม่หายเมาง่ายๆ หรอก ...ยากที่มันจะถอนขึ้นจากสิ่งมึนเมา 

มันก็เกิดภาวะที่เรียกว่า เมาในขันธ์ เมาโลก เมาขันธ์อยู่ตลอด ...หลงโลก หลงขันธ์ หลงธรรม อยู่ตลอด

เป็นขี้เมาเดินเซไปเซมา ไม่ตรงทาง ...มันก็ตกทางอยู่เรื่อย ไม่ซ้ายก็ขวา ไม่ไปทางอัตตกิลมถานุโยค ก็ไปทางกามสุขัลลิกานุโยค ...อยู่อย่างนั้นน่ะอยู่เสมอ

เพราะนั้น ทำความรู้ชัดเห็นชัดอยู่ในปัจจุบัน  ถือกายเป็นหลัก..ให้ชัด  แล้วจะเห็นเองว่า เหล้าก็คือเหล้า มันไม่เมาให้ใครหรอก ...ถ้าเราไม่กิน มันก็อยู่ของมัน

มันก็มีรสชาติของมันไปในตัวของมันนั่นแหละ แต่มันไม่มีเจตนาให้ใครเมา ...เพราะนั้นอย่าไปเมากับมัน ต้องรั้งไว้ดึงไว้ ...จิตที่ไม่รู้นี่มันจะเอา มันจะออกไปหา ไปเสพ ออกไปกิน ไปครอบครองอยู่กับมัน

ระลึกเพื่อหยุด กลับมาอยู่กับรู้ กลับมาอยู่กับเห็นไว้ ...ตั้งมั่นไว้ จนมันเลิกละความเมามาย จนสร่างเมา จนหายเมา จนแจ่มชัด จนแจ่มใส จนตื่น เป็นคนเต็มสติ

สติสัมปชัญญะเต็ม...ก็คนตื่นน่ะ เหมือนคนตื่นนอน ไม่ใช่คนเมา ...เดินไปเดินมามันก็ชัดเจน ตรงในทาง  ไปไหนมาไหนมันก็เห็นตลอด ไม่ใช่ไปแบบเมามายเดินโซซัดโซเซ

การภาวนา มันก็วนเวียนอยู่แค่นี้แหละ เรียนรู้ก็แค่นี้แหละ กาย-ใจ ตาหูจมูกลิ้น มีอยู่แค่นี้แหละ ไม่ต้องไปหาอะไรไกลกว่านี้ ...อะไรเกิดขึ้นก็รู้ตรงนั้น ให้เห็นตรงนั้น

ว่ามันเป็นอะไร มันควรค่าแก่การเข้าไปถือครองมั้ย มันควรค่าแก่การเข้าไปมีเข้าไปเป็นกับมันมั้ย มันมีอะไรน่าจริงจังมั้ย ...เนี่ย รู้อยู่ ดูอยู่กับมัน..ตรงๆ นั่นแหละ

ก็จะเห็นเองว่า มันก็เป็นแค่นั้นน่ะ ไม่เห็นมีอะไรนอกจาก..เดี๋ยวมันก็หายไป ...นั่น ให้มันเห็นอยู่ตรงนี้ ตั้งมั่น รู้อยู่เห็นอยู่ ไม่ไปไม่มากับมัน...เสมอ

ใจมันจะค่อยๆ แจ่มชัด ตื่นขึ้น เห็นธรรมตามจริงมากขึ้น ...เห็นว่าอันไหนควร อันไหนไม่ควร  ควรจะวางกับมันอย่างไร วางตัวกับมันอย่างไร

สุดท้ายมันก็จะเข้าใจด้วยตัวมันเองว่า...การวางตัวกับมันก็คือ การไม่เข้าไปแตะต้องเลย ไม่เข้าไปใกล้มันเลย ไม่เข้าไปยุ่งกับมันเลย...ต่างคนต่างอยู่ จะเป็นการที่ดีที่สุด ...มันรู้เอง

ไม่ต้องไปคิดวิเคราะห์เสาะหาว่ามันเกิดมาจากอะไร บ่มกี่ปี ผลิตที่ไหน บริษัทไหนเป็นผู้จัดจำหน่าย ใครเป็นคนเอามา ใครเป็นคนนำเข้า ...นี่ ไม่สน ไม่แตะต้อง ไม่ลงไปยุ่งกับมันเลย

ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างเกิด ต่างคนต่างตาย  ให้มันเป็นไปตามธรรมของมัน ให้มันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน ...ใจก็เป็นธรรมชาติของมัน..ก็แค่รู้แค่เห็น นี่ธรรมชาติของใจ มีแค่นั้น

ไม่ไปปรุง ไม่ไปต่อ ไม่ไปเติม ไม่ไปตัด ไม่ไปแต่ง ไม่ไปเพิ่ม ไม่ไปลด ไม่เข้าไปแทรกแซงใดๆ ทั้งสิ้น ...นี่ มันก็เป็นอิสระมากขึ้นๆ กับขันธ์ กับโลก

ความเป็นอยู่ก็เป็นสันติ ใจก็เป็นสันติกับทุกสิ่งมากขึ้น ไม่เข้าไปให้ค่าให้ความเห็นใดๆ ...ใจดวงนี้ก็จะเป็นกลาง เป็นสันติในตัวของมัน ยิ่งขึ้น ตรงขึ้น ...ไม่หวั่นไหว ไม่เอนเอียง

เมื่อมันตรงขึ้นเท่าไหร่ ใจมันตั้งเท่าไหร่ เป็นกลางอยู่ภายในมากขึ้นเท่าไหร่  มรรคก็ยิ่งดำเนินไปในตัวของมันเอง ตรงต่อทาง ...ใจมันตรง ใจมันตั้ง คือมรรคมันตรงแล้ว...ทุกอย่างตรงหมด

ทุกอย่างจะตรงหมด ตรงลงไปในที่เป็นมรรคอันเดียวนั่นแหละ ...จนถึงที่สุดของมรรค นั่นน่ะ มันก็หลุดออกมาจากขันธ์ห้า..โลกทั้งสามก่อน

แล้วก็เหลือแต่มรรคที่ใจ ใจเป็นมรรค ใจเป็นผล..อยู่ที่อันเดียวกัน ...จนเป็นความรู้ตัวขั้นสุดท้าย ความรู้ขั้นสุดท้ายที่มันจะไปกวาดล้างจนสิ้นซาก ...คำว่าสิ้นซากคือไม่เหลืออะไร ไม่เหลือซาก

ขันธ์นี่มันสิ้นซากก่อน โลกก็สิ้นซากตามมา  สุดท้ายก็ไม่เหลือเลย สิ้นซาก...ก็คือไม่เหลือใจ มันกวาดล้างสิ้นซากโดยสิ้นเชิง จึงจะเรียกว่าเป็นนิโรธ สมุจเฉทโดยสมบูรณ์


เพราะนั้นถ้าไม่รู้ ถ้าไม่มีรู้อยู่ตัวเดียวนี่ ...มันไม่รู้อะไรหรอก มันไม่เห็นอะไรหรอก มันไม่เห็นธรรมตามจริงหรอก มันไม่รู้ธรรมตามจริงหรอก

เพราะนั้นถึงบอกว่ารู้ธรรมเห็นธรรมน่ะ ไม่ใช่ธรรมอะไรหรอก ...อย่างเนี้ย ธรรมคือเดี๋ยวนี้ อะไรที่อยู่ขณะนี้น่ะ ก็รู้ธรรมนั้นซะ เห็นธรรมนั้นซะ

รู้กายเห็นกาย รู้จิตเห็นจิต รู้ธรรมเห็นธรรม รู้เวทนาเห็นเวทนา  ให้รู้ว่าเป็นธรรมในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ซะ ...เรียกว่ารู้ธรรมเห็นธรรมอยู่เสมอ

ไม่ต้องไปหาธรรมมารู้ ไม่ต้องไปหาธรรมมาเห็น ...ให้รู้ธรรมเห็นธรรมตรงนี้ ธรรมนี้ เดี๋ยวนี้ ...อะไรก็ได้ ยังไงก็ได้ ขอให้มันเป็นธรรมที่เดี๋ยวนี้ เกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ ตั้งอยู่ตรงนี้

เท่าที่มันมี เท่าที่มันเป็น ...ไม่ไปเพิ่มไม่ไปลดกับมัน ไม่ไปหาเหตุหาผลกับมัน ไม่ไปปรุงแต่งกับมัน ไม่เอาความเห็นไปทาบทากับมัน

มันปรากฏยังไง...ด้วยความเห็นใดก็ตามที่มันออกมากับความเห็นที่มันปรากฏ ...รู้ไปตรงๆ กับมัน  แล้วมันก็จะจำแนก วิจยธรรมนั้นออกเป็นส่วนๆ ไป

มันเจือด้วยตัณหากี่ส่วน มันเจือด้วยความเห็นอะไร มันเจือด้วยความเห็นผิดอย่างไร นี่ วิจยะ ...จนถึงเรียกว่าเป็นธรรมล้วนๆ จนเหลือเป็นของจริงคือธรรมล้วนๆ

มันก็จะเข้าถึงธรรม คือเห็นธรรมตามจริง เรียกว่าเข้าถึงธรรมนั้นๆ ...เช่นกายเป็นต้น ก็จะเข้าถึงกายจริงๆ เห็นกายจริงๆ 

ก็เข้าถึงธรรม เป็นผู้เข้าถึงธรรมตามจริง...ว่ากายเป็นอะไร ที่สุดของกายคืออะไร ที่แท้จริงของกายคืออะไร

เพราะนั้นไอ้ที่เคยเชื่อก่อนๆ มา ...มันก็จะเห็นเองว่ายังไม่แท้จริง ยังเป็นธรรมไม่แท้ ยังเป็นธรรมที่ปลอมปน ปนเปื้อนด้วยความไม่รู้ ด้วยความเห็น ด้วยความเชื่อ ต่างๆ นานา

มันก็คัด...คัดออกๆ คัดความเห็นความเชื่อนั้นออกไป รู้มันก็จะชัดตรงกับธรรมนั้นๆ ...จากนั้นก็ไล่จากกายไป ก็จะเห็นทุกอย่างเป็นธรรมเดียวกัน

ก็คือธรรม ...ไม่เรียกอะไรแล้ว เห็นทุกอย่างเป็นธรรมอันเดียว อยู่ในสภาวะเดียวกัน...เกิดขึ้นเป็นเบื้องต้น ตั้งอยู่เป็นท่ามกลาง ดับไปเป็นที่สุด

นั่นแหละเห็นธรรมอันเดียวกัน ไม่ได้แบ่งแยก ว่าธรรมนี้ธรรมนั้น ชื่อนี้-ชื่อนั้นอะไร  ดี-ร้ายอย่างไร ...เหมือนกันหมด เป็นอันเดียวกันหมดๆ

ใจมันก็จะหลุดพ้นออกจากธรรมที่มันร้อยรัดด้วยความเห็นผิด มันร้อยรัดกันด้วยความเห็นผิด ...ถ้าหมดความเห็นผิด มันก็หมดการร้อยรัดในธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้น ต่างอันต่างก็เป็นอิสระในการเกิด การตั้ง การดับ 

ก็คืนสู่ธรรมชาติ ...ใจก็คืนสู่ธรรมชาติที่ไม่เกิดไม่ดับ ขันธ์ก็คืนสู่ธรรมชาติที่เกิดดับไปตามปกติวิสัยของขันธ์ของโลก ...ไม่ข้องกัน


..................................




วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 6/22 (1)


พระอาจารย์
6/22(550104C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
4 มกราคม 2555
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  ศีล สมาธิ ปัญญา...ต้องมีสติเป็นตัวนำ ...ฝึกจนมีชีวิตเหลืออยู่แค่ขณะเดียวน่ะ ขณะเดียวคือขณะปัจจุบัน ไม่มีชีวิตเกินนั้น

โลกมีแค่ปัจจุบัน ...แต่ใจที่รู้ที่เห็นนั้นน่ะไม่มีอายุ เพราะไม่เกิดไม่ดับ ...แล้วมันจะเห็นเองว่า อะไรที่เป็นของเกิดดับ อะไรที่เป็นสิ่งมีอายุ...อย่าไปพึ่งมัน อย่าไปหวังมัน

แล้วมันจะเห็นชัดเจนขึ้นไปว่า...ใจนี่ไม่เกิดไม่ดับจริงๆ  ใจรู้ใจเห็นนี่...ไม่มีอายุ ไม่มีสัณฐาน ไม่มีประมาณ ไม่มีกาลเวลา ...เหนือกาลเวลา

แต่ถ้าออกนอกจากนี้ไปนี่...ตกอยู่ภายใต้กาลเวลา  มีความเสื่อม มีอายุ มีอดีต มีอนาคต มีการตั้ง มีการดับ มีการเพิ่ม มีการลด ...พึ่งไม่ได้ อย่าไปหวังพึ่งมัน

อย่าไปเอามันมาเป็นสรณะ อย่าไปเอามันเป็นที่พึ่ง ...ถ้าเอามันเป็นที่พึ่ง แรกๆ มันก็เหมือนกับของย้อมแมวขายน่ะ ใช้ดี ใช้ง่าย ใช้คล่อง ...สุดท้ายก็พัง ของเก๊ เป็นของปลอม

แต่ถ้าไม่เข้าใจ ยังปัญญาน้อย ปัญญาอ่อนอยู่ ก็... “หาใหม่สิ หาเอาใหม่” ...มันก็จะไม่หยุดในการหา ตัณหามันก็จะผลักดันให้เกิดการแสวง ให้หาของมาใช้อยู่...คือภพชาติ ความรู้สึก ก็คือเวทนาต่างๆ นานา 

แต่สุดท้ายปลายสุดก็คือมันไม่คงอยู่ ไม่จีรัง นั่นน่ะเป็นโสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัส อุปายาส ...วนเวียนอยู่ในปัจจยาการขั้นต่ำข้อสุดท้ายอยู่ตลอดไม่ขยับเขยื้อน ไม่กระตือรือร้น ถอยกลับเข้ามาที่ปัจจยาการต้น

เพราะนั้นให้จำไว้เลย ตัวต้นเหตุของปัจจยาการ...คือรู้ คือใจ  พยายามน้อมกลับให้ใกล้ชิดใจมากที่สุด ...เพราะนั้นสตินี่เป็นอุบาย ระลึก..รู้  เห็นมั้ย ระลึกเพื่อให้เกิดภาวะรู้

แต่รู้แล้วรู้ก็ไม่ค่อยอยู่ รู้แล้วก็รู้ไป ...เพราะว่าภายในนี่มันส่ายอยู่ตลอด  กิเลสปรุงแต่ง ความไม่รู้ปรุงแต่ง คอยเสนอแนะต่างๆ นานา  ความเห็นที่เป็นทิฏฐิสวะที่มันฝัง เป็นเสนามารอยู่รอบใจนี่

ก็ต้องตั้งมั่น อยู่ที่รู้ให้มั่น นั่นสมาธิ คือสัมมาสมาธิ...ตั้งมั่นที่ใจ ...ไม่ใช่ตั้งมั่นที่ลม ไม่ได้ตั้งมั่นที่อะไร หรือคำบริกรรม หรือว่าคิดนั่นคิดนี่

แต่ตั้งมั่นลงที่ใจดวงเดียวนั่นแหละ รู้อยู่เห็นอยู่ อยู่ที่รู้อยู่ที่เห็นนั่นน่ะ เรียกว่าสัมมาสมาธิ

เมื่อตั้งมั่นตรงนั้นปุ๊บนี่ จิตมันก็หยุด จิตมันก็อยู่ในที่อันเดียว ...มันก็จะเกิดสภาวะที่เรียกว่าเห็น เห็นสิ่งที่รายล้อม เห็นสิ่งที่เข้ามา เห็นสิ่งที่ออกไป ...อ๋อ ไอ้นี่เข้ามา  อ๋อ ไอ้นี่กำลังออกไป

แล้วก็หยุดอยู่ตรงนั้น ไม่ไปไม่มากับสิ่งที่เข้า กับสิ่งที่ออก ...ไอ้สิ่งที่ออกคือความปรุงแต่ง ไอ้สิ่งที่เข้าคือผัสสะ คือขันธ์ที่ปรากฏ

แล้วก็มีการปรุงแต่งกับขันธ์ เช่น ได้ยินเสียงด่า เอ้า เขาด่า “ด่าเราทำไม” ...นี่ ปรุงแล้ว ปรุงกับเสียงแล้ว ...นี่ ถือว่าเขาเข้ามากระทบ 

นี่ เสียงเข้า ...เข้าหูปุ๊บ แล้วจิตออกไปรับเสียง ...มันไม่ออกไปรับด้วยความเป็นกลางหรือความมีปัญญา  มันรับแล้วมันปรุงไปซ้ำว่า นี่ เขากำลังด่าเรา ...มันปรุงออกไปนี่ เห็นมั้ย

ถ้าไม่ตั้งมั่นอยู่จริงๆ นี่ จะไม่เห็นว่า ไอ้นี่เข้า-ไอ้นี่ออกๆ ...แล้วมันจะละอะไร ...มันก็หลงออกไป คราวนี้ก็ไหลตามเสียงไป ไหลตามรูปไป

เขาแสดงอากัปกริยาอย่างนี้ ก็ว่าเขาแสดงอาการตำหนิเรา หรือรังเกียจเรา ดูหมิ่นเราด้วยอาการอย่างนั้นอย่างนี้  หรือการกระทำอย่างนี้ดี การกระทำอย่างนี้ไม่ถูก ไม่งาม ไม่เหมาะสม ...พวกนี้มันปรุงออกไป 

แล้วมันไม่เห็นเลยว่าอันไหนเข้า...อันไหนออก  มันปะปนกันไปหมดเลย ไม่รู้ว่ากิเลสเขา...หรือกิเลสเรา ...ส่วนมากก็ว่าแต่กิเลสเขา...เขาไม่ดีๆ ...จริงๆ มึงน่ะไม่ดี ไอ้ข้างในนี่ไปปรุงกับอาการนี้ 

แต่ถ้าตั้งมั่นดูดีๆ มันก็จะเห็นว่าไอ้ที่ข้างนอกเข้ามานี่สักแต่ว่ารูป ไอ้ที่ข้างในออกไปก็คือสักแต่ว่าจิตไปปรุงกับรูป แล้วก็เป็นเรื่อง พั่บๆๆๆ ...เนี่ย มันเห็นโดยตลอดนี่ ปัจจยาการของการเกิดหรือการดับน่ะ

แต่ถ้าไม่มีฐานที่ตั้ง ที่รู้ที่เห็นอยู่ ...อะไรก็ไม่ชัด ปัญญาก็ไม่เกิด ...ไอ้อะไรที่ไม่ชัดนั่นคือไม่มีปัญญาเกิด ไอ้ที่ชัดคือมันแจ่มใสชัดเจนโดยรอบเลยว่าอย่างนี้...มันเข้าแล้วออกไปอย่างนี้

แล้วจะแก้ปัญหายังไงดี มันก็รู้เองในตัวของมันเองว่าจะแก้ยังไง ...มันจะแก้โดยที่กูจะลุกขึ้นไปต่อยมันเลยมั้ยล่ะ หรือว่าแก้ด้วยการที่รู้เฉยๆ แล้วก็ ..เออ สุดท้ายก็ไม่มีอะไร ก็ดับไปทั้งสองฝั่ง

ต่อไปมันก็จะเท่าทันถึงว่า ขณะที่ตาเกิดรูปขึ้น แล้วจิตเกิดปรุงพอดีกันปุ๊บ...มันจะเห็นพอดีพร้อม  แล้วก็...พั้บ ดับทั้งคู่  นั่น มันจะเกิดความพอดีกันจริงๆ ...มันแจ่มชัดขึ้นตรงนั้น

แล้วก็หยุดหมด...ปัจจยาการต่อเนื่องหมด ปุ๊บ ดับ วาบหาย ณ ขณะปัจจุบันนั้น ...เห็นมั้ย พอดับซ้ำๆๆ เห็นซ้ำซากๆ ปุ๊บ ในความดับไปนี่ ...มันจะเห็นแจ้งเข้าไปว่า...เอ๊ ดับแต่ละขณะนึงนี่ ขันธ์ห้านี่ดับ

มันเห็นขันธ์ห้านี่ดับเลยนะ ...ไม่ใช่ดับแค่เสียงนะ ไม่ใช่แค่ดับแค่รูปที่เห็นนะ ...มันดับทั้งขันธ์ห้าเลย  

เชื่อมั้ยล่ะ ...ไม่เชื่อลองดู ...ดูให้มันพอดีกันเป๊ะๆๆๆ  แล้วก็ตรงนั้นน่ะ ขันธ์ห้าดับพั้บ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ...ความจำก็ดับ อดีตก็ดับ อนาคตก็ดับ เหมือนลืมไปเลย

แล้วก็ไม่ได้นึกถึงอีกเลยว่ามันเคยมี เคยว่าอะไร  มีใครเคยพูดอะไร หรือมีสัตว์บุคคลไหนมาว่า ...ไม่รู้อะไร มันหายไปหมด ...นั่นน่ะขันธ์ห้ามันดับ โลกตรงนั้นก็ดับหมดทั้งโลกธาตุ

พูดนี่ดูเหมือนยิ่งใหญ่นะ แต่จริงๆ นิดเดียวเอง ที่มันเห็น ที่มันดับตรงนั้นน่ะ ...แต่มันอาศัยความดับไปบ่อยๆ เห็นความดับด้วยตัวของมันเอง ซ้ำลงไปๆ

ภาวิตา พาหุลีกตา ซ้ำซากอยู่อย่างนั้นน่ะ จนมันยอมรับ ...ปัจจัตตังมันก็เกิดขึ้นภายใน...อ๋อ เข้าใจแล้วๆ ...มันเข้าใจเองน่ะ ไม่มีใครมาบอก

มันเข้าใจด้วยอะไร...สันทิฏฐิโก คำว่าสันทิฏฐิโกคือ มันรู้เองเห็นเอง ด้วยญาณทัสสนะที่มันแจ่มชัดอยู่  แรกๆ ที่เห็นแจ่มชัด เรียกว่าญาณทัสสนะแจ่มชัด

พอมันแจ่มชัดจน..อ๋อ เข้าใจแล้วๆ ไม่มีอะไร ทุกอย่างมันเป็นแค่นี้เอง ...แล้วก็หมด หมดภาวะที่เข้าไปรุงรังหรือไปพัวพันกับการเกิดการดับนี้ หรือไม่มีการต่อเนื่องออกไปอย่างนี้

ญาณวิมุติทัสสนะก็เกิดตรงนั้น ...ไอ้ที่แจ่มชัดแล้ว มันละขาดตรงนั้น...ขาดลงในปัจจุบัน ...แล้วมันก็ขาดลงในทุกปัจจุบันๆ

จากนั้นไปน่ะ มันจะเหลือแต่ดวงใจดวงเดียวเท่านั้นน่ะ ที่ไม่เกิดไม่ดับ  มันไม่สนใจแล้วไอ้ของเกิดๆ ดับๆ ...เหมือนหลุยส์วิตตองเก๊น่ะ ต่อไปโยมเห็นโยมก็ไม่เหลียวตามองเลยน่ะ

มันรู้ว่าเก๊แน่ๆ ไม่มีค่า ไม่มีสาระ ไม่เอาเลย ไม่แตะเลย ไม่หันไปมองเลยจิตที่มันรู้เห็นแจ่มชัดแล้ว มันจะเห็นเลยว่าโลกเป็นของอย่างนี้...วิตตองเก๊ เวอร์ซาเซ่ปลอม อะไรอย่างนี้

แต่ถ้าเรายังเห็นมันมีคุณค่าอยู่เมื่อไหร่ ก็ยังหยิบจับ นึกภาพถึงเวลาที่ใส่แล้วมันภูมิใจ แล้วมันก็คิดว่ามี มันคิดว่าเป็นอย่างนั้น

แต่ถ้ามันเห็นว่าเป็นของไม่มีจริงแล้วนี่ หรือเห็นว่าเป็นของไม่มีสาระแล้วนี่ ...มันจะผ่าน ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนไม่มีอะไร เหมือนไม่มีสาระสำคัญใดๆ

ไม่มีความหมายต่อใจ...ที่มันจะเข้าไปสำคัญมั่นหมาย หรือออกไปปรุง ไปแต่ง ไปแต้ม ไปคว้า ไปครอง ไปครอบครอง ไปตีตรา

มันก็เป็นอิสระออกจากโลกออกจากขันธ์ไปตามลำดับ ไปเรื่อยๆ ...จนขาดๆๆ ขาดออก ออกจากโลก ออกจากขันธ์อยู่ตลอดเวลา ... ยิ่งรู้ยิ่งออก..ยิ่งเห็นยิ่งออกๆ

เห็นแต่ของปลอมทั้งนั้น ไม่มีของจริงเลย ไม่มีอะไรจริงเลยๆ ...เหลือจริงอยู่ตัวเดียว มันฆ่าไม่ตายขายไม่ขาดจริงๆ ...นั่น มันก็ยืนหยัดเป็นกระต่ายขาเดียวอยู่ตรงที่ใจที่เดียวนั่น ไม่ออกไปที่อื่น

อยู่ตรงไหนก็เหมือนกับเป็นแผ่นฝ้าน้ำแข็งบางๆ ลอยอยู่ในน้ำอย่างนี้ จะไปยืนอยู่มั้ย ...ซึ่งแต่ก่อนน่ะอาศัยมันเป็นที่พึ่งอาศัย อาศัยมันเป็นที่อยู่ที่อาศัย อาศัยมันเป็นเครื่องยังประโยชน์ให้

ต่อไปไม่มีอ่ะ ก็รู้สึกเหมือนกับแผ่นน้ำแข็งบางๆ มองเห็นอย่างนั้นหมดเลย ไม่มีคุณค่าพอที่จะไปยืน ไปหยั่ง ไปเหยียบ ไปแตะ ไปต้อง ไปถือครอง หรือไปอยู่อาศัยกับมัน

ความขาดไปจากภพ ความขาดไปจากอดีต ความขาดไปจากอนาคต จะหดลงๆๆๆ ...เพราะนั้นไปนับเอาเลย ไปนับชาติเอาตรงนั้น ว่าเหลือกี่ชาติดี ...มันรู้เองน่ะ 

ไม่ต้องไปถามครูบาอาจารย์หรอก ...มันรู้เลย ถ้ายังไปแบบจรวดเจ็ทที่เติมไอพ่นจนเต็มเปี่ยม กูจะพุ่งไปหาจักรวาลทั่วจักรวาล นั่น ไม่ต้องถามว่ากี่ชาติ ...นับภพไม่ถ้วน

จนมันรู้เองว่าไอ้จรวดเจ็ทนี่ เชื้อเพลิงมันเริ่มหมดแล้ว ร่อยหรอ เหลือนิดเดียว  ไปได้แป๊บนึง ไม่ไกลแล้ว ตกม้าตายซะตั้งแต่ออกจากตาหูจมูกลิ้นไปกระทบนี่ พั้บ มันจะเหลือสั้นลงเองตรงนั้น

แล้วมันก็ถูกจำกัด ...ยิ่งใช้ไปเรื่อยๆ  เชื้อเพลิงมันใช้ไปโดยไม่เติมนะ ใช้แบบไม่เติม ...มันรู้อยู่นะ รู้อยู่ไม่หลง ถ้าหลงนี่ก็เติมนะ ...ตัวหลงน่ะเป็นตัวเติม

ตัวหลง เผลอเพลิน ตัวเอา ตัวจงใจ ตัวเจตนา ตัวอยาก ตัวไม่อยากนี่เป็นตัวเชื้อเพลิง ...อย่าไปเติมให้มัน ...ถ้าไม่เติมปุ๊บมันก็วิ่งไปๆ มันก็หมดไป ใช้ไปหมดไปๆ

รู้ไปละไปๆ รู้ไปเห็นไปละไป ...สุดท้ายมันหมดแรงขับเคลื่อนออกมาแล้ว  จะไปไหน...ไม่ไปแล้ว  มันก็หมดไปโดยธรรมชาติ ตามธรรม ตามเหตุอันควรแก่ธรรมอันควรนั้นๆ

แต่ถ้าธรรมอันควร...มันไม่เป็นธรรมอันควรน่ะ เป็นธรรมที่เป็นตัณหา เป็นอุปาทาน เป็นภวตัณหา วิภวตัณหา ...ก็เป็นธรรมที่จะก่อเกิด

แต่ถ้าเป็นธรรมอันควรก็เป็นธรรมที่เรียกว่าศีลสมาธิปัญญา หรือปัญญาญาณที่รู้ละ รู้วาง รู้ปล่อย รู้ถอน มันก็เป็นธรรมอันควรที่..ยิ่งมีตัวนี้มาก มันก็ยิ่งหมดกำลังทะยานออกไปมากขึ้นเท่านั้น

แต่ถ้าไปเติมเชื้อเพลิงนี่...ตัณหา อุปาทาน ความทะเยอทะยาน ความใคร่ ความอยาก ความแสวงหา ความคำนึงไปถึงอดีตอนาคตอยู่เสมอ ...มันต่อเนื่อง

มันก็เหมือนกับเติมเชื้อเพลิงให้เครื่องยนต์พร้อมจะแล่น พร้อมจะโลดแล่นออกไป...ข้างหน้า-ข้างหลังอยู่ตลอดเวลา ...มันไม่มีทางหมดได้ 

(ต่อแทร็ก 6/22  ช่วง 2)



วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 6/21 (2)


พระอาจารย์
6/21(550104B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
4 มกราคม 2555
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 6/21  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นถ้ารู้...ระลึกได้...กลับ..กลับบ้านเราคือใจ นั่นล่ะสาระสูงสุด ...นอกนี้ไปไม่มีสาระ ...คำว่าไม่มีสาระอะไร คือมันไม่มีแก่นสาร คือมันไม่มีตัวตนที่แท้จริง 

มันมี...ชั่วคราว แป๊บนึง...แล้วก็ดับ ...ซึ่งคำว่าแป๊บนึงนี่ก็อาจเป็นชาติก็ได้นะ...แต่ยังไงก็ดับ ...อย่างแป๊บนึงของอรูปนั่นก็ไม่รู้กี่ล้านปี ใช่ป่าว ความว่างในอรูปน่ะ 

ดูอาฬารดาบส อุทกดาบสนี่ จะผ่านพระพุทธเจ้าตั้งไม่รู้กี่พระองค์...นั่นก็แป๊บนึง (หัวเราะกัน) ...แต่ยังไงก็แป๊บนึง จะแป๊บนานหรือแป๊บสั้นแค่นั้นเอง

เพราะนั้นถ้าออกนอกใจแล้วนี่ ไม่มีสาระหรอก  เพราะไม่มีตัวตนที่แท้จริง มีแค่ชั่วคราว ...ปัญญาต้องชัดตรงนี้ มันจะต้องเห็นไตรลักษณ์จนชัดจริงๆ 

ถึงขนาดที่ว่าละวางทุกสิ่งโดยไม่อาวรณ์น่ะ โดยไม่หวนคืนน่ะ ...เสียดายมั้ยล่ะ เสียดายความสุขที่ยังไม่ถึงมั้ยล่ะ  เสียดายธรรมมั้ย ที่เราไม่ทำอย่างนี้แล้วคิดว่าเราจะไม่ได้ธรรม ...เสียดายมั้ย 

ถ้าเสียดายก็ยังไม่ถึงน่ะ ...มันก็ไปเอา วิ่งไขว่คว้าหา ตะกุยตะกายหาดาว จะได้ดาวสักดวง ...เอ้า พอได้ดวงนึง..ร้อยตรี  ร้อยตรีก็ไม่พอ เดี๋ยวกูจะขอร้อยโทสักหน่อย  ร้อยโทไม่พอจะขอร้อยเอก

แล้วร้อยเอกไม่พอ ก็จะต้องหาชฏามาครอบซะให้เป็นพัน อย่างนี้ ...ไม่จบหรอก ถ้ายังออกไป หลงไปกับมัน หลงไปกับอะไรก็ตามที่ออกนอกจากรู้นี้ออกไป

ทำยังไงถ้าไม่อยากออกไปนอกรู้นี้ ...ก็รู้อยู่กับธรรมหนึ่ง แล้วสังเกตธรรมหนึ่งนั้นด้วยความเป็นกลาง จนเห็นธรรมหนึ่งที่ปรากฏต่อหน้านี้...มันเกิด ตั้ง แล้วดับไปเป็นธรรมดา

นี่คือให้เห็นไตรลักษณ์...มากๆ ...ไอ้ความทะเยอทะยานออกไป...ข้างหน้า-ข้างหลังนี่จะน้อยลงเอง ...นั่น ปัญญาเกิด เพราะเห็นไตรลักษณ์

เพราะนั้นปัญญาที่แท้จริงคือมันต้องเห็นไตรลักษณ์  มันถึงจะหยุด มันถึงจะพอ ...ถ้าไม่งั้นน่ะ มันก็จะคิดว่า มีอะไรที่ตั้งมั่นดีกว่า สำคัญกว่าใจ ...สุขกว่าใจ สุขกว่าแค่รู้เฉยๆ นี่

อยู่อย่างนี้ มันเหงาน่ะ มันไม่สุขเลยน่ะ ...'ถ้าได้สภาพธรรมนั้น ถ้าได้สภาวธรรมนี้ อย่างที่เราเคยได้นะ' ...แหม มันพอง มันติด...มันติดใจน่ะ

มันเกิดความพอใจ พึงพอใจ หรือว่าใคร่ในธรรม ...ความใคร่ในธรรมนั่นน่ะคือราคะ เป็นราคะตัวหนึ่ง...แต่ราคะละเอียดนะ ...ไม่ได้ใคร่ในรูปนะ  มันใคร่ในธรรม นามธรรม

เวลาอย่างพวกเรา...ผู้ชายเห็นผู้หญิง ผู้หญิงเห็นผู้ชาย นี่ก็ชอบ...ด้วยกามราคะ นี่ อยากมากๆ ...แต่ถ้านั่งสมาธิแล้วเห็นแสงสี ชาตินั้นชาตินี้ อดีต-อนาคต แล้วตรงเป๊ะๆ ...นี่น่าใคร่ยิ่งกว่าอีก 

มันติดยิ่งกว่าอีก บอกให้ ...มันลึกซึ้งกว่าอีก ติดถอนยากกว่าราคะในชายหญิงนี่อีก ...ยิ่งละเอียดเท่าไหร่ยิ่งติดลึก บอกให้ ...เพราะนั้นต้องมั่นจริงๆ ...ใจนี่ต้องแข็งแกร่งมาก ไม่เคลื่อน ไม่ขยับ 

ท่านถึงเปรียบว่าใจที่ตั้งมั่นนี่เหมือนเสาอินทขิลน่ะ ฝังลงดินสี่ศอก ขึ้นบนดินอีกสี่ศอก ไม่มีโยกคลอน ...ไม่ว่าอะไรผ่านมาๆ  ไม่ว่าอะไรกระทบ กระแทก กระเทือน นี่ ตั้งมั่นลงที่ใจรู้ใจเห็นอยู่ดวงเดียวเท่านั้น  

มันจึงจะแจ้งในสรรพสิ่ง แจ้งในธรรมทั้งปวงว่า...เกิดขึ้นธรรมดา ตั้งอยู่ธรรมดา แล้วมีความดับไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นเป็นเบื้องต้น ตั้งอยู่ในท่ามกลาง ดับไปในที่สุด 

นั่น ต้องตั้งมั่นอยู่ที่นี้ที่เดียว มันจึงจะเห็นธรรมทั้งหลายทั้งปวงนี่เป็นไตรลักษณ์ โดยไม่มีข้อแม้และเงื่อนไขไม่มีข้อแม้และเงื่อนไขใดๆ ที่จะให้ออกนอกใจเลย

ทิ้งความปรุงความแต่งใดๆ ซะ ...เพราะระหว่างที่เราตั้งมั่นอยู่นี่ มันจะมีเซลส์แมนเสนอขายของ กระซิบอยู่เรื่อย แช้ดๆๆๆ ..." ต้องยังงั้นนะ ต้องอย่างงี้นะ อย่างนี้ไม่ได้ยังไม่ถึงหรอก"

นี่ เซลส์แมนเสนอขายของทั้งวี่ทั้งวัน จนปวดหัวน่ะ ไม่รู้จะเลือกของอันไหนดี  ของมึงก็ดี ของกูก็ดี  อันนั้นก็ดี อันนี้ก็ใช่  อันนั้นก็ควร อันโน้นก็สำคัญ อันนู้นก็ หูย ยิ่งโคตรสำคัญเลย

แล้วเราก็... "หลงอีกแล้วครับท่านๆ ...อีกแล้วหรือวะ อีกแล้วทุกที กูไม่น่าเลยๆ" ...เพราะนั้นก็ตัดอกตัดใจ เอาจนมันตั้งมั่นอยู่ในที่อันเดียวนั่นแหละ 

จะข้างหน้า ข้างหลัง  หูตาจมูกปากคอลิ้น อายตนะทั้งหก ไม่มีไหลเลื่อน ไม่มีอะไรจะมาทำให้เคลื่อนคล้อยออกจากรู้เห็นนี้...ภายในนี้ได้เลย

เรียกว่าเกิดภาวะที่เรียกว่าหลุดพ้น หลุดพ้นออกจากอายตนะ หลุดพ้นจากขันธ์ หลุดพ้นจากโลก...เป็นขณะ ...คือหลุดพ้นนี่ยังต้องมีอาศัยแรงดึงดูดของศีลสมาธิปัญญาอยู่ภายในนะ

แล้วก็หลุดพ้นไปเรื่อยๆ ...หลุดพ้นคือไม่เข้าไปเกลือกกลั้ว เจือปน หรือว่าไหลไปไหลมากับมัน ...นี่แหละ ศีลสมาธิปัญญาจะเป็นตัวเหนี่ยวรั้งไว้ให้ตั้งมั่นอยู่ภายใน

เพราะยังไงผู้ปฏิบัติ...ตั้งแต่เสขะบุคคลลงมายันปุถุชนนี่ ยังต้องอาศัยศีลสมาธิปัญญาอยู่ตลอด เป็นตัวประคับประคองใจไว้ ...ยกเว้นพระอเสขะ คือพระอรหันต์เท่านั้น

แต่ถ้าพระเสขะบุคคลลงมาถึงปุถุชนนี่ ต้องอยู่กับศีลสมาธิปัญญาเสมอเลย ...ไม่งั้นใจไม่อยู่ ใจไม่ตั้ง ไม่มีทางเลยๆ ที่ใจมันจะตั้งขึ้นมาเองโดยธรรมชาตินะ

เพราะมันจะใจอ่อนใจเบากับเซลส์แมนนี่แหละ แนะนำอยู่เรื่อย ...แนะนำตัวเองไม่พอนะ ยังไปถามคนอื่นให้ช่วยแนะนำอีก ทำอย่างนั้นดีมั้ย คุณเคยทำมั้ย แล้วดีมั้ย

หรือไปเงี่ยหูฟังเขา ...ไม่ถามก็เงี่ยหูฟังเขา แบบครูพักลักจำน่ะ …นี่คือหาเรื่องไปอยู่ตลอด ว่างั้นเถอะ ...จิตที่ไม่รู้นี่มันหาที่เกิด เป็นสันดาน ท่านเรียกว่าอนุสัย คือสันดาน

เพราะนั้นก็ต้องมีสันดานใหม่ คือสันดานของความตั้งมั่น รู้ตัว เป็นกลาง แน่วแน่ภายใน ...นี่ก็เป็นสันดาน คือเอาสันดานที่ไม่ดีกับสันดานที่ดีมาลบล้างกัน ...เอาให้ชนะกัน

จนมันหยุดอยู่ในที่ภายในนี้ ไม่ไปไม่มา ไม่ซ้ายไม่ขวา ไม่หน้าไม่หลัง ไม่มีไม่เป็น ไม่เอา ...ทิ้งอย่างเดียวๆๆๆๆๆ  รู้ละ รู้แล้วก็ปล่อย รู้แล้วก็วาง  รู้อีกวางอีกๆ  รู้อีกละอีกๆ  เห็นอีกละอีก

ยังไงก็คือหน้าที่มีอย่างเดียว...รู้อะไร...ละอันนั้น เห็นอะไร...ละอันนั้น ...ละไม่ได้ก็ทนเอา อย่าไปกับมัน ถ้ามันยังไม่ดับ...ยังละไม่ได้ ก็อดทนเอา เนี่ย ตัณหาบางทีมันไม่ขาดหรอก ...อดทนเอา นี่ ขันติ

พอขันติได้สักหน่อยก็ขันแตก... "ไม่ไหวแล้วๆ" ...แล้วก็บอกว่าถ้าอดทนมากๆ เดี๋ยวเป็นโรคประสาท ต้องไปหาหมออีก ต้องให้หมอรักษาโรคอีก...เป็นโรคจิต

ความอดกลั้น อดทน...มีพระอริยะองค์ไหนที่ไม่อดทน...ไม่มีอ่ะ ...ท่านอดทนต่อกิเลสที่แผดเผา ไม่ไปไม่มากับกิเลสที่มันชักนำ ...อดทนทั้งนั้นน่ะ

ท่านไม่ได้มาอยู่แบบ...แหม สบาย ลอยไปในอากาศแล้วก็ถึงนิพพานเลยนี่...ไม่มีหรอก ...ท่านไปด้วยความอดกลั้นอดทน ถึงเรียกว่า ผู้ที่มีขันติที่สุดคือพระอรหันต์

เนี่ย ขันตี ปรมัง ตโป ตี ติกขา ...คือท่านทนๆๆๆๆ จนถึงที่ว่า จิตที่เหมือนแผ่นดินน่ะ  มันทนจนกลายเป็นแผ่นดินไปเลย ใจดวงนั้นน่ะ

ที่ว่าเหมือนแผ่นดินเป็นยังไง ...ขี้ก็ได้ เยี่ยวก็ได้ ทุกข์ก็ได้ ขุดก็ได้ เผาก็ได้ ดินไม่ว่าสักแอะ ...นั่น หนักแน่นปานแผ่นดินน่ะ

แล้วมันจะเริ่มมาได้ยังไง ...ก็เริ่มมาจาก อด..ทน รู้อยู่เห็นอยู่เท่านี้ ...จนมันขาด จนมันหลุดออกจากห้วงกระแสของโลก ของขันธ์ ...มันขาด

เหมือนยิงหนังสติ๊กน่ะ ...ระหว่างที่ดึงหนังสติ๊กนี่ มันต้องมีแรงดึงอยู่อย่างนี้นะ  เดี๋ยวมันก็...ถ้าทางนี้ดึงหมดแรงปุ๊บ มันก็จะคล้อยเข้าไป ...พอศีลสมาธิปัญญามาก็ดึงออก

ถ้ามันยังไม่ขาด เดี๋ยวมันก็ดึงเข้าไปอีก  ดึงเข้า-ดึงออกอยู่อย่างนี้ ...อดทนนะ ระหว่างนี้ก็ต้องขืนอยู่อย่างนี้ ...มันไม่สบายหรอก มันเรื่องทุกข์ทั้งนั้นน่ะ

เพราะมันจะวิ่งไปหาทุกข์เรื่อยไป ไอ้กูไม่ไปมันก็ดึงให้กูไปอยู่นั่นน่ะ ...ก็ดึงแล้วดึงอีกๆๆๆ พอแรงตรงนี้มากกว่า ก็ยิ่งดึงยิ่งห่างๆ ...นี่ เอาจนเปื่อย เอาจนขาดน่ะ ...ผึง

พอมากกว่านี่ มันขาด...ขาดออกจากขันธ์ ขาดออกจากโลก ขาดออกจากกระแสความหมุนวนของจักรวาล ...อนันตาจักรวาลเป็นภาวะหมุนวน คือจักรวาลน้อยใหญ่ ก็คือขันธ์ห้านี้แหละ

แต่ว่าจะขาดจากจักรวาล ต้องขาดจากขันธ์นี่แหละ ...จนเหลือใจที่เป็นอิสระออกจากขันธ์น่ะ ถึงจะลืมตาอ้าปากได้ ...ซึ่งกว่าจะลืมตาอ้าปากได้นี่ เหมือนหมาหอบแดดเลย

เพราะนั้นไอ้ตอนนี้ก็อย่าขี้เกียจ อย่าขี้เกียจรู้ อย่าขี้เกียจเห็น ...ขยันรู้ไว้ เนืองๆ เป็นนิจเลย เป็นนิสัย เป็นสันดาน อะไรเกิดขึ้น...รู้ ...ไม่เอาอะไรน่ะ รู้อย่างเดียว

สติระลึกเข้าไป ...โกรธก็รู้ ไม่โกรธก็รู้  สบายใจก็รู้ ไม่สบายใจก็รู้  อยากก็รู้ ไม่อยากก็รู้  สงสัยก็รู้ สงสัยมากก็รู้  ยึดก็รู้ ไม่ยึดก็รู้  ติดก็รู้ ไม่ติดก็รู้ 

อะไรก็ได้...รู้ไว้ ฝึกไว้ ...อย่าไปออกไปหาอะไรมารู้  ไม่มีอะไรก็รู้ กำลังหาก็รู้ กำลังอยากก็รู้ เอ้า ...รู้มันเข้าไป  เอารู้น่ะแหละเป็นตัวตั้งกับทุกสิ่ง

ถ้าไม่มีอะไรแล้วมันจะหลง มันจะเพลิน เผลอ ...รู้กายไว้ เอากายเป็นหลัก ยืนเดินนั่งนอน มันมีกายอยู่ตลอดเวลา ...ดูตรงไหนก็เห็น รู้ตรงไหนก็ได้ ตำรวจไม่จับ 

ตำรวจมันจับแต่คนหลง จับไปติดคุก ชอบติดคุกมั้ง ...โลกเป็นคุก จักรวาลของโลกเป็นคุก การเกิดการตายเหมือนคุก ยังงั้นแหละ ถ้าหลงน่ะตำรวจจับเข้าคุกเลย 

ถ้ารู้กายเห็นกายนี่ ตำรวจไม่จับ จับไม่ได้ไล่ไม่ทันหรอก ถือว่าเล็ดลอดออกมาจากคุกได้แว้บนึง ...แว้บนึงยังดีนะ ดีกว่านอนกระดิกตีนอยู่ในคุกน่ะ ...ประมาท 

ก็ว่า...ไม่เป็นไร ฮู้ย เพื่อนเยอะ หลายพันล้านคนเลย เยอะแยะไปหมด เราจะรีบไปไหน ...ออกมาแว้บนึง นี่เหงาว่ะ ไม่เห็นมีเพื่อนเลย นั่น (หัวเราะ) พอหันกลับไปดู โห เพื่อนเยอะในคุก ...เลยกลับไปใหม่

นั่น อย่าไปเกรงใจโลกเขา อย่าไปคิดว่า...แหม เดี๋ยวเขาจะว่าเราอย่างนั้นอย่างนี้ "แหม ไปบวชเป็นพระซะสิ มาทำอะไร" ...เนี่ย ก็เลยเกรงใจ 

เออ ว่ากันไป ตามกันไป ตามกิเลสกันไป เฮไหนเฮนั่นแล้วกัน ...ไปไม่รอดหรอก มันก็ติดคุกแบบประเภทที่เรียกว่า ไม่ได้ผุดได้เกิด ไม่ได้อภัยโทษ

แล้วอยู่ในคุกน่ะมันก็จะโดนความผิดซ้ำซาก เบียดเบียนกัน ทะเลาะกัน มีเรื่องกัน เห็นแก่ตัวกัน เอารัดเอาเปรียบกัน ข่มเหงรังแกกัน เอาคืนกันไปเอาคืนกันมา

มันก็โดนพิพากษาซ้ำๆ อยู่ในนั้น เหมือนกับบ้านเป็นคุก คุกเป็นบ้านอยู่อย่างนี้ ..แต่มันมองไม่เห็นว่าโลกนี้เหมือนคุก แล้วก็วนอยู่ในคุกนี้ ตาย-เกิดๆๆๆ 

เราบอกให้เลย คนนึงๆ สัตว์บุคคลนึงๆ นี่...เกิด-ตายมานี่ กระดูกกองสูงกว่าภูเขาอีก ...ไม่ใช่มันเกิด-ตายกันมาแค่ชาติสองชาติซะเมื่อไหร่

แต่มันไม่เห็นกัน ไม่รู้กัน ...มันเลยว่า “ฮู้ย ไม่เห็นเป็นไรเลย ตายแล้วก็ไม่รู้ไปไหน ช่างหัวมัน เดี๋ยวไปๆ มาๆ เดี๋ยวก็เลื่อนไหลเข้านิพพานไปเอง” ...นี่เป็นซะงั้น


(ต่อแทร็ก 6/22)