วันเสาร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 6/29 (3)


พระอาจารย์
6/29 (550110B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
10  มกราคม 2555
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 6/29  ช่วง 2

พระอาจารย์   เห็นมั้ย ถ้ามันมีสติจริง มันจะทวนกลับอยู่เสมอ ...แล้วมันจะเห็นผู้อยู่เบื้องหลัง มันจะเห็นตัวที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง...คือใจ คือผู้รู้ คือผู้เห็น

แล้วอะไรเกิดขึ้นน่ะ ใจมันมีอยู่เสมอ...ต้องให้มีใจอยู่เสมอ อย่าให้คลาดเคลื่อน อย่าให้หาย อย่าให้ล้ม อย่าให้เลือนออกไป ...รู้เห็นสำคัญที่สุด อย่างอื่นไม่สำคัญหรอก

ชัดก็รู้ว่าชัด เบลอยังรู้ว่าเบลอเลย เอาให้มันรู้ขึ้นมาให้ได้...ไม่ได้ก็ต้องได้ ...เพราะโดยธรรมชาติ ใจไม่เคยหายไปไหนนะ

เหมือนพระอาทิตย์ในวันที่ฟ้ามีเมฆมืดครึ้ม เรามองไม่เห็นพระอาทิตย์...แต่ถามก่อนว่าพระอาทิตย์อยู่มั้ย นั่น วันไหนที่ฟ้าแจ่มใสก็เห็นพระอาทิตย์ชัดเจน พระอาทิตย์ก็อยู่

แต่วันไหน..หรือแม้แต่วันเดียวกันนี่ พอกลางคืนปุ๊บ มืด มองไม่เห็นพระอาทิตย์ ...แต่ถามว่าพระอาทิตย์อยู่มั้ย พระอาทิตย์ก็ยังอยู่ ...เหมือนกัน ใจนี่มีอยู่ตลอด

แต่ที่หายไปไม่เห็นนี่...เพราะโมหะครอบงำ เพราะความจริงจังในขันธ์ครอบงำ ความคิดครอบงำ อารมณ์ครอบงำ อดีตครอบงำ อนาคตครอบงำ เรื่องราวต่างๆ ครอบงำ ปิดบังใจดวงนี้อยู่

เพราะนั้นพระพุทธเจ้าให้อุปกรณ์ไว้ สติ สมาธิ ปัญญา นี่คือเครื่องมือที่จะหยั่งลงไปถึงใจ เพื่อจะเปิดช่องออกในขณะนึง ให้เห็นใจ...ว่ามีอยู่นะ สว่างอย่างแสงสว่างของพระอาทิตย์ มันจะเปิดขึ้นมา

คือผู้รู้ คือใจรู้ใจเห็น มันจะแหวกฟ้าแหวกดินออกมา เป็นรู้เห็นอยู่ต่อหน้าทุกสิ่ง..ทุกสรรพสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะมืดครึ้มขนาดไหนมันก็สามารถจะรู้ มีรู้อยู่ในนั้น มีรู้เกิดขึ้น

เพราะนั้นถ้าไม่มีสติ ไม่มีทางเห็นใจเลย ...นึกๆ คิดๆ ก็ไม่เห็น อ่านมาเข้าใจเอาเองก็ไม่ใช่ ...จะต้องเป็นสติที่เป็นสัมมาสติ ใจก็จะปรากฏขึ้น ณ ที่นั้น ณ บัดดล ณ บัดนาว เดี๋ยวนั้นขณะนั้นเลย 

เพราะนั้นสติเปิดแหวกฟ้าแหวกดินให้เห็นแล้ว ถ้าไม่รักษาไว้ล่ะ ปึ้ม ครอบงำใหม่ ...เพราะนั้นตัวที่จะรักษาใจไว้อ่ะ ก็คือสมาธิ ตั้งมั่นอยู่ที่ใจ ...ไม่รักษาไว้มันก็ไม่ตั้งมั่น ยังไงก็ต้องรักษา

ท่านไม่ได้ให้ว่าต้องรักษากาย รักษาจิต หรือว่ารักษาอารมณ์ หรือว่ารักษาสภาวะ ...แต่ท่านให้รักษาใจเอาไว้...ด้วยสมาธิ ไม่ใช่รักษาใจไว้ด้วยความอยากนะ

ไม่ได้รักษาใจไว้ด้วยอะไรอย่างโง้นอย่างงี้นะ ...ท่านให้รักษาไว้ด้วยสติและสมาธิ...รู้บ่อยๆ เห็นบ่อยๆ  รู้บ่อยๆ ในปัจจุบันนั้นบ่อยๆ ใจก็ปรากฏขึ้น

แล้วก็รักษาใจรู้ใจเห็นนั้นด้วยการหยั่งไว้ น้อมไว้เสมอที่ใจ ...ความตั้งมั่น ชัดเจน อยู่ในใจดวงนั้นก็จะปรากฏ แนบแน่นขึ้น แข็งแรงขึ้น แน่นหนาถาวรขึ้น

อย่างอื่นไม่เที่ยงช่างมัน ทำใจให้เที่ยงไว้ก่อน ทำใจให้ตั้งไว้ก่อน ...ยิ่งมากยิ่งดี ไม่ต้องกลัว  อย่างอื่นมากไปไม่ดี น้อยไปก็ไม่ดี  แต่เอาใจตั้งมั่น สติตั้งมั่นไว้กับใจมากๆ ยิ่งดี

มันจะได้เกิดความชัดเจนในธรรมที่ปรากฏ มองเห็นในธรรมที่เคลื่อนไปเคลื่อนมา ในธรรมที่หาความแน่นอนไม่ได้

เหมือนเรานั่งอยู่บนคอนโด นั่งอยู่เฉยๆ ไม่ไหวไม่ติง นั่งอยู่หน้าระเบียงหน้าต่างแล้วก็มองลงไปที่ถนนหน้าคอนโด เป็นห้าแยก นั่งอยู่เฉยๆ ไม่ขยับไม่เขยื้อน ดูมันไป นั่น 

แต่ถ้าไม่นั่งดู ไม่นิ่งดูมัน  เดี๋ยวก็ไปทำกับข้าว เดี๋ยวก็ไปคุยโทรศัพท์ เดี๋ยวก็วิ่งกลับมาดูอีกทีนึง...อ้าว เฮ้ย เมื่อกี้มีรถผ่านไปกี่คันวะ หรือไม่มีรถเลย หรือมีรถชนกันมั้ย หรือมีรถใหญ่รถเล็กมา

มันไม่เห็นน่ะ มันไม่เห็นถนน ไม่เห็นการจราจรนั้น มันดำเนินไปอย่างไร โลกเขาหมุนไปยังไง มันตั้งมั่นจริง มันเกิดจริง มันดับจริง หรือว่าใครทำให้มันดับวะ หรือใครไปเรียกร้องให้มันมา

เนี่ย มันก็ไม่เห็น มัวแต่ไปลุกลี้ลุกลนเข้าห้องโน้นออกห้องนี้ ไปทำธุระปะปังยังค้างๆ คาๆ ตรงนั้น ...มันก็ไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาดูอยู่ในที่อันเดียวแล้วก็ดูด้วยความสงบ นิ่ง

ไม่กระโจนไม่กระโดดไม่ทำงานอื่น ก็ละไว้ทิ้งไว้  ก็ดูความเป็นไปของถนนหนทาง มีใครเดินไปมีใครเดินมา ...มันก็เห็นความเป็นจริงของขันธ์ที่ผ่านไปผ่านมา

นั่น มันต้องมี มันต้องรักษาสถานที่นี้ไว้ คือต้องนั่งตั้งมั่นอยู่ในที่อันเดียว คือใจต้องตั้ง มันจึงจะเห็นตามความเป็นจริง ...ไม่งั้นเห็นไม่จริงน่ะ เห็นแบบเคลื่อนๆ เห็นแบบเลื่อนๆ ลอยๆ เห็นแบบไม่ชัดเจน

มันก็..เอ๊อะ มันหายไป ใครทำให้มันหายไปวะ มันเกิดยังไง หรือเราทำให้เกิด หรือมันเกิดมาเอง หรือมันตามเหตุปัจจัย ...มันก็เห็นแบบสงสัยลังเล คลุมๆ เคลือๆ โมหะก็ครอบได้ง่าย

รู้จิตมาก โมหะครอบ นิวรณ์มาโดยไม่รู้ตัว ...ภาวะนิวรณ์นี่คือภาวะที่กางกั้น..กางกั้นใจนะ เหมือนม่านที่กางกั้นพระอาทิตย์ ทำให้ใจไม่ชัดเจน

อย่าจม อย่าไปจมกับความนิ่ง อย่าไปจมกับความลอย ความเพลิน ความสบาย เรียบๆ ...พวกนี้โมหะจะครอบงำง่าย ...รู้ให้ชัด เอารู้ให้ชัด สติระลึกรู้ลงไป 

รู้ลงในรู้นั่นก็ได้ ไม่ต้องรู้อะไรก็ได้ เอาความชัดเจนของรู้ ...ใครจะว่าเพ่งใครจะว่าจงใจไม่รู้อ่ะ..รู้ลงไปก่อน ให้รู้มันชัดเจนขึ้นมา ให้ดวงจิตผู้รู้มันตั้งมั่นขึ้นมา

เมื่อตั้งมั่นดีแล้ว นิวรณ์หายไป ความมึนความงง ความซึมความเบลอหาย ...ความตั้งมันจะปรากฏแน่วแน่แนบแน่น มันตั้ง..ไม่ล้ม ตั้ง ...ล้มอีกตั้งอีก ๆ ตั้งรู้ขึ้นมา ตั้งรู้ขึ้นมาใหม่

ด้วยสติตั้งรู้ขึ้น ระลึกขึ้นมารู้ใหม่ ตั้งขึ้นมา ตั้งใจอยู่เสมอ จนใจมันตั้งไม่ล้มน่ะ ...เมื่อใดที่ใจตั้งไม่ล้มนั่นน่ะสัมมาสมาธิมันเต็มเปี่ยมแล้วควรแก่งาน จึงจะควรแก่งาน

มัวแต่ลุกลี้ลุกลน ล่องไปล่องมา เดี๋ยวก็เข้าไปนอนแล้ว ง่วงนอนก็เข้าไปนอน ตื่นขึ้นมาไปนั่งดูใหม่ เมื่อกี้ที่ว่าที่นอนไปอะไรผ่านมั่งอะไรเกิดขึ้น อะไรตั้งอยู่ อะไรดับไป

อะไรเป็นเหตุปัจจัยแห่งการเกิด อะไรเป็นเหตุปัจจัยแห่งความดับ ไม่เห็นไม่เข้าใจ ...เสียเวลา แล้วก็งง ได้แต่เดา แล้วมันก็จะเคลื่อนไปหา นึก น้อมหาว่าเมื่อกี้เป็นยังไง ข้างหน้าจะเป็นยังไง

เห็นมั้ย อดีตอนาคตเริ่มเข้ามากลุ้มรุมแล้ว สังขารก็ไหลไปไหลมา ความปรุงแต่งก็แต่งไปแต่งมา หาไปหามา มันก็หยิบนั่นผสมนี่ หยิบนี่ผสมนั่น ก็เกิดเป็นความฟุ้งซ่าน นิวรณ์ก็เข้ามาปกคลุม

ใจก็หายไป ค่อยๆ เลือนไป เลือนไป ...นี่ ใจไม่หาย แต่มันเลือน  มันเลือนเพราะถูกบัง มืดๆๆ ความเผลอความเพลินก็บังใจ ยิ่งบังใจเท่าไหร่มันก็ยิ่งเคลื่อนออกจากปัจจุบันมากขึ้น

เมื่อใดที่เคลื่อนออกจากปัจจุบันหรือบังใจมากเท่าไหร่ ทุกข์ก็มากขึ้นตามตัว...นี่คือทุกข์อุปาทาน  ความมึนงง ความลังเลสงสัย ความเศร้าหมอง ความไม่แน่ใจ

ความไม่อาจหาญ ความไม่เด็ดเดี่ยว ความไม่ชัดเจนในการรู้การละ ...ความตรงต่อธรรม เห็นตามธรรมไม่มี แล้วก็ปล่อย ...มันก็ไม่ชัด มันก็อยู่แบบคลุมๆ เครือๆ เบลอๆ ไป

เพราะนั้นสติสำคัญมาก แต่ว่าไม่มากไม่น้อยไปกว่าสมาธิเหมือนกัน ...นักเจริญสตินี่ ปัญหาคือมันไม่มีสมาธิ สมาธิน้อย ...แล้วสมาธิ..พอบอกให้มีสมาธิมากๆ เดี๋ยวมันก็จะไปนั่งพุทโธๆ กันอีก

เอาความสงบมาเป็นฐานมาเป็นกำลัง เพราะว่าอาจารย์บอกว่าสมาธิน้อยก็ต้องไปหาความสงบก่อน ทำความสงบให้มากๆ ...ให้สงบจนตายก็ไม่มีสมาธิ ถ้าไม่เข้าใจ

เพราะนั้นสมาธิคือจิตตั้งมั่น จิตในนี้ก็คือใจ รวมจิตรวมใจให้เป็นหนึ่ง เข้าใจมั้ย รวมจิตกับใจให้เป็นหนึ่ง เมื่อรวมจิตที่มันไปๆ มาๆ คิดไปคิดมาในอดีตอนาคต ...รวมมันซะ รวมมารู้อยู่ในที่รู้อันเดียว

นี่เขาเรียกรวมจิตรวมใจให้เป็นหนึ่ง คือรู้อยู่ที่เดียว เนี่ย เรียกว่าสมาธิ ให้ตั้งมั่นอยู่ที่รู้ ...แล้วก็รู้ๆๆๆ จนรู้มันอยู่ข้างในนี่ ไม่ล้มไม่หายตายจากไปจากสัตว์บุคคลนั้นๆ

ถ้าสมาธิมันตั้งมั่นได้แล้วนี่ ความชัดเจนในธรรมมันชัดเองน่ะ ไม่ต้องไปถามใครเลย ...อะไรเกิดขึ้นมันก็รู้ อะไรตั้งอยู่มันก็รู้ อะไรมันแปรเปลี่ยนไปจากที่มันตั้งอยู่ มันก็รู้ อะไรที่มันดับไปตรงนี้ มันก็รู้

นี่ ถ้ามันตั้งจริงนะมันจะรู้  ถ้ามันตั้งไม่จริงน่ะ...เอ๊ะ มันมาตอนไหนวะ มันไปตอนไหนวะ ไม่รู้อะไรเลย เห็นมั้ย ความไม่รู้ก็จะคืบคลานครอบงำขึ้นมาอีก

แต่ถ้ามันรู้ตั้งมั่นอยู่นี่ อะไรเกิดก็รู้ อะไรตั้งก็รู้ อะไรแปรปรวนไประหว่างที่มันตั้งก็รู้ อะไรเกิดขึ้นมาใหม่ก็รู้อีก อะไรเกิดขึ้นมาซ้อนตรงที่มันตั้งอยู่ก็รู้อีก

เห็นมั้ย มันอยู่กับความรู้เห็นโดยตลอดต่อเนื่องนี่...มันจะไม่เข้าใจ มันจะไม่จำแนกธรรมเป็นส่วนๆ ได้อย่างไร  มันจะรู้เลยว่านี่คือขา ไอ้นี่เกินขา ไอ้นี่กาย ไอ้นี่เกินกาย

ไอ้นี่เกินกายไปห้ากระเบียด อ้อ ไอ้นี่เกินกายไปห้าเมตร โหย นี่เกินกายไปข้ามชาติเลย...มันจะเห็นเอง แล้วมันก็จะ อ๋อ อันไหนเกินไม่เอา อันไหนไม่จริงไม่เอา อันไหนปลอมปนไม่เอา

มันคัดออกๆๆ จำแนกอันที่ไม่ใช่ธรรมออก จนเหลือธรรมล้วนๆ กายเป็นธรรมล้วน ...แล้วก็อยู่แน่วแน่ตรงต่อธรรมนั้น อันเดียวนั่นน่ะ ธรรมนี่เป็นหนึ่งไม่เป็นสอง 

สองนั่นไม่ใช่ สองยังไม่ใช่ เอาจนเป็นหนึ่ง...หนึ่ง จนเป็นหนึ่งเดียว ที่สุดของหนึ่งเดียวก็คืออนัตตา เป็นศูนย์ คือค่ามันคือศูนย์นั่นแหละ คือที่หนึ่งเดียวของธรรม

แล้วมันจะไปรวม...แม่น้ำร้อยสายรวมลงเป็นมหาสมุทรเดียวกัน ...ต่อให้น้ำหยดตรงไหนบนผืนโลกนี้ สุดท้ายรวมลงในมหาสมุทรเดียวกัน

นั่นคือธรรมทั้งหลายทั้งปวง...รสชาติของธรรม เหมือนเกลือ..เหมือนเกลือ ตกไปตรงไหนก็เค็ม ลงน้ำไหนก็เค็ม ...นั่นแหละธรรม เป็นธรรมเดียวกัน

เพราะนั้นถ้าเห็นธรรมนี้เป็นธรรมเดียวกัน ไม่ผิด ไม่เถียงกันหรอก ...แต่เพราะมันเคลื่อนจากธรรม แล้วมันเอาไอ้สิ่งที่เคลื่อนจากธรรมน่ะมาคุยกัน มาแบ่งกัน 

ศิษย์อาจารย์นั้น ศิษย์อาจารย์นี้ วิถีทางนั้นต้องเห็นอย่างนี้ ต้องเป็นความรู้อย่างนี้  มันจึงไม่สอดคล้องสอดประสานกันเป็นธรรมอันเดียวกัน ...แต่ถ้าเห็นที่สุดของธรรมหรือเป็นธรรมหนึ่งเดียวกัน


(ต่อแทร็ก 6/29  ช่วง 4)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น