วันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 6/16


พระอาจารย์
6/16 (550101E)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
1 มกราคม 2555


พระอาจารย์ –  ธรรมมีอันเดียว ...ธรรมอันเดียว 

ฟังครูบาอาจารย์เทศน์น่ะมันไกล ต้องถ่อร่างสังขารไปฟัง ... ฟังธรรม ตัวเองน่ะแสดงธรรมอยู่ทั้งวัน ทำไมไม่ฟัง ทำไมไม่ดู...มันเมื่อย มันปวด มันหิว มันร้อน มันแข็ง ...นี่ มันแสดงธรรม 

มันแสดงธรรม ...เทศน์ตั้งแต่ตื่นยันหลับ นี่ อาจารย์ใหญ่ ...เรานี่อาจารย์รองนะ ครูบาอาจารย์นี่เป็นอาจารย์รองทั้งนั้น  อาจารย์ใหญ่นี่...กายใจ...นี่อาจารย์ใหญ่ เข่นเขี้ยวเคี้ยวฟันสอนอยู่ตลอดนี่  

ดื้ออออ จริงๆ ไม่ฟังอาจารย์สอน เอาชนะ ต่อต้าน เถียงอาจารย์ตลอด  อาจารย์เขามาอย่างนี้ ก็ว่า...ทำไมอาจารย์มาอย่างนี้ล่ะ ผมว่าอย่างนี้น่าจะดีกว่ามั้ง ...นี่เถียงนะ เถียง บังอาจเถียง  

เถียงธรรมชาติได้ยังไง ฮึ  ธรรมชาติของขันธ์น่ะ ใครมันจะใหญ่เกินธรรม ... "ดิฉันไง เราไง ผมไง" ใหญ่กว่าทั้งนั้นเลย  นั่นน่ะตัวมันใหญ่ กิเลสมันตัวเท่าหม้อแกง ธรรมมันตัวนิดนึง ...มันข่มธรรมกันหมด  

กายเป็นธรรม จิตเป็นธรรม กายเป็นอาจารย์ จิตเป็นอาจารย์  เขาบอก เขาสอน เขาแสดงธรรมตามความเป็นจริงอยู่เสมอ ...แต่เราน่ะคอยไปบิดเบือนธรรม ต่อต้านธรรม ลบหลู่ธรรม 

เข้าใจคำว่าลบหลู่ธรรมมั้ย ...ไม่เคารพธรรม แข็งขืน ดื้อดึง แอบอ้าง อวดอ้างกับธรรม ... สุดท้ายธรรมตลบหลังเอาคืนหมด...ตาย ต้องตาย  จึงมาค่อยยอมรับว่า...เออ เฮ้ย หนีความตายไม่พ้นจริงๆ ว่ะ 

ธรรมเป็นใหญ่จริงๆ  ธรรมนี้จริง ไม่โกหก ... แต่ระหว่างอยู่นี่เราหาว่ามันโกหก เราทำได้ เราแก้ได้ เราหนีได้  เราไม่ทำอย่างนั้น เดี๋ยวเราทำอย่างนี้ เดี๋ยวให้มันเกิดอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ... นี่ เถียงคำไม่ตกฟาก

ถ้าเราอ่อนน้อมต่อธรรม เคารพธรรม ... มันเคารพนะ มันอยู่ด้วยความเคารพ เคารพกายใจตัวเองนี่แหละ ...เคารพกายใจที่เขาแสดงความจริง 

ปวดเป็นปวด เมื่อยเป็นเมื่อย หิวเป็นหิว ร้อนเป็นร้อน อ่อนเป็นอ่อน แข็งเป็นแข็ง คิดเป็นคิด ปรุงเป็นปรุง ยึดเป็นยึด ถือเป็นถือ เสียใจเป็นเสียใจ 

เขาแสดงยังไงยังงั้น  เขาแสดงธรรมอยู่  ... ก็เคารพ  รับรู้ รับทราบ ด้วยความเคารพ  สงบ นิ่งอยู่ ...คารวะธรรมนั้นด้วยสติ สมาธิ ปัญญา  

เดี๋ยวเข้าใจเองแหละว่าอาจารย์เขาสอนอะไร ...สอนตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงที่สุด  เบื้องต้นตั้งแต่สมมติบัญญัติ ที่สุดจนถึงปรมัตถ์  ที่สุดของที่สุด...อนัตตา ...เรียนรู้จากกายใจนี่แหละ

ไม่ได้เรียนรู้จากเราหรือใคร ...ถ้าไม่มีกายใจ ถ้าไม่รู้กาย ถ้าไม่รู้ใจ ถ้าไม่เห็นใจ ถ้าไม่สังเกต ถ้าไม่เข้าใจกายใจ...ไม่มีทาง ...จะไปเข้าใจธรรมอะไรมากมายมหาศาลก็ตาม ถ้าไม่เข้าใจกายใจนี้...ไม่มีทาง  

นี่จะไม่เรียกว่ากายใจนี้เป็นอาจารย์ แล้วจะเรียกเป็นคนใช้รึไง ... มันมองเห็นกายใจเป็นคนใช้  แล้วมันเป็นเจ้านาย ตัวเราเป็นเจ้านาย ข่มเหงรังแกมัน พยายามจะอยู่เหนือมัน 

ถ้าเคารพกันแล้ว...สันติ  อาจารย์เขาก็จะสอนโดยภาวะที่เรียกว่า ตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อมว่า...ใครว่ามึงนั่ง  ใครว่านั่ง ไม่มีใครนั่ง ไม่มีอะไรนั่ง ...มีแต่แข็งกระทบแข็ง ใช่ป่าว  

จริงๆ แล้วมันเป็นแค่นั้นจริงๆ นะ เป็นแข็งกระทบแข็ง ... ไอ้คำว่าแข็งกระทบแข็งนี่ยังเป็นภาษาอยู่นะ แต่ความรู้สึกจริงๆ มันเป็นคล้ายๆ อย่างนั้น


โยม –  มันเป็นแค่สภาวะใช่ไหม

พระอาจารย์ –  จริงๆ แล้ว มันก็คือ...ถ้าพูดโดยหยาบๆ ลงมานี่ก็เรียกว่าเป็นสภาวธรรม เป็นสภาวะธาตุสภาวธรรม 

แต่ถ้าโดยความเป็นจริง มันไม่เป็นทั้งสภาวะธาตุ มันไม่เป็นทั้งสภาวธรรมใดเลย ...นั่นขั้นปรมัตถ์...ขั้นสูงสุด ขั้นอนัตตา ...จะไม่มีคำว่าตัวตน เรียกว่าเป็นตัวตนใดตัวตนหนึ่ง ในตัวของมันเอง  

เนี่ย อาจารย์ทั้งนั้นน่ะ...สอนเรา  ...ถ้าเราเคารพ นอบน้อม สงบ สันติ  ดู สังเกต ยอมรับ ตามธรรมที่ปรากฏ จะเข้าใจลึกซึ้งขึ้นไปตามลำดับ 

แต่ถ้าเราดื้อดึง ดื้อด้าน หรือว่าเถลเถไถ มัวแต่เที่ยว มัวแต่เตร่ส่งจิตไปไกลออกนอกกายใจ มันก็เหมือนเด็กหนีเรียนน่ะ  หนีเรียนไม่พอนะ อยากได้ปริญญาเอกอีก  มันจะได้มั้ยล่ะนั่น...ไม่มีทางอ่ะ 

ติดสินบนก็ไม่ได้นะธรรมอันเนี้ย ความรู้ในธรรมนี่  อ้อนวอนร้องขอไม่ได้ ...ยังไงคุณต้องเข้าห้องเรียน ต้องฟังเล็กเชอร์ ไม่อยากฟังก็ต้องฟัง อาจารย์เขาไม่เบื่อหน่ายเลยนะในการสอน เพราะเขาไม่มีเงินเดือน

แต่เรานี่เหนื่อย ยังเหนื่อยอยู่นะ...คนสอนข้างนอกนี่มีเหนื่อย มีเมื่อย มีหิว มีเป็นมีตายอยู่นะ ...แต่อาจารย์ของใครของมันนี่ไม่เหนื่อยนะ เขาแสดงเช้ายันค่ำ ค่ำยันเช้า หลับยังฝันให้เลย สอนอีกต่างหากในความฝัน เอ้า 

นั่นเคารพไว้ นอบน้อมในธรรม เคารพในธรรม สำเหนียกในธรรม...อยู่ติดเนื้อติดตัวทุกคน  กายใจคือมรรค เป็นมรรค ...ถ้าออกนอกกายใจ เบื้องต้นเลยก็คือออกนอกมรรค 

แล้วมันจะแยบคายๆๆ ลงมาเรื่อยๆ มันสงเคราะห์ลงแค่นั้นแหละ...กายใจ  แล้วก็จากกายใจก็เหลือแค่สิ่งที่ถูกรู้กับรู้  จากสิ่งที่ถูกรู้กับรู้ สุดท้ายก็เหลือ...ไม่มีอะไรเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ไม่มีอะไรเป็นผู้รู้ ...ก็แค่นั้น 

มันก็อยู่แค่นี้ ...ไม่ใช่ว่าไปไขว่คว้าหาอะไรกันในโพ้นนู่น หรือไปตามหาในตำราอะไร

การปฏิบัติจริงๆ นี่ ... ถ้าเป็นคนที่ไม่เคยปฏิบัติ ไม่เคยอ่านหนังสือตำรับตำรามาเลยนี่ แล้วมีความมุ่งมั่นใส่ใจ แล้วก็เปิดรับนี่ ...มาฟังที่พูดแล้วนี่ ปุ๊บ ง่ายมากนะ ...ยิ่งโง่เท่าไหร่ ยิ่งรู้ในธรรมน้อยเท่าไหร่ยิ่งฉลาดมากในการปฏิบัติ  

ส่วนพวกที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ ผ่านครูบาอาจารย์มาเยอะ ... ไอ้พวกนี้ล่ะหัวดื้ออออ ดื้อๆๆๆ ...ติดความคิดความเห็น เหมือนเป็นยันต์กันผีน่ะ 

เอาความคิดตัวเองเป็นเกราะ เอาความเห็นของคนอื่นเป็นเกราะ เอาความเห็นคำพูดของครูบาอาจารย์เป็นเกราะ ...มันเลยปิดบังธรรม ให้คลาดเคลื่อน 

กลายเป็นว่าธรรมของครูบาอาจารย์มาทำให้ธรรมของตัวเองคลาดเคลื่อน ...กลัวไปหมด กลัวผิดไปหมด ไอ้นั่นก็ไม่ได้ ไอ้นี่ก็ไม่ได้  กลายเป็นผู้ปฏิบัติที่กล้าๆ กลัวๆ จดๆ จ้องๆ

แต่ไอ้ประเภทไม่เคยปฏิบัติอะไรเลย  พอบอกให้รู้ไปๆ อย่างเดียว  มันแบบ...มันไม่สนใจอะไรเลย บอกให้รู้อย่างเดียว ก็รู้อย่างเดียวๆ ...อ้าว เฮ้ย นิพพานแล้วเหรอวะ ... นั่น มันเป็นยังงั้น ทำไมมันง่ายจังอ่ะ

มันง่ายเพราะอะไร ยากเพราะอะไร ต้องแก้ตรงนั้น ...มันยากเพราะเราติดความคิด มันยากเพราะเราติดที่ความเชื่อความเห็น มันยากที่เราติดตำรา เห็นมั้ย มันกลายเป็นตัวขวางกั้นไปแล้ว เป็นตัวทำให้เกิดความเนิ่นช้า

สมัยพุทธกาลนะ คนมาฟังพระพุทธเจ้าเทศน์นี่เป็นพันเป็นหมื่น ไม่มีตำราหนังสือให้อ่านเลย ... เขาชวนกันมาฟัง เขาว่าพระพุทธเจ้านะเนี่ย ก็มาฟัง ... มาฟัง...ฟังก็ฟังไปอย่างนั้น ไม่รู้เรื่องอะไรมาก่อนเลย 

ฟังแล้วก็พิจารณา ดูตามเห็นตาม ..เอ้า พั่บๆๆ ขาดไปเลย ทำไมง่ายจัง ...ทำไมฟังพระพุทธเจ้านี่มันง่ายกันจัง สำเร็จทีเป็นยกกระบิเลยอ่ะ อย่างต่ำไม่ต่ำกว่าโสดา

ไอ้พวกเรานี่...ฟังกันจนหูห้อยแล้ว (โยมหัวเราะกัน) หูนี่มันจะลากถึงพื้นแล้ว ... “อะไรเป็นรู้วะ ยังงงอยู่เลย ...ไอ้นี่ใช่รู้ป่าวนี่ ไอ้นี่เรียกว่ารู้รึเปล่า” มันคิดอยู่นั่นน่ะ 

มันยากเพราะเราไปติดความรู้ความเห็น ติดความรู้คนอื่น ติดธรรมในตำรา ... เพราะนั้นตัวสมมุติ ตัวบัญญัติเป็นตัวบัง ตัวทิฏฐิตัวความเห็นเป็นตัวบัง เป็นม่านบังตาบังใจไว้ เป็นม่านที่บัง กั้น ระหว่างธรรม...กับรู้ 

มันก็มาบังด้วยความคิดความเห็น ทำให้เห็นธรรมนี่เคลื่อนไปหมด ...พอตัวความคิดความเห็นมาบังปุ๊บ มันก็จะมีเจตนาไปตามความคิดความเห็น  มันก็เกิดเป็นธรรมอันใหม่ขึ้นมา 

แต่มันไม่เฉลียวใจหรอกว่าไอ้ธรรมอันใหม่ที่ขึ้นมานั้น...มันเกิดจากความปรุงแต่งขึ้นด้วยเจตนาที่เป็นกุศลและอกุศล เป็นเจตนาที่ออกมาจากความไม่รู้ มันเป็นเจตนาที่มาจากความอยากและไม่อยาก

เพราะนั้นธรรมที่ออกมา...สังเคราะห์ขึ้นมาใหม่นี่ และที่ว่าได้ ที่ว่ามี ที่ว่าเป็น ที่ว่าเห็นน่ะ...มันปลอม ...มันก็เลยมาติดของปลอมใหม่นี่เข้าไปอีก 

ทั้งที่ของจริงยังไม่รู้เลย ยังไม่เห็นเลยนะ แล้วก็ติดด้วยนะ ไม่เข้าใจด้วยนะ แล้วยังมาติดของใหม่ที่เป็นของปลอมอีก ...มันจะไม่เนิ่นช้าได้อย่างไร

ครูบาอาจารย์ถ้าท่านมีน้ำใสใจจริง หรือว่าสอนจริงปฏิบัติจริงนะ ท่านจะต้องโขกสับ เอาไอ้นี่ออก เอาไอ้ของปลอมๆ นี่ออก ...เนี่ย มันยังไม่ยอมละกันเลย เสียดาย ...เสียดายของปลอม 

คือชอบแบกหลุยส์วิตตองแถวโบ๊เบ๊น่ะ...ก็บอกว่ามันปลอม ... แต่ว่ามันเหมือนดีอ่ะ เวลาเดินแล้วคนหันมองกันน่ะ แล้วไอ้คนเดินผ่านๆ มองก็ โอ้โห หลุยส์วิตตอง เวอร์ซาเช่ เนี่ย ไม่ยอมทิ้ง 

ครูบาอาจารย์บอกมันปลอมๆ ทิ้งซะ มันหลงของปลอมจนเข้าใจว่าจริง  มันหลงถึงขนาดนั้นนะ และไม่ยอมละ ...มันจะยากขึ้นๆ มันยากตรงนี้ มันหลงแล้วมันก็หามาสวมทรง ล้วนแต่ปลอมปนทั้งสิ้น 

แล้วก็เลยเกิดภาวะที่ว่า “หลงธรรม” และ "หลงทำ" นะ ทั้งหมดจึงเป็นเรียกว่า...สังขารธรรม  มันเป็นเพียงสังขารธรรม คือเป็นธรรมที่อาศัยความปรุงแต่งเกิดขึ้น 

ไม่ใช่สังขารธรรมที่เป็นโดยนัยยะแห่งธรรม แต่เป็นสังขารธรรมที่ปรุงแต่งขึ้นด้วยอำนาจของตัณหาอุปาทาน ...มันเลยไม่รู้ ไม่เข้าใจไปถึงว่าที่สุดของธรรม 

แม้แต่ว่าเป็นสังขารธรรมที่เป็นโดยธรรมชาติตามความเป็นจริง หรือสังขารธรรมที่ปลอมปนขึ้นมาก็ตาม ...ที่สุดของสังขารธรรมคือธรรมที่เกิดขึ้นด้วยความปรุงแต่งนี้คือ...มีความดับไปสิ้นไปเป็นธรรมดา ไม่ควรค่าแก่การเข้าไปถือครอง

แต่มันไม่ยอมทิ้ง ...เพราะอุตส่าห์หามาแทบตายอ่ะ จะให้ทิ้งง่ายๆ ได้ยังไง มันเสียดายน่ะ ...เสียดายธรรม เสียดายความอิ่มเอม ความปรีดาปราโมทย์ในธรรมที่กำลังถืออยู่อ่ะ 

เวลานั่งสมาธิแล้วสงบนี่ ลองดูสิ  มันพอใจอย่างมาก มันพึงพอใจ มันเปรมปรีด์ มันอิ่มเอม มันชอบ ขนาดนั้นน่ะ ...และในความชอบนั้นเราจะไม่เห็นเลยว่ามีความติดอยู่ 

มันไม่เห็นเลยนะว่ามีความติดข้อง...ติดความสงบเลย ....ชอบสงบนักนี่ นี่ๆๆ น่ะชอบ  พอได้แล้วดีใจ พอไม่ได้เสียใจ นี่ จะบอกว่าไม่ติดได้ไง...ไม่จริงนะ 

มันติดธรรมที่ปรุงแต่งขึ้นมา...ด้วยอำนาจของการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ...เพราะนั้นความสงบนี้จึงเป็นธรรมที่ปรุงแต่งขึ้นมาด้วยอำนาจจากความไม่รู้เบื้องต้นนี่ล่ะ คืออารมณ์สงบ

ถ้าจะติดน่ะ ให้ติดใจ หรือติดรู้ ...เรายังถือว่าติดรู้ ติดใจนี่ ยังดีกว่านะ ใครจะบอกว่ามันติดผู้รู้ ติดใจนี่ เราก็ยังถือว่าดีกว่าไปติดสงบนะ หรือว่าไปติดหาอะไรอยู่นะ หรือไปติดความรู้อื่นนะ 

ติดรู้ติดเห็น ติดผู้รู้ผู้เห็นอยู่ หรือว่าพยายามจดจ่ออยู่ที่ผู้รู้ผู้เห็นจนกลายเป็นเพียรเพ่งอยู่ภายใน ...เราถือว่ายังมีโอกาสที่จะก้าวข้ามได้ง่ายกว่า

ครูบาอาจารย์สมัยหลวงปู่สอนนี่ ท่านไม่อธิบายอย่างนี้นะ บอกให้ ท่านก็พูดไปของท่าน แล้วก็ไปทำกัน ดวงจิตผู้รู้ ...ยืนเดินนั่งนอนอย่าออกนอกดวงจิตผู้รู้ แค่เนี้ย 

ท่านไม่อธิบายอะไร ให้ตั้งมั่นอยู่ภายในแค่นี้ ...ไม่พูดเหตุไม่บอกผลอะไร ไม่ขยายความ จะได้อะไร มีอะไร ระหว่างดำเนินไปจะเจออะไรบ้าง จะมีอะไร แยกแยะยังไง ท่านไม่แยกให้ฟังเลยนะ

แต่ไอ้พวกเรานี่จน หั่น ซอย บด ขยำ ผสม เจือรสปนให้ เอาไปกิน ...มันยังไม่ค่อยอยากกินเลย ไม่รู้เป็นโรคอะไร ...โรคขี้เกียจ เสียดายความสุข เสียดายเวลาเผลอเพลิน เสียดายเวลาปล่อยปละละเลย 

เสียดายเวลาทำงาน เสียดายกลัวเสียเพื่อน เสียดายกลัวเสียหมู่คณะ เสียดายกลัวเสียรูปลักษณ์ภายนอก เสียดายกลัวเสียความสัมผัสสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ...แน่ะ มันไปติดแค่นั้น

เอาให้มันจริงซะ ...เพราะอะไร ...เดี๋ยวก็ตายแล้ว ใกล้ตายแล้ว เวลาตายแล้ว หมดเวลาแล้วนะ เป๊ง หมดยก ทำไงล่ะ จะอยากต่อยก็ต่อยไม่ได้แล้ว จะแพ้จะชนะไม่รู้อ่ะ เป๊ง หมดยก ไล่ลงจากเวทีแล้ว

ตอนที่อยู่บนเวที มีอะไรก็งัดออกมาใช้ ออกมาต่อยซะ วิชาความรู้อะไรที่จะใช้ ...เขาให้อยู่ได้แค่สามยกห้ายกเท่านั้นนะ มันไม่แน่ด้วยนะ ... พอหมดระฆังเมื่อไหร่ปุ๊บ อย่ามาเสียดายนะ 

"แหม เมื่อกี้น่าจะยังงั้น อาจารย์สอนมายังงี้ ...แหม อาจารย์พูดอยู่แล้ว ไม่รู้กี่ครั้งกี่หน แม๊ เราน่าจะยังงั้น"  ... มันไม่ทันแล้วหนา ไอ้เวลาเขาให้ชกน่ะ...มัวแต่รำลิเกอยู่นั่นน่ะ ออกแขก ไหว้ครู (หัวเราะกัน)

ชกก็ไม่ชก ต่อยก็ไม่ต่อย ได้แต่ไอ้ท่าทางรำ... "ไหว้ครูก่อนครับ ไหว้ครูก่อนค่ะ เดี๋ยวของไม่ขึ้นไม่ขลัง"  เอ้า...เป๊ง หมดยก ..."อ้าว ยังไม่ทันจะเริ่ม ...แม๊ เสียดายจัง" ไอ้วิธีการกลเม็ดในการต่อสู้...ไม่ได้ใช้ มัวแต่ไหว้ครู

แล้วจะเสียดาย ...ใกล้แล้ว มันคืบคลานไปทุกขณะๆ โดยลำพังของกายมันก็มีอายุ แก่ เสื่อม ตาย หมดสภาพไป  โลกภายนอกก็มีอายุ เสื่อมสภาพ มีความเดือดเนื้อร้อนใจมากขึ้นๆ ตามลำดับไปเหมือนกัน 

ทุกอย่างมันเร่งรัดเร่งเร้า บีบคั้นมาอยู่ตลอดเวลา ประมาทไม่ได้ เลินเล่ออยู่ไม่ได้ ไม่รู้จะตายวันตายพรุ่ง ไม่รู้ล่วงหน้าว่าวันตายของเราจะอยู่วันไหนเวลาไหน ที่ไหน สถานที่ใด ขณะจิตใด 

อาจจะเป็นขณะจิตที่เป็นบาป ขณะจิตที่เป็นอกุศล ขณะจิตที่ซึม เบลอ ขณะจิตที่มัวเมากับอะไรอยู่ ...ใครจะไปรู้ได้ มันไม่เลือกเวลาหรอกความตายน่ะ

เพราะนั้นระหว่างที่สามารถเจริญ รักษาใจรักษาสติไว้ ก็เอาให้เต็มที่ เต็มฐาน เต็มกำลัง ...ให้มันสมกับที่ขึ้นมาชกบนเวทีสังเวียนแล้ว ได้เกิดมาบนสังเวียนนี้...คือโลกใบนี้ ...ไม่มีโอกาสบ่อยนะ 

เพราะนั้นต้องรีบเร่งขวนขวายใส่สติสมาธิปัญญากับตัวเองมากๆ จนเอาตัวรอด จนตัวเองบอกได้ว่าเอาตัวรอด ไม่กลัวตายในระดับนึง ไม่กลัวทุกข์ในระดับนึง ...เอาจนเรียกว่าดับทุกข์ได้ทุกขณะจิตน่ะ 

ระหว่างที่อยู่อย่างนี้ เท่าทันทุกข์อุปาทาน สามารถที่จะเห็นทุกข์ รู้ทันทุกข์ เห็นทุกข์เกิด แล้วก็ดับได้ ทุกขณะ นั่นแหละ เอาตัวรอดได้ ...ถ้ายังมัวหาที่มาที่ไปของทุกข์ หาวิธีการดับทุกข์อยู่ เอาตัวรอดยังไม่ได้นะ

เพราะนั้นถ้าเบื้องต้นแล้วนี่ เห็นทุกข์เกิดเห็นทุกข์ดับ และดับได้ทันที ดับลงในที่อันเดียว และใช้ได้ผลทุกครั้งไป ด้วยความชำนาญ ด้วยความถึงพร้อม ด้วยความเต็มของสติสมาธิปัญญา ...นั่นเรียกว่าเอาตัวรอด 

ไม่ต้องถามว่าขั้นไหน ... เพราะนั้น สมมุติบัญญัตินี่มันเขียนกันมา ว่ากันไป แต่ถ้าในตัวของสภาวะธาตุขันธ์นั้น ไม่มีสภาวะใดเลย เป็นจริงอย่างนั้น แต่ว่ามันเป็นจริงอย่างนั้น คือไม่รู้จะว่ายังไงดี

เมื่อใดที่ทุกข์ไม่สามารถตั้งลงที่ใจดวงนี้ได้โดยสิ้นเชิงนั่นแหละ เรียกว่าหมดงาน มันร่อนออกไปหมด หยั่งลงไม่ถึงใจ เพราะไม่มีใจให้มันหยั่ง ถ้ามันถึงไหน มันตั้งอยู่ได้ แปลว่าใจนั้นยังมีที่ตั้ง ใจนั้นยังมีตัวมีตน เป็นตัวเป็นตนอยู่ 

ก็เพียรต่อไป จนอยู่นี่เหมือนกับอยู่ในอากาศธาตุน่ะ ไม่มีอะไรกระทบอะไร มีเหมือนไม่มี ผ่านไปหมด ทะลุ แจ้งแทงตลอด หมด ไม่มีคา ไม่มีข้อง หมด 

ข้างนอกนี่ทะลุตลอดหมด ไม่ข้อง ไม่ไปคาอยู่แค่รูปเสียงกลิ่นรสใด สภาวะหนึ่งที่เป็นธาตุใดๆ นามใดๆ 

ภายในนี่ทะลุหมด ไม่มีค้างมีคา ไม่มีไปหยุดอยู่ตรงไหนที่ใดเลย มันแจ้ง ทะลุหมด แทงตลอดในธรรมทั้งปวง เรียกว่าสัพเพธัมมา

ไม่ใช่ไปติดแค่ความคิด พอเจอความคิดก็ติดแหง็ก เจอแค่เรื่องนั้นเรื่องนี้ เวทนาความรู้สึกอย่างนี้ปั๊บ ติดปุ๊บ แหง็กเลย มันไม่แจ้ง มันไม่ทะลุออกไป 

พอไปปุ๊บติด ติดก็ข้อง หยุดอยู่กับตรงนั้นเลย กลายเป็นเรื่อง กลายเป็นภพกางกั้น เจอความคิดก็เหมือนกับเป็นกำแพงความคิด เจอความสุขความทุกข์ก็เหมือนกับเป็นกำแพงที่มันตั้งอยู่ 

เห็นมั้ย มันชน แล้วก็รู้สึกถูกบีบคั้นจากกำแพง มันก็เป็นความเสียดแทงอยู่ภายใน เป็นความรู้สึกเสียดแทง จนมันทะลุทุกอย่างที่ขวางกั้น ขันธ์ทุกตัวที่ขวางกั้น ผัสสะทุกผัสสะที่มันขวาง 

ที่มันกระทบ พั่บ...ผ่านๆๆๆ เหมือนกับไม่มีตัวตน ทั้งๆ ที่ว่ามันมีตัวตนปรากฏ แต่มันทะลุผ่านเหมือนไม่มีตัวตน คือใจมันรับรู้รับทราบโดยที่ว่าสภาวะนี่ราบเรียบ

ฝึก...อบรมตัวเอง เอาตัวเองอบรมตัวเอง เอากายใจตัวเองนั่นแหละเป็นเครื่องอบรม เอากายใจตัวเองเป็นเครื่องระลึกรู้ เอากายใจตัวเองเป็นตัวสอนตัวบอก อย่าห่างจากธรรม อย่าออกนอกธรรมคือกายใจ 

จากนั้นไปก็กลายเป็นผู้ที่รู้ธรรมเห็นธรรมเองแหละ เพราะกายใจเป็นธรรมแล้ว ทุกอย่างมันก็เป็นธรรม...ที่ใจดวงนี้เป็นผู้รู้ผู้เห็น  มันก็รู้เห็นธรรม เป็นผู้รู้เห็นธรรมอยู่เสมอ 

ไม่ใช่เป็นผู้ไขว่คว้าหาธรรม แต่เป็นผู้รู้เห็นธรรม รู้ธรรมเห็นธรรม ...ไม่ต้องไปรู้ที่ไหน กายใจนั่นแหละเป็นธรรม อะไรที่มากระทบผ่านตาผ่านหูก็เป็นธรรม ธรรมกระทบธรรม เป็นธรรมกระทบธรรม นั่นแหละ มันไม่มีอะไร 

แต่ถ้าเป็น “เรา” กระทบธรรม หรือเรากระทบเขา มีเรื่อง เมื่อใดที่มันแปลงสภาพ จริงๆ สภาพความเป็นจริงน่ะมันเป็นธรรมกระทบธรรม ไม่มีเรื่อง

เอ้า เอาแล้ว พอเท่านี้ ... ใจนี่รักษาเหมือนเลี้ยงลูก รักษาใจเสมือนแม่ดูแลลูก ...ไม่ใช่เหมือนเลี้ยงหมา ถีบก็ได้ เตะก็ได้...ไม่ใช่ 


…………………….





วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 6/15 (2)


พระอาจารย์
6/15 (550101D)
แทร็กชุดต่อเนื่อง
1 มกราคม 2555
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ : ต่อจากแทร็ก 6/15 ช่วง 1

พระอาจารย์ –  พยายามน้อมกลับบ่อยๆ ... มันก็ขี้เกียจอีก เห็นมั้ย ไอ้ขี้เกียจน่ะมันเกิดจากอะไร  นั่นแหละ มันเกิดจากความที่มันทวนกระแส...กระแสความปรุงแต่ง กระแสความอยาก ...มันทวน  

มันทวนกระแสแล้วต้องออกแรงไง มันก็เลยขี้เกียจ ...เหมือนเดินทวนน้ำน่ะ เหนื่อยรึเปล่าล่ะ เหนื่อยนะ เพราะน้ำมันไหลลง เราเดินทวนขึ้น นี่ มันมีแรงต้าน

มันก็ขี้เกียจเดินแล้ว หยุดแล้ว พักแล้ว ว่านั่งรอตรงนี้ก็ได้ หรือไม่มันก็ว่า... 'ถ้าอยากเดินสบายก็เดินไปตามน้ำสิ' ... นี่ มันจะพาให้เราเดินลงตามน้ำอยู่เรื่อย

แต่เราจะต้องการอะไร...ในการที่ทวนกลับมานี่ ... เพื่อไปหาต้นตอของน้ำ ว่ามันไหลมาจากไหน ตาน้ำมันอยู่ไหน ...ที่ว่าตาน้ำน่ะคือต้นธาตุต้นธรรม ต้นจิตต้นใจ คือต้น...ใจต้น ใจเอก ใจแรก จิตแรก จิตเอก ธรรมแรก ธรรมหนึ่ง 

เมื่อถึงตรงนั้นปั๊บนี่ มันหยุดแล้ว มันรู้แล้ว มันทวนมาจนถึงมีที่เดียวคือใจผู้รู้ มันทวนต่ออีกไม่ได้แล้ว ...ด้วยระดับสติปัญญาขั้นต้นนี่ ไม่มีทางทวนเข้าถึงใจที่เป็นธรรมชาติของใจได้ บอกให้ 

มันทวนได้ถึงที่สุดตอนนี้...สำหรับมรรคเริ่มต้นนี่ คือผู้รู้ ดวงจิตผู้รู้อยู่  แล้วมันทวนกลับไปอีกไม่ได้แล้ว  มันก็จะหยุดอยู่ที่ผู้รู้ ...แต่จากนี้ไปนี่ ยืนอยู่บนตาน้ำ มีรึมันจะไม่มีน้ำไหล ใช่มั้ย

เราไม่ได้ไปปิดตาน้ำนะ ...ถ้าไปปิดตาน้ำนั่น หมายความว่าตัวนั้นเกิดภาวะที่เรียกว่าเพ่งลงไปที่ตัวผู้รู้ และพอใจในภาวะผู้รู้ ติดผู้รู้อีกแล้ว ปุ๊บไปปิดตาน้ำ เอ้า น้ำไม่หมดโลกนะ ใช่มั้ย เพียงแต่มันไม่ออก

ก็ยืนอยู่ที่ผู้รู้ ...แต่ปล่อยให้ผู้รู้มันดำเนินไป อะไรเกิดมา อะไรกระทบมา อะไรสัมผัสสัมพันธ์มัน รู้...ทัน เห็น...ทันๆ  ตรงนี้ๆๆ ...นั่นแหละ เขาเรียกว่าต้นธาตุ นั่นแหละเรียกว่าต้นธรรม นั่นแหละเรียกว่าต้นจิต

เพราะนั้นเมื่ออยู่ที่ธรรมแรกธรรมเดียว ธรรมเอกธรรมหนึ่งตรงนั้นน่ะ เกิดตรงนั้นดับตรงนั้นๆ  ไม่ต้องไปดับที่อื่นแล้ว ไม่ต้องไปหาที่ดับแล้ว ไม่สงสัยในที่อันอื่นแล้ว 

อยู่ที่เดียว พยายามน้อมลงในที่อันเดียว ตรงนี้ มันคลิกอยู่ที่เดียว คลิกอยู่ที่เดียว มันมีที่เดียว คือที่ตรงนี้ ตรงปัจจุบันเท่านั้น อยู่ตรงนี้...รู้กับปัจจุบัน ทุกขณะไป

เพราะนั้นต้นเหตุ ต้นธาตุ ต้นธรรมนี่ คือต้นองค์มรรค มรรคเริ่มต้นเดินจากตรงนี้ไป ...ไอ้ที่พากเพียรมาทั้งหมดนี่ เพื่อเข้าสู่องค์มรรค ...เข้าใจรึยังว่าองค์มรรคอยู่ที่ไหน 

ไม่ใช่ ๘ ข้อ หาแปดข้อไม่เจอแล้วตอนนี้ ไม่รู้จะเอาแปดข้อมาใส่ยังไงดี ... มันไม่ใส่แล้ว มันเหลือตรงนี้ แต่มันรู้ นี่คือมรรค อยู่ในมรรค 

เพราะนั้นมันก็จะคอยระวังว่าออกนอกมรรคมั้ย ถ้าออกนอกมรรคก็หมายความว่าเผลอเพลินไปตามน้ำ ...ไปซะคืบสองคืบ วาสองวา กิโลสองกิโล หรือหลายกิโล หลายโยชน์ ...หรือไปแบบกูไม่กลับอีกแล้ว (หัวเราะกัน) เข้าใจป่าว 

ก็รู้เองน่ะว่าออกไปไกลแล้วกู ยิ่งออกไกลยิ่งกลับยากนะ ...ไอ้เดินครั้งแรกน่ะเดินได้ด้วยกำลังศรัทธา มันลูกบ้า  พอมันไหลออกไปแล้ว คราวนี้ โอยยยย โอ้โห ต้องเดินอีกไกลเลยนี่ ท้อนะ 

ต้องอาศัยแรงมากที่จะทวนกลับ กับแรงขี้เกียจ แรงที่ว่าท้อถอย ... "เดี๋ยวเข้าไปแล้วกูก็ไหลออกมาอีกแหละ"  อะไรอย่างนี้ มันจะคิดปรุงคิดแต่งไป 

ก็ต้องทุ่มเทกายใจใหม่อีก ...แต่ว่าโดยธรรมชาติของผู้ปฏิบัติ มันจะล้มแล้วล้มอีก...ธรรมดา  ก็อาศัยหัวโล้นหัวล้านนี่แหละคอยบอก คอยเตือน เข้าใจมั้ย ...ไม่งั้นจะมีพระสงฆ์ไว้ทำอะไร 

ไม่ได้มีไว้เอาบุญเอาบาปอะไร เอาไว้เตือน เอาไว้ให้กำลังใจ ...แต่ไม่ได้ยกบุญบารมีไปให้กำลัง...ไม่ใช่  เอาไว้ให้กำลังใจในการพากเพียรต่อ ให้แน่วแน่ต่อไปว่า ... "เออ ตายแน่ๆ อย่าขี้เกียจ นั่นน่ะ ทำไป" ... มันจะได้มีกำลัง 

ฟังคนนั้นทีฟังคนนี้ที มันจะได้เกิดกำลัง ...แต่ไม่ใช่ฟังแล้วก็ไปนั่งอมยิ้มแป้น กลับบ้านไปก็ว่า "ได้บุญแล้ว ได้เข้าใจแล้ว กูไม่ทำแล้ว...สบาย  เดี๋ยวพอไม่สบายก็มาฟังท่านใหม่" ...อย่างนี้ เดี๋ยวก็จะโดนถีบน่ะสิ (โยมหัวเราะกัน) 

ไม่มีประโยชน์ เอาบุญแค่นั้นไม่มีประโยชน์ ...คือบุญจากการฟังก็มีนะ บุญจากการฟังเทศน์...มันได้นะ มีความสุขนะ มีความสบาย  เพราะว่ามันคลายออก เป็นอิสระ

แต่ว่าผลประโยชน์ของการฟังไม่ใช่จบแค่นั้น คือต้องน้อมไปปฏิบัติ ให้เกิด ให้รู้ ให้เห็น ด้วยตัวเอง ด้วยใจของตัวเองเป็นสันทิฏฐิโก จึงจะฟังเทศน์เป็นฟังธรรมเป็น

จริงๆ น่ะเวลาฟัง ที่ฟังเป็นจริงๆ คือฟังด้วยปฏิบัติด้วย รู้ด้วยเห็นด้วยได้ยินด้วย เห็นเสียงเกิดดับในขณะปัจจุบันนี้ด้วย นี่คือฟังแบบภาคปฏิบัติ ...ไม่ใช่ฟังแล้วเดี๋ยวค่อยไปทบทวนแล้วค่อยปฏิบัติ ถ้าทำตอนนี้เดี๋ยวจะฟังไม่รู้เรื่อง อะไรอย่างนี้

ฟังแล้ว ไม่ต้องรู้เรื่องน่ะ ฟังแล้วก็ดับตรงนี้  ... ให้มันเห็นดับไปต่อหน้าต่อตา...ต่อตีนครูบาอาจารย์นี่เลย เป็นไรไป ...ไม่ได้สอนให้จำ ไม่ได้สอนให้จด ไม่ได้สอนให้เอาไปทำเป็น short list, short note อะไร

ธรรมคือสิ่งที่เอามาสอนใจ ให้ใจมันรู้ ให้ใจมันเห็นธรรมตามความเป็นจริง ...แล้วก็ต้องใช้ในเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ เพื่อให้เกิดความชำนิชำนาญ เพื่อให้เกิดความไม่ประมาทเผลอเพลิน เพื่อให้เกิดความไม่ทอดธุระ 

เพราะพวกเรามันจะทอดธุระ เห็นประโยชน์อันอื่นสำคัญกว่า รอเวล่ำเวลา รอตอนนั้นตอนนี้ รอตอนที่กลับจากทำงานก่อน รอตอนที่อยู่คนเดียวกำลังกลางคืนก่อน มันสงบดี อะไรอย่างนี้ ...มันอ้างอยู่เรื่อยน่ะ

ทำไม ...ทำงานมันรู้ไม่ได้รึไง ฮึ เดินไปเดินมาไม่รู้รึไง หิวไม่รู้รึไง  อยากกิน อยากน้ำ อยากพูด อยากคุย ไม่รู้รึไง  อย่ามาอ้าง อย่าไปฟังมัน  ...ด่ามันเข้าไป ด่าไอ้จิตกิเลส จิตสังขาร จิตปรุงแต่งที่มันบอกว่ารู้ไม่ได้ๆ น่ะ ทำไม 

อย่าไปอ่อนข้อกับมัน ...รู้ไป เวลาทำงานมีหรือมันจะไม่ได้เข้าห้องน้ำ อยู่คนเดียวรึเปล่าล่ะนั่นน่ะ หรือมีใครเข้าห้องน้ำด้วย หือ (โยมหัวเราะกัน) ...เวลาอยู่คนเดียวก็มี ทำไมมาอ้างว่าต้องกลับบ้านเท่านั้นน่ะ 

มันอ้างไปเรื่อย ...แล้วก็ไปเชื่อมันทำไม  เวลากิน เวลาเดินอีกล่ะ เวลาขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว มีไหม ทำไม มันจะมีอะไรมาขัดขวางการระลึกรู้ได้ ...เอาจนไม่มีอะไรมาขัดขวางการระลึกรู้ได้ นั่นน่ะเก่งจริง 

ไม่ใช่เก่งแต่แบบเสือกระดาษ เก่งแต่ตอนอยู่คนเดียว เก่งแต่ตอนไม่เห็นอะไรเลย เก่งแต่ตอนขุดรูอยู่ในป่าในถ้ำอย่างนี้  ...หูย กูเก่งจัง  พอออกมา...ตบะแตกหมด...อย่างนี้ไม่มีประโยชน์

มันต้องเก่งตอนหลงนั่น ...เก่งตอนที่เราไม่ได้ตั้งอกตั้งใจจะรู้ แล้วมันเสือกรู้ขึ้นมาได้...สามารถรู้ขึ้นมาได้ในท่ามกลางสิงสาราสัตว์น่ะ คือกำลังจะโดนเสือขบแล้วรู้ตัวได้ นั่นน่ะเก่ง ใช่มั้ย จะไปเก่งตอนนึกเอานั่นเก่งไม่จริง อย่างนั้น คิดเอาเอง

รู้ตัวนี่ต้องให้ได้ทุกขณะ ...พอมันจะอ้างว่าไม่ได้ๆ ต้องทำให้ได้  ยังไงรู้กายเห็นกายไว้...มันมี  มันไม่ขัดขวางกระบวนการคิด กระบวนการปรุง หรือกระบวนการที่จะต้องอาศัยสมาธิที่เป็นการจดจ่อออกไปที่งานข้างหน้าหรอก 

หยั่งไว้ น้อมไว้ เป็นคันเบรกคันรั้งไว้ อยู่ที่กายนี่ ขยับทีรู้ทีๆ เหลียวหน้าเหลียวหลังเนี่ย ทำไมจะรู้ไม่ได้ ฮึ ...อย่าไปประมาทว่ารู้แค่นี้เองเหรอ นิดเดียวเอง จะได้ประโยชน์อะไร

นี่แหละ ทีละสตางค์ล่ะหยอดกระปุกไว้ ...มันรู้ชัดจะตายในขณะนี่ มันแวบเดียวเห็นรู้นั่นน่ะ รู้มันชัดเลยน่ะ ...เอารู้ชัดน่ะ แล้วก็ดับชัดด้วย  เหลียวหน้าเหลียวหลังนี่ กายก็ดับ เห็นมั้ย 

กลืนน้ำลายนี่ชัดเลย น้ำลายก็ดับ ความรู้สึกที่กลืนดับ รู้ก็ดับพร้อมกัน ...รู้ไปทีละขณะอย่างนี้ นิดนึง หน่อยนึงก็เอา คือไม่ทอดธุระ เข้าใจมั้ย ขวนขวายอยู่เสมอ 

อย่าอ้างว่านี่นิดเดียวเอง เดี๋ยวเราได้เวลาแล้วเราจะรู้แบบต่อเนื่องเลย ... พอถึงเวลาจริงๆ นะ...หลับ (หัวเราะ) นั่งหลับซะอย่างงั้นน่ะ (โยมหัวเราะกัน) รู้ไปรู้มาหลับเอาซะดื้อๆ

พอมีเวลาจริงๆ แล้วก็ถีนมิทธะ นิวรณ์นี่เข้ามาครอบงำเลยนะ เอาดิ  พอลุกไปทำงานก็บอกเดี๋ยวรอวันต่อไปๆ ... เนี่ย อ้างไม่ได้ อย่าไปเชื่อมัน เสร็จมันหมดน่ะ 

จิตกิเลสมันก็จะชนะอยู่หนึ่งก้าว ...เราก็ต้องเท่าทันมันอยู่เสมอ ทุกความคิด ทุกความปรุง  รู้ได้รู้ๆ นิดนึงก็เอา หน่อยนึงก็เอา ขยับทีรู้ทีก็เอา ไหวทีรู้ที นิ่งทีรู้ที ก้าวที กระเทือนทีรู้ที 

เวลาเดิน เวลาขยับนี่มันรู้ชัดจะตาย  การกระเทือนการกระเพื่อมน่ะ มันชัดเจนอยู่แล้วกายน่ะ ...แต่มันขี้เกียจจจ เดินไป ลอยไป เลื่อนลอยไป เดินไปคิดไป เรื่อยเปื่อยไป ปล่อยไป ล่องลอยไป 

ฝันหวาน เพ้อเจ้อๆ ตลอดเวลา ไม่รู้มันอยู่ได้ยังไง ...เนี่ย มันเคยชิน กิเลสเป็นความเคยชินนะ  ศีลสมาธิปัญญามันไม่เคยชิน เป็นของที่ไม่เคยชิน เป็นธรรมที่ไม่เคยชิน 

แต่พระพุทธเจ้าท่านแนะนำว่า ต้องอาศัยธรรมนี้เท่านั้น สติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม จึงจะตะล่อมกายใจนี้มาสู่องค์มรรคได้ ...ถ้าปล่อยตามความเคยชินแล้ว กิเลสมันก็คาบพาไปพามาอยู่ตลอด ไม่มีทางกลับลงร่องของมรรคได้เลย

เพราะนั้นมันต้องฝึกทวนนิสัยเดิม ...ทุกคนมีนิสัยเดิมคือปล่อย ปล่อยให้มันเป็นไปตามกิเลสจะพาไป กระแสโลกจะพาไป กระแสหู กระแสตา กระแสกลิ่น กระแสรส กระแสต่างๆ พาไป 

มันไม่น้อมกลับมาระลึก...แล้วก็รู้อยู่ว่ากำลังทำอะไร รู้ว่าจิตกำลังทำอะไร กายกำลังทำอะไร ...พอรู้ยังงั้นแล้วมันรู้สึกขัดอกขัดใจ มันรู้สึกมาขัดขวางความสุขของการล่องลอยเหลือเกิน 

เพราะมันติดนิสัยไง นิสัยนี่คือ อนุสัย ก็คือความหมายเดียวกัน อนุสัยก็คือวาสนา วาสนาก็คืออุปวาสนา อุปวาสนาก็คือมันเคยทำมาซ้ำซาก มันเป็นวาสนานิสัยของจิต 

แต่ละคนมันก็มีนิสัยวาสนาต่างกัน เคยชินอย่างไรคิดอย่างไร มันก็จะคิดซ้ำคิดซากๆ วนเวียนซ้ำซากๆ ลงในเขาวงกตนั้น ไม่ยอมถอน ...ถ้าเป็นเขาวงกตที่มันชอบมันก็เพลินไปเลย 

กิเลสความเผลอความเพลินนี่แหละ พานักปฏิบัติตายมาไม่รู้กี่ศพแล้ว ปล่อยให้ลอยไปเรื่อยเปื่อยนี่แหละ

เพราะนั้นสติปัญญานี่ มันจะยากตรงที่เริ่มความใส่ใจ ความตั้งใจ ...ถ้าเป็นสายกรรมฐานนะ ลักษณะของอุบายที่ท่านให้มีสติมากๆ คือ พุทโธไม่ให้ขาด นั่นเป็นอุบายนะ คือพุทโธนี่มันจับได้ชัดไง

แต่พอมาพูดถึงสติ สตินี่ไม่ใช่อุบาย สตินี่มันรู้ตรงๆ รู้ไปกับกายตรงๆ รู้ไปโดยที่ไม่มีภาษามาบอก เดินก็เห็น รู้สึกถึงอาการ รู้สึกถึงผัสสะ รู้สึกถึงเวทนาของกายตรงนั้นๆ 

เพราะนั้นสตินี่มันจึงดูเหมือนตรง...แต่ยาก ยากยังไง...เพราะว่ามันจะเพลินง่าย เผลอง่าย เผลอง่ายมาก ขนาดพระกรรมฐานอยู่ในป่าท่านยังต้องว่าพุทโธๆ เป็นอุบาย เพื่อจะให้เกิดสติต่อเนื่อง 

จริงๆ น่ะ พุทโธเพื่อให้สติต่อเนื่อง พุทโธไม่ขาดสาย จะติดพุทโธมาก็ช่าง จะติดอารมณ์สมถะสงบมาบ้างก็ช่าง แต่ท่านถือเป็นอุบาย ...ถ้าปล่อยให้มันเลื่อนลอยๆ อยู่ในป่ามันยิ่งเลื่อนลอยใหญ่ ไม่เลื่อนลอยก็ฟุ้งซ่าน 

ไอ้อยู่ในเมืองถึงไม่เลื่อนลอยฟุ้งซ่าน แต่ก็หลงไปกับงาน หลงไปกับการกระทำข้างหน้า การงานข้างหน้า กับการจดจ่อกับงานในอดีตอนาคต ...มันก็หลงกันคนละแบบ หลงทั้งนั้น

ยังไงจะใช้อุบาย หรือจะเจริญสติโดยตรง ก็ต้องตั้งใจใส่ใจ ตั้งใจขึ้นบ่อยๆ  ตั้งขึ้นมา ล้มแล้วตั้งใหม่ๆ อย่าไปเสียดาย อย่าไปตำหนิมัน อย่าไปว่ามัน ...ก็เป็นอย่างนี้ทุกคน การปฏิบัติ 

อาศัยความขยันหมั่นเพียร พากเพียร ไม่ท้อไม่ถอย ทำความถี่กระชั้นเสมอ ไม่เบื่อในการปฏิบัติ ไม่เบื่อในการเจริญสติ ในการระลึกรู้อยู่เสมอ จนมันเกิดเป็นนิสัยขึ้นมาใหม่ ...เขาเรียกว่าอุปนิสัยก็จะเกิดขึ้น 

ท่านเรียกว่าเป็น นิสยปัจจโย  ตัวนิสยปัจจโย ตัวนิสัยที่เจริญสติอยู่ต่อเนื่องเนืองๆ เป็นนิจนี่ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง ...ไม่ใช่ว่าปล่อยแล้วมันจะสุกงอมเอง ไม่มีน่ะ ต้องเจริญขึ้น 

อย่าไปกลัว อย่าไปกลัวเพ่ง อย่าไปกลัวว่าตึงไปมั้ย ...ตึงไว้ก่อน เพ่งไว้ก่อน เอาไว้ก่อน ดีกว่าปล่อยให้มันหลงเตลิดเรื่อยเปื่อยไป ...ส่วนมากพวกเจริญสติก็จะกลัวว่าจงใจ เพ่งไป ...เพ่งดีกว่าหลงอ่ะ 

ถึงไม่รู้เรื่องอะไร...อย่างน้อยก็ยังรู้ว่าเพ่ง กำลังเพ่งอยู่อ่ะ ... ทำไม จะเครียดจะตึงหน่อย ช่างหัวมัน ก็ยังถือว่ามีสติ ...อาจจะเป็นมิจฉาสติบ้าง มิจฉาสมาธิบ้าง อะไรก็ตาม ยังดีกว่าหลงน่ะ 

แบบไม่รู้อะไรเลย ปล่อยแบบเพลินหายไปเลยนี่ไม่มีประโยชน์ มีแต่โทษ ร้อยเปอร์เซ็นต์ ... อันนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย 

กับมาเพ่งกับมาจ้องกับมาดูเพ่งกาย แม้จะยังไม่อยู่ที่ใจ หรือไม่สมดุลระหว่างกายใจก็ยังดี อย่างน้อยก็ถือว่ายังได้คะแนนน่ะ ...ก็ถือว่ายังดี 

แล้วมันก็ค่อยๆ ปรับ ...ไม่ปรับเดี๋ยวอาจารย์ก็มาตบโหลกให้ (หัวเราะกัน) ให้มันตรง ให้มันพอดีกัน ระหว่างกายใจพอดีกัน  คือถ้าขืนไปแล้วมันเข้าใจเองน่ะ ไม่ต้องกลัว 

ถ้าเจริญสติปัฏฐานนี่ไม่ต้องกลัว มันจะสอนตัวมันเองได้ ไม่ต้องอาย ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกลัวหลง กลัวออกนอกทาง มันจะรู้ มันจะเตือนตัวเอง เพราะมันจะรู้ตัวเองอยู่เสมอ เข้าใจมั้ย 

เพราะมันรู้ตัวเองอยู่เสมอ มันจะสอดส่องตัวเองอยู่เสมอ เท่าทันอากัปกริยาของตัวเองอยู่เสมอ นี่ มันจะปรับสมดุลไปในตัวของมันตลอดเวลา โดยเราไม่รู้ตัวเลย ...มันปรับโดยที่เราไม่รู้ตัวเลยว่ามันปรับ 

เพราะไม่มีเราปรับ ใจมันปรับเอง ศีลสมาธิปัญญาเขาปรับเขาเอง ไม่มีเราปรับ ...แต่ถ้าเราปรับปุ๊บ เราจะเทียบ เราจะเทียบด้วยความสงสัยลังเล 

ก็รู้อีก รู้เข้าไป รู้ว่าสงสัย รู้ว่ากระทำ รู้อีกๆๆ เอารู้นั่นแหละแก้  อย่าเอาความอยากรู้แก้ เอาความรู้น่ะแก้ รู้เฉยๆ นั่นแหละแก้ แก้ไว้ก่อน ...กำปั้นทุบดิน รู้อย่างเดียว

เอาจนมันชำนาญ เอาจนมันไวเป็นจักรผันน่ะ รู้เวลามันถี่ เวลามันรอบจริงๆ มันไวเหมือนจักรผัน 

การเห็นการกระจัดกระจายของอาการ มันพั่บๆๆ ...มันเห็นความปรุงแต่งอย่างนี้เลย เกิดดับๆๆๆ ต่อเนื่องปั๊บ ดับที เกิดปั๊บดับที พั่บๆๆ 

ต่อไปมันไม่รู้อะไรเกิดอะไรดับแล้ว ไม่เห็นหัวเห็นหาง อะไรวะเนี่ย ...จากที่ว่าเป็นคำๆ จากที่ว่าเป็นภาษา เป็นข้อความ เป็นความเห็นเป็นเรื่องๆ แล้วก็ดับๆ ต่อไปอะไรมันเกิดอะไรมันดับวะเนี่ย มันยิบยับๆๆ ไม่มีภาษาแล้ว 

เอาจนเหนื่อยน่ะ จนบอกเท่าไหร่ก็ไม่หยุดเลย ... เนี่ย มหาสติเป็นอย่างนั้น  มันเหนื่อย มันหมุนๆๆๆ ข้างใน จนล้า ตัวเห็นน่ะมันเห็นจนล้า ... บางทีล้าจนต้องรวมตัวหยุด พัก 

มันจะพักตัวมันเอง พักอยู่ที่ใจรู้ แน่วอยู่ที่รู้ ไม่สนใจ แน่วอยู่ ...เหมือนกับยืนบนตาน้ำ น้ำมันเยอะเหลือเกิน กูขอเหยียบไว้หน่อยก่อน อย่าเพิ่งออก ขอเหยียบตั้งหลัก เดี๋ยวค่อยดูใหม่ อย่างนั้นน่ะ 

อย่างนั้นเรียกว่ารู้จักธรรมสมควรแก่ธรรมอย่างไร ...แล้วก็ปล่อย คลาย ถอนตีนออกมาจากตาน้ำ แล้วก็ดูตาน้ำไหล แล้วก็สิ่งที่ไหลมากับตาน้ำ แค่นั้นเอง

เพื่ออะไร จนกว่าตาน้ำจะเหือด จะแห้ง จะหาย จะหมด จะสิ้น ...หมดสิ้นซึ่งความปรุงแต่ง หมดกำลังของความปรุงแต่ง ...จะรู้เอง 

กำลังของความปรุงแต่งมาจากตัณหาภายใน อุปาทานภายใน ความหมายมั่นภายใน ที่ไม่มีตัวไม่มีตน ...ไม่รู้มันหมายอะไรด้วย ไม่รู้มันอยากอะไรด้วย 

มันเป็นความอยากที่ไม่มีจบสิ้น แต่ไม่รู้มันอยากอะไร นั่นน่ะ มันเป็นกำลังที่เกิดความปรุงแต่งไม่จบไม่สิ้น ...แต่มันก็มีกำลังของมัน 

เหมือนหม้อแบตเตอรี่ เข้าใจมั้ย ใช้ไปเรื่อยๆ เอาไฟจ่อมันเรื่อยๆ นะ  มันก็หมดหม้อ หมดแบตไป มันก็หมดกำลังในตัวของมัน ...ตราบใดที่เราไม่เอาไปชาร์จแบต

แต่พวกเรานี่...ใช้ไปชาร์จไปๆ มันก็ไม่หมดซักทีหรอก มันถึงสะสมต่อเนื่องมากี่ภพกี่ชาติล่ะ เพราะเรามีแต่ชาร์จมัน ...บางทีไม่เอาไปใช้ด้วย เอาแต่ชาร์จอย่างเดียว 

คือไปเสวย เสนอสนองกับมันตลอดเวลา ตามความอยาก ตามความไม่อยาก...ตลอด ทุกอย่าง การกระทำคำพูด ความคิด มันเป็นไปตามความอยาก ...นี่คือการชาร์จแบต ชาร์จความปรุงแต่ง ชาร์จกิเลสตัณหาภายในให้มันไม่หมดไม่สิ้น

แต่ถ้าเรายืนอยู่แล้วรู้อยู่ ...ใช้มันนะ ไม่ห้ามมันนะ  แต่ปล่อยมัน ให้มันเป็นไปตามธรรม ...ก็จะเห็นน้ำนี่ไหลไปตามปกติวิสัย ...ไม่รู้น่ะ ไม่ต้องไปคาดด้วยว่ามันจะหมดเมื่อไหร่  ทำหน้าที่อย่างเดียวคือ รู้ ดู เห็น 

จบตรงนี้...จบตรงที่ รู้ ดู เห็น อยู่กับมัน นี่ ตอนนี้มันทำงานเดียวแล้วไม่สนใจอะไรอย่างอื่น  ตาจะเป็นยังไง ใครจะพูดอะไร จิตมันจะคิดอะไร มีอารมณ์อะไรอยู่ตรงนั้น จะเย็นร้อนอ่อนแข็ง...ไม่สนแล้ว ไม่สนใจ 

มันเข้าไปชำระจิตปรุงแต่งหมด จนมันว่าง บางเบา สิ้นไป หมดไป มันคลายออกหมด แล้วไม่หวนคืน...อนาลโย คือไม่หวนคืน

แล้วพวกเราจะเรียนรู้เอง ...กิเลสบางตัวมันหวนคืน  ตัวเองน่ะแหละ หวนเอา เสียดาย เกรงใจ กลัวจะไม่มีประโยชน์ต่อไปข้างหน้าถ้าเราทิ้งมัน เนี่ย มันหวนกลับ 

ใจยังไม่เด็ดพอ ยังเด็ดไม่ขาด รักพี่เสียดายน้อง จะให้อยู่ในที่เดียวกัน อย่างนั้นไม่ได้  ...ต้องเบ็ดเสร็จ ไม่อาลัยอาวรณ์ ในการเลิกการร้างมัน

แต่ว่ามันก็จะเป็นไปตามกำลัง บอกให้ มันไม่ได้เป็นไปตามความอยาก... ฝึกไปเจริญไป สติสมาธิปัญญามากขึ้นเท่าไหร่ จิตใจมันจะเข้มแข็งกล้าหาญเด็ดเดี่ยวอาจหาญ 

ไม่กลัวตายไม่กลัวเป็น ไม่กลัวหมดไม่กลัวสิ้น ไม่กลัวว่าอะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้า อะไรเกิดขึ้นข้างหลัง ใครเขาจะพูดอย่างไร ใครเขาจะเข้าใจเราผิดหรือไม่ตรง ใครเขาจะว่า ใครเขาจะตำหนิเรา ... ไม่สนเลย 

ใจมันเต็มพร้อมอยู่ในตัวของมันเอง ตายเป็นตาย อยู่อย่างนั้น ...มันอาจหาญ เหมือนนักรบ ออกไปสู้ศึกคนเดียว กองทัพนี่เป็นพันเลย เดินถือดาบอาจๆ ตัวคนเดียว ตายเป็นตาย ...สุดท้ายไม่ตายว่ะ แน่กว่าโว้ย

แต่ถ้าถือดาบจดๆ จ้องๆ ... "กูจะเข้าดีมั้ย" ...มันติดที่ความคิดแล้ว เข้าใจมั้ย ... "เอ ถ้าเข้าไปไม่ดี กูตายนะนี่ หรือถ้าไม่ตายแล้วกูขาขาดกลับมากูจะทำยังไง ถอยก่อนๆ ดูท่าก่อน" ...นี่ มันยังงั้น 

แต่ถ้านักรบนี่ไปเลย ตายเป็นตาย ไม่กลัวตาย ...ถ้ามันว่าตาย ก็บอกเกิดใหม่กูก็ดูมึงใหม่ มีอะไรมั้ย นี่ เอาความคิดตัดความคิดไปเลย ถ้ามันไม่ยอมละความคิดนั้น ท่านก็ใช้อุบายของท่านไป 

แต่ในขณะเดียวกันใจท่านก็รู้ตั้งมั่นอยู่ภายในอย่างนั้น อันไหนละได้ละๆๆๆๆ  ความคิดไหนมันเกิดขึ้น...ละ ความเห็นใดเกิดขึ้นจะเอาถูกจะเอาผิด...ละ 

อดีตอนาคต เรื่องราวของสัตว์บุคคลนั้น คนๆ นี้ เรื่องราวของเราข้างหน้าข้างหลังเกิดขึ้นมาอย่างนี้ๆ...ละหมด รู้เห็นอะไรละหมด กายปัจจุบันยังไง เจ็บไข้ได้ป่วย จะเป็นจะตายข้างหน้าข้างหลัง 

พอมันเริ่มไปปรุงแต่งกับกาย...ละ เอาเท่านี้ เจ็บเท่านี้ก็เจ็บเท่านี้ ปวดเท่านี้ก็ปวดเท่านี้ ยังไงก็ยังงั้น นั่น ละๆๆ ...ละความคิดอดีตอนาคตที่ไปปรุงแต่งต่อกับขันธ์ทั้ง ๕ หมดสิ้น

ตั้งหน้าตั้งตาละเลิกเพิกถอนอย่างเดียว ตายเป็นตาย ข้างหน้าจะเป็นยังไงไม่รู้ เดี๋ยวนี้เราก็ไม่รู้ข้างหน้าเป็นยังไง แต่ไม่สน ...ละในปัจจุบัน ทิ้งในปัจจุบัน อยู่กับปัจจุบัน 

แล้วก็ทิ้งอยู่ตรงนั้น อะไรออกมาทิ้งมันต่อหน้าต่อตาเลย ...หมด ไม่เหลือหรอก ไม่ครณามือหรอก ถ้าขึ้นถึงมหาสติปัฏฐานแล้ว กิเลสไม่ครณามือเลย 

ถึงเวลามันเหือดมันแห้งมันหาย ปุ๊บ ..มึงอยู่ไหน มึงอยู่ไหน ท้าเหย็งๆ เลย  ใจมันไม่หลับไม่นอน หลับอย่างมากก็นิดเดียว ชั่วโมงสองชั่วโมง ปึ๊บ ตื่นขึ้น ดีดผึงเลย 

ไม่มีมา...คารวะหมอน หรือว่าเกรงอกเกรงใจหมอน ไม่มีเกรงใจอ่ะ จิตนี่ดีดผึง รู้ตื่น พึ่บ ทำงานต่อเลย ...มันรู้ว่างานยังไม่จบ มันรู้ว่ายังมีอนากูลา งานคั่งค้าง 

อนากุลา จ กมฺมนฺตา  ยังมีงานคั่งค้าง งานข้างใน ความยังไม่หมดสิ้นซึ่งความปรุงแต่งภายในด้วยอำนาจตัณหาอุปาทาน ...ไม่รู้ว่ามันอยู่ไหนน่ะ แต่มันรู้อยู่ว่ามันยังมี

ไม่ประมาทเลย ไม่มีคำว่าประมาทเลย...รู้ตื่น ถือดาบรออยู่อย่างนั้น สายตานี่จดจ่อจ้องอยู่ตลอดเวลา สติสมาธิปัญญาเป็นเหมือนดาบเหมือนขวานเลย มึงอย่าออกมา ตาย ปุ๊บ

พอหมดสิ้นปุ๊บ ขวานดาบมีดหอกนี่ทั้งหมด ไม่รู้จะไปฟันอะไร ไม่มีใครฟันใครแล้ว หมด ไม่ต้องมาสติสมาธิแล้ว ไม่รู้จะไปดูอะไร ไม่เห็นมีอะไร ไม่มีใครดู 

ไม่รู้จะดูอะไร คนดูก็ไม่มี คนถูกดูก็ไม่มี จะทำอะไร ...ก็ใช้ชีวิตแบบพวกโฮมเลส ไม่มีบ้าน ไม่มีราก เป็นพวกไร้ราก 

นั่งตรงนี้ลุกปุ๊บ ขาด มันขาดตรงนี้เลย  เข้าใจคำว่าขาดตรงนี้เลยมั้ย ...ไม่มีแม้กระทั่งสัญญาอารมณ์ จดจำได้หมายรู้ว่ากูเคยนั่ง มีเราเคยนั่ง มีตัวเราในอดีต ...ไม่มีนะ

แต่พวกเราให้ลุกนี่ ตัวเราในอดีตยังมีนะ เรานั่ง เมื่อกี้เรานั่ง เห็นมั้ย มันยังยึดเลยนะ สัญญา ...ทั้งที่ไม่มีอะไรแล้ว มันยังบอกว่าตัวเรายังนั่งอยู่เมื่อกี้ 

พระอรหันต์นี่ลุกแล้วลุกเลย พั่บ ขาด ตัวเราตั้งแต่ปัจจุบันยันอดีตถึงอนาคตไม่มีเลยสักตัว มันเป็นอย่างนั้น ไม่งั้นท่านไม่เปรียบว่าเหมือนนกบินไปในอากาศ ไม่มีร่องรอย untouchable แตะต้องไม่ได้ 

เพราะไม่ร่องรอยจริงๆ ขาดจริงๆ ...นี่เขาเรียกว่าเบ็ดเสร็จ นี่ท่านเรียกว่านิโรธ นี่ท่านเรียกว่าดับสูญ เป็นสูญโญ สุญญตา เป็นอนันตมหาสุญญตา ทุกขณะทำ พูด คิด 

ทุกขณะของปฏิกิริยาอาการของขันธ์ สักแต่ว่าขันธ์ สักแต่ว่าเป็นพฤติกรรมของขันธ์ สักแต่ว่าเป็นพฤติกรรมของจิตเท่านั้น ...ไม่มีอะไรสืบเนื่องต่อจากนั้นไป


(ต่อแทร็ก 6/16)