วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 6/19 (4)


พระอาจารย์
6/19 (550102C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง
2 มกราคม 2555
(ช่วง 4)


(หมายเหตุ :  ต่อจากแทร็ก 6/19  ช่วง 3

พระอาจารย์ –  แต่ถ้าไม่เห็นธรรมที่แท้จริง จะเป็นผู้เบียดเบียนและลบหลู่ธรรม ...เข้าไปลบหลู่ธรรม เข้าไปเบียดเบียน 

รับรู้ทุกสิ่งด้วยความไม่เคารพในธรรม ไม่อ่อนน้อมต่อธรรม เป็นผู้ที่ไม่อ่อนน้อมต่อธรรม ...เขาด่า ด่าตอบ ไม่อ่อนน้อมต่อธรรม เขามีอารมณ์ก็มีอารมณ์ตอบไป เป็นผู้ไม่อ่อนน้อมนะ

โอ้ย พระพุทธเจ้านี่ท่านละเอียดถี่ถ้วนในธรรมทั้งหลายทั้งปวงเลย ...ทุกอย่างเป็นธรรมตามจริงที่ปรากฏ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป

ท่านรับรู้รับทราบทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความเคารพในธรรม ไม่หือไม่อือ ไม่ก้าวร้าว ไม่ล่วงเกินออกไปแม้แต่กระเบียดนึง อณูนึง ... นี่ ควรไหมที่ว่าน่ายกย่องสรรเสริญ

เห็นมั้ย ถึงเป็นที่ว่า...ควรแก่การอัญชุลี ที่ว่าสามีจิปฏิปันโน สามีจิกรรม ควรแก่การสามีจิกรรม ควรค่าแก่การบูชา ...มันจะไม่ควรได้อย่างไร

ก็เป็นของหายากยิ่งในโลก...สำหรับผู้ที่ฝึกอบรม กายใจได้ถึงขั้นนั้น ...ท่านถึงว่าควรแก่การทำสามีจิกรรม เรียกว่าสามีจิปฏิปันโน ญายปฏิปันโน สุปฏิปันโน

อย่ามัวแต่ไปวิ่งไล่ค้นหาความถูกความผิดของใครเลย อย่าแม้กระทั่งหาความถูกความผิดของตัวเองเลย ...มองเห็นทุกอย่างเป็นธรรมที่ปรากฏตามจริงแค่นั้นแหละ

แล้วก็สงบ รู้อยู่เห็นอยู่ ถือว่าเคารพธรรม นี่ จะเข้าใจธรรมมากขึ้น ไม่ไปผิดไปเถียงกับธรรม...ด้วยอำนาจความไม่รู้ ไม่ไปต่อกรกับมัน ไม่ไปต่อต้านมัน 

เรียกว่าไม่ไปล่วงล้ำก้ำเกินเขา ...ไม่ว่าอะไร ไม่ว่าขันธ์ใน ไม่ว่าขันธ์นอก ไม่ว่าสรรพสิ่งทั้งมีวิญญาณครอง ทั้งไม่มีวิญญาณครอง

ก็เป็นผู้ที่หลุดพ้นจากธรรมทั้งหลายทั้งปวงโดยสิ้นเชิง นี่ จึงจะหลุด จึงจะเล็ดลอดออกจากโลกแห่งวัฏฏะ ความหมุนวนไม่จบไม่สิ้นนี้ได้

รักษาใจตัวเองนั่นแหละ..ด้วยสติ ดำรงใจเจ้าของนั้น..ด้วยสมาธิ  สังเกตการเข้าการออก..ด้วยความถี่ถ้วน ด้วยปัญญา แค่นั้นเอง นี่คือหัวใจของศาสนา

นี่เป็นหลัก เป็นหัวใจ  เป็นแก่น เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าแนะนำ อุตส่าห์ตรัสรู้มาก็เพื่องานนี้โดยตรง ...นอกนั้นก็เป็นธรรมรองไป สำหรับคนที่ไม่มุ่งมั่นในการหลุดพ้นโดยตรง

แต่ถ้าเป็นไปเพื่อความหลุดพ้นโดยตรง ก็ทำงานนี้งานเดียวเท่านั้นแหละ ก็จะเป็นไปสู่ความวิมุติหลุดพ้นได้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ...พระพุทธเจ้าการันตี ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

แต่ถ้าขี้เกียจขี้คร้านเป็นพวกลักปิดลักเปิดก็ตามธรรม ...ผู้ทำ ผู้ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมมั้ย ถ้าสมควรแก่ธรรมก็เป็นไปตามธรรม ถ้าไม่สมควรแก่ธรรมก็ไม่เป็นไปตามธรรม

มันก็เป็นเหตุเป็นผลกันดีอยู่แล้ว ...ปฏิบัติน้อย ขี้เกียจมาก  หลงมาก รู้น้อย  นอนมาก ตื่นน้อย...ไม่มีทาง ใช่มั้ย มันก็เป็นไปตามสมควรแก่ธรรมที่ปฏิบัติอย่างไร ก็ได้ธรรมนั้นน่ะ

รู้มาก หลงน้อย  ตื่นมาก หลับน้อย ก็สมควรแก่ธรรม...คือความแจ้ง สว่าง สะอาด สงบ บริสุทธิ์ หลุดพ้น ...นี่ สมควรแก่ธรรม ผู้ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมย่อมคุ้มครองด้วยธรรมนั้นๆ ไปเอง ...ไม่ต้องอ้อนวอนร้องขอกับใครเลย

ปัจจัตตัง เวทิตตัพโพ วิญญูหิติ ท่านบอกว่าถ้าทำจริง รู้จริง เห็นจริง ก็ได้ผลจริง  ท่านเชื้อเชิญนะ การปฏิบัติท่านไม่ได้บังคับข่มขู่ ไม่ได้บอกว่าให้เชื่อแล้วจะได้ผลนะ ...ท่านบอกให้ลองทำดูสิ จะได้ผลนะ

นี่ สันทิฏฐิโก รู้เองเห็นเองนะ เอหิปัสสิโก ท่านเชื้อเชิญเข้ามา โอปนยิโก ด้วยการน้อมนำมาปฏิบัติด้วยตัวเอง ด้วยสันทิฏฐิโก โลกวิทูเกิดเอง แจ้งเอง ...ไม่ต้องมีใครบอกว่า เฮ้ย แจ้งแล้วนะ เฮ้ย ยังไม่แจ้งนะ

แต่เดี๋ยวนี้มันต้องมีคนบอกก่อนถึงจะเชื่อ ไอ้นี่ยังไม่แจ้ง ไอ้นี่แจ้งแล้ว ไอ้นี่ไม่เป็น ไอ้นี่เป็น นี่มีฤทธิ์ด้วย ...ใจมันเชื่อเลย แล้วก็วิ่งไล่ตามหาอรหันต์ข้างนอกจนขาขวิด จะไปขอแบ่งบารมีท่านมามั่ง เผื่อจะได้สำเร็จเร็วขึ้น

เออ ก็เอาจนใจตัวเองน่ะไม่หัน ไม่เห ...นั่นล่ะ อรหันต์ ...คือไม่หันแล้ว ซ้ายก็ไม่หัน ขวาก็ไม่หัน หน้าก็ไม่หัน บนก็ไม่หัน ล่างก็ไม่หัน ไม่หันหน้าหันหลังน่ะ นั่นน่ะอรหันต์ 

ทำตัวเองให้เป็นอรหันต์สิ ...มัวแต่ไปหันหน้าหันหลังกับอะไรก็ไม่รู้ หานั่นหานี่ ดูนั่นดูนี่ เคารพองค์นั้น ไปหาธรรมอันนั้น หาธรรมที่นี้ หาธรรมจากองค์นั้น หาธรรมจากองค์นี้

มันกินนอนอยู่บนก้อนธาตุก้อนธรรม แต่มัวไปเอาธรรมสัพเพเหระมา ...มันเสียเวลา

ยืน..อยู่ที่ใจ เดิน..อยู่ที่ใจ นั่ง..อยู่ที่ใจ คิด..อยู่ที่ใจ สุข-ทุกข์..อยู่ที่ใจ ...นั่นแหละ เดี๋ยวก็หายหันเองแหละ เมื่อเป็นหายหันก็...อ-ร-หันต์แล้ว ไม่หันหน้าหันหลังแล้ว ไม่หันซ้ายหันขวา

แน่วแน่อยู่ภายในใจดวงเดียวนี่ ...บริสุทธิ์พุทโธ พุทธะพุทโธก็อยู่ตรงนี้...อยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่อื่นน่ะ ไม่ได้อยู่ที่เขาไหน ป่าไหน ถ้ำไหนหรอก 

อยู่ในใจของผู้มีสติสัมปชัญญะ สมาธิ ปัญญา ที่เต็มเปี่ยมอยู่ในที่อันเดียวนี้แหละ ...จิตพุทโธ จิตตื่น สะอาด สว่าง สงบ ก็อยู่ภายในนี้แหละ ...ทุกคนมีทุกคน

หมั่นขยัน สอบทานใจอยู่เสมอ ...วัดใจ กลับมาวัดใจ  มีอะไรเกิดขึ้นก็วัด เข้าวัด เข้ามาวัดใจ เข้าวัดบ่อยๆ นี่เรียกว่าเข้าวัดๆ ...ถ้าเข้าวัดแล้วนี่ เข้าวัดบ่อยๆ เดี๋ยวเขาจับบวชเลย โกนหัวอยู่ข้างในนี่ 

เข้าวัดแล้ว  เข้าไปวัดที่ใจแล้วนี่ โดนจับบวชเลย ...นี่เป็นพระเลย ไม่ต้องไปบวชโกนหัวข้างนอก ห่มขาวห่มเหลืองไม่ต้องแล้ว

วัด เข้าวัดบ่อยๆ วัดอยู่นี่..วัดใจ ...ถ้าเข้าวัดก็ใกล้ชิดวัด เดี๋ยวก็กินนอนอยู่ในวัด กินนอนอยู่ในวัดนี่เสร็จแน่ จับบวชกลายเป็นสงฆ์...กลายเป็นสงฆ์ไปโดยปริยาย ...นี่วัด นี่สงฆ์ นี่แหละสังฆะที่แท้จริง

ไอ้นี่ตัวปลอม ที่เห็นนี่ตัวปลอมนะ แปลงร่างอยู่ ตอนนี้แปลงร่างอยู่ แปลงร่างเป็นชายบ้าง แปลงร่างเป็นหญิงบ้าง มันแปลงร่าง ...แต่ข้างในเป็นอะไรไม่รู้เลย

ต่างคนต่างเข้าวัดวาซะบ้าง อย่ามามัวแต่วิ่งหาวัดข้างนอก หาพระข้างนอก ไม่ค่อยเจอเท่าไหร่นะพระข้างนอก ...เข้าซะเอง บวชซะเอง เป็นพระซะเองเลย  นั่นแหละ เนกขัมมะใจ

ก็เป็นใจที่เป็นเนกขัมมะ ไม่ต้องมีอุปัชฌาย์ก็บวชได้ ไม่ตายหรอก ไม่ผิดกฎ ไม่โดนตำรวจจับข้อหาแต่งกายเลียนแบบพระ ...เพราะมันอยู่ข้างในไม่มีใครเห็น (หัวเราะ)

ถ้าเข้าวัดอยู่เสมอนี่ อย่าออกนอกเขตวัด ...ตัจจะปริยันโต ถือหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบนี่ เป็นพัทธสีมา เป็นขอบเขต อาณาเขตของวัด โดยรวมก็เป็นโบสถ์ เนื้อหนังกระดูก เสาโบสถ์เสาวิหารนะ

แต่นี่มันไม่ค่อยดูแลรักษาเลย ชำรุด มัวแต่ไปดูแลรักษาคนอื่น หนังคนอื่น กระดูกคนอื่น กังวลแต่เรื่องคนอื่น ...วัดวาอารามทรุดโทรมเศร้าหมอง หยากไย่ใยแมงมุมเกาะเต็มไปหมด 

มันไม่ค่อยสะอาดเลยน่ะ ...กายก็ไม่สะอาด ใจก็ไม่สะอาด ...นั่น เพราะมันออกนอกวัดนอกวา ไปร่อนเร่พเนจรในที่อโคจร ที่ไม่ควรไป มันไปหมด

เพราะนั้น แต่ละคนนี่มีวัด ก็อยู่ในวัดบ่อยๆ จากนั้นก็จะถูกค่อยๆ ปลงผมตัวเองไปเรื่อยๆ คือปลงจิตที่มันคิด จิตที่มันหมาย จิตที่มันทะเยอทะยานออกไป นอกกายนอกใจ ...นี่ก็จะกลายเป็นนักบวชโดยปริยาย

บวชกิเลสออกไป โกนกิเลสออกไป โกนความปรุงแต่งออกไป นั่นแหละโกนมันออกไป จนมันเกลี้ยงเกลา ใจก็เกลี้ยง วัดก็สะอาด กายใจก็สะอาดบริสุทธิ์ วิสุทธิ เป็นวิสุทธิธาตุ วิสุทธิธรรม เป็นวิสุทธิจิต

วัดวาก็ศักดิ์สิทธิ์ ...วัดนี้ศักดิ์สิทธิ์ สะอาด ใครก็อยากมาเยี่ยมชม ใช่มั้ย แห่แหนกันมา ไม่ใช่มาขอหวยนะ มาขอธรรม มันเป็นอย่างนั้น ...วัดก็ศักดิ์สิทธิ์ ศาสนาก็เจริญรุ่งเรือง ใช่ป่าว

เดี๋ยวนี้วัดมันน้อย พระก็น้อย มันเลยแย่ลง ...มัวแต่ไปสร้างวัดข้างนอกซะเยอะ เต็มไปหมดสำนักนี่ บวชกันเข้าไป บวชเอาเยอะเอาปริมาณเข้าว่า นี่คือมันบวชข้างนอกนะ เป็นแสนๆ องค์เข้าไปแล้วพระนี่ 

แต่กราบได้สักกี่องค์ก็ไม่รู้นะ วัดบางวัดเข้าไปก็เหมือนกับซ่องโจร อะไรอย่างนั้นรึเปล่า วัดเดี๋ยวนี้เป็นอย่างนั้น พระอยู่ข้างในวัดนี่ไปดูเอาเถอะ ไม่ได้ต่างจากชาวบ้านเลย มันเป็นไปอย่างนี้ ยิ่งในเมืองน่ะ

เพราะนั้นเมื่อเราเข้าใจดีแล้ว เราก็สร้างวัดขึ้นเยอะๆ ทุกคนต่างสร้างวัด ...แรกๆ ก็สร้างเป็นอาราม เป็นสำนักสงฆ์ แล้วก็ลงปักหลักขอบเขตพัทธสีมาให้แน่นหนาถาวร 

ก็เป็นวัดวาอาราม เป็นธรณีสงฆ์ เป็นสมบัติสงฆ์ไปโดยปริยาย ...ทำไมถึงเรียกว่าสมบัติสงฆ์ เพราะว่าสมบัติสงฆ์นี่โลกไม่เอา โลกเอาคืนไม่ได้ 

ธรณีสงฆ์ นี่คือขาดออกจากขอบเขตขันธสีมาของราชอาณาจักรคือโลก ...ถ้าเป็นธรณีสงฆ์แล้วนี่ ยังไงๆ เอาคืนไม่ได้แล้ว ...นั่นน่ะวัดที่แท้จริง

เพราะนั้นจะเริ่มสร้างวัด ก็ต้องเริ่มวัดใจตัวเองบ่อยๆ ...อยู่ในกายใจนี้แหละ ทำความสะอาดสะอ้าน ชำระ ให้เหลือแต่ธรรมล้วนๆ นั่นน่ะคือความสะอาด

ธรรมใดที่ปรุงแต่งมาก็เหมือนหยากไย่ใยแมงมุม ฝุ่นละออง คือธรรมที่ปรุงแต่งขึ้นมาจากความไม่รู้ ด้วยความอยากและไม่อยากเป็นที่ตั้ง ด้วยความหมายไปในสิ่งที่จะได้ ผลที่จะได้รับมา ...นี่คืออุปาทาน

นี่ ก็ชำระขัดเกลาหยากไย่ใยแมงมุมที่เกิดมาจากตัณหาอุปาทาน ที่รุงรังๆ มันก็สะอาดผ่องใส น่าดู น่าชม ไม่มีใครดูใครชม ชมเองก็ได้ ไม่ต้องไปเรียกให้คนอื่นเขามาชมหรอก 

ดูวัดตัวเองสะอาด สบาย พอแล้ว ...แม้ใครจะด่า จะไม่ชม ก็รู้เองน่ะ กูขัดอยู่ทุกวัน ทำไมกูจะไม่รู้ หยากไย่สักอันก็ไม่มี จนไม่มีฝุ่นละอองเกาะติดได้เลย นี่สมบูรณ์ ภายนอกภายใน ทีนี้ก็สบาย นะ

ถ้าในโลกนี้มีหลายวัดหลายวาอย่างนี้ แล้วในวัดนั่นมีพระสงฆ์อยู่หนึ่งองค์เป็นเจ้าอาวาส เป็นทั้งลูกวัดเป็นทั้งเจ้าวัดอยู่แล้วนี่ มีหรือโลกมันจะไม่สงบร่มเย็น เป็นวัด เป็นพระอยู่ภายในทุกวัดประจำวัด

เดี๋ยวนี้วัดหรือพระอย่างนี้ก็น้อยลงๆ จนจะนับตัวนับตน นับวัดวาอารามได้ ...แล้วต่อไปก็จะยิ่งน้อยลงๆ   ยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทรน่ะ จนหมดจนสิ้นไป 

ไม่เกินห้าพันปีก็หมด ...วัดก็พัง พระก็ตายหายจากหมด เข้าคืนสู่อนันตมหาสุญญตาหมด

อย่าประมาท มัวเมา เสียเวลา ...รักษาใจไว้ให้มากยิ่งดี มากเท่าไหร่ก็ใกล้ทางมากขึ้นเท่านั้น ใกล้ผลมากขึ้นเท่านั้น 

ถ้าหลงเผลอเพลินเมื่อไหร่ก็เสียเวลา ...เสียลมหายใจเข้าออก ที่มันล่วงไปลับไป เอาคืนไม่ได้



……………………..



แทร็ก 6/19 (3)


พระอาจารย์
6/19 (550102C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง
2 มกราคม 2555
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ :  ต่อจากแทร็ก 6/19  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  พอเราเรียนรู้ต่อไป...เราจะรู้เลย ขันธ์มันจะหลอกอยู่ตลอด  มันจะฉลาดกว่าเราหนึ่งก้าว แล้วมันก็จะอ้างเอาของที่ดีๆ ของที่มันเป็นธรรม ของที่มันว่าแน่ๆ แล้ว มาให้เราเชื่อ 

จนกว่าเราจะใส่เจตนาจงใจกับมันไป ...นี่ มันจะเป่าหูเรา  ...แรกๆ ก็ไม่ค่อยเท่าไหร่ เดี๋ยวก็มาอีก ซ้ำอีก มันโยกจนเสาที่ว่ามั่นๆ นี่มันโยกทีละนิดๆ ...เดี๋ยวก็ล้ม 

มันยังงั้นน่ะ จิตปรุงแต่ง ละเอียดลึกซึ้งมาก ...ต้องมั่นไว้ หน้าด้านหน้าทน  ไม่เอาก็คือไม่เอา ละคือละ ...ต้องละจริงนะ ไม่ใช่ละเล่นๆ นะ  ถ้าละเล่นๆ น่ะ มันละไม่ได้หรอก ไม่ขาดหรอก

ถ้าละ...ละจริง ไม่ว่าบุญไม่ว่าบาป ไม่ว่าดีไม่ว่าชั่ว ไม่ว่าเป็นธรรมและไม่เป็นธรรม ละหมดทั้งธรรม และทั้งไม่เป็นธรรมน่ะ ...ไม่เอาอะไรสักอย่าง เอาแต่ใจดวงเดียวอยู่อย่างนั้น รู้อยู่อย่างนั้น

นอกจากรู้ ...บอกแล้วไง ทิ้งหมด ธรรมก็ทิ้ง มรรคก็ทิ้ง ผลก็ทิ้ง ...ไม่รู้ล่ะ กูไม่เชื่อมึงแล้ว นั่น เอาใจรู้อยู่อย่างนั้นน่ะ ...ถึงจะเป็นปหานตัพพธรรมได้โดยเด็ดขาด เข้าสู่ภาวะที่เรียกว่าสมุจเฉทปหาน

มันก็จะประหารไปเป็นระลอกๆๆ  ความคิดนั้น ความเห็นนั้นก็จะตายไป ไม่กลับมาอีก ไม่กลับมาหลอกหลอนอีก ถ้ามันประหารเป็นสมุจเฉท เป็นระยะๆ ไป

เพราะนั้นเราต้องพยายามมั่นคงไว้ รู้ไว้ อยู่ที่รู้ไว้ 

ใครว่าไม่ได้อะไร ใครว่าไม่ถึงไหน ไม่เห็นมีปัญญาอะไรเลย 'มันต้องจิตรวมก่อน ต้องมีกำลังมากๆ ดูครูบาอาจารย์ท่านทำสิ ท่านนั่งกันเป็นวันข้ามวันนี่ ไม่มีสมาธิไปรองรับมันจะไปตัดกิเลสได้ยังไง'

ก็ให้เป็นเรื่องของเขา..ไม่ใช่เรื่องของเรา นะ เราอย่าไปหลงใหลคำพูด ความเห็นต่างๆ นานา ...มันจะทำให้จิตใจเราหวั่นไหว เกิดความลังเลสงสัยเคลือบแคลงในธรรม

มันเป็นเรื่องของความปรุงแต่งน่ะ ไม่ใช่ธรรมนะ เป็นเรื่องของความเชื่อความเห็นเท่านั้น ไม่ใช่ความจริงนะ ...อย่าไปเอาความเชื่อความเห็นไปเข้าใจว่านั่นจริง นี่จริง นั่นไม่จริง

ถ้าจริงคือรู้...ถ้ารู้จริงเห็นจริงน่ะ อันนั้นน่ะจริง ไอ้ตัวที่รู้จริงเห็นจริงน่ะ...อันนั้นน่ะจริง ...ก็อยู่กับความจริงที่รู้จริงเห็นจริงตรงนั้นแหละ 

นี่เป็นความจริงที่พระพุทธเจ้าต้องการให้เห็น ต้องการให้อยู่ ต้องการให้รักษาไว้ ต้องการให้เข้าไปถึงที่สุดของความจริงนั้น ... ส่วนไอ้นอกนั้นไม่จริง...ละซะ 

ไอ้ที่มันว่ากันมาน่ะ ไม่จริงทั้งนั้น เป็นความเห็นน่ะ ...แล้วก็ไปยกเอาครูบาอาจารย์มาเป็นยันต์กันผีน่ะ ว่าอาจารย์องค์นั้นพูด อาจารย์องค์นี้บอก ท่านทำมาอย่างนี้แล้วก็สั่งว่าต้องทำอย่างนี้

มันทำให้เราไขว้เขว หวั่นไหว ออกนอกใจไปหมดเลย ...แล้วก็ไปทะยานหาอะไรมาสวมทรง เนี่ย ใส่เสื้อกันกี่ตัว มันไม่พอรึไง มันไม่สวยรึไง หรือมันไม่ตรงเทรนด์เขา

คือเทรนด์เขานี่หน้าหนาวต้องมีฮู้ด เอ้า ก็ไปหาฮู้ดมาใส่  พอเขาบอกว่าต้องมีขนสัตว์ด้วย ก็ไปเอาขนสัตว์มาใส่อีก ...คือจะเอาอะไรมาสวมมันกันนักกันหนาล่ะ 

ทั้งๆ ที่ตัวเองก็มีแค่หนังหุ้มกระดูกน่ะ ใช่มั้ย ไม่มีอะไรเลยน่ะ มาแต่ตัว ...แล้วไอ้นั่นไอ้นี่ก็เอามาสวมไว้ครอบไว้ตามโลกเขาสั่งสอนมา เชื่อว่าอย่างนั้นอย่างนี้

ใจนี่เปล่าๆ นะ ไม่มีอะไรหรอก อย่าไปเอาอะไรมาหุ้มมันอีก อย่าพามันไปหาอะไรมาหุ้มอีก ...ถ้าใจมันมีปากมันก็บอกว่ากูพอแล้ว กูไม่เอาแล้ว หนักจะตายอยู่แล้ว ทำมั้ยมึงเอามาโบ๊ะๆๆ อยู่นั่น

เคยเห็นงิ้วโบ๊ะหน้ามั้ย โบ๊ะเข้าไปจนไม่เห็นธรรมชาติของหน้าเลย นั่น โบ๊ะกูจัง ไอ้นั่นก็เป็นธรรม ไอ้นี่ก็ต้องทำ ไอ้นี่ก็ทำมาให้กูใส่ เสื้อผ้ากูใส่จนหนาเตอะแล้วนี่ 

แบบจะทิ้งก็เสียดาย จะถอดออกก็กลัวตกเทรนด์ ...คือเทรนด์นี่เขาต้องสมาธิ  เทรนด์นี้จะต้องมีกำลังลงอัปปนาก่อน จิตต้องรวม ถ้ากูตกเทรนด์แล้วกูจะไม่ได้ 

ก็ต้องไปหาเสื้อตัวนี้มาใส่ให้ได้ แล้วถ้ายังหามาใส่ไม่ได้ ตายซะก่อน เกิดมาชาติหน้ากูก็ต้องหาใหม่อีก ...นี่ มันพอสนองตัณหาความอยากสวมเสื้อแค่นั้นรึเปล่า

ทั้งที่ว่าจริงๆ มันไม่มีเสื้อผ้าอาภรณ์อะไรหรอก เกิดมาแต่ตัว ตายไปแต่ตัว ไม่เหลือแม้แต่กระดูกก้อนนึงนะ หือ จะเอาอะไรกันนักกันหนา ...มาภาวนาอะไรกัน มาภาวนาหากิเลสหรือภาวนาละกิเลส

แค่มันเริ่มหาก็เรียกว่าภาวนาหากิเลสแล้ว หาธรรมน่ะ อยากได้ธรรม โหย ธรรมมันยิ่งใหญ่  ถ้าได้ธรรมอันนี้แล้วจะเหมือนกับแปลงกายเป็นอุลตร้าแมนน่ะ กูเหนือมนุษย์ ไม่เหมือนคนเดินดินในโลกเขา 

มันเพ้อเจ้อน่ะ ...ต้องเข้าใจว่าอุบายคืออุบาย  ถ้าฉลาดในการใช้อุบาย ดี เก่ง ...แต่ถ้าไม่ฉลาดในอุบาย ก็ติด...ติดอุบาย ...พอติดอุบายแล้วคราวนี้เหมือนอันธพาลนะ

นักภาวนาเดี๋ยวนี้เหมือนอันธพาลนะ ไปดูสิ เหมือนมั้ย นั่งคนละสำนักกันนี่ก็มองหน้ากันไม่ติดแล้ว ...มันเป็นนักภาวนารึเปล่าวะนี่ อะไรกัน ทำไมกลายเป็นนักภาวนาแบบอันธพาลหาเรื่องล่ะ

พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้รึเปล่า ศีลสมาธิปัญญาเป็นไปเพื่อการนี้มั้ย...ไม่มีน่ะ  มันผิดครูบาอาจารย์มากๆ ผิดครูบาอาจารย์ใหญ่คือพระพุทธเจ้าอีกนะ 

ท่านสอนให้เลิก ให้ละ ให้คลายออกจากทิฏฐิมานะ อัตตาตัวตน การหลงในอัตตาในตัวในตน การหลงในการดำเนินชีวิตใช้ชีวิต ...ท่านให้เข้าใจแล้วก็ละมันซะ เท่านั้นเอง

แต่แค่ว่า...ดูจิตรึเปล่า พิจารณากายม้างกายบ้างมั้ย ...แค่นี้ คุยกันไม่รู้เรื่องแล้ว  แบ่งกันซะจนล้ำเลิกไปถึงพ่อแม่ครูบาอาจารย์กันเลย ...กลายเป็นกรรม กลายเป็นเวรกัน บ้าบอคอแตก

ทำไมมันไม่ภาวนาใครภาวนามัน ... ปากจะพูด..รู้มั้ย  จิตกำลังดึงกุศล-อกุศล..ทันมั้ย ...ไม่ได้ว่าเฉพาะพวกม้างกาย ไอ้พวกดูจิตน่ะตัวดี ต้องรู้ทันก่อนเขานะ เพราะมันตรงมาโดยสติล้วนๆ นะ 

อย่ามัวแต่ไปเก็บขี้หมูราขี้หมาแห้ง คอยจะไปโต้ตอบป้องกันอะไร ...ต้องป้องกันใจตัวเองก่อนเป็นอันดับแรกแล้ว นั่น จะไปเอาห้าเอาสิบอะไรกับคน กิเลสคน 

อยากม้างกายก็ให้เขาม้างไป อยากพิจารณากาย อยากนั่งสมาธิพุทโธๆ ไม่ขาดสาย ก็ว่าไป เรื่องของเขา ...ใจเรานึกยังไงล่ะเมื่อได้ยิน มีอารมณ์มั้ย จับมาเป็นอารมณ์มั้ย ...ทันมั้ยล่ะ 

ทันแล้วทำยังไงล่ะ ...ไม่ใช่ว่า ทันแล้วจะได้คิดทันมันไง จะได้พูดยังไงให้มันเปลี่ยนความเห็นใหม่งั้นน่ะ อย่างนี้ไม่ทันแล้ว ...บอกว่าทันแล้วให้ละนะ ละความคิดนั้น ละความเห็นที่จะเป็นอะไรออกไปซะ 

ให้เหลือแต่ใจดวงเดียว นี่ ถึงจะเรียกว่าสัมมาสติ ...ไม่ใช่สติเพื่อการใดการหนึ่ง แล้วก็ยังมาพูดว่าเป็นนักดูจิต นักเจริญสติ ...ถึงว่ามันพอกันน่ะ มันไม่เข้าใจ ...ถ้าไม่เข้าใจคือไม่อยู่ที่ใจ ทั้งคู่น่ะ เหมือนกัน

เพราะนั้นถ้าต่างคนต่างรักษาใจไว้ มีรึมันจะไม่สันติ ...มีแต่ใจ อยู่ที่ใจ ต่างคนต่างภาวนาไป  ใครจะทำอะไรก็ทำ ไม่ว่าไม่กล่าวกัน รักษาใจตัวเองไว้ ...ละกิเลสตัวเองออก ไม่เอากิเลสคนอื่นมาเป็นอารมณ์ 

แค่นั้นเอง หน้าที่ของนักภาวนา ...ไม่ใช่ไปจ้องเหมือนกับเป็นอันธพาล เกร็งกันไปหมด เข้าสำนักไหนๆ ก็เกร็ง กลัวว่าเขาจะมาอย่างนั้นอย่างนี้รึเปล่า

นี่คือความหมดไปสิ้นไปของศาสนาพุทธ ก็เกิดจากทิฏฐิความเห็นอย่างนี้นี่แหละ ...พระพุทธเจ้าท่านบอกอยู่แล้ว มันไม่ได้ถูกทำลายโดยใครอื่นหรอก ตัวคนนับถือพุทธนั่นแหละทำลายกันเอง

ด้วยความเห็นอย่างนี้ ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้ ที่มันคลาดเคลื่อนจากธรรมอย่างนี้ ...เอาอุบายมาเป็นธรรม เอาวิถีการปฏิบัติมาเป็นธรรม เอาธรรมมาเป็นเครื่องเล่น เครื่องพูดอ้าง เขาเรียกว่าแอบอ้าง ลบหลู่ธรรม

เอาธรรมมาเป็นเครื่องลบหลู่ แอบอ้างเพื่อให้เข้ากับความเห็นของตัวเองแค่นั้นเอง ...นี่มันคือความเสื่อมไปของศาสนา จากศาสนิกกันเองนี่แหละ ไม่ใช่ว่าใครมาทำลายนะ 

ศาสนาพุทธ...แก่นที่แท้จริง ก็ค่อยๆ จางคลายไปจากธรรม เคลื่อนไปจากธรรม ทีละเล็กทีละน้อย ไม่ตรงต่อธรรมไป กลับไปเคารพบูชาไอ้สิ่งที่ไม่ใช่ธรรม

มันก็ไปตั้งข้อแม้กันว่า...ถ้าไม่ใช่ลูกศิษย์วัดป่า...ไม่ใช่  ถ้าไม่ใช่ลูกศิษย์สายกรรมฐานโดยตรง สายตรงนะ ไม่ใช่พระอรหันต์  หือ เป็นงั้นไป ...มันเก่งกว่าพระพุทธเจ้าอีกพวกนี้

ไม่ต้องไปหาดูพระอรหันต์ภายนอกหรอก ...ดูตัวเองเอา ถามตัวเองว่ามึงเป็นอรหันต์มั้ย ถ้าดูตัวเองยังไม่เป็นอรหันต์ อย่าไปพูด อย่าไปสู่รู้คนอื่น อย่าไปคิดว่าคนอื่นเป็นหรือไม่เป็น

แค่ไปคิดว่าคนอื่นเป็นหรือไม่เป็นนี่ บอกให้เลย มันหลุดไปไกลแล้ว ...มันหลุดออกจากใจนี้ไปไกล หลุดออกจากธรรมแท้ไปไกลแล้ว

ถ้ามีปัญญาเท่าทันจริงนะ ไม่หลุดออกไปเป็นคำพูดเลยนะ มันหลุดออกมาเป็นแค่มโนวิญญาณ ความปรุงแต่ง ปุ๊บทัน...หลุด ขาดเลย ไม่มีการไปล่วงล้ำก้ำเกินสัตว์บุคคลใดภายนอกนะ

สุดท้ายนี่ ไม่เบียดเบียนแม้กระทั่งขันธ์เจ้าของ ...เข้าใจคำว่าผู้ไม่เบียดเบียนมั้ย มันไม่ใช่ว่าไม่เบียดเบียนแต่คนสัตว์ภายนอกนะ ขันธ์เจ้าของเอง ขันธ์ห้านี่ ใจดวงนี้ยังไม่ออกมาเบียดเบียนเลย

ไม่เบียดเบียนยังไง ...คือยังไงก็ยังงั้น แล้วแต่เขาจะปรากฏ  จะวิปลาสคลาดเคลื่อนอย่างไร ก็ไม่ไปทำแต่งใหม่ ...นั่นแหละเห็นมั้ย ที่สุดของผู้ไม่เบียดเบียน 

แม้แต่ขันธ์เจ้าของยังไม่เบียดเบียนเลย ก็ยังไงยังงั้น แล้วแต่เขาจะสำแดงอาการ ...ก็ดูในฐานะเป็นผู้ดูที่ดีที่สุดเลย เป็นผู้ถึงที่สุดของการไม่เบียดเบียน

เพราะนั้นแค่ขันธ์ห้าของตัวเองยังไม่เบียดเบียนนี่ ไม่มีหรอกที่จะไปเบียดเบียนผู้อื่น ...นั่นน่ะพระอริยะ 

ไม่ใช่มานั่งท่องว่า ขอให้สัตว์ทั้งหลาย อเวราโหนตุๆ ...ว่ากันไป มันเป็นคำพูดเท่านั้นเอง แต่จริงๆ ความเป็นผู้ไม่เบียดเบียนน่ะคืออะไร เข้าใจไหม ...มันคือยังไงยังงั้น

ไอ้ที่ว่าเบียดเบียนคืออะไร ...มันตั้งก็ทำให้มันล้ม มันเกิดก็ทำให้มันดับ มันไม่เกิดก็ทำให้มันเกิด นี่เบียดเบียนมั้ย เบียดเบียนขันธ์มั้ย ไปข่มขู่ข่มเหงมันน่ะ 

ไปสร้างเหตุปัจจัยขึ้นมาใหม่ด้วยอำนาจของตัณหาอุปาทาน ด้วยโทสะ ด้วยราคะ มันไม่เบียดเบียนแล้วจะเรียกว่าอะไรดีล่ะ หรือจะเรียกว่าปฏิบัติธรรม หือ (หัวเราะ) ...มันเป็นอย่างนั้น

แต่ถ้าเข้าสู่ความไม่เบียดเบียน บอกแล้วว่ามีที่เดียว คือใจ เป็นแค่ผู้รู้ สักแต่ว่ารู้ ผู้เห็นสักแต่ว่าเห็น ...นี่ เข้าสู่ความเป็นผู้ไม่เบียดเบียน เป็นผู้บริสุทธิ์ในที่สุดเองนั่นแหละ

แต่พูดไปเดี๋ยวก็พวกศาสดาหัวแหลมเขาก็ว่า ครูบาอาจารย์ไม่เคยพูดอย่างนี้ ไม่เคยสอนอย่างนี้ ตั้งแต่สายหลวงปู่มั่น อย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น 

ก็ว่าครูบาอาจารย์ไม่ได้รับรองคำพูดนี้ ไม่ได้รับรองความเห็นนี้...กูไม่เชื่อ  มันเป็นงั้น เป็นโรคบ้าบอคอแตกอะไรกัน แบ่งพรรคแบ่งพวกกันอย่างนั้น

ธรรมไม่เคยแบ่งแยกนะ ...ธรรมเป็นกลาง ธรรมเป็นสาธารณะ ใช่มั้ย แล้วทำไมถึงมาแบ่งกันว่า ถ้าอย่างนี้ไม่ใช่ธรรม ถ้าอย่างนั้นถึงจะเป็นธรรม ...มันธรรมบ้าธรรมบออะไร หือ

ธรรมเป็นกลาง เป็นอันเดียว เป็นหนึ่งเดียว ...เพราะนั้นถ้าเข้าใจธรรม รู้ธรรมตามเป็นจริงแล้วนี่ ไม่แบ่งหรอก ...ทุกอย่างเป็นธรรม ดีก็ธรรม ไม่ดีก็เป็นธรรม อะไรปรากฏขึ้นเป็นธรรมทั้งหมด

นั่นแหละ ผู้เห็นธรรมที่แท้จริงน่ะ...จะเป็นผู้ไม่เบียดเบียนธรรม


(ต่อแทร็ก 6/19  ช่วง 4)



วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 6/19 (2)


พระอาจารย์
6/19 (550102C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง
2 มกราคม 2555
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ :  ต่อจากแทร็ก 6/19  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นเมื่อใดที่รู้มากกว่าหลง หรือรู้เกินหลง มันจะทันทุกขณะ ตัดๆๆ รู้ละ ตัดๆๆ ...เป็นปหานๆ ทุกขณะจิต ตลอดเวลา นั่นน่ะเป็นการชำระกิเลสอาสวะภายในล้วนๆ

มันจะแน่วแน่ ละลงในที่อันเดียวเลย ...ไม่สนเรื่องตาหูจมูกลิ้นกายแล้ว สนใจในที่อันเดียว พั้บๆๆๆๆ ทุกขณะ ไม่มีอะไรก็รู้ มีอะไรก็ละ...ไม่มีอะไรก็รู้ มีอะไรก็ละ อยู่อย่างนั้นน่ะ 

ไม่มีงานอื่นเลยนะ เป็นผู้ว่างงาน มีงานเดียว นอกนั้นว่างงาน ...คือแบบเหมือนประเภทครบหกสิบแล้วเกษียณน่ะ เกษียณมันก็เลยว่างงาน ว่างงานมันก็เหลืองานเดียว ทำงานภายใน มีงานภายในงานเดียว

แต่ตอนนี้พวกเรายังเหยียบเรือสองแคม ...สองงาน ใช่มั้ย  บางทีก็ลืมงานนี้ ไปเอางานโน้น ...เพราะนั้นตัวสัมมาอาชีโวมันก็เลย...เดี๋ยวก็อันนี้ เดี๋ยวก็อันนั้น ไม่รู้อันไหนจะสัมมาอาชีโวมากกว่ากัน

มันยังห่วงๆๆ ห่วงงานภายนอกอยู่ ...ถ้าเรียนก็ห่วงเรียนมากกว่าห่วงใจ ถ้ามีลูกผัวก็ห่วงลูกผัวมากกว่าห่วงใจ มีพ่อมีแม่ก็ห่วงพ่อห่วงแม่มากกว่าห่วงใจ ใช่มั้ย 

ตัวคนเดียว ทำงานก็ห่วงงาน ห่วงเพื่อนร่วมงานมากกว่าห่วงใจ ถ้าพวกเอ็นจีโอก็ห่วงโลกมากกว่าห่วงใจ ห่วงทรัพยากร กลัวโลกร้อน ห่วงกันจัง ...มันก็ลืมใจกันหมด นั่นแหละ มันไปห่วง หวง

เมื่อใดที่ละห่วงพวกนั้นออก เหมือนกระเบื้องห้าห่วงน่ะ ไม่เอาสักห่วง ห้าห่วงคือห้าขันธ์นี่ ไม่เอา เหลือห่วงเดียวคือห่วงใจ ...ใจยังเป็นห่วงอยู่นะ ยังมีห่วงในตัวของมัน มีห่วงสุดท้าย ห่วงนั้นน่ะสำคัญที่สุด

แต่ถ้าเราตั้งใจละเอาไอ้ห่วงห้าห่วงนั้นออกแล้ว ละเหลือลงแค่ห่วงเดียว ...ห้าห่วงนี่หลุดหมด หลุดหมดเลย ไม่ต้องคอยไล่ละทีละห่วงๆ ...ละที่ห่วงใจห่วงเดียว เอาที่ใจดวงเดียว 

นั่นล่ะเขาเรียกว่าปัญญาวิมุติ ...ไม่ต้องไปละอันนั้นก่อน ต้องตั้งท่าตั้งทางแบบนี้ก่อน ต้องพิจารณาแง่มุมนั้นก่อน ต้องให้เห็นอาการนั้นอาการนี้ก่อน ถ้าเกิดถึงสภาวะนั้นจิตรวม จิตดิ่งก่อนเข้าอัปปนาก่อน

ไม่เตรียมการใดๆ ทั้งสิ้น ตรงลงที่ใจล้วนๆ ห่วงแรกและก็ห่วงสุดท้าย นี่ ถ้าหลุดห่วงนี้ ห้าห่วงยังไงก็หลุด เพราะใจไม่รู้จะไปจับกับอะไร ใจมันเป็นบ่วงแรกห่วงแรก ถ้าละที่ห่วงแรกนี่ได้ มันไม่มีจะไปจับอะไรได้หรอก

แต่ตอนนี้เรายังเชื่อความเห็นผิดอยู่ว่า...ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ๆ ถ้าเราไม่ทำงาน เรายังไม่เรียน ถ้าไม่เราไม่ดูแลพ่อแม่ ถ้าเราไม่มีทรัพย์สินเงินทองอะไรพวกนี้ จะภาวนาไม่ได้ มันก็เลยแบบเหยียบเรือสองแคมอยู่

แต่อย่าทิ้งใจ อย่าลืมใจ สำคัญ ...พอเรารักษาใจไว้มากขึ้น บ่อยขึ้นปึ้บนี่ การให้ความสำคัญกับภายนอกจะน้อยลงไป แล้วทุกอย่างมันจะกลมกลืนขึ้น ...ไอ้ที่เคยอยากได้มันเกินน่ะ เกินลิมิทน่ะ มันก็จะน้อยลง

การงานต่างๆ ก็ทำได้ แต่ไม่จำเป็นจะต้องเพื่ออะไร เพื่อใคร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำให้มันเลวลงนะ ...คือทำให้พอดี มันพอ...แล้วมันสามารถพอดีกับตรงนี้

แต่ว่าตรงนี้จะเข้มขึ้นๆๆ จริงจังขึ้น รักษาใจมากกว่าห่วงคนไข้ (หัวเราะกัน) หรือว่าห่วงคนนั้นคนนี้ มันจะห่วงใจเจ้าของมากกว่า ว่าอยู่มั้ย หายไปมั้ย อยู่ดีสบายดีไหม ต่อเนื่องดีมั้ย 

หรือว่าผลุบๆ โผล่ๆ เป็นพวกนินจา ...ใจแต่ละคนนี่เหมือนนินจา พั้บ..หาย  เขามีแต่พั้บ..อยู่  นี่ พั้บ หายๆ สติมันก็แหว่งๆ วิ่นๆ ฟันก็หลอ เขี้ยวก็เว้า

รักษาใจอยู่อย่างนั้น มันก็จะทำให้เกิดความเต็มพร้อม เต็มเปี่ยม ...เหมือนน้ำเต็มบ่ออย่างนี้ พอดีเมื่อไหร่ก็น้ำเต็มบ่อ เพราะนั้นอะไรที่มันเกินจากน้ำ มันก็ล้นออกๆ

นั่นแหละ สติสมาธิปัญญาที่มันเต็มเปี่ยมแล้ว เหมือนน้ำที่มันเต็มบ่อ ...อะไรก็เข้ามาไม่ได้ เกินไม่ได้ เข้ามาแทรกซึมไม่ได้ มันก็เอาออกไปหมด

แต่ถ้าสติสมาธิปัญญาขาดตกบกพร่อง มันก็เก็บเอาไว้หมด ...กลายเป็นจะเอาให้มันเต็มในความรู้สึก เต็มในความคิด เต็มในอารมณ์ เต็มในเวทนาสุขทุกข์

ให้มันเต็มด้วยสติสมาธิปัญญานี่ จะเป็นน้ำใส ...ถ้าไม่เติมน้ำใสให้เต็มตุ่มนี่ แล้วตุ่มมันว่างเปล่าอย่างนี้ มันก็จะไปเก็บเอาน้ำครำ น้ำคร่ำ น้ำสกปรกมาเรื่อยเปื่อย เอาจนล้นน่ะ 

แต่มันล้นด้วยกิเลสอาสวะ ความอยากทะเยอทะยาน หาไปหามาไม่จบไม่สิ้น ...มันไม่ได้ล้นด้วยเต็มด้วยสติสมาธิปัญญาคือน้ำใสบริสุทธิ์ 

เพราะอะไรที่ไม่ใสไม่บริสุทธิ์ อะไรที่มันจะทำให้น้ำนี่ขุ่น น้ำนี่มัวหมองไป มันก็ไม่เอา มันก็ไม่รับๆ มันก็เห็นชัดน่ะ แค่หยดหนึ่ง เหมือนด่างทับทิมที่หยดปุ๊บลงมาในน้ำใสนี่ มันไม่เอาแล้ว รีบเอาออกซะ

เหมือนกัน ถ้าใจมันใสบริสุทธิ์ หรือว่าตั้งมั่นด้วยอำนาจของสติสมาธิปัญญาที่เต็มที่เต็มทางของมันแล้วนี่ ...มันจะชัดเจนแม้แต่ว่าอะไรนิดอะไรหน่อยจะไปเอาเข้ามาปนเปื้อนเจือปนนี่ มันไม่เอา

อะไรที่มันทำให้ใจดวงนี้มันผิดปกติไป เอียงไป มันเอียง มันตกขอบ ตกร่อง ตกคาน นี่ มันไม่เอาแล้ว มันก็รักษาความเป็นใจรู้ใส รู้เฉยๆ รู้ปกติอยู่ของมันอยู่ต่อเนื่องไป

แล้วมันจะมีความใส่ใจในที่อันเดียวมากขึ้น ตั้งใจมากขึ้น แน่วแน่มากขึ้น ไม่เอาห้าเอาสิบกับโลก กับคนรอบข้างมากขึ้น ...อย่าว่าแต่คนรอบข้างเลย แม้กระทั่งตัวมันเองน่ะ 

คือขันธ์ห้าตัวเองน่ะ มันก็ไม่ค่อยเอาห้าเอาสิบกับขันธ์ห้ามากขึ้นไปในตัวด้วยพร้อมกัน ...มันก็ฟูมฟักรักษาใจอยู่ในที่อันเดียวนั่นแหละ ชำระใจขัดใจๆ ให้ขาวรอบ 

ระวังมลทินไหนจากข้างนอกกระเด็นเข้ามาจะติดมัน มันก็ไม่เอา อันไหนที่เรามองไม่เห็นแต่ว่ามันกระเด็นออกมาจากข้างในก็เอาออก นี่ รีบเอาออกเลย

นั่น เห็นไหม ศีลสมาธิปัญญาที่มันอยู่กับความสมดุลพอดีแล้ว มันจึงจะเห็นเป็นทุกขณะไป 

แต่ว่าพอถึงจุดนั้นแล้วมันจะมีแต่ออก ไม่มีอะไรเข้ามาแล้ว มันจะรักษาใจได้ในระดับนั้นเลย ...ภายนอกเข้าไม่ถึง มีแต่ข้างในออกไป คือละออกๆๆ

แต่ของพวกเรานี่เหมือนรถวิ่งสวนทางกันน่ะ เข้าใจมั้ย มันยังแบบ...ไอ้นั่นก็เข้า ไอ้นี่ก็ออก อันไหนของกู อันไหนของมึง อันไหนกิเลสเรา อันไหนกิเลสคนอื่นวะ มันสวนกันไปสวนกันมา นี่ มันไม่ชัดเจน

เพราะนั้นอะไรๆ ก็ทะลุลงมาเก็บอยู่ภายใน เก็บ และบางทีภายในออกไป ก็เป็นเพราะกิเลสภายนอกหรือเปล่า อะไรอย่างนี้ มันไม่ชัดเจนอะไรสักอย่าง เหมือนมีตาแต่ว่าหลับๆ ลืมๆ ตื่นๆ ดับๆ อย่างนี้

จนมันชัดเจน ...พอมันชัดเจนดีแล้ว ภายนอกเข้ามาปึ้บ...รู้ ภายในออกไปนี่...ละ ...ละออกหมด ไม่เอา มันจะปรุง มันจะหา มันจะแสวง...ไม่เอา

ก็ง่ายๆ เวลานั่งสมาธิ  มีแต่ความอยากล้วนๆ มันไม่รู้เลย อย่างนี้ ต้องการสงบนี่ ก็คิดว่าเป็นการปฏิบัติ ...จริงๆ มันเป็นความอยากภายในมันบงการ อย่างนี้เรียกว่าภายในออกมา แล้วมาตกแต่งขันธ์ภายนอก 

แต่ถ้ารูปเสียงกลิ่นรสมากระทบ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียงปุ๊บ เกิดอารมณ์แล้ว อย่างนี้เรียกว่าภายนอกเข้ามากระทบ อย่างนี้ ...มันก็จะจัดเจน ชำนาญอยู่ในการงานอันนี้ 

นี่เป็นการเรียนรู้เรื่องของใจล้วนๆ เรียนรู้สิ่งที่ว่า อะไรแปดเปื้อน อะไรที่เป็นปฏิกิริยา action - reaction อย่างไร ...จนมันหมดสิ้นปฏิกิริยาน่ะ 

เหมือนใจนี่กลายเป็นของตายไปเลย คือมันจะไม่มีอาการตอบสนองใดๆ จากข้างใน ไม่ว่าข้างในจะยังไง ไม่มีอะไรข้างนอกมากระทบ ข้างในก็ไม่หือไม่อือน่ะ

นั่นแหละถึงเรียกว่าหมดจด อย่างที่เราบอกว่าเหมือนกับจักรวาลที่มันไม่มีอะไรเลย ...นั่นแหละ เข้าใจคำว่าหมดจดขนาดนั้นมั้ย อย่าว่าแต่ละอองของปรมาณูจิตเลย ไม่มีอ่ะ

มันสว่าง เห็นชัดเลยว่าอะไรแปดเปื้อน ปนมานี่ ทิ้งเลย มันขนาดนั้นน่ะ ญาณทัสสนะที่แจ่มใส ญาณวิมุติทัสสนะที่แจ่มแจ้งน่ะ ไม่มีอะไรหลงเหลือเลย หมดสิ้น 

เขาเรียกว่าดับไปสิ้นไป เรียกว่านิโรธ ความหมดสิ้น ดับไม่เหลือ ดับแบบไม่เหลือ ...ด้วยญาณทัสสนะมันเห็น ไม่เหลือแล้ว

ใครจะมาบอกว่าไม่ใช่ ไม่ฟังแล้ว ...เหมือนคนดื้อนะ แต่มันดื้อในธรรม เข้าใจมั้ย ...ดื้อโดยตาเห็นธรรม มันเห็นเองรู้เอง แล้วมันเห็นด้วยญาณทัสสนะมันแจ่มแจ้ง

ใครจะบอกว่าไม่สำเร็จหรอก ไม่ใช่หรอก ...มันไม่เชื่อหรอก มันดูแล้ว ไม่เหลือเลย ไม่เหลืออะไรเลย นั่น ไม่มีแง่มีมุมไหนเหลือเป็นละออง เป็นมลทินใดๆ

แต่ของพวกเรานี่ อย่าเผลอเชียวนะ อย่าปล่อยนะ พั้บๆ แผดเผาออกมาเลย มันจะร้อนขึ้นมา โดยหาสาเหตุมิได้ นั่งอยู่ดีๆ ไม่มีอารมณ์ไม่มีความคิดคำนึง อยู่ดีๆ มันก็ร้อนอกร้อนใจขึ้นมา ไม่มีเหตุไม่มีผล

เห็นมั้ย หงุดหงิดรำคาญโดยไม่มีเหตุไม่มีผลเลย  มันมาจากไหนยังไงล่ะ ...แปลว่ามันยังมี...ยังมีอะไรข้างในอีกเยอะเลยที่เรายังไม่เห็น

ทำไมถึงไม่เห็น ...ก็มันไม่มีญาณทัสสนะที่แจ่มชัด ...มันก็เลยว่ามันมายังไงวะนี่ มันมาจากตรงไหน

แต่ถ้ามีญาณทัสสนะที่แจ่มชัดแล้วมันรู้เลยว่ามันอะไร มันมาจากตรงไหน พั้บๆๆ ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ แจ่มชัดเลย และไม่สงสัย ในการเกิด ในการตั้ง และในการดับ

แต่ถ้าไม่มีญาณทัสสนะ ต้องอาศัยขันติธรรม อดทนกับมัน เฉยๆ ไว้ อะไรก็ได้ ชั่งหัวมัน รู้ไว้อย่างเดียว ...อดทนรู้ๆ หน้าด้านรู้ไป จนกว่ามันจะดับ

เมื่อมันดับ...ด้วยการที่เราจิตตั้งมั่นอยู่ รู้อยู่เห็นอยู่ด้วยอาการปกติ  รักษาการเป็นปกติรู้อยู่ไว้  มันก็จะไปเพิ่มพูนญาณทัสสนะ ให้เข้าใจแจ่มแจ้งขึ้น 

ก็ชัดเจนขึ้นในอาการเกิด อาการตั้ง อาการดับของมัน จนหายสงสัย ...ไม่งั้นเราก็จะคาอยู่ว่า เอ๊ะ ยังไง จะทำยังไง มันมายังไง มันดีมันร้าย อันไหนควรละ อันไหนไม่ควรละ

ละอย่างเดียว ไม่ต้องสงสัย...ละอย่างเดียว ไม่ต้องสงสัย ...อย่าไปบอกว่าต้องมีวิธีอะไร หรือว่าต้องทำอะไร ต้องรักษาวิธีนี้ไว้ก่อน ต้องรักษาการกระทำอันนี้ไว้ก่อน 

หรือว่าต้องมีการกำหนดอย่างนี้ไว้ ให้มีการดึง การหน่วง การรั้งอารมณ์หรืออะไรไว้ก่อน นี้เพื่อให้เห็นธรรมสูงขึ้น ...เหล่านี้ บอกไว้เลยว่า...ละอย่างเดียว

ความรู้สึกอะไรก็ตามที่มันจะมาเต้า มาบอกว่าต้องมี ต้องทำอะไรนี่ ละเลย รีบละเลย ...ไม่งั้นน่ะ เดี๋ยวจะได้ไปเห็นดอกบัวข้างในบานๆๆ ไม่รู้จักจบจักสิ้นเลยแหละ 

เพราะ ไอ้ที่เก็บๆ กันเอาไว้น่ะ ที่เก็บเอาไว้ดูเอาไว้แล เอาไว้เป็นผลประโยชน์ต่อไปภายภาคหน้านี่  เหล่านีี้คือมันเป็นของมลพิษทั้งนั้น

เพราะนั้น ศีลสมาธิปัญญานี่ หรือว่าญาณทัสสนะนี่ มันเป็นการดีท็อกซ์ (Detox) ...เอาออก ละออกซะ อย่าเห็นดีเห็นงามกับมัน อย่าเห็นดีเห็นงามกับขันธ์


(ต่อแทร็ก 6/19  ช่วง 3)