วันอังคารที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 6/28 (1)



พระอาจารย์
6/28 (550110A)
10 มกราคม 2555
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  3  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  มันยังเป็นกายเรา คิดของเรา อารมณ์ของเรา นะ ...เพราะฉะนั้น สติเมื่อมันตั้งมั่นดีแล้วนี่ ที่เรียกว่าควรแก่งานแล้วนี่ ปัญญามันมีในตัวของมัน

มันก็จะเห็นกายเป็นกาย ไม่ใช่กายใคร  คิดก็คือคิด จิตก็คือจิต ไม่ใช่จิตใคร  เวทนาก็คือสุขทุกข์ ก็คือสุข ก็คือทุกข์ ไม่ใช่สุขของใคร ทุกข์ของใคร ...มันจะเห็นอย่างนั้น

นี่ เรียกว่าเป็นสติปัฏฐานเบื้องต้น เห็นกายเป็นกาย รู้กายเห็นกาย รู้จิตเห็นจิต รู้ธรรมเห็นธรรม รู้เวทนาเห็นเวทนา ...มันจะรู้เห็นตามจริงเบื้องต้นก่อน

ไม่ได้เห็นตามทิฏฐิที่เป็นมิจฉาที่ว่ากายเรา ความคิดเรา เราได้ยิน ได้ยินเป็นเรา เห็นเป็นเรา เรากำลังเห็น ...สติเบื้องต้นมันยังไม่มีปัญญามันก็จะเห็นอย่างนั้น มันจะมีความเห็นผิดอยู่ในนั้นด้วย

พอรู้เห็นตั้งมั่นไปเรื่อยๆ มันก็เป็นสักแต่ว่ากาย สักแต่ว่าจิต สักแต่ว่าธรรม สักแต่ว่าเวทนา ...คือไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลอะไร 

แต่นั้นไปด้วยจิตที่ตั้งมั่น เป็นกลางอยู่ภายใน ไม่เคลื่อน ไม่ปรุง ไม่แต่ง ...มันเท่าทันความปรุงแต่ง ถ้ามันตั้งมั่นดีแล้วนี่ มันจะเท่าทันความปรุงแต่ง 

ก็ไม่ต้องไปปรุง ก็ไม่ต้องไปหาเหตุ ก็ไม่ต้องไปหาผลกับอะไร  ไม่ต้องไปอดีต ไม่ต้องไปอนาคต ไม่ต้องไปคาด ไม่ต้องไปเดาในธรรมที่ยังไม่เกิด หรือธรรมที่มันดับไปแล้ว 

นี่เรียกว่าตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบันล้วนๆ ...แล้วก็เท่าทัน ณ ความปรุงแต่ง แล้วก็สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยินไป ...อยู่อย่างนี้ มันจึงจะเห็นกายในกาย จิตในจิต เวทนาในเวทนา เห็นธรรมในธรรมอีกทีหนึ่งนะ  

คือเห็นความดับไปของมันเอง นี่ ความดับไปของกาย ความดับไปของเวทนา ของจิต ของธรรม จะเห็นความดับไปเองของมัน ...ความเห็นความดับไปเองของมันนั้นแหละ มันจึงจะไปเห็นกายในกาย 

คือเห็นว่าไม่มีอะไรในกาย คือไม่มีตัวตนหลงเหลืออยู่ในกาย ...มันเป็นแค่ปรากฏชั่วคราวเท่านั้น ที่สุดคือดับไม่เหลือ ตัวตนนี้ มันมีตั้งอยู่แค่ประเดี๋ยวหนึ่งแล้วก็ดับไป 

จิตก็เหมือนกัน อารมณ์ก็เหมือนกัน เวทนาก็เหมือนกัน นึ่ มันจะลิงก์กันไปหมดแหละในสติปัฏฐานทั้งสี่ตัวนี่ จนเห็นในกายไม่มีกาย ในจิตไม่มีจิต ในธรรมไม่มีธรรม ในเวทนาไม่มีเวทนาหลงเหลืออยู่  

ตรงนี้ จึงเรียกว่าจิตมันเข้าไปเรียนรู้  ใจผู้รู้มันจะเข้าไปเรียนรู้อนัตตาธรรม หรือความเห็นที่เป็นอนัตตา ...คือไม่มี สุดท้ายแล้วไม่มี...มันมีแค่ชั่วคราว 

จิตมันจะเริ่มถอนออกจากขันธ์แล้ว มันถอนออกจากการเข้าไปหมายมั่นในขันธ์  ปัญญามันจะเริ่มไปตามลำดับอย่างนี้  แล้วมันจะละทิฏฐิไปเรื่อยๆ

คือความที่มันจะเข้าไปหมายว่า นี้คือนั้น นั้นคือนี้ นี้เป็นอย่างนั้น นี้ต้องไม่เป็นอย่างนี้ ...มันจะไม่มีไปหมายว่า อะไรเป็นอะไร หรือต้องการอะไร 

ความแสวงหาในภพ ในขันธ์ ในอดีต ในอนาคต หรือว่าความทะยานออกของใจไม่รู้นี่...ที่มันปรุงแต่งตลอดนี่ มันจะค่อยๆ น้อยลงๆ น้อยลงไปเรื่อยๆ ...จนหยุด จนสิ้น จนหมด  ความปรุงแต่งภายใน

จากนี้ไป ขันธ์กับใจนี่ มันจึงจะหลุด...หลุดจากขันธ์ หลุดจากการเกาะเกี่ยวในขันธ์ หลุดจากการเข้าไปหมายมั่นในขันธ์ หลุดจากการเข้าไปครอบครองขันธ์ 

ใจนี่จะไม่หลุดออกจากการครอบครองขันธ์ได้เลย ถ้าไม่มีปัญญาเห็นไตรลักษณ์ในขันธ์ ๕ 

สักกายทิฏฐิ อัตตาตัวตน ความหมายมั่นในอัตตา ความหลงผิดในอัตตานี่  มันจะละได้ มันจะเพิกถอนได้...ต้องเห็นธรรมนั้นดับไป ไม่มีตัวตนที่แท้จริง เป็นของว่าง เป็นของสูญ เป็นของที่ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่  

มันจะต้องเห็นภาวะอย่างนี้ซ้ำซาก ๆ  ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางนะ...อยู่อย่างนี้ตลอด มันจึงจะถอนออก ละทิฏฐิความเห็นผิด 

ที่เข้าไปหมายในขันธ์ ในอดีต ในอนาคต ในคน ในสัตว์ ในเรื่องราวต่างๆ ในความน่าจะเป็น น่าจะมี หรือสิ่งที่เคยเป็น หรือสิ่งที่เคยมี เคยได้ 

แต่แรกๆ ของการเห็นนี่ มันจะเห็นว่าเป็นทุกข์ก่อน ...หนึ่ง อาการตั้งนั้นเป็นทุกข์  สอง เห็นความแปรปรวนของมัน ...แรกๆ มันจะเห็นซ้ำอยู่ตรงนี้ เดี๋ยวก็เปลี่ยนๆ

แล้วต่อไปมันจะเห็นชัดในเรื่องของความดับไป เห็นความดับไปของขันธ์ แต่ละครั้ง แต่ละขณะ ...แรกๆ ก็จะเห็นแต่ละครั้งแต่ละขณะ  ต่อไปมันจะเห็นแทบจะทุกขณะเลย มีแต่ความดับๆๆ 

มันไม่เห็นความเกิดหรอก เห็นแต่ความดับ เพราะเกิดกับดับมันจะพร้อมกัน มันจะเห็นพร้อมกันเลย แล้วมันไม่ใช่ว่าเกิดดับเฉพาะขันธ์...ดับทั้งผู้รู้นั้นด้วย มันจะเห็นพร้อมกันหมดอยู่เสมอ

คือมันเป็นความพอดี สมดุล หรือว่าเป็นความที่ว่าสมังคีกัน แล้วมันพอดี มรรคนี่สมังคีกันหมด  ศีล สมาธิ ปัญญา พอดีกัน เสมอกันหมด  ปัญญานี่เท่าทันอยู่ตลอดเวลา ครอบหมด 

เพราะฉะนั้นอะไรเกิดขึ้นในปัจจุบัน...ดับตรงนั้น  มันเห็นความดับๆๆ ...จิตที่มันออกไปรู้ ปุ๊บ มันเห็นตรงไหน มันดับตรงนั้นแหละ อยู่ตลอดเวลา

จึงจะเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่าจิตเห็นอนัตตา ใจเห็นอนัตตา...ของสองสิ่ง ...ไม่ใช่แค่สิ่งเดียวนะ ไม่ใช่แค่ขันธ์นะ มันจะเรียนรู้ทั้งของสองสิ่งเลย ทั้งสิ่งที่ถูกรู้แล้วก็สิ่งที่รู้ 

สิ่งที่รู้ก็ดับ ดับไปพร้อมขันธ์ มันดับไปพร้อมขันธ์ ...เพราะว่าผู้รู้นี่ หรือว่าการรู้ หรือว่าจิตที่รู้หรือว่าใจที่รู้นี่ มันจะรู้ไปตามอาการ  ถ้าไม่มีอาการ ภาวะรู้นี่ไม่มี มันจะไม่มี

มันจะออกมาทำหน้าที่รู้ตามอาการ เมื่ออาการนั้นดับ หน้าที่รู้นั้นก็ดับ ดับไปพร้อมกันเลย ...คือมันมาทำเป็นเรื่องๆๆ ไป ...ตัวมันก็ไม่เที่ยง นะ 

แต่คราวนี้ว่าในปัญญาเบื้องต้นของเรานี่ยังไม่เห็นจิตดับหรอก ยังไม่เห็นผู้รู้ดับหรอก ยังไงก็รู้ไว้ ...ต้องรู้อยู่ ต้องตั้งมั่นอยู่ที่รู้ก่อน  เอาตัวนี้เป็นฐาน เป็นฐานไปศึกษามัน

เป็นฐานไปศึกษาขันธ์ เห็นขันธ์ แปรปรวน ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นแค่ของสิ่งหนึ่ง เป็นอาการหนึ่ง เป็นปรากฏการณ์หนึ่ง เป็นธรรมชาติหนึ่งเท่านั้น

เรียนรู้อย่างนี้  ให้ใจผู้รู้ จิตผู้รู้นี่เรียนรู้...เรียนรู้ไปเรื่อยๆ  จนมันเห็นความดับชัดมากขึ้นๆๆ  ตัวทัสนะมันจะหยั่งเข้าไปในของสองสิ่งนี้

มันไม่ได้หยั่งเข้าไปแค่กาย หยั่งเข้าไปแค่เวทนา หรือหยั่งเข้าไปแค่จิต หรือหยั่งไปลงที่ธรรมเท่านั้น สุดท้ายมันหยั่งจนมันชัดเจนดีแล้ว มันก็จะหยั่งพร้อม

เขาเรียกว่ามันเกิดความรู้ตัวทั่วพร้อม มันจะพร้อมหยั่งลงไปเห็นความดับไปของที่รู้ด้วยพร้อมกัน ...แล้วมันก็เกิดใหม่ แล้วมันก็เกิดอีก...เมื่อมีสิ่งใดปรากฏ หรือมันกระทบหรือสัมผัส หรือว่ามีการทำงาน

มันก็จะเห็นการทำงานตรงไหน...มันก็เกิดมาทำงานรับรู้ตรงนั้นแล้วก็ดับ เป็นขณะ ...ถ้ามีการทำงานต่อ มันก็เกิด มันก็ดูเหมือนมันเกิดต่อ หรือว่ามันยังอยู่ ...แต่ความจริงมันเกิดใหม่ เกิดสภาวะรู้ใหม่ 

มันจะเห็นอยู่อย่างนี้ นี่ มันจะเข้าใจไปตามลำดับลำดา ...จนมันทำลายความหมายมั่นทั้งในขันธ์และก็ในตัวของมันเองต่อไป

แต่เบื้องต้นเราจะต้องเห็นขันธ์ตามความเป็นจริงจนถึงที่สุดก่อน เห็นโลกตามความเป็นจริงจนถึงที่สุดก่อน ด้วยใจผู้รู้ ด้วยจิตผู้รู้ ที่เป็นหนึ่ง ตั้งมั่นเป็นกลางอยู่ภายในนี่แหละ

เห็นความดับไป สิ้นไป หมดไป เห็นความไม่มีตัวตน เห็นความเป็นตัวตนแค่ประเดี๋ยวหนึ่ง ชั่วคราวหนึ่ง ย้ายไปเปลี่ยนมา ...สุดท้ายดับๆ ไม่มีอะไรไม่ดับ 

ให้มันเชื่ออย่างนี้ก่อน  ใจมันจะค่อยๆ กลับคืนสู่ความเป็นปกติ ฐานมันจะเป็นฐานปกติ อยู่กับปกติ ...ศีลก็ครอบคลุมหมดทั่วโลกทั่วจักรวาล ครอบคลุมด้วยศีลปกติ 

จากนั้นไปมันก็จะเรียนรู้ไปตามลำดับ ถึงที่สุดของทุกข์ของมันเอง ว่าตัวที่สุดของทุกข์จริงๆ คือตัวไหน มันก็ไล่ๆๆๆ ดูรู้เห็นไป 

ต่อไปมันจะเห็นว่า อะไร...อะไรที่มันตั้งอยู่ อันนั้นแหละเป็นทุกข์  ไม่ว่าอะไร ..ไม่มีข้อแม้  มันจะเห็นเองน่ะ ว่าแม้แต่อะไรมันตั้งขึ้นมา...ทุกอย่างนั่นแหละคือทุกข์ 

เพราะฉะนั้นที่สุดแล้ว มันดับไปหมดแล้ว มันยังมีอะไรตั้งอยู่...ตรงนั้นแหละเป็นเหตุ หรือเป็นมหาเหตุ ...มันจะเข้าสู่มหาเหตุ

สู่การพิจารณาว่า มันเห็นทุกสิ่งดับไปหมดแล้วก็ตาม ถ้ายังเหลืออะไรตั้งอยู่ ตรงนั้นแหละเป็นต่อมให้เกิด เป็นต่อมที่จะเกิด เป็นแหล่ง เป็นเหตุ เป็น sorce ที่จะให้เกิดความต่อเนื่องผูกพันปุ๊บ

มันก็จะเข้าไปทำลายตรงจุดนั้น ...ปัญญาขั้นสุดท้ายมันก็จะเข้าไปทำลายตรงจุดนั้น  ตัวญาณวิมุตติ ญาณทัสสนะมันก็จะแจ่มชัดว่านี่...นี่คือเหตุให้เกิดทุกข์จริงๆ 

เพราะนั้น ตา หู จมูก รูป เสียง กลิ่น รส ขันธ์ พวกนี้ที่เราว่าเป็นเหตุของทุกข์นี่ มันยังเป็นเหตุหยาบ มันยังมีต้นของเหตุนี้อีก นั่น มันจะถอนเข้ามาถึงเหตุแรกเหตุต้น ต้นธาตุ ต้นจิต ต้นธรรม ต้นกำเนิดของสรรพสิ่ง 

ตรงนี้คือจุดที่เรียกว่าจากศูนย์ไปหนึ่ง มันเริ่มจากศูนย์...ตรงที่ศูนย์ตรงนั้น ตรงที่ไม่มีน่ะ อยู่ที่ความไม่มีนั่นน่ะ แล้วมันมีออกมาได้อย่างไร...จากศูนย์มันมาเป็นหนึ่งได้อย่างไร 

มันก็เข้าไปเห็นว่าเมื่อใดที่มันมีอยู่ในศูนย์ มีอะไรอยู่ในศูนย์นั้นน่ะ มันไม่เห็นอะไรหรอกนอกจากใจ สุดท้ายมันก็เห็นใจข้างในนั่นแหละ เห็นที่สุดของใจ

เหมือนกับเราเห็นที่สุดของกาย คือความดับไป  ที่สุดของเวทนา ที่สุดของจิตของธรรม ก็มีความดับไป นั่นแหละคือเห็นที่สุดของทุกข์ ก็มีแต่ความดับไป

พอสุดท้ายมันก็เห็นที่สุดของใจ ก็มีความดับไปเหมือนกัน ...สุดท้ายก็เห็นที่สุดของใจ มันไม่มี ๆ เห็นความไม่มีของใจที่รวมกันเป็นใจ เป็นก้อน เป็นกอง เป็นหน่วย เป็นยูนิต 

เมื่อใดที่ใจยังรวมตัวหรือว่าตั้งเป็นยูนิตหนึ่ง นั่นแหละเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิด ...มันก็จะเรียนรู้ด้วยญาณทัสสนะ มันก็จะถอยกลับมาจนถึงที่สุดของใจ จนเห็นว่าที่สุดของใจคืออะไร 

ดังนั้นเมื่อมันทำงานถึงที่หมายสุดท้าย หรือว่าที่ตั้งสุดท้าย หรือว่ายูนิตสุดท้ายของสรรพสิ่งในอนันตาจักรวาลแล้วนี่ มันก็จะเข้าไปสู่ภาวะที่เรียกว่าอนันตมหาสุญญตา

เหมือนอวกาศที่ไม่มีจักรวาล ไม่มีอะไรอยู่ในอวกาศนั่น ...นั่นแหละมันถึงเข้าไปเห็นที่สุดของใจ คือภาวะที่เรียกว่าอัปปมาโน...ใจที่ไม่มีประมาณ ใจที่ไม่มีขอบเขต ใจที่ไร้สภาพขอบเขตใดๆ

แต่ตอนนี้ดวงจิตผู้รู้ของเรา ใจผู้รู้นี่ มันเป็นลักษณะเป็นยูนิต เป็นหน่วยหนึ่ง มันดูเป็นหน่วยหนึ่ง แม้ขณะที่ว่าเป็นแค่ผู้รู้หรือว่าผู้เห็นน่ะ...แรกๆ มันก็ยังมีเรารู้เราเห็นอยู่


ต่อไปมันก็จะเหลือแต่รู้แต่เห็น ในความรู้สึกมันจะเป็นแค่รู้ เป็นแค่เห็น ...แม้แต่ว่าเป็นแค่รู้เป็นแค่เห็นน่ะ มันยังเป็นยูนิตอยู่เลย มันมีความเป็นลักษณะสัตว์บุคคลอยู่ในตัวของมัน


(ต่อแทร็ก 6/28  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น