วันพุธที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 6/28 (3)


พระอาจารย์
6/28 (550110A)
10 มกราคม 2555
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 6/28  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  เพราะงั้นว่า แรกๆ เวลาเราขยันหมั่นเพียรน่ะ เราตั้งสติ เราระลึก เราขยันรู้ เราก็สามารถตั้งมั่นได้ ...พอนานๆ ไปมันก็ล้าไป เพราะว่ามันรู้สึกสบายขึ้นน่ะ 

พอมันเริ่มรู้สึกสบายขึ้น หรือเข้าใจขึ้นแล้ว ก็เริ่มประมาทขึ้นอีก ...ประมาทคือขี้เกียจ ขี้เกียจใหม่ เพราะรู้สึกว่าไอ้ทุกข์ใหญ่ๆ มันแก้ได้ ทำเป็นแล้วไม่ไปอ่ะ เข้าใจแล้ว 

แต่พอไม่มีอะไรปุ๊บก็ปล่อยเลย  ความประมาทก็คืบคลานเข้ามา โมหะก็คืบเข้ามาครอบงำใจ สติก็น้อยลงไป สติที่ควรจะละเอียดขึ้นก็ไม่ละเอียดขึ้น สมาธิควรจะตั้งมั่นมากก็ไม่ตั้งมั่นขึ้น

ปัญญาที่จะแยบคายถึงที่สุดของธรรม แต่ละตัว แต่ละองค์ ก็ไม่เอา ไม่สังเกต ขาดการสังเกต ละเลยการสังเกต ถี่ถ้วน หรือว่ามันขาดภาวะที่จะเรียกว่า ธัมมวิจยะภายใน 

มันก็ปล่อยไปแบบลอยๆ อยู่กับความเลื่อนอยู่กับความลอย มารู้นิดนึง พอเป็นนิสัยนิดๆ หน่อยๆ ...เนิ่นช้า มันเนิ่นช้า ปัญญามันมีพอตัวแต่ว่ายังไม่สามารถจะถึงที่สุดของทุกข์ได้  

มันเป็นปัญญาที่คุ้มอยู่แค่นั้นแหละ พอจะไม่ให้มันทุกข์มากมายก่ายกองแค่นั้นเอง ไม่จริงจังเกินไปแค่นั้นเอง ...แต่มันยังมีสิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้อีกมาก ละเอียดอีกมากในขันธ์นี้  

มันยังไม่เสร็จ มันยังไม่เบ็ดเสร็จ ...ก็รู้อยู่ว่ามันยังไม่เบ็ดเสร็จ จะไปปล่อยได้ยังไง จะไปปล่อยสติได้ยังไง ...จะปล่อยให้มันเกิดขึ้นเองไม่ได้ หรือให้มันไหลไปเองเข้าสู่นิพพานน่ะ...ไม่ไปนะ  

มันมาวนอยู่ในโลกนี่ เหมือนหมอกกระจายอยู่ในโลก ไหลเอื่อยอ้อยอิ่งอยู่นี่ ...มันเหมือนไม่เป็นสุข ไม่เป็นทุกข์อะไร  แต่มันก็อ้อยอิ่ง คลอเคลียอยู่กับโลก

มันไม่จบ ไม่ถึงที่สุดแห่งความดับไป ไม่ถึงที่สุดแห่งธรรม ...เพราะนั้นการก่อเกิดยังสืบเนื่องกันอยู่  ปัจจยาการยังมีการต่อเนื่องไป ขันธ์ยังมีการดำเนินต่อ 

เพราะฉะนั้น อะไรล่ะเป็นตัวพาเกิด นั่นน่ะจิต จิตน่ะเป็นตัวพาเกิด คือจิตปรุงแต่ง จิตสังขารที่เราบอกจิตคือขันธ์ ๕ นั่นแหละ จิตที่มันสร้างขันธ์ ๕ ขึ้นมาภายในนั่นแหละ

มันจะพาไปหาขันธ์ ๕ ใหม่ เมื่อขันธ์ ๕ ภายนอกมันตายแตก ...เพราะฉะนั้นจิตนี่เป็นตัวพาขันธ์ ๕ ไปครอบครองขันธ์ ๕ หรือไปสร้างขันธ์ ๕ ขึ้นมาใหม่

จิตปรุงแต่งแค่นิดเดียวนี่แหละ ขณะเดียวนี่แหละ ...ไปหมายไปหวังอะไร...นั่นน่ะเห็นไหมขันธ์ ๕ เกิดเลย

เอ้า คนใกล้ตายนี่ กำลังจะตายนี่...แหม เสียดาย ถ้าตายแล้วจะมาเกิดฟังธรรมอาจารย์ต่อทันที ...นี่แค่คิดแค่นี้เองนะ ขันธ์ ๕ เกิดเลยนะ ตายตอนนั้นก็เกิดเลย ได้ขันธ์ ๕ เลย

เห็นมั้ย  จะไม่บอกว่านี่คือขันธ์ ๕ เกิดยังไงล่ะ จิต...แค่จิตกระหวัดนิดหนึ่ง มีภพชาติทันทีเลย  ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ โทมนัส อุปายาสได้พร้อม 

แต่เอาให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ดับอย่างเดียว รู้อย่างเดียว ตายเกิดไม่สน ...แม้ปัญญายังไม่ถึงที่สุดก็ตาม คือมันยังมีทะยานอยู่ รู้ไว้ๆ  พอถึงลงล็อกที่สุด สุดท้ายปุ๊บ...ตอนนั้นน่ะ เหลือแค่นั้นน่ะ 

ไม่ต้องถามเลยว่าจะไปไหน อย่าไปหมาย อย่าไปหมายที่ใดที่หนึ่ง ที่ออกนอกใจ ...นี่ ต้องฝึก แล้วก็ชำระไปเรื่อย ระหว่างมีชีวิตอยู่นี่ก็ชำระว่า มึงออกไปอะไร ออกไปเอาอะไร 

ให้มันเห็น ...ไอ้ที่มันจะเอาน่ะ ไอ้ที่มันว่าน่ะ มันมีมั้ย มันมีจริงมั้ย  หรือว่าที่สุดของมัน ได้แล้วเป็นยังไง..ดับมั้ย ...ให้มันเห็น มันจะได้ฉลาดขึ้น จิตไม่รู้มันจะได้น้อยลง 

เพราะมันไม่รู้น่ะ มันจึงไปหาของที่ไม่มีมาเป็นของมี มันไปหาของที่ไม่เที่ยงว่าเป็นของเที่ยง ไปหาของที่จับต้องไม่ได้มาเป็นของที่ว่าครอบครองได้ 

แล้วมันไม่หยุดหา มันก็แกว่งๆๆๆ ส่ายอยู่ตลอดเวลา  จิตมันก็ปรุงแต่งแต้มเติมสีสันลงไป ...ยิ่งให้ค่า ยิ่งขยันคิดขยันปล่อยให้มันลอยออกไป 

ความจริงจัง ดูเหมือนจริงจัง เสมือนจริงจัง ความน่าจะเป็น ความที่จะเป็นจริงๆ มันจะมัดตัวมันเองจนถอนไม่ออก ...เห็นมั้ยว่าแค่คิดไปนี่ มันมีตัวเราเข้าไปรองรับสุขทุกข์ข้างหน้าแล้ว

เดี๋ยวเราจะไปไหน” ...แค่คิดว่าเดี๋ยวเราจะไปไหน จะไปไหนต่อ  มันจะมีความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ไปรองรับอนาคตเลย ...เห็นมั้ย ขันธ์ ๕ มันไปเกิดก่อนแล้ว มันไปดักแล้ว 

แต่ถ้ารู้ตรงนี้...เย็นก็เย็น ร้อนก็ร้อน อุ่นก็อุ่น นิ่งก็นิ่ง รู้อย่างเดียวตรงนี้...แล้วก็จะเห็นว่าทุกสิ่งก็มีอยู่เท่านี้ มันมีความจริงเหลืออยู่แค่นี้  แล้วความจริงตรงนี้ก็อยู่แค่ชั่วคราว 

ให้มันศึกษาเยอะๆ ให้มันอยู่ตรงนี้ อยู่กับปัจจุบัน ...สติต้องมั่น ต้องชัด...ต้องชัดนะ ...ไม่ใช่ซึมนะ ไม่ใช่ซึม ไม่ใช่ลอย ไม่ใช่เลื่อน รู้จักมั้ยว่ามันซึมน่ะ  เบลอๆ เหมือนคนอัพยาอยู่

จิตมันอัพยาบ้ายาเมาอยู่น่ะ มันเมา มันเบลอ มันซึม ...ต้องชัดในปัจจุบัน  นั่ง..ชัดในนั่ง ชัดในรู้ ชัดในไหว ชัดในนิ่ง ชัดในรู้  ต้องชัดในของสองสิ่งกับปัจจุบันอยู่เสมอ...ต้องชัด 

ถึงบอกว่าต้องรู้ถี่ๆ รู้บ่อยๆ  สติต้องถี่ๆ บ่อยๆ  รู้ลึกๆ ย้ำลงไปๆ  ไม่ต้องกลัวติด ไม่ต้องกลัวเพ่ง ...ใจน่ะ เอาไว้ก่อน รู้ไว้ก่อน รู้มากๆ ยิ่งดี 

ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีปัญญา  ถ้าไม่ออกมาค้นคิดอะไรจะไม่มีปัญญา  จะไม่ออกมารับรู้รับเห็นอะไรแล้วมันจะไม่เห็นความเกิดดับ ...ช่างหัวมัน รู้เอาไว้เยอะๆ เพื่อให้มันชัด

เมื่อชัดแล้วมันจะตั้งมั่น ตั้งมั่นในตัวของมันเอง ...เมื่อมันตั้งมั่นในตัวของมันเอง นั่นน่ะตัวสัมปชัญญะเกิดขึ้น ญาณทัสสนะจะเริ่มเห็น...มีภาวะเห็นขึ้นมา 

ทำความรู้ให้ชัด ...ไม่ใช่นึก ไม่ใช่คิด ไม่ใช่น้อม ไม่ใช่เต้าความคิดว่ารู้ขึ้นมา...ไม่ใช่ ...ด้วยสติ ชัดด้วยสติ  อย่ามัวแต่เบลอๆ ซึมๆ ว่าให้รู้ให้นิ่ง ว่าไอ้นี่ใช่รึเปล่า ไอ้นี่เป็นใจรึเปล่า 

พอมันเคลื่อน มันเริ่มมีความปรุงความคิด...ให้รู้ไว้เลยว่าหลงแล้ว ไหลแล้ว เคลื่อนแล้ว เลื่อนออกไปแล้ว เลื่อนจากปัจจุบันแล้ว ...ถึงบอกว่าอย่าทิ้งกาย 

กลับมาหมายลง ระลึกลง รู้ที่กายปัจจุบันทันทีตรงนั้นเลย ...นั่งปุ๊บรู้ ตึงปุ๊บรู้ หนาวปุ๊บรู้  ให้รู้ลงชัดตรงปัจจุบัน แล้วมันจะรู้ชัด ...รู้ตรงนั้นน่ะจะเป็นรู้จริง จะเป็นผู้รู้จริง

ไม่ใช่ผู้รู้รู้หลงๆ เคลือบๆ งำๆ ครอบๆ คลุมๆ  คลุมๆ เครือๆ  นั่นแหละเบลอ มันซึม เห็นมั้ย ...ไอ้คำว่าซึมน่ะคือภาษานึง อีกภาษานึงก็คือเศร้าหมอง คือความเศร้าหมอง คือความไม่ชัดเจน

รู้ก็ไม่ชัด สิ่งที่ถูกรู้ก็ไม่ชัด นั่น แล้วก็ไปอยากให้มันชัด ...อยากให้ชัดก็ไม่ชัด ต้องรู้มันลงไปตรงนั้นเลย อย่าไปหาอย่าไปทำ อย่าไปวิเคราะห์ ...รู้ลงเลย กลับมาระลึกหวนลงที่กายเลย

ปุ๊บนี่ กำลังทำอะไรอยู่ ดูตรงนั้น รู้ตรงนั้น ...ก็จะเห็นกายเป็นก้อนนึงอ่ะ เป็นกองนึง  แล้วก็รู้ในกองนั้น นั่นมันชัดอยู่อย่างนั้น ไหวก็รู้ว่าไหว นิ่งก็รู้ ขยับรู้ว่าขยับ

ให้มันชัดในของสองสิ่งนั้นเลย ใจมันก็จะเริ่มตั้งมั่นขึ้นๆ ...เพราะฉะนั้นพอเริ่มสงสัย พอเริ่มลังเล มันเริ่มค้นมันเริ่มหา ระลึกเลย ทิ้งไปเลย 

ไม่ต้องลังเลแล้วว่าไอ้นี่รู้รึเปล่า ไอ้นี่ใช่สติรึเปล่า ไอ้นี่หลงรึเปล่า หรือว่าไอ้นี่จะเรียกว่าอะไรดี หรือจะทำอะไรต่อนี่ ...ให้รู้เลย ทิ้งเลย  กลับมารู้ตรงๆ โง่ๆ ตรงนี้เลย 

เพื่ออะไร ...เพื่อทำความชัดเจนในใจ กับสิ่งที่ใจมันรู้เห็นอยู่ต่อหน้ามัน...แค่นี้  ไม่เอาอะไร ไม่ได้อะไรหรอก แต่ได้ความชัดเจนในปัจจุบันธรรมกับปัจจุบันจิต 

เพราะฉะนั้นถ้าชัดเจนในปัจจุบันธรรมและปัจจุบันจิตนี้แล้ว นี่เรียกว่าเริ่มเข้ามาอยู่ในองค์มรรคแล้ว  

และถ้ารักษาภาวะที่เป็นปัจจุบันธรรมปัจจุบันจิตได้ต่อเนื่องไปนี่ ก็เรียกว่าเดินอยู่ในมรรค กำลังดำเนินอยู่ในองค์มรรค 

อย่าไปมัวลูบๆ คลำๆ  เข้าใจมั้ยลูบๆ คลำๆ นี่  ...ลูบๆ คลำๆ คือกล้าๆ กลัวๆ งงๆ ว่าไอ้นี่จะใช่มั้ย ไอ้อย่างนี้จะถูกมั้ย อย่างนี้  เข้าใจมั้ย รู้ยังไง จะรู้ยังไงดีวะ จะพิจารณาอะไรดี จะจับอะไรมารู้ดี จะหาอะไรดูดี  

พวกนี้ ลูบๆ คลำๆ  มัวแต่เงอะๆ งะๆ อยู่อย่างนี้ มันออกนอกมรรคไปแล้ว ...ไม่ใช่ว่าจะให้มันชัดเจนแล้วก็ไปไล่ถามคนอื่นว่าจะทำยังไงดีๆ จะรู้ยังไง ควรทำยังไง ...อย่าไปถาม รู้มันตรงนั้นเลย กายทำอะไรอยู่

ขณะนั้นกำลังหา ก็รู้ว่ากำลังหาเลย ...ถ้ามันเป็นเรื่องของนาม  ถ้ามันไม่ชัดในเรื่องของนาม ว่ารู้ว่ากำลังหา กำลังอยาก หรือว่ามีความอยากอยู่ในนั้น...ก็ให้มารู้กายซะ ตัดปัญหาไปเลย

ไม่สนที่จะไปรู้ว่ามันกำลังทำอะไร หรือว่ามันอยากหรือไม่อยากวะ มันยังไงดี ...คือมันไม่ชัดเจนอะไรเลยนี่ อย่าไปควาน อย่าไปลูบๆ คลำๆ อยู่ ไม่มีประโยชน์หรอก 

รู้ชัดแล้วมันจะเห็นเลย พอกลับมารู้ชัดที่กายปั๊บ ภาวะนามที่กำลังคลุมๆ เคลือๆ นี่ หรือลังเลๆ หรือว่าวิจิกิจฉาหรือว่าสงสัย หรือขุ่นมัวอยู่นี่ เศร้าหมองอยู่นี่ ...มันจะดับ มันดับเองน่ะ 

มันมารู้ชัดในปัจจุบันธรรมปัจจุบันจิต ถือกายเป็นปัจจุบันธรรม ถือจิตผู้รู้เป็นปัจจุบันจิต ก็จะเห็นภาวะนามนั่นขาดไป ดับ ไม่มีการเข้าไปหล่อเลี้ยงด้วยอำนาจของตัณหาอุปาทาน

เพราะฉะนั้น ภาวะที่มันสืบเนื่องไปนี่ มันหล่อเลี้ยงด้วยอำนาจของตัณหาอุปาทาน มันจึงไหลเลื่อนๆ เรื่อยๆๆไปไม่จบไม่สิ้น ลอยไปลอยมา ...มันเกิดภาวะลอยไปลอยมา


(ต่อแทร็ก 6/29)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น