วันศุกร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 6/29 (2)


พระอาจารย์
6/29 (550110B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
10  มกราคม 2555
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 6/29  ช่วง 1

พระอาจารย์   คำนี้..คำว่ากายวิเวกนี่ หมายรวมทั้งหมดเรื่องของนามด้วย คำว่ากายวิเวกนี่รวมหมดทั้งขันธ์ ๕ นะ

เพราะนั้นแม้แต่ความคิดความปรุง แม้แต่อารมณ์ แม้แต่ความรู้สึก  มันก็คือกายหนึ่งจิตหนึ่งเหมือนกัน ...เหมือนกัน เรื่องเดียวกัน ...ดูอย่างนี้ 

ไม่มีความเป็นสัตว์ความเป็นบุคคลในความคิด ไม่มีความเป็นสัตว์ความเป็นบุคคลในสุขหรือทุกข์ ไม่มีความเป็นสัตว์ความเป็นบุคคลในอดีตอนาคต ไม่มีความเป็นสัตว์ความเป็นบุคคลในอารมณ์น้อยใหญ่ 

มันก็เป็นแค่อะไรฟูฟ่องขึ้นมา ลอยขึ้นมา เคลื่อนขึ้นมา แค่นั้นน่ะลักษณะมัน สักแต่ว่าสิ่งหนึ่ง ...มันเห็นเป็นสิ่งหนึ่ง กายหนึ่งจิตหนึ่งเหมือนกัน

ใจที่รู้เลยไม่เข้าไปปรุงหาถูกหาผิด หาเหตุหาผล ให้ค่าให้ความหมาย หาว่ามันคืออะไร มันดีหรือมันร้าย มันเป็นธรรมหรือมันไม่เป็นธรรม ...ไม่หาอะไรและไม่แต่งอะไรทั้งนั้น

จิตก็เป็นจิตวิเวก รู้อยู่เห็นอยู่เฉยๆ ง่ายๆ สบายๆ ไม่คาดไม่หวัง รู้เปล่าๆ รู้บ่ดาย รู้เฉยๆ รู้ด้วยความสงบระงับจากความปรุงแต่ง...ด้วยจิตผู้รู้ที่ตั้งมั่นเป็นกลาง

นั่นน่ะ มันก็เห็นอาการของนามธรรมนั้นเป็นเช่นเดียวกับกายหนึ่ง ก็เรียกว่าเป็นจิตหนึ่งธรรมหนึ่ง ๆ ...แล้วก็ตรงแน่วอยู่ในจิตหนึ่งธรรมหนึ่ง...ปัจจุบันธรรมกับปัจจุบันจิตอยู่เสมอ

มันก็จะมีความแจ่มชัดในสิ่งที่มันรู้สิ่งที่มันเห็นต่อหน้ามันนั่นแหละ ว่าเป็นแค่สักแต่ว่าเกิดๆ ดับๆ ...ไม่รู้ว่าอะไรเกิด ไม่รู้ว่าอะไรดับ

ไม่สนใจด้วยว่าอะไรเกิด ไม่สนใจด้วยว่าอะไรดับ  ไม่ดีใจด้วยเวลาเกิด ไม่เสียใจด้วยเวลาดับ ...มันก็รับรู้อาการเกิดดับนั้นเป็นปกติธรรมดา มากขึ้นๆๆ

แรกๆ ก็มีที่มันเกิดก็ดีใจบ้าง ดับไปก็เสียใจบ้าง หรือไม่เกิดไม่ดับก็หงุดหงิดบ้าง นี่ ต่อไปมันจะเป็นปกติ ปกติในการเกิด ในการตั้ง ในการดับ ...มันจะสมดุลอยู่อย่างนี้

มันก็มาปรับศีล...ความเป็นปกติโดยตลอดสาย ...ความเป็นศีลก็กลายเป็นศีลวิสุทธิขึ้น เป็นความบริสุทธิ์ของความเป็นปกติ

ทุกอย่างเขาแสดงไปตามอำนาจของความเกิดขึ้นตามเหตุและปัจจัย ตั้งอยู่ด้วยอาศัยเหตุและปัจจัย ดับไปโดยอาศัยเหตุและปัจจัย

ไม่ใช่ว่าเป็นการเกิดการตั้งหรือการดับไปนี่...เพราะใครหรือเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง ...มันเห็นอยู่แล้วนี่ว่าไม่มีความเป็นสัตว์ความเป็นบุคคล เกิดเองตั้งเองดับเองเป็นธรรมดา...เกิดเองตั้งเองดับเองเป็นธรรมดา

ใจที่รู้เห็นโดยไม่เข้าไปหมาย เข้าไปปรุง เข้าไปให้ค่าให้ความหมายอะไรนี่  มันก็จะคืนสู่ความเป็นปกติธรรมดามากขึ้นๆ

เพราะนั้น ยิ่งภาวนาไป...มันยิ่งธรรมดาขึ้นน่ะ มันยิ่งภาวนาไปมันยิ่งเหมือนกับคนไม่รู้อะไรเลยอ่ะ มันยิ่งภาวนาไปเหมือนยิ่งโง่ลงว่ะ มันยิ่งภาวนาไปเหมือนยิ่งไม่รู้จะพูดอะไรดีน่ะ

มันยิ่งภาวนาไปมันยิ่งหมดคำพูดไปเรื่อยๆ ...เออ ภาวนามันกลับเป็นอย่างนี้นะ ไม่ใช่ยิ่งภาวนาแล้วแหมความรู้มันยิ่งมากมายมหาศาลเยอะแยะไปหมด

ไอ้นี่มันรู้จริงหรือรู้ไม่จริงต้องสงสัยไว้ก่อนนะ แล้วก็กลับมาดูว่า เออเฮ้ย แล้วไอ้ความรู้ที่แท้จริงคืออะไร อะไรที่เรียกว่ารู้ไม่จริง

อะไรที่เรียกว่ารู้ไม่จริง ...คือรู้ไปเรื่อย รู้ไม่จริง เดี๋ยวก็มีความรู้นั้น เดี๋ยวก็มีความรู้นี้ เดี๋ยวก็เกิดความรู้นั้น เดี๋ยวก็เกิดความรู้นี้ความเห็นนี้ ...ไอ้นั่นน่ะไม่จริง

ถ้าความรู้จริงน่ะมีอันเดียว มีหนึ่งเดียว...มีรู้เดียว  มีรู้..อยู่ตรงนี้ รู้อยู่ที่รู้ ...มีรู้ในรู้น่ะ ในรู้นั้นไม่มีอะไรเลย ไม่รู้อะไรเลยมีแต่รู้ ...นั่นแหละรู้จริง นั่นแหละความรู้จริง

เพราะนั้นให้ขยันสร้างความรู้จริงตรงนี้ ...ไอ้รู้จริงนี่แหละต่อไปมันจะเกิดภาวะต่อไปที่เรียกว่ารู้แจ้ง เมื่อรู้จริงแล้วมันจะรู้แจ้งเองน่ะ ด้วยความรู้จริงอย่างนี้

ไม่ใช่รู้ไปเรื่อย ไอ้นั่นก็น่ารู้ ไอ้นั่นก็ต้องรู้ ไอ้นั่นก็อยากรู้ ไอ้นั่นก็ทำยังไงถึงจะรู้วะ ...นั่นมันเป็นรู้แบบสังขารธรรม สังขารขันธ์ รู้แบบในตำรา รู้แบบจดจำมา รู้แบบคะเนเอา

รู้แบบอยู่ดีๆ มันก็ผุดเป็นนิมิตขึ้นมา มาพูดมาบอก บางคนก็มีพระพุทธเจ้ามานั่งสอน บางคนก็มีครูบาอาจารย์มานั่งเทศน์ แล้วก็เกิดความรู้มีความเข้าใจในธรรมอันนั้นอันนี้

มันไม่ใช่ความรู้ความเห็นอะไรหรอก มันก็เป็นแค่อาการหนึ่งที่ปรากฏแล้วก็ดับไป ...แน่ะให้มันเห็นอย่างนี้ อย่าไปตื่นเต้นตกใจ กลัว หรือดีใจ หรือเสียใจ

เวลาเห็นอะไร เวลามีความรู้อะไรบ้าๆ บอๆ ประหลาดมหัศจรรย์เกิดขึ้นก็ตาม ...ใจเห็น ...ตั้งมั่นไว้ที่ใจรู้ใจเห็น ในความรู้ที่เป็นรู้ที่แท้จริง เป็นรู้ที่พระพุทธเจ้าต้องการ

นี่ เป็นรู้ที่พระอริยสงฆ์ทั้งหลายทั้งปวงท่านอยู่ที่นี้ ท่านมีความรู้อันเดียว รู้ในสิ่งเดียว อย่างมากก็อนุญาตให้รู้กะแค่ปัจจุบัน นี่ออกไปรู้นี้ เพื่ออะไร...เพื่อศึกษามันเท่านั้นเอง

อดีตอนาคตทิ้งไปเลย ...เหมือนน้ำลายน่ะ บ้วนน้ำลายทิ้งน่ะ ไปเลียคืนมั้ยล่ะ พวกเรานี่เลียน้ำลายคืนทั้งวัน พูดคุยกันนี่ คุยกันแต่อดีตอนาคต ไม่เคยพูดคุยกันปัจจุบันเลยนะ

เดี๋ยวจะทำอะไรดี เธอภาวนาเป็นยังไง เมื่อคืนเป็นยังไง  ไปภาวนาเข้าคอร์สนี่พอตื่นขึ้นมาเจอหน้ากัน..."เมื่อคืนเป็นไง" ...ก็เป็นของที่ดับไปแล้วอ่ะดิ (โยมหัวเราะ)

จะบอกทำไม จะมาหาความเป็นจริงอะไร จะมาพูดทำไม "เออ เดี๋ยวเราจะไปทำอะไรต่อดี" ...นั่น ทำไมมันไม่อยู่ตรงนี้ล่ะ ทำไมไม่อยู่กับความเป็นจริงล่ะ ทำไมชอบไปอยู่กับของไม่จริง หือ มันน่าใคร่ใช่มั้ย 

มันมีมรรคมีผลมั้ย ...ลองดูดีๆ นะ ให้มันเห็นนะ ถ้ามันได้มรรคได้ผลก็อยู่ไปเลย คิดไปเลย ปรุงไปเลย ...แต่ดูแล้ว ครูบาอาจารย์ก็บอกแล้ว มันไม่ได้มรรคได้ผลหรอกในการที่เคลื่อนไป ไหลไป หลงไป เลื่อนลอยไป

ถ้าอยากจะเข้ามรรคเข้าผลเข้านิพพาน นิพพานัง ปรมัง สุขขัง  นิพพานัง ปรมัง สันติ  ต้องอยู่ตรงนี้ อะไรที่ว่าตรงนี้ ...ต้องรู้ตรงนี้ แล้วมีรู้อันเดียวกับสิ่งที่ถูกรู้อันเดียว

ไม่ว่าอะไร ๆ ก็ได้ เห็นก็ได้..รู้ว่าเห็น  ได้ยินก็ได้..รู้ว่าได้ยิน  กายก็ได้..ยืนเดินนั่งนอนก็รู้ไป ไหวก็รู้นิ่งก็รู้ๆ ไหวอีกก็รู้อีก นิ่งอีกก็รู้อีก ...ให้มันตรงลงไปในปัจจุบัน

ไม่ได้อะไรหรอก แต่มันก็ไม่ได้ไปเอาอะไรเหมือนกัน มันไม่ได้อะไรแต่มันก็ไม่ไปเอาอะไร มันไม่เข้าใจอะไรแต่มันก็ไม่หลงโง่ออกไปหาอะไร มันไม่รู้อะไรหรอก แต่มันก็ไม่อยากไปหาอะไรมาพัวพันมัน

เมื่อมันชัดเจนในของสิ่งเดียว สมาธิมันตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบันธรรมแล้ว นั่นน่ะ ปัญญามันจะเกิดตรงนี้...อะไรเป็นกายล่ะ กายจริงอยู่ไหน กายนี้เป็นเราหรือไม่เป็นเรายังไง

มันก็สอบทานสอบทวนจำแนกธรรมที่ปรากฏอยู่ต่อหน้ามันนี่ ...ไม่ใช่คิดนะ มันดูไป มันจำแนก มันวิเคราะห์ด้วยอาการรู้และเห็นเป็นกลางๆ ไม่มีความคิดความเห็นใดๆ สอดแทรกขึ้นมา

มันเห็นไปตรงๆ นั่นแหละ รู้ตรงเห็นตรง ...เมื่อยิ่งรู้ตรงเท่าไหร่ เห็นตรงเท่าไหร่ มันก็เกิดภาวะที่เรียกว่ารู้ชอบเห็นชอบ ...ไอ้ที่รู้ตรงเห็นตรงนั่นจึงจะเกิดภาวะที่เรียกว่ารู้ชอบเห็นชอบ

ไอ้ความรู้ที่เห็น ไอ้สิ่งที่รู้ไอ้สิ่งที่มันเห็นนั่นน่ะ ก็เกิดความชอบขึ้น ชอบธรรม...เป็นความชอบธรรม ...เพราะมันเห็นตามธรรม เพราะมันเห็นสภาวธรรมตามจริง

มันไม่ได้ว่า มันไม่ใช่ธรรมคลาดๆ เคลื่อนๆ ปลอมๆ ปนๆ แปดๆ เปื้อนๆ เลื่อนๆ ลอยๆ ...ดูไปจนไม่มีขาน่ะ ...เอ้า ดูยังไงดูไม่มีขา เอาจนไม่มีหน้า ไม่มีตา ไม่มีหนังน่ะ

ไม่ใช่ไปนึกลอกหนังหน้าออก ลอกกระดูกแขนขาตับไตไส้พุงออก แล้วก็ เออ ไม่มีขา...ไม่ใช่ ...ดูจนไม่มีขา ดูเข้าไป รู้มันเข้าไปว่าขาอยู่ไหน ...ดูไปมันก็เข้าใจเอง อ๋อ ขาอยู่ที่สมมุติ

ขามันเป็นขาสมมุติ ขาจริงน่ะไม่มี ไม่เป็นขา ไม่เป็นแขน ...ไม่ได้บอก เงียบมั้ย ได้ยินมั้ย  ถ้ามันบอกตอนนี้นะระงมเลย ขาๆๆๆๆๆๆๆ แขนๆๆๆๆๆๆ มันก็บอกเลยสิ ...มันไม่บอกนี่

มันก็ตั้งอยู่ซื่อบื้อ เป็นกองอยู่อย่างนี้ ...มึงบอกว่า “ขา” กูก็เฉย มึงบอกว่า leg กูก็เฉย มึงบอกว่าไม่ใช่ขาไม่ใช่แขน กูก็เฉย ...เห็นป่าว ถึงบอกว่ามันไม่มีขา

ต่อไปเมื่อไม่เห็นมีแขนมีขาแล้ว ก็ไม่เห็นมีกายเลย ตรงไหนเป็นกาย ...ไม่ต้องว่าสวยว่าไม่สวยแล้ว กายยังไม่มี มันจะมีอะไรสวย นั่น มันไม่เห็นกายเลยในกายนี่ เห็นเป็นอะไรลอยๆ อยู่งี้

หนาวมั้ย ดูความหนาวรู้ความหนาวนี่  มันเป็นอะไรลอยๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ ...ไม่ต้องไปบอกว่าแขนหนาว ขาหนาว หน้าหนาว ตัวหนาว  ไม่มีอะไรหนาว ไม่ต้องไปว่า

ดูเฉยๆ ด้วยจิตวิเวกหรือว่ารู้เห็นเป็นกลางเฉยๆ ธรรมดาจริงๆ  มีแต่หนาวบ่ดาย กะรู้บ่ดาย แค่นั้นเอง ไม่มีตัวไหนหนาว ไม่มีใครหนาว ...นี่ เวทนาในกายก็เห็นอย่างนี้

นี่ จึงเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ นี่จึงเรียกว่ารู้ชอบเห็นชอบ รู้จริงเห็นจริง รู้ชอบเห็นชอบ ...ไม่ใช่รู้ว่าสวย..นี่ไม่ชอบแล้ว หรือว่าไม่สวย ว่ามันดี-ไม่ดี ...นี่ ไม่ชอบเท่าไหร่นะ

นี่รู้แบบยังคลาดเคลื่อนจากธรรมอยู่ ยังรู้ไม่จริง ...แล้วส่วนมากพวกเราจะติดไอ้ความไม่จริงนี่มาก แล้วพยายามจะหาความจริงที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งมากๆ

ด้วยความไม่รู้เนื้อรู้ตัว ด้วยความโลภในธรรม ด้วยความอยาก  พอไม่ได้ก็เกิดหงุดหงิด รำคาญ โทสะ ...เห็นมั้ย ปฏิบัติกันยังไง ฮึ ทำไมมันไม่กลาง..ทำไมมันกางแขนกางขาอยู่ตลอด

ทำไมมันไม่กลางลงที่ใจ หือ มันกางไปเรื่อย  ...เดี๋ยวพอได้..ก็ อมยิ้ม..ตรงเลยตามที่กำหนดไว้มันจะต้องเห็นยังงั้น..จะต้องเห็นความดับไปของมันยังงี้...ยิ้ม

ไม่รู้ล่ะ อะไรก็ได้ ถ้าสภาวะนั้นสภาวะนี้มันเกิดให้เห็นก็ยิ้มแล้ว จิตมันยิ้ม ...ก็ไม่เห็นอีกว่า “พอใจ” เป็นอาการหนึ่ง รู้...เป็นอีกอาการหนึ่ง


(ต่อแทร็ก 6/29  ช่วง 3)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น