วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2557

แทร็ก 6/8




พระอาจารย์

6/8 (541217D)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

17 ธันวาคม 2554




พระอาจารย์ –  รู้ไว้ ... พระพุทธเจ้าบอกว่าธรรมย่อมเป็นที่พึ่งแห่งผู้ปฏิบัติธรรม  ผู้ปฏิบัติธรรมมีธรรมคุ้มครอง คือใจนั่นแหละจะเป็นตัวคุ้มครอง ... รักษาใจไว้ เหมือนแก้วแหวนเงินทอง เหมือนทรัพย์สมบัติอันมีค่า ...คือรักษารู้นั่นแหละ 

เสียอะไร...เสียไป  หมดสิ้นเนื้อประดาตัว...สิ้นไป  เสียชื่อเสียเสียง...เสียไป  เสียลาภ เสียยศ เสียคำชม เสียเพื่อน เสียฝูง...เสียไป  อย่าเสียใจ...อย่าให้ใจเสีย อย่าให้ใจหาย 

แล้วอย่าหาอะไรมาปกปิดใจ ...อยู่กับใจไว้  คืออยู่กับรู้ อยู่เสมอ  มีสติเป็นระยะ ต่อเนื่องทุกขณะ ... อะไรเกิดขึ้น...รู้  อะไรเกิดขึ้น...รู้  คิด...รู้  ไม่คิด...ก็รู้  เอาดิ  อยาก...รู้ ไม่อยาก...ก็รู้ ไม่มีทั้งความอยากและไม่อยาก...ก็รู้  สงสัย...รู้  สงสัยมากก็รู้ สงสัยน้อยก็รู้ ไม่สงสัยก็รู้ เอาดิ

คือไม่นอนเนื่องอยู่กับอะไรน่ะ จะเอารู้อย่างเดียว อยู่กับรู้อย่างเดียว ไม่ว่ามันจะมาซ้ายมาขวา ไปหน้าไปหลัง ไปบนไปล่าง รู้ๆๆ อยู่กับรู้  เอาสติมาระลึกรู้...แล้วเอารู้เป็นลูกคู่อยู่ตลอด คอยแนบอยู่ทุกอาการ ... จึงจะดูเป็นท่าทางของนักปฏิบัติที่มุ่งตรงลงสู่นิพพาน  ไม่ใช่เป็นนักปฏิบัติที่ขี่ม้าเลียบเมือง ...คอยสอดแนม

รู้จักกองสอดแนมมั้ย ...ชอบเป็นพวกกองสอดแนมน่ะ ...คือกลัวผิดน่ะ  กลัวถ้าไม่สงสัยแล้วถ้าไม่ทำถ้าไม่รู้ก่อน...คือกูสอดแนม ขอสอดแนมก่อน...เดี๋ยวกูจะได้รบสักทีจริงๆ ... พอจะแต่งชุดรบ กำลังลับดาบ...สงสัยอีกแล้ว (หัวเราะ) ...ว่ากูจะเข้าไปทางประตูไหนดี

(เสียงโยมแทรก) ... “อาจารย์ พออาจารย์พูด ผมสงสัยอีกแล้ว...(เสียงโยมหัวเราะกันใหญ่)...ขออนุญาตเถอะ ...ไอ้ตรงนี้ ไอ้ตรงอยู่กับผู้รู้นี่ อย่างผมรู้ว่านั่งนี่ นะฮะ  แล้วผมก็รู้ว่านั่งนี่ (พระอาจารย์ – เออ) ...ไอ้คำว่าอยู่กับรู้...มันอยู่ตรงไหน (เสียงพระอาจารย์และผู้ถามหัวเราะด้วย) ...นี่ ผมกำลังสอดแนมอยู่นี่

พระอาจารย์ – เข้าใจมั้ย เข้าใจคำว่า...“หยั่ง”


โยม – แต่ผมมีอาการรู้สึกว่า ...ผมไม่ได้สร้างนะฮะ ผมมีอาการรู้สึกว่ามันมองลงมา อย่างนี้  แล้วผมก็พยายามอยู่กับไอ้ตรงนี้ ...ไอ้ตรงต้นที่มันมอง

พระอาจารย์ – เออ...ก็อยู่ที่ตรงนั้นแหละ ให้อยู่ตรงที่มอง ที่เห็น...ตรงที่รู้นั่นแหละ นั่นแหละเขาเรียกว่า “หยั่งลงไปที่ใจ”


โยม – แล้วถ้าสมมุติว่ามันมีแต่รู้ ถึงแม้มันไม่รู้ว่าจริงๆ มันอยู่ตรงไหน  ถ้าสมมติว่ามีแค่รู้ใช่ไหมฮะ แล้วเรารู้ว่าเรากำลังรู้ๆๆ อยู่  นี่แสดงว่าเราอยู่กับรู้อยู่ใช่ไหม

พระอาจารย์ – เออ


โยม – แล้วผมไม่เข้าใจอยู่อย่าง ที่พระอาจารย์เปรียบเทียบเล่นว่าว 5 ตัว ว่าให้กลับมาอยู่ที่รู้นี่ ใช่ไหมฮะ แล้วไอ้ว่าว 5 ตัวนั่นมันจะตกหรือไม่ตกก็เรื่องของมันใช่ไหมฮะ

พระอาจารย์ – อือ


โยม – สรุปแล้ว จริงๆ แล้วไอ้สิ่งที่ถูกรู้นี่ไม่ต้องสนใจเลยก็ได้ ถ้ามาอยู่กับรู้อย่างเดียว

พระอาจารย์ – ใช่


โยม – หรือว่าต้องรู้ แต่ว่าไม่ต้องให้ค่า ไม่ต้องให้สมมติบัญญัติมัน

พระอาจารย์ – ไม่ต้องอะไรกับมันน่ะ รู้ไว้ก่อน


โยม –  รู้ไว้ก่อน ถึงแม้จะไม่รู้ว่ารู้อะไร แต่ว่ามันตั้งอยู่ที่รู้ก็ช่างมัน

พระอาจารย์ – อยู่ไว้ (เสียงโยม “อ๋อ...)  แล้วจากนั้นไปนี่ เวลามันมีอะไร แล้วมันจะเห็น  มันมีอะไรเกิดขึ้นแล้วมันจะเห็น ...มันจะเห็นเอง เมื่อมันเกิด


โยม – ถ้าลักษณะนั้น ...คือผมติดคำของอาจารย์นี่ล่ะ  “อะไรก็ช่าง ขอให้มาอยู่กับรู้”

พระอาจารย์ – ใช่


โยม – ขอให้มาอยู่กับรู้ให้ได้

พระอาจารย์ – ใช่


โยม –  ณ วันนี้ถึงมันจะไม่รู้ถึงสิ่งที่ถูกรู้ก็ช่างหัวมัน

พระอาจารย์ – ช่างหัวมัน


โยม – ถ้ามันอยู่กับรู้ได้ อยู่กับรู้ไปก่อน

พระอาจารย์ – ใช่ อยู่กับรู้


โยม – เพราะบางทีมันจะเกิดความรู้สึกว่า แล้วมันจะโง่รึเปล่า ไม่เห็นสิ่งที่ถูกรู้มันดับ

พระอาจารย์ – ช่างมัน ก็รู้อีกว่า...กำลังอยากเห็นสิ่งที่ถูกรู้ดับ (โยมหัวเราะ) เห็นไหมว่ามันออกนอกรู้แล้ว


โยม – อ๋อ มันไม่ทันไอ้ตัวที่มันไปสงสัย

พระอาจารย์ – อือ นั่นแหละ ...กินเหล้าแล้ว เมาแล้ว เมาความคิดแล้ว เมาสภาวะเกิดดับแล้ว ... แม้แต่สังขารธรรมก็เมา หลวงปู่แหวนท่านพูดธรรมเมา ...เมา เราก็กำลังเมาธรรมอยู่  เมาไตรลักษณ์


โยม – อาจารย์ ผมขออนุญาตถามอาจารย์ ...นี่อย่างผมอยู่เฉยๆ ผมมีความรู้สึกว่าผมเห็นน่ะ มันอย่างนี้น่ะฮะ แล้วผมก็เห็นไปเรื่อยๆ อย่างนี้ ผมก็ไม่รู้ว่าผมจงใจหรือว่านี่เป็นการจงใจ แต่เราก็เห็น

พระอาจารย์ – เออ เห็นไว้


โยม – แล้วก็เท่านี้  ...ก็อยู่อย่างนี้

พระอาจารย์ – อยู่อย่างนั้น


โยม – ถ้าเราดูมันนานๆ เหมือนเราไปจงใจดูรึเปล่า เป็นเจตนารึเปล่าอาจารย์

พระอาจารย์ – อย่าสงสัย ...สงสัยให้รู้ว่าสงสัย


โยม – แล้วมันคัน อาจารย์  พอเห็นมันไม่กระดุกกระดิก ก็ไปทำอย่างอื่นแล้ว

พระอาจารย์ – รู้รึเปล่า แล้วเห็นมั้ยว่ามันกำลังมีความอยาก


โยม –ไม่ค่อยทันฮะอาจารย์  มันไปทำอย่างอื่นเรียบร้อยแล้ว แล้วเดี๋ยวมันก็มาระลึกใหม่

พระอาจารย์ – ก็นั่นน่ะ ...มันยังรู้ไม่จริง  ถ้ารู้จริงมันจะเห็นเลยว่าอึดอัด อยากเปลี่ยน...เป็นอุลตร้าแมน(เสียงหัวเราะ ) คือมันหมดพลัง แล้วกูจะเหาะไปให้พบพระอาทิตย์ หาทางเหาะไป  แต่ว่าแท่งพลังมันหมด กู่ไม่ขึ้น ...คือจะเป็นอุลตร้าแมนแต่ กูยังเป็นมนุษย์ ทำไมกูยังเป็นมนุษย์ๆ

มันยังรู้ไม่จริง เข้าใจมั้ย ...รู้อีก ...มันไม่เห็นน่ะ มันแอบไม่เห็นน่ะ  มันยังมีความอยากกระเทือนออกมา ดูดิ


โยม – บางทีมันเห็นเป็นอย่างนี้แล้วมันนาน ...หรือที่จริงจิตใจมันกระดิกแล้วเราไม่รู้

พระอาจารย์ – ใช่ มันมีความอยากโดยที่เราไม่รู้


(เสียงโยมพูดกัน) ...อยากให้มันกระดิกเพื่อจะได้เห็นธรรม

โยม – มันนิ่งอยู่ได้สามนาทีห้านาที ชักอยู่ไม่ค่อยได้แล้วอาจารย์

พระอาจารย์ – ก็ตอน “ชักอยู่ไม่ได้” นั่นแหละคือความอยาก ...ก็รู้อีก


โยม – รู้ซ้ำลงไป

พระอาจารย์ – เออ ...ผู้รู้นี่ ใจนี่ ถือเป็นอายตนะ  ใจนี่เป็นอายตนะใจ มันจะรับรู้ทุกอย่างผ่านเป็นอายตนะใจ เข้ามาสู่เป็นผัสสะอายตนะ ใจเป็นอายตนะ


โยม – จำเป็นไหมฮะที่ว่าเราจะต้องย้อนกลับดูที่ใจตลอด  ทั้งที่เรา...สมมุติว่าผมเห็นอยู่อย่างนี้ใช่ไหมฮะ ผมจะต้องย้อนกลับมาดูว่าขณะนี้ใจมีความรู้สึกอะไรไหม  เพราะบางครั้งมีความรู้สึกว่า เอ้...มันสงสัยฮะ...สอดแนมน่ะฮะ(หัวเราะ) ว่าทำไมเราไม่เช็กว่าใจเรามีกระเทือนกับเรื่องเหล่านี้มั้ย  อย่างสมมติว่าผมระลึกลงมาอย่างนี้ใช่ไหมฮะ  ถ้าผมระลึกว่า....

พระอาจารย์ – นั่นน่ะปรุง ...โยมก็ต้องรู้อีกว่าใครที่เห็นว่ากำลังอยากจะดู กำลังอยากจะรู้ ... มันมีอีกตัวนึงอ่ะ ที่มันอยู่ข้างหลังอยู่น่ะ (เสียงโยม...ที่มันดันให้เราออกไป) ... โยมทำเพื่อใครล่ะเออ ใครรู้ ใครเห็นล่ะ  นั่นแหละ..ให้กลับมาที่ตรงนั้นแหละ ....อย่าหา


โยม – ถ้างั้นมันก็ถูกแล้วที่ผมเห็นอย่างนี้

พระอาจารย์ – ไม่รู้ ไม่บอก ... จนกว่าจะหายสงสัย ...  ถ้าถามเรา เอาเราเป็นมาตรฐานไม่ได้ ยิ่งงง ... รู้ไปเรื่อยๆ สังเกต แยบคาย ถี่ถ้วน ...ใจเย็น อย่าใจร้อน  ...ไอ้ใจร้อนน่ะ ขี้โลภ ขี้อยาก รู้ป่าว

ใจเย็นๆ ดูไป ไม่เอาอะไร กูไม่เอาอะไรทั้งสิ้น มรรคผลกูก็ไม่เอา ถูกก็ไม่เอา ผิดก็ไม่เอา ช่างหัวมัน จะรู้อย่างเดียว 

พอรู้อย่างเดียวแล้วมันไม่รู้อย่างเดียว... เข้าใจไหม  โยมยังไม่เข้าใจคำว่ารู้อย่างเดียว ...คือถ้ามันเห็นจริง มันไม่สงสัย ...มันก็จะเห็นความสงสัยด้วย


โยม – อ๋อ มันเห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในบริเวณนี้หมด  เห็นว่ามันสงสัยแล้ว

พระอาจารย์ – เออ อย่างนั้นเรียกว่าเห็นจริง ... เพราะงั้นไอ้ที่โยมเห็นนี่มันยังเห็นไม่จริง แล้วพอสงสัยปุ๊บก็...อาการที่เห็นนั้นน่ะหายไปแล้ว ไหลไปแล้ว ไม่ตั้งแล้ว

แล้วก็มาสงสัยในอาการเก่าว่า...'กูถูกป่าววะ'  แล้วก็ไม่รู้อีกว่ากูกำลังสงสัยในอาการนี้   เห็นมั้ย ..คือตามหลังมันทุกก้าวไปน่ะ ..

เข้าใจคำว่า “เท่าทัน” มั้ย ... คือขยับขาซ้ายปุ๊บ รู้เลย  หนวดกระดิกรู้เลย นี่ รู้จริง  แหงะหน้า เงยหน้า เฉยๆ รู้อยู่ พอแหงะปุ๊บ พั๊บเลยอ่ะ รู้  ...ไม่สนใจด้วยว่าไอ้ที่แหงะไปนี่เป็นภาพสวยหรือไม่สวย แค่นี้ ดับเลย ทันแล้ว ไม่สนใจอ่ะ

ดิ้นๆ ...รู้ เห็นอีก นี่ อย่างนี้ รู้จริง เห็นจริง...ไม่ไปไม่มา ไม่มีไม่เป็น นั่นแหละ ไตรลักษณ์เกิดตรงนั้นเลย... ดับ ...ไม่ใช่ไปส่องหา...กูจะดู..กูจะดูไตรลักษณ์ กูจะเห็นให้เป็น...“มึงจะต้องดับ” “ทำไมมึงไม่ดับให้กูเห็น” ไอ้อย่างเงี้ย  (เสียงโยมหัวเราะกัน) ...เข้าใจรึยัง อย่างนี้เขาเรียกว่าไม่อยู่ที่รู้ 

จะไปอยู่ที่นั่นทำไม จะไปเอามรรคผลนิพพานกับมันได้ยังไง ... อยู่ตรงนี้ ขยับปั๊บ...รู้  ขยับปั๊บ...รู้  ไอ้สิ่งที่มันจะขยับไปตรงนั้นน่ะจะดับ หรือไม่ดับมันก็ตั้งอยู่ด้วยความที่ไม่มีอะไรไม่เป็นอะไร ...สักแต่ว่า  แต่นี่พอมันสักแต่ว่าได้สักแป๊บนึง...กูไม่สักแต่ว่าแล้ว เฮ้ย เดี๋ยวกูจะไปเจาะแจ๊ะแล้ว ...รู้อีก


โยม – พระอาจารย์ อย่างผมถูสบู่นี่ใช่ไหมฮะ ถูนี่ ตอนแรกนี่ผมรู้สึกว่ารู้ แล้วอีกสักพักผมรู้สึกว่าความรู้สึกทั้งหลายมันมาอยู่ที่มือนี่ ผมว่านี่มันไหลเข้ามาแล้วใช่ไหม อาจารย์ เพราะมันมารู้สึกอยู่ที่นี่แล้ว ที่มือนี่

พระอาจารย์ – มือกำลังฟอก


โยม – มือกำลังฟอกนี่ฮะ

พระอาจารย์ – เออ ก็รู้ไปสิ  ก็รู้แค่นั้นแหละ พอแล้ว


โยม – มันไม่ได้เข้ามาจบในนี้เหรอ

พระอาจารย์ – เอ้ย ไม่ต้องไปคิดมาก (เสียงโยมหัวเราะ) รู้แค่นั้นแหละ รู้ง่ายๆ ไปเลย (เสียงโยม “อ๋อ”) รู้อยู่กับทุกอาการน่ะ เกิดๆ ดับๆ ไป


โยม – พูดง่ายๆ ขอให้มันอยู่ในนี้

พระอาจารย์ – เออ ให้มันตรง ...ให้มันตรงกับอาการของกาย


โยม – ก็ผมมีความรู้สึกว่ารู้มันไม่แยก มันเข้าไปจมอยู่ในนี้

พระอาจารย์ – นั่นแหละ เขาเรียกว่า...รู้เกิน  เข้าใจคำว่ารู้เกินมั้ย  คือมันมีผสมความปรุงแต่งด้วย แล้วก็ไม่รู้ว่ากำลังหาค้นอะไรกันอยู่ ...ฟอกก็ฟอกไปดิ ก็รู้ ...เนี่ย (เสียงสัมผัส) แค่เนี้ย ก็รู้อยู่แค่นี้ ไม่เห็นจะต้องมากมายก่ายกองอะไร


โยม – ตอนแรกมันมีความรู้สึกว่ามันมีรู้อยู่ต่างหาก สักพักมันมีความรู้สึกว่ามันจมลงมาอยู่ที่มือแล้ว มันเลยรู้สึก รู้มันไม่แยก มันไม่ห่างออกมา  มันไม่ถ่างน่ะฮะ


พระอาจารย์ – จะไปถ่างมันทำไม ...รู้มันไป มันถ่างของมันเอง ...เห็นมั้ย โยมยังไม่รู้เลยว่าโยมอยากให้มันถ่าง เห็นมั้ย มันไม่เห็นนี่ว่ามันมีอีกตัวนึงที่มันอยากถ่างออก  

ก็แค่นั้นน่ะ รู้มันตรงนั้นน่ะ แค่นั้นน่ะ เบาๆ แค่นั้น ไม่ต้องเอาอะไรมากกว่านั้น พอแล้ว  เดี๋ยวมันถ่างออกเอง  พอถ่างออกแล้วอาการเห็นจะชัดเจน ... รู้ไป


โยม – ผมก็นึกถึงคำอาจารย์ “ไอ้เสือถอย” ผมก็ถอยออกมาตั้งหลักดูใหม่

พระอาจารย์ – คือแค่ถอยพอให้เห็นว่ามีสองอาการ เข้าใจมั้ย  แค่นั้นน่ะพอแล้ว


โยม – ไม่ต้องทำความรู้สึกให้มันอยู่อย่างนี้

พระอาจารย์ – อันนั้นมันมีความอยากเข้ามาแทรกแล้ว มันมีตัวเราเข้ามาทำแล้ว มันมีเจตนาแล้ว เห็นมั้ย ... “จงใจ”  รู้จักรึยังว่าจงใจคืออะไร แล้วรู้แบบไม่จงใจคืออะไร

ก็รู้มันไป ขยับตรงไหน ปุ๊บ รู้ไป  ขยับนี่ รู้ไป  อย่าลืม อย่าลืมให้เห็น รู้...รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ตรงนี้ และรู้แล้วมันตรงกับผัสสะที่เกิดขึ้นตรงนั้นจริงๆ ให้ทันกัน ไม่เคลื่อน ไม่เคลื่อนออก

จากที่เดี๋ยวก็หายไปคิด หลงคิด ปุ๊บ รู้อีก กลับมา ... เริ่มไหลๆ หาย เพลิน หายไป หลง รู้เลย รู้ว่าหลง กลับมารู้อยู่กับผัสสะปัจจุบัน อย่างนี้  ....เดี๋ยวมันก็เพลินไปเรื่องว่า เดี๋ยวเราจะออกไปแต่งตัว รู้...หลงคิดแล้ว...ทัน รู้อีก กลับมา

แค่นี้  ...เดี๋ยวมันถ่างเอง เดี๋ยวมันถ่าง ... อย่าไปบังคับให้มันถ่าง เดี๋ยวโดนมันถีบมาแล้วก็จะสงสัยอย่างเนี้ย ... รู้ไปอย่างนี้ แล้วจิตมันจะค่อยๆ แยกออกของมันเอง อาการจะแยกออกมาชัดเจนขึ้น 

ที่จริงมันไม่ได้ถ่างอะไร ... มันแค่ชัดเจนว่ามันคนละบุคลิกกัน แล้วมันจะเป็นความรู้สึกว่าห่างไกลกัน ... แต่จริงๆ มันไม่ได้ห่างโดย physical หรือว่าโดยรูปลักษณ์หรืออะไรอย่างนั้นหรอก มันเป็นแค่ความรู้สึกความเห็นว่ามันห่างกัน ไม่ใช่อันเดียวกัน ...แค่นั้นเองนะ ... อย่าไปจินตนาการ  แล้วเราก็ไปหลงในจินตนาการ


โยม – ถ้างั้นก็สรุปว่ามันมีรู้อย่างเดียวก็พอ อย่างอื่นไม่ต้องไปสนใจ ขอให้มันรู้อยู่

พระอาจารย์ – เออ รู้ง่ายๆ ด้วย บอกให้เลย  รู้ไปตรงๆ เข้าใจคำว่า “รู้ตรงๆ” มั้ย  พอมันเริ่มแลบออกไป ..รู้  รู้มันก็แสดงชัดเจนอยู่ตรงนั้นแล้ว พอหลงคิดก็รู้ว่าหลงคิด พอเผลอก็รู้ว่าเผลอ


โยม – ผมก็ไปทำให้มันยากตั้งนานน่ะอาจารย์

พระอาจารย์ – ก็อย่าไปซับซ้อน


โยม – ผมไม่ค่อยรู้ว่า รู้โง่ๆ รู้ซื่อๆ รู้ตรงๆ มันเป็นยังไง

พระอาจารย์ – ก้อ ...อะไรเกิดขึ้นก็รู้น่ะ คือไม่ต้องเลือก เข้าใจมั้ย  ไม่ต้องเลือกอะไรเลย มันเกิดอะไรมันตรงตรงเนี้ย  ถ้ากายก็คือรู้มันไป ขยับ-รู้ นิ่ง-รู้ ...ขยับ-รู้ นิ่ง-รู้ ๆๆ  พอนิ่ง-รู้ๆๆ พอเริ่มหลง ก็รู้ หลงอีกรู้อีก คิดอีกรู้อีกๆๆ 

ถ้าไม่มีอะไรรู้ หรือไม่มีความคิดแล้วมันจะหลงมันจะเพลิน ก็รู้ว่านั่งๆๆ ดูว่ามันนั่ง รู้ว่านั่ง  ถ้ารู้ว่านั่งเดี๋ยวหลงเพลิน ดูลมเข้าออก ... อะไรเกิดขึ้นน่ะ ไอ้ที่มันเป็นผัสสะ ที่มันตรงอยู่ แสดงอยู่ รู้มันลงไป ...แค่นี้แหละ

แล้วมันจะค่อยๆ ดีดตัวของมันเองออกมา  ใจมันจะดีดขึ้นมา พอใจมันดีดออกมาปุ๊บ มันจะเกิดภาวะลอยเด่น คือเห็นโดยรอบ  มันจะเห็นอาการพล้อบแพล้บๆๆๆ เหมือนมีลูกกระตาอีกดวงนึง  ...มันมีเองนะ


โยม – ผมก็มานึกถึงว่าเราทำผิดหรือเปล่า ...ก็ขยับ

พระอาจารย์ – คือไปจินตนาการมากไป ไปจดจำมากไป เขาเรียกว่าไปหลงสัญญา  แล้วเอาสัญญามาเป็นแม่แบบแม่พิมพ์ แล้วจะหล่อ...กำลังจะหล่ออัตตาตัวเองขึ้นมาใหม่ โดยจะเอาแม่แบบที่ปั๊มไว้ แล้วจะมาหลอมอัตตา ให้มันเป็นอัตตาที่เหมือนแม่แบบที่เราตั้งไว้โดยสัญญา 

เนี่ย  เลยไม่เห็นตัวตนที่แท้จริง  มันก็จะเอาไอ้ตัวตนที่ให้เหมือนกับแม่แบบ ... จะมาเอาเราเป็นแม่แบบ จะมาเอาคำพูดเป็นแม่แบบ จะมาเอาตำราเป็นแม่แบบ จะมาเอาพระพุทธเจ้าเป็นแม่แบบ...ไม่ได้ 

พระพุทธเจ้าต้องการให้เรียนรู้อัตตา ... อัตตาคือสิ่งที่เกิดขึ้น ... เสียงกระทบ นี่ ได้ยินนี่ เสียงนี่เป็นตัวตนนึง ที่มันมากระทบแล้วใจมันรับรู้ด้วยอายตนะ มันก็เกิดเป็นความรู้สึกหนึ่งขึ้นมา เป็นตัวนึงขึ้นมา นี่เรียกว่าอัตตาหนึ่ง ...นี่คือความจริงนะ 

แล้วให้สืบทราบสำเหนียกลงไปในอัตตาตัวตนที่ปรากฏเนี้ย...เป็นใคร เป็นของใคร  ถ้าไม่สืบทราบ สืบค้น หรือว่าเรียนรู้มัน ก็จะเกิดภาวะที่เรียกว่าหลงอัตตา ...หลงว่านี่ เสียงนี่เป็นเสียงเรา แล้วโยมได้ยิน  เห็นไหม นี่หลงทั้งขึ้นทั้งล่อง หลงเสียงข้างนอก...ว่าเป็นเขา  หลงว่าตัวเรา...เป็นเจ้าของหู  

หูคือหู เสียงคือเสียง นี่คืออัตตาที่แท้จริง...ไม่มีเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่มีเขา มีแค่เสียง...คืออัตตา  นี่ ท่านให้เห็นตัวตนที่แท้จริง ท่านต้องการให้เรียนรู้ตัวตนนี้ ...จะได้ไม่หลงตัวตน...ว่านี้เป็นเรา นี้เป็นของเรา 

นั่ง...คือตัวตนของการนั่ง คือรูปลักษณ์ของกาย หรือองคาพยพ หรือว่าวัตถุธาตุที่กองอยู่ในลักษณะนี้ มันเกิดอาการนี้...เรียกสมมุติเอาว่า “นั่ง” ก็คือนั่ง...โดยสมมุติ  ไม่มีใครนั่ง ... นั่งเป็นอัตตา แต่อัตตานี้ไม่ใช่ของเรา 

เมื่อใดที่ใจมันมาเห็นอย่างนี้ มันจึงจะเข้าไปทำลายสักกายทิฏฐิ คือความเห็นว่ากายนี้เป็นเราของเรา คือเห็นอัตตาตัวตนนี้เป็นเราของเรา ...ไม่ใช่ให้เข้าไปทำลายตัวตน  แต่เป็นการเรียนรู้เพื่อเห็นตัวตนตามความเป็นจริง 

ตัวตนคือตัวตน ตัวตนคือไตรลักษณ์ ตัวตนคือความเป็นกลาง  ตัวตนคือสิ่งที่เกิดขึ้น...ตั้งอยู่ตามเหตุและปัจจัย ...ไม่ใช่ใคร ของใคร ... นี่คือวัตถุธาตุ รวมทั้งธาตุที่เรียกว่าเป็นนาม นามขันธ์ก็คือธาตุหนึ่ง การรวมตัวกันขึ้นของสังขารธรรม 

ลักษณะนี้เรียกว่าคิด  ลักษณะอย่างนี้เรียกว่ารู้สึก ลักษณะนี้เรียกว่าอารมณ์ ลักษณะนี้เรียกว่าสุข เรียกว่าทุกข์  คือการรวมตัวกันขึ้นของสังขารธรรม เป็นธาตุที่รวมตัวก่อขึ้น...แสดงอากัปกิริยาของขันธ์นี้ จับต้องไม่ได้ มีแต่ความรู้สึก ...ก็เป็นตัวตน

เหมือนกับกายที่เป็นวัตถุธาตุ ก็คือตัวตนที่เป็นวัตถุธาตุ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ... คิดก็คือธาตุคิด รวมกันแล้วเป็นลักษณะนามธาตุ  คิดก็คือคิด...ไม่ใช่เราคิด ไม่ใช่คิดเป็นของเรา  สุขคือสุข...ไม่ใช่ใครสุข ไม่ใช่สุขของใคร ทุกข์คือทุกข์...ไม่ใช่เราทุกข์ ไม่ใช่ทุกข์นี้เป็นของเรา เนี่ย

ปัญญาคือเห็นขันธ์ตามจริง คือเห็นอัตตาตัวตนที่แท้จริง  อย่าไปกลัว ... ถ้าเห็นตัวตนที่ไม่จริง มันจะกลัว มันจะสงสัย ว่าตัวนี้คืออะไร ดีร้ายถูกผิดอย่างไร แล้วมันจะไปสงสัยตามความเห็นที่ผิด ที่เพี้ยน ที่เปื้อน ที่แปลกปลอม ที่เคลื่อนออกจากธรรม 

เพราะฉะนั้นยิ่งเคลื่อนออกจากธรรมไกลขึ้นไปเท่าไหร่ ยิ่งทุกข์มากขึ้นเท่านั้น  เพราะมันจะเคลือบแฝงด้วยสังขารธรรมปรุงแต่งด้วยอำนาจของความไม่รู้หรืออวิชชา ตัณหา และอุปาทาน

เหมือนเมล็ดข้าวเม็ดนึงน่ะ  ถ้าเอาไปเคลือบน้ำตาลซ้ำแล้วซ้ำอีกนี่ ก้อนเท่าภูเขาก็ยังได้  เพราะการกระทำจากความไม่รู้  เผลอ เพลิน เมาทั้งๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจจะเมาน่ะ  แต่พอมาดูที่แท้จริง...'อะไรวะ ข้าวสารเม็ดเดียวเนี่ยนะ  แค่เนี้ย  อู้หู กูแบกมันแทบบ้าเลยเนี่ย' 

เนี่ย เราถึงถามว่า “ใคร” นั่ง  รู้มั้ยว่าใครนั่ง  ...มาบอกว่า “ก็ผมนั่งอยู่นี่” ...ตบกะโหลกเลย (โยมหัวเราะ)  เข้าใจป่าว คือรู้แค่นี้พอแล้ว จะไปเอาอะไร จะไปเอาภูเขาหรือไง  คือจะเอาความเห็นที่พอกพูนมาเป็นอาหารหรือไง ทั้งที่ว่าความเป็นจริงมันแค่นี้เอง 

ขยับก็ขยับ ถูสบู่ก็ถู ...มันก็เกิดตรงนั้น แล้วมันก็ดับอยู่ตรงนั้น ก็แค่นั้นนั่นแหละ  มันจะเอาอะไรมรรคผลนิพพานเกินกว่านี้แล้ว หึ  ...แค่ฟอกสบู่ก้อนนึงนี่ก็นิพพานได้ บอกให้เลย เอาดิ ... ก็มันรู้ไม่จริงอ่ะ มันรู้เกินไป  มันรู้เท่าภูเขานี่ กะไอ้แค่ฟอกสบู่อ่ะ (โยมหัวเราะ) กะไอ้แค่นั่งอ่ะ เข้าใจมั้ย 

เดินหนอ ก้าวหนอ โกรธหนอ ...ไอ้นี่จะเรียกอะไรหนอดีวะ (เสียงหัวเราะ) ...คือทำไมจะต้องไปซับซ้อนเกิน  ก็แค่อะไรก็รู้ไป แล้วก็จบไป  นี่ มันไม่ได้ยาก ...แล้วมันก็ไม่ง่าย ถ้าไม่มีคนแนะนำ มันยากเพราะคนแนะนำน่ะมันยังไม่รู้เลยว่ากูจะนำมึงไปไหนดี ... ไอ้อย่างนี้มันยาก

เออถ้าแนะนำแล้วนี่ แล้วยังเปะปะ ...คือข้าพเจ้าเป็นขี้เมาระดับหนึ่ง ยังไงข้าพเจ้าขอเมา ไม่ยอมเลิกเมาน่ะ  ไอ้นั่นอีกเรื่องนึง ...ต้องตบ ต้องทำให้มันอยู่ในกรอบ ให้กลับมาตรง ...ไม่ใช่อะไรนะ ให้มันตรงต่อธรรม

เข้าใจคำว่าตรงต่อธรรมมั้ย  คือธรรมมันมีอยู่แค่นี้ ทำไมจะต้องให้มันมากกว่านี้ ...รู้สึกมั้ยว่านั่ง ก็แค่นี้ พอแล้ว ... ก็ดูมันไป  มันไม่ได้ว่าอะไรก็อย่าไปว่ากับมัน ภาษาเหนือว่าอย่าไปปาก ดูบ่ดาย ดูซื่อๆ มันก็ตั้งอยู่บ่ดาย มันก็ตั้งอยู่ซื่อๆ ...ทำไมจะไปปากกับมัน มันยังไม่ปากกะเฮาเลย ปากกันไปปากกันมา อู้บ่จ้างนะ  คราวนี้งง...กูงง

ทั้งๆ ที่ว่ามันไม่ได้พูดอะไรกับเราเลยสักคำ ใช่มั้ย ... เขาเคยแสดงความเป็นจ้าวเข้าเจ้าของมั้ย  เขาเคยบอกว่าเขาเป็นอัตลักษณ์ของใครมั้ย  เขาบอกมั้ยว่าการดำรงคงอยู่นี่...กูเป็นโทษที่สุดเลยหรือว่ากูดีที่สุดเลยมั้ย  เขาประกาศตัวเองของเขาออกมาให้โลกรับรู้มั้ย หรือให้ใจดวงนี้รู้มั้ยว่า...อาการนี้ชั่วสุดๆ เลย  ถามดูดิ ...เงียบ  

ก็รู้มันตรงๆ แค่นั้นแหละพอแล้ว ...อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ อย่าไปวิตกวิจารณ์ อย่าไปสืบเสาะค้นหา  อย่าไปเซาะแซะเจาะแจ๊ะจ้อแจ้ หรือว่าค้นหาว่าอะไรวะ ...แค่นั้นแหละ เอาให้ง่าย เอาให้โง่ เอาให้ไม่รู้อะไรเลย ...เหลือแค่ว่ารู้เดียว คือรู้อยู่ ว่ามันมีอะไรตรงนี้  นี่ว่ารู้...กับสิ่งที่ถูกรู้...สั้น 

แล้วทุกอย่างมันเป็นไปของมันตามครรลองของมรรค มันจะสมัคสมังคีกัน  ขอให้อยู่ตรงแค่นี้ รู้กับปัจจุบันตรงนี้ไปเรื่อยๆ ... อย่าโลภมาก อย่ามักมาก อย่าเคลื่อน อย่าหา อย่าไปทำ อย่าไปหนี อย่าอิดออด อย่าอิดเอื้อน ...นั่งก็รู้ว่านั่ง ขยับก็รู้ว่าขยับ ไหวรู้ไว้  

ตื่นเช้าแต่งตัวใส่เสื้อผ้า แทนที่จะรู้สึกที่มือที่ว่ามันขยับ ใจนี่...เดี๋ยวจะไปทำอะไรกินดีวะ  เดี๋ยวนั่งรถเดี๋ยวเราจะไปเข้าเส้นไหนดี เดี๋ยวเราจะต้องไปทำนั่น ... นี่มันไม่อยู่เลยนี่  แล้วก็อิดออดๆ พอกลับมารู้  อื้ออ คิดต่อ ...เสียดาย ยังไม่ได้แปลนเลยว่าจะทำอะไรต่อไป  เนี่ยๆ

มันอยู่กับการคลาดเคลื่อนตลอดน่ะ คลาดเคลื่อนจากธรรม  เข้าใจคำว่าคลาดเคลื่อนจากธรรมมั้ย ...ก็ตรงนี้ทำไมไม่รู้สึกล่ะ  ใส่เข็มขัดน่ะดูสิ นี่ไม่รู้ตัวเลยอ่ะ ไม่รู้สึกเลยตามที่มันปรากฏ  มันก็เลยแต่งตัวผิดๆ ถูกๆ  กระดุมไม่กลัด กระดุมกลัดผิดเม็ด ซิปไม่รูด ใส่รองเท้าก็ผลุบๆ ผลับๆ อีหลุกผุกผัน นี่เห็นมั้ย มันไม่ตรง มันไม่รู้ตรง 

งมไปในธรรม ... ใจไปทาง กายอยู่ทาง อารมณ์ไปอีกทาง มันเลยสับสนอลหม่านน่ะ  เสร็จแล้วมานั่งว่า รู้กูอยู่ไหนวะ มาคิดต่ออีก ... ก็ตลอดเวลามันไม่เคยรู้เลยอ่ะ แต่พอมันจะนั่งกำหนดเจริญสติก็มานั่งหารู้อีก แล้วยังไม่รู้อีกเหรอว่ากำลังนั่งหารู้ 

เห็นมั้ย ก็อาการปัจจุบันตอนนั้นมันมีอาการหารู้ ก็ต้องรู้ว่าหารู้อยู่ นี่ มันต้องรู้ตรงต่อธรรม ไม่ใช่ไปควานธรรม หรือไปควานซากของธรรม หรือไปดั้นด้นค้นเดาในธรรม ...ไม่ใช่นะ ไม่ต้องการ ...เหนื่อย
 
รู้...โดยไม่อิดออดอิดเอื้อน ว่านิดนึง แค่นี้เอง หยิบจับขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวให้มันทันกัน ให้มันทัน เนี่ย ขยับนี่รู้ตรงกันเลย ... นี่่ไม่รู้  ไปอยู่ไหน ...มาอยู่ที่เสียงเรา มันเพลินกะเสียงไปแล้ว ไหลมากับเสียงเราแล้ว หายไปแล้ว ตัวหายไปแล้ว รู้ก็หาย ...มาอยู่ในเสียงเรายังไง เราไม่รับ ...มันเพลินน่ะ ประมาท มันไหลนี่ 

รู้สิ ขยับทีรู้ที ๆ ยังดี ให้มันรู้ไว้ ... ให้เข้าใจนะ การภาวนาไม่ได้ยากหรอก


..............................