วันพุธที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

แทร็ก 6/11 (2)



พระอาจารย์

6/11 (541231C)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

31 ธันวาคม 2554

(ช่วง 2)


(หมายเหตุ : ต่อจากแทร็ก 6/11 ช่วง 1

พระอาจารย์ –  ไอ้ที่มันทุกข์เพราะว่า “เรา” ตาย ... นี่ ตายแบบโง่ๆ 

ก็ดินทั้งแท่ง น้ำเป็นลิตร  ยังมาว่าดินนี้น้ำนี้เป็นเรา  เรากำลังจะแตก เรากำลังจะตาย  นี่ ตายแบบโง่นะเนี่ย  ...ดิ้นเหมือนหมาถูกน้ำร้อน...จิตน่ะ ไม่ยอม ไม่ยอมตาย ... เพราะว่า “เรา” มันกำลังจะตาย...มันไม่ยอม 

เสียดายมัน หวงมัน ห่วงมัน อาลัยมัน รักมัน ชอบมัน เคยอยู่ด้วยกันมาตั้งนานแน่ะ จะมาทิ้งกันยังไง ...'มันสมควรอยู่ได้อีกสักร้อยปี ทำไมอยู่ได้แค่นี้เองเหรอ' ...เนี่ย มันก็ปรุงไปเรื่อยน่ะ ไม่ยอมๆ ใจมันร่ำร้อง เพราะว่ากายนี้เป็นของเรา ดูยังไงก็เป็นเราวันยังค่ำ

เพราะโง่...มันก็กลับมาเกิด  แล้วก็โง่ต่ออีก มาโง่กับกายกันต่อไป ...ก็อยากได้ “เรา”  มันก็มาเอาอีก มาเอาดิน สะเก็ดดิน สะเก็ดน้ำ อุณหภูมิ อากาศ ลม ความว่าง มารวมตัวกันใหม่ ... เพราะมันยังเสียดาย “เรา” เมื่อกี้อยู่ ตัวเราเมื่อกี้ มันหายไปซะแล้ว ...แต่มันไม่ยอมไง มันก็ไปก่อร่างสร้างขันธ์ขึ้นมา

แต่เมื่อใดที่เราเห็น เข้าใจมันโดยถ่องแท้ดีแล้วนี่  จะเห็นว่าไม่มีมันเป็นเรา ไม่มีเราในมัน ... เพราะนั้นเวลาตายก็ไม่มีใครตาย  

มันไม่มีใครตายตั้งแต่ไม่มีเราเดินแล้ว ไม่มีเรานั่ง ไม่มีเรากิน ไม่มีเราไป ไม่มีเรามา ...มีแต่กาย สมมุติว่ากาย ไปๆ มาๆ  มันเป็นกายแค่สมมุติ บัญญัติว่าเป็นหญิงเป็นชายแค่นั้น ...ไม่ใช่ “เรา”

นี่มันเข้าไปล้างถึงต้นขั้วแล้ว...ขั้วใจ ที่มันบังใจอยู่ด้วยความเห็นนั้น ... เพราะนั้นทุกความคิดความอ่าน ทุกความเห็นที่มันออกมา มันจะผ่านความเห็นผิดตัวนี้ก่อน ...มันก็ออกมาพร้อมกับความยึดมั่นถือมั่น 

กว่าจะเรียนรู้ กว่าจะเท่าทัน กว่าจะเห็นความเป็นจริงของมันนี่ ต้องพากเพียรจริงๆ  ไม่อ่อนข้อกับมัน ไม่เบื่อในการที่จะหมั่นขยันรู้ขยันดู...ตรงๆ ไม่ต้องอ้อมค้อมอะไรน่ะ ยังไงก็ยังงั้น ดูไปตรงๆ รู้ไปตรงๆ

แล้วจากนั้นก็พยายามตั้งมั่นที่ใจให้ได้ ให้แนบแน่นอยู่ที่ใจ เป็นฐาน เป็นหอสังเกตการณ์ ...ถ้ามีหอสังเกตการณ์ที่มั่นคงแข็งแรงแล้ว ไม่มีใครทำลายได้แล้วนี่  มันก็จะเห็นโดยรอบ...ใครไป ใครมา มันมาจากไหน หรือมันออกมาจากไหน...มันเห็นเอง มันเห็นโดยรอบ

แต่ถ้าใจยังเปาะแปะป้อแป้ ล้มลุกคลุกคลาน มันจะเอาเวลาที่ไหนไปดูใคร ... ตัวเองยืนยัง...ยืนแล้วก็ล้มๆ  ไม่ต้องไปคิดว่าจะดูขันธ์เป็นไตรลักษณ์หรอก ไม่เห็นหรอก  ตัวเองยังยืนไม่ได้เลย จะไปดูอะไร ใช่มั้ย

แต่ถ้าเราตั้งมั่น ยืนดีแล้ว แข็งแรงดีแล้วนี่ ...ยืนกอดอกดูมัน ไม่ไหวไม่หวั่น ไม่กลัวไม่เกรง ไม่แก้ไม่หนี ...แน่ะ มันตั้งมั่น นี่คือตั้งมั่น

แต่ถ้ายังป้อแป้ๆ เหมือนกับคนเพิ่งตื่นนอนหรือว่าสร่างเมาน่ะ งัวเงียๆ มา เขาตบกะโหลกทีก็ล้มพั่บ หรือไม่ต้องตบน่ะ ...แค่เป่าลม พรู่ ก็ล้มแล้ว  คือเหมือนมันเพิ่งตื่นนอน หรือว่าสะลึมสะลือ เข้าใจมั้ย  

ไอ้รู้พล้อบๆ แพล้บๆ แล้วก็รู้หายไปๆ นั่น ไม่ต้องเจอกิเลสตัวใหญ่หรอก แค่ลมเป่าก็ไปแล้ว...ลมปากคุยกัน คุยๆๆๆ หลงแล้ว หายแล้ว รู้หายแล้ว 

มันไม่เหมือนกับแผ่นดินหรือภูเขา ...คำว่าตั้งมั่นนี่เหมือนแผ่นดินหรือภูเขาที่ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว  นั่นใจของพระอริยะ เหมือนแผ่นดิน ... ถ้าพูดว่าเหมือนแผ่นดินนะ ต่อให้เป็นทอร์นาโดพัดมานี่ ไม่มีกระเทือนน่ะ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น นั่น

แต่ของพวกเราไม่ต้องถามหาทอร์นาโดหรอก แค่ลมปากใครเป่ามา “เดี๋ยวอิชั้น...เดี๋ยวหนูจะปลิวให้ดูเอง” เนี่ย ความเผลอนิดนึง เพลินหน่อยนึง...ก็ไปแล้ว  มีอะไรสะกิดหูสะกิดตาหน่อย ปึ้บ ไหลแล้ว หลุดแล้ว

เพราะอะไร ...เพราะเจริญสติน้อย หยั่งลงที่ใจน้อย ตั้งมั่นลงที่ใจน้อย  สติก็สติแบบมิจฉาสติ รู้แล้วก็ไป รู้แล้วก็มา รู้แล้วก็ไปมีไปเป็นกับมัน รู้แล้วก็ไปสงสัยกับมัน รู้แล้วก็ไปหาความเป็นจริงกับมันต่อไปอีก  อย่างเนี้ย ยังไงๆ ก็ไม่มีทางตั้งมั่นหรอก 

ถึงบอกว่า ต้องรู้แล้วลงที่ใจ...ให้เห็นสองสิ่ง  แล้วก็รู้...แล้วก็อยู่กับรู้ ไม่ได้อยู่กับสิ่งที่ถูกรู้  ไม่ได้ไปตั้งที่อื่นนอกเหนือจากใจ

เราเคยเปรียบเทียบให้ฟังหลายครั้งแล้วว่า เหมือนกับคนที่โดนน้ำท่วม ที่เขาเสียใจเศร้าใจร้องไห้ร้องห่มนี่  เพราะเขาไม่มีบ้าน เงินหายไป งานหายไป รถหายไป ที่อยู่อาศัยหมดไปหายไป...เขาก็ทุกข์  เพราะอะไร ...เพราะเขาไปตั้งไว้อยู่กับสิ่งนั้น

เขาไปตั้งความหวัง เขาไปผูกว่าเที่ยงกับสิ่งที่คิดว่าเที่ยง  งานบ้าง รถบ้าง ลูกเต้าหลานเหลนบ้าง เงินทองบ้าง ทรัพย์สมบัติบ้าง ที่อยู่ที่อาศัยบ้าง ...เนี่ย เขาเข้าใจว่ามันจะเที่ยง จะคงอยู่  ก็ไปตั้งอยู่กับมัน ...เขาเรียกว่าไปตั้งผิดที่

เพราะไปตั้งในสิ่งที่มันเป็นไตรลักษณ์ หาความแน่นอนไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ ไม่ใช่ของใคร ...แต่ด้วยความไม่รู้ ไม่มีปัญญาน่ะ  เขาไปผูกซะแน่นเลย ว่ามันเที่ยงแน่ๆ ไม่หายไปไหนหรอกบ้านหลังนี้ ... พอมันหายไปให้เห็นต่อหน้าต่อตา...รับไม่ได้

แต่ถ้าตั้งอยู่ที่ใจล่ะ...รับได้นะ หรือถึงไม่ได้ก็ทุกข์น้อยกว่า  ถ้าตั้งแบบไม่หวั่นไหวเลยก็หมายความว่า อื้อ งั้นๆ เป็นธรรมดา  อยู่ในโลกนี่ก็เป็นธรรมดาอย่างนี้ หาความแน่นอนในโลกไม่ได้  มันไม่มากขึ้นก็น้อยลง ถ้าไม่น้อยลงไม่มากขึ้น ก็หายไปเลย  แล้วไม่รู้ด้วยว่ามันจะมาเมื่อไหร่

นั่น ตั้งมั่นแล้ว อยู่ที่ใจรู้อยู่  ตั้งอยู่...ก็รู้ กำลังจะหายไป...ก็รู้ หายไปหมดสิ้น...ก็รู้  เห็นมั้ย ไม่ได้อยู่ตรงนั้น  ถ้าอยู่ตรงนั้นน่ะ ตั้งอยู่...ยิ้ม กำลังจะล้ม...หน้าเบ้ ล้มแล้ว...ร้องไห้ เห็นมั้ย ตั้งอยู่ผิดที่ เป็นอย่างงั้น

ตั้งอยู่...รู้...เฉย  กำลังล้ม...รู้...เฉย  ล้มแล้ว...รู้...เฉย  ไม่เปลี่ยนแปลงรู้นี้  นี่เรียกว่าจิตตั้งมั่น ... ต้องมีที่ตั้งให้มัน ไม่งั้น สติก็รู้อยู่นะ เห็นอยู่นะ แต่ทำไมร้องไห้ล่ะ ทำไมยังทุกข์อยู่ล่ะ ทำไมยังดีใจ-เสียใจ

เห็นอะไรแล้วดีใจ มีสภาวะใดเกิดขึ้นนี่ โหย ภูมิใจ ...หลงแล้วนะ ไม่เห็นแล้วนะว่ามีความอยากแอบไปเข้าอยู่ตรงนั้น ใจหายไปแล้ว สลายกลายเป็นความอยากไปแล้ว ถูกตัณหามันปิดบังแล้วก็สร้างความพอใจ-ไม่พอใจขึ้นมา

ให้รู้ให้ชัด เอาให้มั่น ตั้งลงที่ใจที่เดียวเท่านั้น ...พอมันจะไปตั้งไปหวังกับสิ่งใดข้างหน้าที่ยังมาไม่ถึง  หรือคิดเอา คะเนเอา แล้วก็ไปตั้งมันขึ้นมา แล้วจะไปเอาตรงนั้น เลยไปตั้งอยู่กับมันตรงนั้น ...รู้แล้วให้ละ ไอ้ที่มันหมายไว้

ถึงไม่ได้หมายไว้ แต่มันกำลังทำไปสู่อะไรก็ไม่รู้นั่นน่ะ ...ละการกระทำนั้นซะ  จิตมันกำลังจะพาให้ร่อนออกไป เร่ออกไป 

เหมือนโจรน่ะมันพาออกไป พาทรัพย์สมบัติของคนอื่นไป ...คำว่าของคนอื่นก็คือไม่ใช่ของใคร แต่มันจะเอามาเป็นของเรา นั่นแหละคือโทษ คือผิดศีล...ศีลวิสุทธินะ ไม่ใช่ศีลบัญญัติ ห้าข้อสิบข้อนะ  แต่ตัวนี้ถือว่าเป็นผิดศีลวิสุทธิ ศีลไม่บริสุทธิ์

เพราะนั้นพระอริยเจ้าท่านรักษาศีลข้อเดียว ท่านรักษาที่ใจนี่  ศีลห้าข้อสิบข้อท่านก็งั้นๆ น่ะ ทำไปยังศรัทธาแก่มหาชน นั่น ... แต่ศีลจริงท่านรักษาตรงนี้

จิตนี่ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดหรอก ออกมา...ตาย  ท่านไม่เชื่ออะไรลมๆ แล้งๆ กับจิตปรุงแต่ง ที่เหมือนมันพ่นลมอะไรออกมา ไม่ให้ค่ามันเลย ... ท่านรักษาศีลนี้ รักษาความบริสุทธิ์ของใจไว้ เสมอชีวิต

เพราะฉะนั้นไอ้ที่เขาบอกว่าเป็นพระโสดาบันแล้วศีลบริสุทธิ์  ท่านไม่ละเมิดศีล รักษาศีลเท่าชีวิต คือ นี่ ศีลวิสุทธิ นี่เท่าชีวิต ไม่มีเล็ดลอดเลย ระวังยิ่งกว่าของมีค่าจะสูญหายอีก

บ้านจะพัง รถจะพัง จิตอย่าเคลื่อนนะ เคลื่อนมึงตาย...นี่ท่านรักษานี่เท่าชีวิต  ของนี่ไม่เอามือไปดึงเลยนะ ไม่ไปรั้ง ไม่ไปเหนี่ยว ไม่ไปวิ่งร้องขอความช่วยเหลือ โทรหาใครมาช่วยเอาให้อยู่ ...ท่านไม่สนใจตรงนั้น เอาแต่ตรงนี้เท่านี้ชีวิต รักษาศีลยิ่งชีวิตเลย

ท่านไม่กลัวโลกเสื่อม ท่านไม่กลัวโลกพัง แม้กระทั่งกาย กำลังแตก กำลังหัก กำลังพัง กำลังเอาคืนไม่ได้ ท่านไม่สนใจ ...ท่านสนใจตรงนี้นี่ เท่าชีวิต ท่านเอาตรงนี้คือ...อยู่มั้ย รู้อยู่มั้ย มีรู้อยู่มั้ย ใจยังอยู่มั้ย ยังรู้เป็นปกติมั้ย ...มันผิดปกติเพราะอะไร  ก็ละความผิดปกตินั้นออกซะ นี่ ท่านรักษาศีลเท่าชีวิต 


ที่เราพูดทั้งหมด ไม่ใช่วิธีการปฏิบัติ แต่เป็นหลักปฏิบัติ ... ไม่ใช่วิธีแต่เป็นหลัก  ถ้าเข้าใจแล้วจะเข้าใจว่านี่คือหลัก หลักที่พระพุทธเจ้าท่านวางไว้ ...แต่จะเข้าสู่หลักนี้อย่างไร นั่นคืออุบาย เข้าใจมั้ย ... แต่ถ้าเข้าใจหลักแล้ว จับหลักให้มั่น ... อะไรที่ไม่ใช่หลัก อย่าเสียดาย ทิ้งเลย อย่าไปเอาขยะ

เหมือนเวลาลอยอยู่ในทะเลน่ะ ว่ายน้ำก็ไม่เป็น มันก็ไหลไปตามกระแสน้ำ มันจะพัดไปทางไหนก็ไม่รู้ จมก็จะจม ทะลึ่งขึ้นมาก็หายใจทีนึง เห็นขยะลอยมาก็คว้า เห็นกิ่งไม้ลอยมาก็คว้า ...คว้าแล้วไง ...ก็ไม่ไงน่ะ ก็ลอยไปตามกระแสต่อกับขยะหรือกิ่งไม้สวะกอนั้น 

มีอะไรลอยมา มันก็แตกต่างกันแค่ว่า อันนี้ขยะเปียก อันนี้ขยะแห้ง กิ่งไม้สด กิ่งไม้แห้ง กิ่งไม้ใหญ่กิ่งไม้เล็ก ...แต่ยังไงก็ลอยตามน้ำเหมือนเดิม มันเปลี่ยนหน้าตาไปแค่นั้นแหละ

เพราะนั้นต้องจับหลัก มันมีหลักอยู่...ที่มันไม่ไปไม่มา ไม่ไหลไปตามกระแส  บอกให้เมื่อกี้แล้ว...คือใจ ใจรู้อยู่ นั่นแหละคือหลัก ...แล้วหลักนี่ก็ไม่ต้องหา มันมีอยู่แล้ว ด้วยสติระลึกขึ้น หลักก็ปรากฏ...โผล่ขึ้นมาแล้ว

จับหลักให้มั่น  อย่าเห็นดีเห็นงามกับกองขยะที่ลอยไปลอยมา อย่าไปหลงเชื่อคำโอ้อวด ทั้งจิตตัวเอง ทั้งความเห็นผู้อื่น เอาหลักเดียว...คือหลักใจ นั่นแหละ จับหลักให้มั่น แล้วจะไม่ตกอยู่ใต้กระแสน้ำหมุนวน คือ ทะเลทุกข์ หรือโอฆะสงสาร ห้วงมหรรณพแห่งทุกข์

ถ้าเข้าใจหลักแล้ว เอาหลักอย่างเดียว ... ถ้ายังไม่เข้าใจหลัก หาอุบายที่เข้าสู่หลัก เห็นมั้ย พุทโธก็ตาม ลมหายใจก็ตาม เดินจงกรมก็ตาม นั่งสมาธิก็ตาม นี่คืออุบาย...ให้เข้าคืนสู่หลัก ...จะพิจารณาธรรมบทไหนๆๆ ก็ต้องเข้าสู่หลัก ถ้าไม่เข้าสู่หลัก ยังไงก็คือสวะกองหนึ่ง ที่ลอยไปลอยมา

ไม่ต้องไปไล่เถียงกัน ทะเลาะกัน ใครดีกว่ากัน ...มันผิดทั้งคู่น่ะ  ถ้าออกนอกใจนี้ มันต้องมีความเห็นออกมา มันต้องมีผลประโยชน์ออกมา หรือว่าผลลัพธ์ออกมา ...ซึ่งผลลัพธ์ออกมาก็ไม่เหมือนกันหรอก แล้วจะมาทะเลาะกันทำไม ...ก็บอกให้เลยว่ามันผิดทั้งคู่

รู้ไว้ อยู่ที่รู้ไว้ นั่นแหละถูก...ถูกใจ ถูกใจเลย  ถูกใจตัวเองก็ถูกใจพระพุทธเจ้าน่ะ  ก็ใจดวงเดียวกัน ...มันแบ่งไม่ได้นี่  ถ้าลงที่ใจหรือว่าถูกที่ใจแล้ว มันถูกกับพระพุทธเจ้าเลย พวกเดียวกัน ใจเดียวกัน ... เพราะนั้นถ้าลงที่ใจ ลงที่หลักแล้ว...ถูกใจ

อย่าไปเอาสวะมาเป็นมรรคเป็นผล อย่าเอาความคิดความเห็นเป็นมรรคเป็นผล อย่าเอาอดีต-อนาคตเป็นมรรคเป็นผล อย่าเอาเวลามาเป็นมรรคเป็นผล  

มีเวลาเดียว...“เดี๋ยวนี้”  ถ้าขึ้นชื่อว่า “เดี๋ยวนี้” น่ะ แปลว่ามันไม่มีเวลา มันเกินเวลาแล้ว นอกเหนือจากคำว่าเวลาแล้ว ...เพราะว่ามีเวลาเดียวคือ “เดี๋ยวนี้”

พอมันอ้างว่า ตอนนั้นมั้ย ตอนนี้มั้ย ให้รู้ไว้เลย...มันเป็นความปรุงของจิตเป็นเวลาขึ้นมา ช้าบ้าง นานบ้าง เร็วบ้าง พอเวลามา...เป็นทุกข์แล้ว ปรุงขึ้นมาเป็นเวลาก็ทุกข์แล้ว ... เดี๋ยวนี้เลย รู้มันตรงนั้นเลย  ...นั่น เวลาก็ขาด มันก็หลุดออกจากเวลาแล้ว เห็นมั้ย เหนือกาลเวลา

จึงไม่มีคำว่าช้า จึงไม่มีคำว่าเร็ว จึงไม่มีคำว่าได้ จึงไม่มีคำว่าเสีย ...ถ้ามันไม่ได้ มันจะไปเสียอะไร  ถ้าไม่เอาอะไร มันจะมีอะไร ... นั่นแหละ ไม่ต้องกลัวเสื่อม เพราะมันไม่เจริญ ...ไอ้ที่พวกเรากลัวเสื่อมเพราะมันอยากเจริญ พอได้เจริญแล้วมันก็เลยเสื่อม เพราะเจริญไม่เที่ยง

เพราะนั้นถ้าได้มันก็ต้องมีเสีย ถ้ามีเสียมันก็ยังมีการหาต่อ ...ก็ไม่เสีย ไม่หา ไม่ไป ไม่มา ไม่มี ไม่เป็น ...มีอยู่ที่เดียว รู้อันเดียว นั่นแหละเต็ม...มันเต็ม มันเต็มอยู่ในที่นั้นน่ะ มันพอดี มันไม่ขาด มันไม่เกิน นั่นน่ะเต็มในองค์มรรค

ทำความเต็ม เติมเต็ม...ด้วยศีล สติ สมาธิ ปัญญา...ในใจดวงนั้นอยู่เสมอ ...ไม่หวั่นไหว ไม่ท้อถอย ไม่ขี้เกียจ ไม่ขี้คร้าน ไม่หาอะไรอื่นที่เข้าใจว่าดีกว่า...ไม่เอา

ช้า-เร็ว ไม่สน ไม่มีเวลา ...มีเวลาเดียว เวลานี้ เดี๋ยวนี้ ตอนนี้ ขณะนี้ เท่านั้น ... ใครเขาจะเร็ว ใครจะช้า ก็อนุโมทนา ...ไปเหอะ ไม่ไปด้วยแล้ว ไม่ตามไปหรอก  จะอยู่ตรงนี้ อยู่ที่เดียวนี่ ...ให้เขาไป อย่าเอาความคิดตามเขาไป อย่าเอาจิตตามเขาไป เดี๋ยวถูกหลอก ... ไม่ไป

เดี๋ยวตัวเองก็หลอกตัวเองอีก “เดี๋ยวไม่ได้นะ ต้องตามเขาไปซะหน่อย เดี๋ยวตกรถ” ... ไม่เอา ไม่ไป อยู่ตรงนี้ รู้อยู่ๆ รู้อยู่ที่เดียว  ดูดิ๊ใครจะแน่กว่ากัน ระหว่างจิตที่มันลากไปลากมา...กับจิตที่รู้อยู่

นี่ อำนาจของสติสมาธิปัญญา เป็นอุปกรณ์ที่จะรักษาใจไว้ให้อยู่ในที่อันเดียว นั่นคือเป้าหมายของสติสมาธิปัญญา ที่จะมาชำระ...สู่ความเป็นศีลวิสุทธิ คือความเป็นปกติของทั้งใจและขันธ์ คือธรรมดา  

กลับมารักษาศีล ...สติก็รักษาเพื่อให้เกิดความเป็นปกติ สมาธิก็ตั้งมั่นรับรู้รับทราบกับทุกอย่างเป็นปกติ ให้เขาเป็นไปตามปกติ ปัญญาก็ยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างตามปกติ มากก็มาก น้อยก็น้อย ลงก็ลง ให้เขาเป็นไปตามปกติ ด้วยใจที่เป็นปกติ 

เห็นมั้ย ทุกอย่างมันมาสงเคราะห์ลงสู่ความเป็นศีลวิสุทธิหมด คือความบริสุทธิ์เป็นปกติธรรมดา

เพราะตอนนี้คนทั่วไปนี่มันไม่ธรรมดาเลย มันชอบเหนือธรรมดา มันอยู่แบบเหนือธรรมดา ... เพราะจิตมันชอบปรุง แต่งแต้มสีสัน เติมแต่ง เห็นมั้ย  ในโลกนี่มันจึงอยู่แบบผิดธรรมดา เพราะมันแต่งแต้มสีสัน ด้วยจิตปรุงแต่ง หรือว่าจิตสังขาร

ศีลสมาธิปัญญาจึงเป็นตัวที่ปรับให้คืนสู่สภาพเดิมหมดเลย คืนสู่ธรรมชาติเดิมหมดเลยทั้งกายทั้งใจ ... เพราะนั้นยิ่งธรรมดาเท่าไหร่ ยิ่งจืดชืดลงเท่าไหร่ นั่นแหละมันเหมือนกระดาษขาวน่ะ นั่นแหละคือปกติ 

แต่ตอนนี้ที่มันเป็นกันนี่คือกระดาษที่ขีดเขียนเติมสีน่ะ นี่ ปรุงแต่ง แต้มลงไปในกระดาษเปล่า แล้วก็มาหลงรูป หลงข้อความ ... เป็นจริงเป็นจังกับมัน 

แต่ถ้าดูโดยที่ว่ารากเหง้า ต้นธาตุ ต้นธรรม ต้นจิต ...มันไม่เป็นอะไรสักอย่าง ราบเรียบ เป็นธรรมดา เป็นกลาง เสมอกันหมด 

ดูเอา ไปสังเกตดู  จิตแรกน่ะ ทีแรกคืออะไร ... เมื่อใดที่เรารู้ขณะแรก แล้วมันปรากฏยังไง นั่นแหละ ยังงั้น ...มันไม่มีอะไร ไม่ว่าอะไรเลย นั่นแหละ ตรงที่สุด


.......................................
                                                                  


แทร็ก 6/11 (1)



พระอาจารย์

6/11 (541231C)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

31 ธันวาคม 2554

(ช่วง 1)



(หมายเหตุ : แบ่งโพสต์เป็นสองช่วงค่ะ)

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องคิดอะไรมากหรอก ...รู้อย่างเดียว  ไม่ต้องหา พอหาก็รู้ว่าหา อยากก็รู้ว่าอยาก สงสัยก็รู้ว่าสงสัย กลัวก็รู้ว่ากลัว กังวลก็รู้ว่ากังวล คิดก็รู้ว่าคิด ...รู้อย่างเดียว ไม่ต้องทำอะไรน่ะ 

รู้อย่างเดียว ...ช่างหัวขันธ์ ช่างหัวมัน ... ช่างหัวมัน มันก็คือขันธ์ ขันธ์ก็คือมัน ...ช่างหัวมัน 

ถ้าว่าช่างหัวมันแล้วก็อย่าไปหามัน ...อย่าไปหามัน แล้วก็อย่าไปปลูกต้นมัน อย่าไปปลูกมัน ...ก็ให้ช่างมัน ทิ้งมัน ปล่อยมัน ไม่เอามัน ละมัน วางมัน ... ทั้งหมดน่ะคือมัน 

อย่าไปหามัน อย่าไปเห็นมัน อย่าไปดูมัน อย่าไปกังวลกับมัน อย่าไปเอาจริงเอาจังอะไรกับมัน อย่าเอามันมาเป็นธุระ อย่าไปแบกมัน อย่าไปหาบมัน  เห็นมั้ย มันทั้งนั้นแหละ  ก็เลยบอกว่าวิธีการคือ...ช่างหัวมัน

ถ้าอยู่ในมรรคนะ...ช่างหัวมัน ทิ้งหัวมัน ทิ้งมัน วางมัน ปล่อยมัน ละมัน ไม่เอามัน ไม่หามัน  

ดูสิว่าใจของเรา จิตของเราตอนนี้ มันทำในแง่ไหนล่ะ ... มันทำในแง่ที่ว่า...กูจะเอากับมัน กูจะหามัน กูจะรักษามันไว้ กูจะทำให้มันมันมากขึ้น ... นี่ มันตรงข้ามกันเลยรึเปล่า

ถ้ามรรคนี่...ช่างหัวมัน ทิ้งมัน วางมัน ปล่อยมัน ไม่เอามัน ละมัน ไม่แบกมัน จนถึงว่าไม่หามัน ...เอาให้หัวมันนี่เต็มโลกไปเลย ...ทิ้งมัน

หู้ย แต่ตอนนี้มันมีแต่คนขุดหาหัวมัน ขุดไม่เจอยังปลูกอีก  เอ้า กลัวไม่อิ่ม หือ ... มันกลัวไม่อิ่ม มันกลัวไม่อร่อย 

ไอ้คนนึงไปขุดได้นี่ หูย โชว์...ได้หัวมันก้อนเท่านี้  ไอ้เราได้ก้อนนี้...อุ้ย อาย มันเทียบกันไม่ติดเลย  เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ทำไมมึงได้หัวมันเยอะกว่ากู หัวมันกูนิดเดียว

ใครได้หัวใหญ่ก็แบกหนักหน่อยนะ ใครได้หัวเล็กก็แบกน้อยหน่อย  แต่มันมีความกระสัน ทะเยอทะยาน อยาก ...เอาเขามาเปรียบเทียบน่ะ  เมื่อไหร่จะได้มันเท่าเขาวะ ดูเขาเดินแบกหราๆ เลย หน้าเขาบานเป็นเท่าหัวมันนั้นเลย  ...แต่ว่าเหงื่อนี่ซ่กเลยนะ มันไม่เห็นหรอก มีแต่ครูบาอาจารย์น่ะเห็น

ไอ้คนแบกหัวมันกับไอ้คนขุดหัวมันนี่มันไม่รู้เรื่องหรอก ต่างคนต่างขุด ต่างคนต่างแบก อื้อ มันทำงานนี่กันเป็นกิจวัตรเลย ...แล้วก็แบกมันมารายงานอาจารย์ “อาจารย์ ผมได้หัวมันเท่านี่แน่ะ” 

เหรอ...อาจารย์ก็ตาตื่น เนี่ย ลูกศิษย์กู (หัวเราะ) ... “กูสั่งให้มึงแบกเหรอ กูสั่งให้มึงทิ้งหัวมัน ช่างหัวมัน  มึงเสือกแบกมันมาอวดกูซะอีก จะเอามาทำซากทำไม หือ นู่น เอาไปทิ้งในป่านั่นไป๊”

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เอาอะไรนะ...แค่รู้มัน เห็นมัน เข้าใจมัน...แล้วก็ละมัน ...นะ

กิเลสความอยากได้ อยากมี อยากเป็น...ก็ละมัน  กิเลสอวดเนื้ออวดตัว...ก็ละมัน  ขี้อวด ขี้โอ่ อยากดีอยากเด่น...ละมัน

ไม่ได้สอนสนับสนุนให้เอาอะไรเลยน่ะ  เพราะนิพพาน...อนุญาตได้แค่ใจดวงเดียวเท่านั้น  อย่าว่าแต่หัวมันเลย แค่เปลือกที่ห่อหุ้มใจอยู่ ยังเข้าไม่ได้เลย ...แค่อาสวะเยื่อใยบางจนแทบเสมือนเชื่อมเป็นเนื้อเดียวกับใจนี่...ยังเข้าไม่ถึงเลยนิพพาน

นี่พ่อเล่นแบกมันเป็นกุรุสนะ มันคิดว่าจะเข้านิพพานได้มั้ง  หรือจะเอาไปกินชาติหน้า ... อื้อ นี่พอได้อยู่ เอาไว้เป็นเสบียงชาติหน้าได้น่ะ...บุญ-บาปนี่  นี่คือบุญ-บาปนะ นี่คือบารมีนะ ... แต่ถ้าใช้จนโง่งมงาย ก็จะติดบุญ ติดบาป ติดบารมี

ถ้าผู้มีปัญญา ฉลาดแล้ว มองแล้วว่าไม่มีค่า...เห็นว่ามันไม่มีค่าแล้ว มีโทษมากกว่าคุณ ทำให้ติดข้องมากกว่าการที่จะหลุด ปล่อยออก ... เพราะเห็นว่าเป็นเครื่องหน่วงรั้ง เป็นเครื่องหน่วงเหนี่ยว ก็ละได้โดยไม่ใยดี  จึงเรียกว่าอนาลโย...ไม่หวนคืน

เสียดายมั้ย ...ไม่เสียดาย ไม่หวนคืน ไม่เอากลับอีก ทิ้งแล้วทิ้งเลย ... ใครจะมาเสนอให้เอาใหม่ ใครจะมาบอกว่า อันนั้นดีกว่า อันนี้ดีกว่า แล้วก็ทำอย่างนี้จะได้ของที่ดีกว่า ...ไม่เอาเลย รู้อย่างเดียว เหลือแค่รู้อันเดียว เหลือแค่รู้ล้วนๆ 

นอกนั้นไม่สน ไม่ไปคา ไม่ไปข้อง ไม่ไปติด ไม่ไปขุดค้น ไม่ไปครอบครอง ไม่ไปแบก ไม่ไปหาม ไม่ไปเป็นเงื่อนเป็นปมกับตรงอะไรเลย  นั่นแหละรู้ล้วนๆ 

ขนาดเหลือแต่รู้ล้วนๆ ยังไม่รอดเลย บอกให้ ยังต้องมะงุมมะงาหรากับตัวของมันเองอีก

ไอ้พวกเราเบื้องต้นนี่ ใจอยู่ไหนก็ยังไม่รู้ ...ไอ้อยากหาธรรมข้างหน้าก็อยากหา...แต่ก็ยังไม่เห็น  ไอ้ใจอยู่ไหน บอกให้อยู่ที่ใจ ใจกูอยู่ไหนกูก็ยังไม่รู้เลย ... ธรรมท่านบอกให้ละ ไม่ให้ทำอะไร ก็ว่า “แล้วกูจะได้อะไรๆ”  นี่ เลยกลายเป็นของยากไปทั้งสองอย่างเลย

เพราะนั้นตัดปัญหา ไม่สนใจ รู้อย่างเดียว รู้โง่ๆ ... รู้โง่ๆ นั่ง-รู้ ยืน-รู้ อะไรก็รู้ไว้ก่อน  ถามตัวเอง...รู้มั้ย  ถามบ่อยๆ...รู้มั้ย รู้อยู่รึเปล่า... แล้วก็รู้ซะ...ว่าสภาวการณ์ตรงนั้นเป็นยังไง เห็นอะไร ได้ยินอะไร มีความรู้สึกอย่างไร กายอยู่ท่าไหน  นั่นน่ะ รู้มั้ย ให้รู้แค่นั้น...พอแล้ว

เตือนตัวเองให้กลับมารู้แค่นั้น...พอแล้ว ... นอกนี้ไป...มันจะเสนอแนะอะไรขึ้นมาเป็นจิตสังขาร ด้วยความอยาก ความทะเยอทะยานใดๆ ก็ตาม...ไม่เอา  ต้องหัวแข็ง ทวนมัน ...เอาแค่นี้ รู้แค่นี้ เท่าที่ตาเห็น เท่าที่หูได้ยิน เท่าที่อากาศสัมผัสเดี๋ยวนี้ อุณหภูมิขณะนี้ มันรู้สึกยังไง เย็นร้อนอ่อนแข็งยังไง ...รู้เท่านี้

กายอยู่ในท่าไหน...รู้ท่านั้น  ไม่ต้องคิดถึงกายข้างหน้า-กายข้างหลังแล้ว 'เดี๋ยวเราจะไปไหน เดี๋ยวเราจะทำอะไร' นั่น ข้างหน้า...ไม่เอา  เอากายนี้ เอากายนี้กายเดียว กายอื่นไม่เอา ไม่เอาคนอื่นมาเป็นความคิด ความว่าเรื่องคนนั้น เรื่องคนนี้...ไม่เอา  ...เอากายนี้กายเดียว 

นั่น เอาให้มันเด็ดลงในปัจจุบัน รวมลงเป็นหนึ่งในปัจจุบัน ...เตือนสติตัวเอง เตือนไว้บ่อยๆ  

พอมันเริ่มค้น เริ่มหา เริ่มลังเล เริ่มสงสัย ในธรรมที่ยังไม่ปรากฏ ...ไม่เอา ไม่หาแล้ว ไม่มีประโยชน์ เสียประโยชน์ เสียเวลา ...กลับมาอยู่ตรงนี้ รู้ตรงนี้พอแล้ว รู้ที่นี้พอแล้ว รู้เดี๋ยวนี้พอแล้ว ...เท่าที่เดี๋ยวนี้มันมี

นั่นแหละเป็นธรรมทั้งแท่งเลย เป็นธรรมล้วนๆ เลย  ธรรมอยู่ต่อหน้าต่อตา ... อย่าไปเชื่อมัน จิตสังขารน่ะ จิตที่มันเกิดจากความปรุงแต่งน่ะ คือออกมาจากความไม่รู้ทั้งสิ้นน่ะแหละ  มันจะบังคับ มันจะเสนอให้เราไปหานั่นทำนี่อยู่เรื่อยน่ะ

มันจะให้หาธรรมอันนั้น หาธรรมอันนี้  ทั้ง ทำ...ท-อำ ทำ และธ-ร-ร-ม...ธรรม  มันหาสองธรรมนี่แหละ ทำไปเรื่อย เพื่อให้ได้ธรรมที่ดีกว่า ถึงดีที่สุด ...มันไม่มีหรอก ไม่มีเจอหรอก  ถ้าจะเจอต้องเจอตรงนี้ เดี๋ยวนี้ ... เพราะนี่คือสัจธรรม เป็นธรรมตามจริง

ร้อนจริง แข็งจริง ปวดจริง นี่ มันจริงนะ มันปรากฏอยู่ตรงนี้ ... ข้างหน้าเป็นไง...ไม่รู้ไม่สน  ดูตรงนี้ รู้ตรงนี้ รู้ที่นี่ ที่เดียว ...ให้มันสั้นลงอยู่แค่นี้แหละ หดลงมา ให้มันเหลือแค่ขณะปัจจุบันเท่านั้น รวมลงให้ได้

ไม่ได้ก็ต้องได้ ...เพราะนี่คือต้นธรรม ต้นทางธรรม ต้นองค์มรรค ... ถ้าไม่เดินเริ่มต้นจากต้นแล้วนี่ จะไปหาปลายไม่เจอหรอก ผิดทาง ไม่ใช่ปลาย ... ไม่ใช่อยู่ดีๆ มาเริ่มก็จะเอาปลายเลย...ไม่ได้  หรือเริ่มแล้วก็จะเอาตรงกลางทางเลย...ไม่ได้  

ต้องเริ่มต้นที่นี่ ระหว่างเดินก็เดินอยู่ที่นี่ แล้วสุดท้ายที่สุดสายปลายทางก็อยู่ที่นี่ เข้าใจมั้ย ไม่มีที่อื่นเลย

การปฏิบัติมันสั้นนิดเดียว ...ไอ้ที่มันยากเยอะแยะเพราะมันทำตามจิตปรุงแต่ง ทำตามความจำได้ ทำตามความคาดคะเน ทำตามความเชื่อ ...ผลมันเลยได้ไม่เสมอกัน ไม่เห็นธรรมอันเดียวกัน เห็นธรรมคนละแบบ 

เพราะเป็นธรรมที่เกิดขึ้นจากความปรุง เป็นธรรมที่เรียกว่าสังเคราะห์ขึ้นด้วยตัณหาอุปาทาน ...เพราะนั้นธรรมนั้นจึงแปรปรวน คลาดเคลื่อน เป็นยังไงก็ได้ ...ไม่จริง ไม่ตรง เทียม ปลอม ธรรมปลอมๆ  

แต่ธรรมเดี๋ยวนี้ ปัจจุบันนี้น่ะจริง...เป็นธรรมดา ... ถ้าธรรมจริงน่ะเป็นธรรมดา ไม่มีสีสัน ไม่แต่งแต้ม ไม่มีอะไรแต่งแต้มเจือปน ...เพียว(pure)

นั่งก็นั่งเพียวๆ รู้จักนั่งเพียวๆ มั้ย...ไม่มี "เรา" ในนั่ง สุดท้ายไม่มีแม้กระทั่งนั่ง ...นั่นน่ะเพียว  เป็นอะไรที่ไม่มีคำพูด เป็นอะไรที่ไม่มีภาษา เป็นอะไรที่ไม่มีสมมุติ เป็นอะไรที่ไม่มีบัญญัติ...นั่นน่ะเพียว

แล้วพวกเราอยู่กับธรรมเพียวๆ มั้ย ... เพราะมันอดไม่ได้ที่จะแต่งแต้มเติมสีสันวรรณะ สถานะ ความน่าจะมี ความน่าจะเป็น  นั่นแหละ มันแต้ม  จิตไม่รู้นี่มันคอยเข้าไปแต้ม เอาสมมุติไปแต้มบ้าง เอาทิฏฐิไปแต้มบ้าง ...มันจึงคลาดเคลื่อนจากธรรมเพียวๆ หรือธรรมบริสุทธิ์

เพราะนั้นกายตรงนี้ก็คือกายธรรม ...ถ้าเรารู้ตรงๆ รู้แบบไม่ต้องไปหือหาอืออา เอะอะมะเทิ่งอะไรกับมัน  มันก็จะเห็นกายตรงๆ เลย มันจะตรงเข้าไปเรื่อยๆ ลงที่กายอันเดียว...ที่เป็นกายล้วนๆ ที่ไม่ใช่กาย  

กายก็เหลือเป็นกายที่ไม่ใช่กาย เป็นอะไรอย่างหนึ่ง ไม่มีภาษา  จริงๆ นั่นแหละธรรม  ...มันก็เห็นธรรมตามจริง เพราะนั้นไอ้ตัวที่เห็นธรรมตามจริงที่สุด คือที่ไม่มีอะไรออกมาในความหมาย ความเห็นในตัวของมันเลย

ใจที่มันเห็นสภาพธรรมตรงนี้ เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ ... ที่ท่านเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ ที่ท่านบอกว่าสัมมาทิฏฐิ คือรู้ชอบเห็นชอบ ใช่มั้ย  เพราะนั้นความเห็นนี้จึงเป็นความเห็นที่ชอบที่สุด จึงเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ เพราะมันเห็นธรรมตรงๆ เลย

ไอ้ที่เราเห็นว่า "เรานั่ง" นี่ ยังเห็นไม่ชอบ  ถ้าเห็นว่าไม่ใช่ว่าเรานั่ง เห็นว่านั่งบ่ดาย นั่งซื่อๆ แล้วก็รู้อยู่ ...ก็เริ่มสัมมานิดๆ แต่ยังไม่เป็นสัมมาทิฏฐิที่สุด  เพราะมันยังมี “นั่ง” อยู่  เข้าใจมั้ย  ...กายนี้ไม่ใช่นั่ง ยังไม่ใช่นั่งโดยตรง

พอมันลบบัญญัติลบสมมุติออก ทะลุเข้าไปถึงกายตรงๆ ที่ไม่มีภาษา ไม่มีความหมาย ไม่มีคำว่าสัตว์บุคคลชายหญิงปั๊บ สัมมาทิฏฐิปรากฏ  แล้วอาศัยที่ใจดวงนี้รู้เห็นสัมมาทิฏฐิต่อเนื่องไป บ่อยๆ จนต่อเนื่อง จนไม่แปรปรวน จนไม่คลาดเคลื่อนจากธรรม

ตรงนี้ จึงจะเป็นสมุจเฉท ...สมุจเฉท คือประหารความเห็นผิดที่เคลื่อนออกมาจากธรรมนี้ 

เข้าใจคำว่า “ธรรมนี้” มั้ย  ...คือถ้าเคลื่อนออกจากธรรมนี้ ก็เป็นธรรมนั้น ธรรมโน้น  คือธรรมที่เกิดเนื่องด้วยความเห็นผิด ธรรมที่เกิดเนื่องด้วยความอยาก ธรรมที่เนื่องออกมาด้วยความเห็นใดความเห็นหนึ่ง ...ไม่ใช่ธรรมนี้

ถ้าเคลื่อนออกจากธรรมนี้ปุ๊บ มันเคลื่อนเลย เป็นธรรมที่ถูกอำนาจของความไม่รู้เข้ามาสังเคราะห์สอดแทรกปรุงแต่ง เคลื่อนจากความเป็นจริงเลย ...มันจะมีผลพวงตามมา คือมันจะมีแอบความยึดมั่นถือมั่นนิดๆ ออกมานิดนึง คือมีความเศร้าหมองออกมานิดนึง

ถ้ายังไม่รู้อีกนะ ยังขยันปรุงขยันแต่งออกไปนะ อุปาทานยิ่งหนาแน่นขึ้น ความเศร้าหมองขุ่นมัวในธรรมยิ่งมากขึ้น ยิ่งมืดขึ้นไปตามลำดับ เข้าใจมั้ย ... เพราะนั้นยิ่งค้นยิ่งหาเท่าไหร่ ยิ่งไกล ยิ่งออกห่างธรรม ไม่ได้ใกล้ธรรมเลย

ไอ้รู้โง่ๆ รู้แบบไม่เห็นอะไร ไม่เข้าใจอะไรเลย ไม่มีความหมายใดๆ ไม่รู้ว่ามันคืออะไรเลย ...นั่นแหละรู้มันเข้าไป 

เพราะมันเป็นแค่อาการใดอาการหนึ่ง ...ไม่อย่างนั้นท่านไม่พูดว่าสักแต่ว่ากาย  เห็นกาย...สักแต่ว่ากาย เข้าใจมั้ย  มหาสตินี่  จิตสักแต่ว่าจิต ธรรมสักแต่ว่าธรรม เวทนาสักแต่ว่าเวทนา

เมื่อใดที่เห็นกายเป็นสักแต่ว่านี่ มันไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดีแล้ว  ไม่ต้องพูดถึงว่าหญิง-ชายเลย ไม่ต้องพูดว่าสวย-ไม่สวยเลย  มันเป็นอะไรก็ไม่รู้ แล้วก็ไม่ได้ว่าอะไรทั้งสิ้น ...เพราะว่าโดยความเป็นจริงมันไม่ได้ว่าอะไรสักอย่าง

เพราะนั้นเมื่อใดที่เห็นกายสักแต่ว่ากาย หมายความว่าขณะนั้นเข้าไปถึงภาวะที่เรียกว่า กายวิเวก  และผู้ที่เข้าไปเห็นกายวิเวกนั้น ก็คือจิตวิเวก เข้าใจมั้ย ... เคยได้ยินมั้ย มันมีสามวิเวกน่ะ  กายวิเวก จิตวิเวก แล้วก็อุปธิวิเวก นั่นคือปัญญา เห็นด้วยปัญญาล้วนๆ

ก็อาศัยที่กายวิเวก จิตวิเวก บ่อยๆ ... รู้เฉยๆ จิตวิเวก คือใจรู้ ดวงจิตผู้รู้...รู้เฉยๆ ไม่มีความปรุงแต่งต่อขันธ์ที่ปรากฏ ไม่เข้าไปปรุงแต่งกับขันธ์ที่ปรากฏ  มันปรากฏยังไง...รู้ยังงั้น  

คิดก็ช่าง สุขก็ช่าง ทุกข์ก็ช่าง  มันปรากฏเป็นยังไง...แค่นั้น  ไม่ไปปรุงต่อกับมัน นี่เขาเรียกว่ากายวิเวกกับจิตวิเวก  อยู่แค่นั้นน่ะ ...มันมากขึ้นก็มาก น้อยก็น้อย จนกว่ามันจะดับไปเอง ตามธรรมอันควร ...สมควรแก่ธรรม 

พอมันดับปุ๊บ จิตวิเวกดับ รู้นั้นก็ดับ พร้อมกับขันธ์ที่ดับ เข้าใจมั้ย ...นั่นแหละมันจึงเข้าสู่ที่เรียกว่าปริสุทธิ วิเวกที่สุด  คือใจมันเห็นความไม่มีอะไรในของสองสิ่ง คือเห็นความเป็นอนัตตา...ทั้งขันธ์และใจ ใจรู้ ผู้รู้ ...ไม่มีความเป็นสัตว์บุคคลในทั้งสองสิ่ง

ก็รู้เห็นอยู่เสมอ ด้วยความพากเพียร ไม่ออกนอกนี้ ...  เพราะนั้นถ้าออกนอกนี้ ตกองค์มรรคแล้ว  อย่าไปงมงาย อย่าไปงมหาอะไรอยู่กับมัน อย่าไปหาธรรมในความมืด ...ไม่มีหรอก  

ให้มันแจ้งอยู่เดี๋ยวนี้ มันไม่มีอะไรตรงเดี๋ยวนี้ด้วย บอกให้  เพราะตัวมันก็ไม่มีอะไรอยู่แล้ว ... ไอ้ที่ว่ามีว่าเป็นน่ะ มันว่าเอาเองด้วยจิตปรุงแต่ง...จำ กับปรุง กับคิด แค่นั้นแหละ ก็มีความเห็นขึ้นมา  ...แต่ถ้ารู้เฉยๆ กับมัน มันก็ไม่ได้ว่าอะไร  ดีก็ไม่ว่า ร้ายก็ไม่ว่า เป็นใครก็ไม่ว่า ของใครก็ไม่ว่า

รู้ไปตรงๆ รู้แบบโง่ๆ รู้แบบไม่มีความเห็นกับมัน ไม่เดือดร้อนกับมัน...เรื่องของมึง ... นี่ เขาเรียกว่ารู้แบบ “ช่างหัวมัน”  

ไม่ใช่คอยแต่จะเอาอะไรกับมัน จะหาอะไรกับมัน หือ ... จะเอามาทำพันธุ์รึไง จะเอามาต้มแกงกินรึไง จะเอามาแพร่เชื้อรึไง หรือจะเอามาเก็บไว้กินในภายภาคหน้า...ไม่เอ๊า

ช่างหัวมัน...ดูแบบช่างหัวมัน ไม่เอาอะไรกับมัน ... เรื่องของมัน ไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของใคร เป็นเรื่องของขันธ์ ... ขันธ์ก็เรื่องของขันธ์ ไม่ใช่เรื่องของใครน่ะ ...ดินก็เป็นดิน น้ำก็เป็นน้ำ ลมก็เป็นลม เนี่ย


ต่อไปมันไม่มีใครนั่ง ไม่มีใครเดินแล้ว ...สบาย  พอจะตายก็...ไม่มีใครตาย ... ไอ้ที่มันกลัวตาย เพราะกลัว “เรา” ตาย  

พอดูไปดูมา เอ้ย ใครตาย ... ไม่มีใครตาย  มีแต่ดินตาย ลมตาย ไฟตาย อากาศตาย อากาศแตก ดินแตก  ไม่เห็นมีใครตาย ... มันจะไปทุกข์อะไร

(ต่อแทร็ก 6/11 ช่วง 2)