วันศุกร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 6/29 (1)


พระอาจารย์
6/29 (550110B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
10  มกราคม 2555
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  4  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์  ไม่รู้ก็คือหลง ...เมื่อหลงแล้วก็ต้องรู้มัน เมื่อรู้มันก็คือไม่ต้องสงสัย เมื่อไม่สงสัยนั่นแหละคือความชัดเจน ...มันก็จบอยู่ตรงนั้น

เห็นมั้ย ไม่รู้เมื่อไหร่นี่ มันจะมีความมืด ความสงสัยว่า อะไรวะ เห็นมั้ย แล้วจะปรุงหา มันสืบเนื่องออกมายืดยาวเลยนะ แล้วยังไป เห็นมั้ย...ลังเลสงสัย  

นี่คือความเศร้าหมองเกิดขึ้นแล้ว เพราะไม่รู้...เกิดจากความไม่รู้นะ ไม่รู้เป็นเหตุ ...แต่ถ้ารู้แล้วนี่ก็แค่นั้น จบ..จบลงในปัจจุบัน ทุกอย่างขาดลงในปัจจุบันนั่นแหละ

ไม่ต้องไปสร้างขันธ์ ๕ มารองรับข้างหน้าว่าข้างในมันมีอะไร มันคืออะไร เห็นมั้ยว่า มันปรุงไปหาขันธ์ ที่ว่ารูปนามข้างหน้านี่ ในนี้คืออะไร แท้จริงคืออะไร

มันไม่มีน่ะ ...มันไม่รู้ มันไม่รู้มันก็หาอยู่นั่น..หาอยู่นั่นแหละ เศร้าหมองตลอด เคลื่อนจากตรงนี้ กำลังจับกำลังเคลื่อนอยู่ เห็นมั้ย ความคิดนี่ เกิดทุกข์แล้ว เกิดความวิตกกังวลแล้ว เกิดความลังเลแล้ว

เห็นมั้ย วิจิกิจฉาเกิด สักกายะเกิด สีลัพพตปรามาสเกิด ความเชื่อว่าถูก ว่าผิด ว่าควร ว่าไม่ควร...เกิด เป็นบุญเป็นบาป...เกิด เห็นมั้ย เกิดเยอะแยะเลย...แค่ขณะเดียวนี่

แล้วเราใช้ชีวิตทั้งวันนี่ มันจะกี่ขณะล่ะ ที่มันยืดเยื้อ เยิ่นเย้อ ไม่จบไม่สิ้น ...แต่พอบอกให้กลับมารู้เฉยๆ รู้โง่ๆ นี่ มันก็บอกว่าอย่างงั้นมั่ง อย่างงี้มั่ง

กลัวไม่ถึง กลัวไม่ไป กลัวไม่เข้าใจ กลัวไม่ชัดเจน กลัวไม่ถึงธรรม กลัวไม่เห็นธรรมตามจริง ... มันเป็นธรรมปรุงแต่งรึเปล่า ต้องดู...มันเกิดขึ้นจากตำรารึเปล่า เกิดขึ้นจากได้ยินได้ฟังมารึเปล่า

แล้วมันไปฝังไว้... ฝังเป็นสัญญาอารมณ์ แล้วมันคอยผลักให้หา...ให้หา ให้เสมือนธรรมที่เคยได้ยินได้ฟัง เสมือนที่ครูบาอาจารย์พูด เพื่อให้มาเทียบกัน ...ให้มาเกิดความเป็นอันเดียวกัน

มันเกิดความลังเลสงสัยทั้งสิ้น เป็นธรรมปลอม ยังปลอมอยู่ เป็นธรรมปลอมปนหรือว่าเป็นธรรมที่ยังคลาดเคลื่อน

เพราะนั้นแค่รู้อยู่ตรงนี้ ยืน เดิน หนาว ร้อน อุ่น แข็ง ขยับ นิ่ง ไหว รู้เหมือนไม่รู้อะไร ไม่หาอะไรมารู้น่ะ รู้เท่าที่มันมีอยู่ตรงนี้

แล้วไม่ต้องกลัวหรอก พอมันเริ่มหา..ก็รู้ว่าหา พอหลงคิดก็รู้ว่าหลงคิด พอหลงสร้างอดีตสร้างอนาคต..ก็รู้ว่าสร้างอดีตสร้างอนาคต 

ก็รู้ตรงนั้น...แล้วทิ้งเลย ...อย่าไปจดจ้องมัน อย่าไปจดจ่ออยู่กับมัน อย่าไปหาความเป็นจริงกับมัน อย่าไปหาเหตุหาผลกับมัน อย่าเสียดายอารมณ์ อย่าเสียดายกิเลส 

อย่าเสียดายอดีต อย่าเสียดายอนาคต อย่าเสียดายธรรมที่ยังไม่เกิด ...มักน้อย อัปปิจฉตา...สันโดษในธรรม ... แค่นี้พอแล้ว ...โง่เข้าไว้ โง่อย่างเดียว มีรู้อันเดียว กายอันเดียว

กายหนึ่งจิตหนึ่ง ท่องไปในสามโลกธาตุ มีแค่กายหนึ่งจิตหนึ่ง เห็นมั้ย เป็นเอกบุรุษ เป็นเอกสตรี เป็นหนึ่ง กายหนึ่งจิตหนึ่งนะ ท่านพูดไว้ ...ไม่ใช่หลายกายเลยนะ

แต่ตอนนี้มันกี่กายเข้าไปแล้ว กายเราก็ไม่รู้กี่กายเข้าไปแล้ว แล้วยังมีกายคนอื่นเข้ามาอยู่ในกายนี้อีก..ในจิต เห็นมั้ย

เพราะนั้นในสติปัฏฐานท่านบอกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐานน่ะ รู้กายเห็นกาย...ต้องกายหนึ่งนะ รู้จิตเห็นจิต รู้ธรรมเห็นธรรม รู้เวทนาเห็นเวทนา

ต้องเห็นกายเป็นกายก่อนนะ ...อย่ามาบอก อย่ามาเชื่อว่ากายนี้เป็นเรานะ กายนี้มีชื่อนะ กายนี้สวยนะ กายนี้ไม่สวยนะ ...นั่นไม่เรียกว่าเห็นกายนะ

ฟังดูง่ายนะ ฟังดูภาษานี่ธรรมดามากเลย กายานุสติคือสติรู้ในกาย รู้เห็นกาย ...แต่จริงๆ มันยังไม่เห็นกายเลย ยังมาบอกว่าเป็นหญิงอยู่ ...นี่ไม่ใช่กายนะ ยังไม่เห็นกายนะ

ที่ยังมาบอกว่าเป็นแก่เป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ ...ยังไม่เห็นกายนะ นั่นเห็นสมมุติในกายนะ นั่นเห็นบัญญัติในกายนะ นั่นเห็นความเชื่อในกายอย่างอื่นที่เป็นมิจฉานะ

เพราะนั้นแค่ว่าเห็นกาย รู้กายเห็นกายนี่ดูเหมือนง่าย... ไม่ใช่ง่ายนะ มันยังเห็นไม่จริงเลย มันยังมาบอกว่ากายเป็นอย่างนั้น กายเป็นกายอย่างนี้

นี่กายเรา นี่กายเขา นี่กายดี กายร้าย กายถูก กายผิด กายนี้เป็นคุณ กายยังเป็นโทษ กายนี้สวย กายนี้ดำกายนี้ขาว ...นั่นไม่ใช่กาย ยังไม่เห็นกาย

รู้ลงไป ตั้งมั่น ...เพราะนั้น จริงๆ น่ะ สติปัฏฐานเบื้องต้นที่ว่าให้รู้กายเห็นกาย รู้ว่าทำอะไรแล้วก็รู้อิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน แล้วก็รู้นี่ ...มันยังไม่เกิดปัญญาหรอก

มันเป็นการระลึกรู้เพื่อให้จิตตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบัน คือให้เกิดสมาธิตั้งมั่นอยู่ที่ใจรู้ใจเห็น ให้เกิดความชัดเจนอยู่ที่ใจรู้ใจเห็น ...บอกแล้วใช่มั้ย สติมาก...สมาธิจะมาก

ถ้าเข้าใจอย่างนี้ เมื่อสมาธิตั้งมั่น ใจนี่ตั้งมั่นเป็นกลาง เป็นหนึ่ง ไม่ส่ายแส่ ไม่ไปปรุงแต่งกับกายมากขึ้น ...คือมันอยู่ หยุด รู้ ตั้งมั่น นิ่ง รู้เห็นเป็นสักแต่ว่าอยู่นี่ มันจึงจะเกิดปัญญาขึ้น

มีอาการเป็นญาณทัสสนะ คือการเห็น เห็นลงมาครอบในสองอัน ปัญญามันจะเกิดนะ ...ถ้าจิตไม่ตั้งมั่นอย่างนี้นะ จะไม่มีญาณทัสสนะที่เป็นความแจ่มชัด คือความชัดเจน

ไอ้ที่เราบอกชัดเจนน่ะ คือมันชัดเจนว่า...อ้อ นี่กาย กายเป็นอย่างนี้จริงๆ  ไอ้นี่เรียกว่ากายแล้ว เถียงไม่ได้เลย ...มันเห็นอย่างนั้น มันเถียงไม่ได้เลย มันก็เห็นอย่างนั้นน่ะ กองเป็นกองอยู่แค่นี้

ก้อน...ก้อนอะไรก็ไม่รู้ไม่ต้องว่า พอมันจะว่าปุ๊บ...ทัน ...นี่ปรุงนะ เริ่มมีความเห็นเข้ามาแทรกซึมแล้ว...ไม่เอา ปุ๊บ ทัน ...มันเห็นชัดอยู่อย่างนี้ มันก็เห็นกายสักแต่ว่ากายอย่างเดียว

ชัดเจนลงไป มันก็เห็นกายชัดขึ้นเรื่อยๆ ...ไม่ใช่ว่าชัดถึงเนื้อ ถึงกระดูก ถึงเน่าถึงเปื่อย  ไม่ใช่ชัดอย่างนั้น ...แต่มันชัดในความเป็นแค่กายจริงๆ เห็นกายจริงๆ

ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ชาย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ใครของใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ...นี่มันเห็นชัดในกายอย่างนี้

เมื่อมันเห็นชัดเจนดีแล้วนี่ สักกาย (สักกายะ) มันจะคลี่คลายในตัวของมันเอง ...ไม่ต้องไปไล่ละ ไล่หาว่าอันไหนเป็นสักกาย-ไม่สักกาย อันไหนเป็นเรา ...ไม่ต้องว่าอ่ะ

ให้เห็นกายอย่างนี้..เห็นกายอย่างนี้ ซ้ำลงไปๆ ไม่ต้องเอาอะไรมาก ไม่ต้องว่าผลมันจะเป็นยังไง รู้แค่นี้ เห็นอยู่แค่นี้ รู้กายเห็นกาย รู้เวทนาเห็นเวทนา รู้จิตเห็นจิต รู้ธรรมเห็นธรรม

รู้เห็นอยู่เท่านี้แหละ ไม่คิดไม่ปรุงไม่แต่งไม่หา อดีตอนาคตไม่มี ...กายเดียวจิตเดียว กายหนึ่งจิตหนึ่ง เกิดคนเดียวตายคนเดียวไม่ข้องเกี่ยวกับใคร เป็นอิสระเป็นเอกอยู่อย่างนี้

กายหนึ่งจิตหนึ่งคู่กันอยู่จนตายแหละ  ถ้าไม่เห็นอะไรก็อยู่กับมัน กายหนึ่งจิตหนึ่ง จนตายอ่ะ เอาสิมันจะไม่แจ้งในธรรมให้มันรู้ไป ...นี่ รู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้

ลักษณะนี้คือ...ถ้าพูดภาษาก็เรียกว่าปัญญาวิมุติ ...แต่ถ้าพูดโดยตรงจริงๆ น่ะคือหลัก นี่คือหลัก นี่คือทางสายเอก เข้าใจมั้ย ...ทำไมท่านเรียกว่าทางสายเอก เพราะมันเป็นทางเดียว เป็นวิถีเดียว

ยังไงๆ ไม่ว่าเส้นทางไหน ภาวนาอย่างไร...จะยุบหนอพองหนอ จะกำหนดพุทโธ จะพิจารณาอสุภกรรมฐาน จะเจริญฌานสมาบัติ ไม่ว่าเส้นไหนสายไหน สุดท้ายต้องมาลงล็อกบล็อกเดียวกันนี้ 

ต้องมาเห็นอย่างนี้ ต้องมาเข้าใจอย่างนี้ ไม่ใช่ไปเห็นอย่างอื่น ...การจะเข้าไปเห็นความเป็นจริงของกาย เวทนา จิต ธรรม หรือโลกหรือธรรมทั้งคู่กันนี่ มันจะต้องเห็นอย่างนี้เท่านั้น 

มันจะต้องมาเข้าตรงจุดนี้เท่านั้น จึงจะแจ้งในธรรมทั้งหลายทั้งปวงว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา ...สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ

นั่น จะเห็นกายเป็นซากศพ เห็นกายเป็นอสุภะ เห็นกายเป็นของเน่าเปื่อย เห็นกายเป็นของไม่สวยไม่งาม ก็ยังไม่เรียกว่าเห็นกายตามจริง ...มันยังแอบ มันยังมีความปรุงแต่งอยู่ในกายนั้นอยู่

แม้จะปรุงหรือแม้จะแต่งเพื่อให้เกิดแง่ของความเบื่อหน่ายไม่เกิดราคะก็ตาม ก็ยังเป็นกายที่ยังมีความปรุงแต่งด้วยสังขารธรรมใดสังขารธรรมหนึ่ง ด้วยการนึกน้อมไปพิจารณาไปในแง่ใดแง่หนึ่ง

หรือมันจะเห็นกายเป็นดินน้ำไฟลม มันก็ยังไม่เห็นกายตามจริง แต่เมื่อใดที่เข้าใจดีแล้ว เห็นกายตามจริงดีแล้ว กายตามจริงนั้นจะเป็นกายที่ไม่มีคำพูดสมมุติบัญญัติ 

จะเป็นกายที่ไม่มีความเห็นใดในนั้น จะเป็นกายที่ไม่มีภาษา ไม่มีบัญญัติ ไม่มีความหมายใดๆ ในกายนั้น ...นี่จึงเรียกว่าที่สุดของกาย มันเห็นกายแล้ว คือ ไม่มีกายในกายน่ะ

คำว่า "กาย"...มันยังเป็นชื่ออยู่นะ...กาย มันยังเป็นภาษา ก-า-ย  จิตมันก็ยังเรียกว่ากายอยู่ เชื่อว่ากาย ...นี่ ขนาดบอกว่าดูกายเห็นกายนี่มันยังเป็นสมมุติเลย มันยังเห็นกายตามสมมุติเลยว่านี่ยังเป็นกาย

ดูไปดูมา...ไม่มีกาย มีแต่อะไรก็ไม่รู้ ไม่มีคำพูด เงียบหมด นี่ ...นั่นแหละเข้าถึงภาวะที่เรียกว่า...กายวิเวก 

และจิต...ใจผู้รู้ที่มันหยุดความปรุงแต่งหรือขณะนั้นด้วยอำนาจของสติสมาธิปัญญาที่พอดีแล้ว พร้อมแล้ว ตั้งมั่นดีแล้ว ใจดวงนั้นผู้รู้นั้นจะเป็นผู้รู้เปล่าๆ ไม่มีความปรุงแต่งในขณะที่มันรู้กายเห็นกายนั้น

มันจึงเป็นภาวะที่เรียกว่ากายวิเวก กับจิตวิเวก  …นี่ อาศัยกายวิเวกจิตวิเวกนี่ เขาเรียกว่า กายหนึ่งจิตหนึ่ง..กายหนึ่งจิตหนึ่ง จิตหนึ่งธรรมหนึ่ง..จิตหนึ่งธรรมหนึ่ง


(ต่อแทร็ก 6/29  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น