วันพุธที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 6/28 (2)


พระอาจารย์
6/28 (550110A)
10 มกราคม 2555
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 6/28  ช่วง 1 

พระอาจารย์ –  แต่ต้องอาศัยใจนี่แหละ ต้องตั้งมั่นลงที่นี้แหละ...ที่เดียวนะ ไม่ออกนอกนี้นะ  จึงจะเข้าใจๆ จึงจะเห็นธรรม จึงจะเห็นธรรมตามความเป็นจริง

มันจะต้องอาศัยใจดวงนี้ ผู้รู้อันนี้ เห็นธรรม...รู้ธรรมและเห็นธรรม จนถึงที่สุดของธรรมนั้นๆ
 
เมื่อใดที่เห็นที่สุดของธรรม ไม่ว่ากายเวทนาจิตธรรม ที่เราบอกว่าเห็นกายในกาย เห็นจิตในจิตเห็นธรรมในธรรมเห็นเวทนาในเวทนา 

เมื่อใดเห็นที่สุดของธรรมนั้นจึงจะเรียกว่าทุกสรรพสิ่งคือธรรมเดียวกัน มีความเกิดขึ้น มีความตั้งอยู่ มีความดับไป เสมอกันเป็นอันเดียวกัน ไม่แบ่งแยก

นั่น มันจะเห็นกายเวทนาจิตธรรมเป็นอันเดียวกัน...โดยการที่ว่าเป็นธรรม ไม่ได้เห็นอันอื่นนอกเหนือจากธรรมอันเดียว

ไม่แบ่งแล้ว ตอนนั้นมันไม่มีสมมติแล้ว มันไม่มีบัญญัติแล้ว มันไม่มีความคิด มันไม่มีความเห็นแล้ว ...มันเป็นธรรมล้วนๆ มันเหลือเป็นสภาวธรรมล้วนๆ 

จนเห็นสภาวธรรมนั้นถึงที่สุดของสภาวธรรมนั้นคือความดับ ...ใจดวงนี้จึงจะเห็นนิโรธ ของธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่มีความดับ มีความสิ้นไปในตัวมันเอง ไม่มีผู้กระทำ เป็นเรื่องเดียวกันหมด
 
ใจดวงนั้น อัสมิมานะ...ความหมาย ความยกว่านี่สูง นี่ต่ำ นี่ควร นี่ไม่ควร นี่ละเอียดกว่า นี่ประณีตกว่า นี่หยาบกว่า...ไม่มี เป็นธรรมอันเดียวกันหมด 

มันทำลายหมด อัสมิมานะ ที่มันยกขึ้นมา กดลงไป ให้ค่านั้นสูงกว่า ให้ค่านี้ต่ำกว่า...พวกนี้จะหมด เมื่อใจผู้รู้นั้นเห็นว่าทั้งหลายทั้งปวง...สัพเพ ...เข้าใจคำว่า สัพเพ ธรรมา ไหม

สัพเพ สังขารา อนิจจา  สัพเพ ธรรมา อนัตตาติ ...ท่านใช้คำว่า “สัพเพ ธรรมา” ท่านไม่ได้เรียกว่ากาย เวทนา จิต ธรรม ...ท่านไม่ได้เรียกว่าขันธ์ ๕ ด้วยซ้ำ

แต่ท่านเรียกว่าเป็นธรรม เป็นสัพเพ...ธรรมทั้งหลายทั้งปวง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ...เกิดขึ้นในเบื้องต้น ตั้งอยู่ในท่ามกลาง ดับไปในที่สุด

ท่านเห็นอยู่แค่นี้...เป็นธรรม ท่านไม่ได้เห็นว่าเป็นอะไร ไม่เห็นความเป็นสัตว์ ไม่เห็นความเป็นบุคคล ไม่เห็นชื่อไม่เห็นเสียง ไม่เห็นว่ามันเป็นของหรือไม่เป็นรูปหรือว่าไม่เป็นนาม

ไม่เห็นว่าเป็นอะไรเลย เห็นเป็นธรรมอันเดียว เห็นอย่างเดียว ดับอย่างเดียว เห็นตรงไหนดับตรงนั้น เห็นตรงไหนยังไม่ทันว่าเลย..ดับ  นั่น...ไม่ว่าอะไรก็ตาม

ไม่ว่าสุข ไม่ว่าทุกข์ ไม่ว่าคิด ไม่ว่าเห็น ไม่ว่าได้ยิน  มันเข้าไปจับตรงไหน..ดับหมด ...อยู่อย่างนั้นน่ะ มันจึงจะเกิดความเห็นที่ว่าแจ้ง ..แจ้งในโลก แจ้งในธาตุ แจ้งในขันธ์ แจ้งธรรม

มันเห็นแจ้งอยู่อย่างนั้นแหละ สว่างแจ้งโล่งอยู่อย่างนั้น ...แล้วจากนั้นไปมันจึงจะเข้ามาทำที่สุดของทุกข์ให้ดับ ด้วยการลบตัวมันเอง ลบไอ้ตัวที่ไปเห็นอะไรนั่นแหละ ลบไอ้ตัวที่ไปรู้อะไรนั่นแหละ

นั่นแหละคือที่หมายสุดท้าย หรือว่าจุดเริ่มต้น ที่จริงคือ...ที่หมายสุดท้ายนี่คือจุดเริ่มต้นของการเกิด อยู่ที่เดียวกันเลย...นั้นน่ะที่เดียวกัน นั่นน่ะที่สุดของใจ 

พอเข้าถึงที่สุดของใจนี่ จึงจะเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่าใจไม่มีประมาณ...อัปปมาโนพุทโธ อัปปมาโนธัมโม อัปปมาโนสังโฆ...มีอยู่

เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปหาไกล ไม่ต้องไปทำอะไร ...หยุด หยุดการกระทำทั้งหลายทั้งปวง หยุดเจตนา หยุดความจงใจ หยุดทุกสิ่งทุกอย่าง อยู่ที่ใจดวงหนึ่งดวงเดียวเท่านั้น ...มันต้องอย่างนี้

อย่าหา อย่าทำ ...มันจะแต่งอะไร เติมอะไร เพิ่มอะไร ด้วยความปรุงอะไร ...รู้ทัน แล้วละซะ รู้อย่างเดียว เห็นอย่างเดียว กลางอย่างเดียว อยู่ที่ตรงนั้นน่ะ

ความเป็นกลางนี่ไม่ได้ไปทำขึ้นนะ ...ใจนั่นแหละมันเป็นกลาง อยู่ที่ใจนั่นแหละกลาง  ใจมันเป็นสภาวะกลางๆ ผู้รู้นี่มันเป็นสภาวะกลางๆ

เพราะฉะนั้นคำว่าการทำจิตให้เป็นกลางนี่ มันไม่ได้ไปทำนะ ...แค่ระลึกลงที่ใจรู้นั้นน่ะ อยู่ที่รู้นั้นน่ะ ไม่ไปไม่มา นั้นแหละมันกลางแล้ว มันเป็นมัชฌิมาแล้ว มัชฌิมากับทุกสิ่งที่อยู่ต่อหน้ามัน 

มันจะไม่มัชฌิมาต่อเมื่อมีจิตปรุงแต่งสอดแทรกขึ้นมา  ออกไปให้ค่า ออกไปในอดีตบ้าง ออกไปหาอนาคตบ้าง ออกไปคิดวิเคราะห์  ...นั่น ท่านเรียกว่าอุทธัจจกุกกุจจะ...ฟุ้งซ่านในธรรม 

กลัวไม่ชัดเจน กลัวไม่เข้าใจ กลัวไม่ละเอียด มันก็...ปึ๊บนี่ มันยืดออกไปเลย ...เห็นรึเปล่า จิตมันยืด มันยืดออกมา จิตมันยื่นออกมา มันยื่นมือยื่นแขนยื่นตีนออกมา  นั่นแหละจิตปรุงแต่ง...ให้ทัน 

เห็นแล้วอย่าเสียดาย อย่ากลัวไม่เข้าใจ อย่ากลัวไม่ชัดเจน อย่ากลัวไม่ละเอียด ...ทิ้งเลย ละเลย รู้อย่างเดียว รู้ซื่อๆ รู้กลางๆ รู้กลวงๆ นั่นแหละ รู้แบบไม่มีอะไรในรู้น่ะ นั่นแหละคือปัญญาที่สุดแล้วนะ  

โง่...จนไม่รู้อะไรเลย มีรู้อันเดียว รู้อย่างเดียว ...แล้วอะไรข้างหน้ามันนี่สักแต่ว่าเฉย สักแต่ว่า นั่นน่ะ  ถ้ามันอยู่อย่างนั้น โดยสภาวะนั้น จิตไม่เคลื่อนออกไป ไม่มีอาการที่เคลื่อนออกไปหมายในสิ่งที่อยู่เบื้องหน้ามันน่ะ 

ถ้ามันคงตัวลักษณะที่ว่าเป็นโดยธรรมชาติของมันน่ะ ท่านเรียกว่าสังขารุเบกขาญาณเลย  มันวางเลย มันไม่เข้าไปแตะเลย มันก็สัมผัสรู้สักแต่ ตรงนั้น

จากนั้นไปนี่แหละ อาการปรุงแต่งนี่แหละ อาการที่เท่าทันตรงนี้ ...จิตเกิดดับ จะเห็นจิตเกิดดับ และจิตเกิดดับตรงนี้จะเห็นความดับไปพร้อมกันของขันธ์ ๕ ว่าไม่มีตัวตน  

มันจะเห็นขันธ์ในนี่...เกิดดับ ...ขันธ์ ๕ ที่เกิดดับคือขันธ์ในนะ ขันธ์ในขันธ์  ...ส่วนไอ้ขันธ์นอกนี่คือสักแต่ว่าขันธ์  แต่ใจนี่มันจะไปเห็นขันธ์ ๕ ภายในนี่เกิดดับ 

ตรงนั้นน่ะมันจะเกิดดับตลอดเวลาเลย  เห็นขันธ์ ๕ เกิด-ดับๆๆๆๆ ...แค่ยืดออกไปนิดนึงนี่ ขันธ์ ๕ เกิดแล้ว เกิดซ้อนกันเข้าใจไหม

มันซ้อนกับขันธ์ มันเป็นขันธ์ซ้อนขันธ์ ...แล้วมันไปหมาย มันไปติดข้องในขันธ์ที่ซ้อนขันธ์  มันไปสร้างภพที่ซ้อนภพปัจจุบันขึ้นมา 

เพราะฉะนั้นการเห็นความว่าง ความสูญ ความดับไปของขันธ์ ๕ เสมอในที่อันเดียว...โดยไม่ได้คิดไม่ได้ทำอะไรกับมัน  นั่นแหละมันจึงจะเห็นความเป็นอนัตตาชัดเจนในที่อันเดียว

ก็ดูเอา กายมันก็ยังมีอยู่ ใช่มั้ย  กายของจริงน่ะ  มันไม่ดับ ใช่ไหม แล้วจะบอกขันธ์ ๕ เกิดดับตรงไหนวะ (เสียงโยมหัวเราะ)

แต่ถ้านักภาวนาพยายามจะไปคิด หรือว่ายกนิมิตขึ้นมา แล้วก็คิดว่าเดี๋ยวตายแล้วก็สูญหายไปนี่  อันนั้นเป็นนิมิตนะ ไม่ใช่จริงนะ...คนละเรื่องกัน นั่นมันเป็นแค่การจินตาขึ้นมา

แล้วก็สร้างว่าตั้งแต่เกิดแล้วก็เปลี่ยนไป แล้วก็เห็นรูปนั้นเปลี่ยนไป เห็นรูปนั้นดับไป เห็นรูปนี้เจ็บไข้ได้ป่วย แก่เฒ่าแล้วก็สูญหายไป เมื่อเผาแล้วก็สูญไปจากโลกหายไปดับไปในขันธ์นั่น  

แล้วก็บอกว่านี่น่ะพิจารณาขันธ์ ๕ เกิดดับ...มันเป็นแค่จินตามยปัญญาเท่านั้น ...ขันธ์ ๕ เกิดดับจริงๆ คือ จิตปรุงแต่ง...เริ่มจากจิตปรุงแต่งในขันธ์


โยม  เห็นโลกดับไปต่อหน้า

พระอาจารย์   นั่นแหละ มันดับพร้อมกันเลย  ...ในการปรุงแต่งแต่ละครั้งหนึ่ง ๆ นี่ มันสร้างขันธ์ ๕ ขึ้นมา มันสร้างครบเลยนะ ขันธ์ ๕ ครบเลย  ๕ ตัวเกิดขึ้นพร้อมกันเลย...นิดหนึ่งนี่ เคลื่อนออกมานิดหนึ่งนี่แหละ 

เพราะฉะนั้นน่ะ ถ้าชำระหรือว่ารู้เท่าทันขันธ์ภายในอยู่เสมอ แล้วก็เห็นขันธ์ภายในดับอยู่เสมอนี่ ...สังเกตดู ถ้าถึงขั้นนั้นแล้ว เห็นอะไร ได้ยินอะไร ใครทำอะไร เดินผ่านไปแล้วปุ๊บนี่  จำไม่ได้หรอก

ไม่เก็บมาจำด้วย  ไม่เก็บมานั่งคิดนอนคิด เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น เห็นไหม ...เพราะฉะนั้นอาการภายนอกนี่จะเป็นสักแต่ว่าล้วนๆ จริงๆ เลย  จะไม่เก็บไม่แบกมาเป็นอารมณ์สืบเนื่องเป็นอดีตอนาคต 

เพราะฉะนั้นขันธ์ ๕ ภายในดับเมื่อไหร่ปุ๊บนี่ เวลานี่ดับไปเลย เวลานี่ไม่มีเลย  ...เพราะฉะนั้นเมื่อใดที่เวลาไม่มีเลย แปลว่าเมื่อนั้นแหละอนาคตและอดีตไม่มี 

มีเหลือแค่ปัจจุบันแล้วก็ดับไปในปัจจุบัน เห็นตรงไหนก็ดับตรงนั้น เห็นตรงไหนก็ดับตรงนั้น หมดเหตุตรงนั้น หมดเหตุภายนอกตรงนั้นก็ดับไปพร้อมกัน

เพราะไม่มีขันธ์ ๕ ไปรองรับข้างใน เข้าใจไหม ไม่มีขันธ์ ๕ ไปรองรับต่อ ...เพราะฉะนั้น มันมีสัญญา มันมีสังขารได้นี่ เพราะมันมีตัวตนที่มันปรุงขึ้นมารองรับ เป็นอัตตาใหม่ซ้อนกับอัตตาจริง

ตัวตนจริงในปัจจุบันนี่คืออัตตาจริง ...แต่มันไปมีขันธ์ ๕ อีกตัวนึงไปรองรับๆๆ  เหมือนกับเป็นตัวเรา ของเรา อารมณ์เรา  สิ่งที่เราเห็นๆ สิ่งที่เราได้ยิน สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เรารู้สึก

มันเป็นขันธ์ ๕ อีกตัวนึงภายในมันไปรองรับ ...เห็นไหม ขันธ์นอก ขันธ์ใน ขันธ์หยาบ ขันธ์ละเอียด

ขันธ์นอกนี่มีนอกกว่าสองนอกนะ นอกนู้น..คนอื่น  แล้วก็นอกนี้ แล้วยังมีขันธ์ ๕ แล้วก็ขันธ์ ๕ ภายใน อย่างนี้  มันจะเห็น...แต่ว่าตอนมันเห็นน่ะไม่มีคำพูดหรอกนะ มีแต่เกิดกับดับ

แต่ให้รู้ไว้เลยนั่นน่ะขันธ์ ๕ เกิดดับอยู่เสมอ เห็นขันธ์ ๕ เกิดดับ ...จึงบอกว่า เห็นขันธ์ ๕ เป็นของว่าง จะเห็นขันธ์ ๕ เป็นของว่าง มันว่างจากข้างในนั่นแหละ  

ส่วนตัวนี้ไอ้สักแต่ว่านี่ มันทะลุไปเลย มันไม่ออกไปให้ค่าอะไร ไม่มีความหมายใดๆ  พอจะมีปุ๊บ ...พั้บๆๆ ขาดอยู่ข้างในตลอด 

จนมันขาดถึงขนาดเรียกว่าขาดสิ้น...โดยสิ้นเชิง ...ขาดจากกัน ขาดจากการเข้าไปหมายกับขันธ์ข้างหน้า ด้วยการไปสร้างขันธ์ว่านี่เป็นเรา ของเรา

ตอนนั้นมันจะขาด  มันจะขาดจากการเกาะเกี่ยวกับดินน้ำไฟลมวัตถุธาตุ ...มันก็เห็นตัวตนที่สักแต่ว่าเป็นตัวตนหนึ่งกลวงๆ

เหมือนกับไม่ใช่ใคร ของใคร ไม่เป็นอะไร ไม่มีใครเป็นเจ้าของหรือครอบครองได้ ...ก็เห็นเป็นธรรมชาติที่เคลื่อนไปย้ายมาเท่านั้นเอง อยู่อย่างนั้น

(ต่อแทร็ก 6/28  ช่วง 3)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น