วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 6/24 (1)


พระอาจารย์
6/24 (550106B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
6 มกราคม 2555


พระอาจารย์ –  นิวรณ์แปลว่ากิเลสกางกั้นใจ มันเป็นกิเลสที่กางกั้นใจ ...คนทั่วไปนี่ มันอยู่กับนิวรณ์ ๕ มันเป็นกิเลสพื้นฐานของมนุษย์ เข้าใจรึเปล่า ...มันไม่มีทางเห็นใจหรอก

คนทั่วไปไม่ได้ภาวนา มันก็อยู่กับนิวรณ์ ๕ นี่...มีอะไร กามวิตก พยาบาท ถีนมิทธะ...มึน ซึม เบลอ ใจลอย เผลอ เพลิน...พวกนี้จัดอยู่ในโมหะหรือถีนมิทธะหมด  แล้วก็อุทธัจจะกุกกุจจะ ฟุ้งซ่าน

นั่นแหละ อยู่แค่นั้นน่ะ มันวนเวียนอยู่ในนิวรณ์ทั้ง ๕ นี่โดยความเป็นปุถุชน... เพราะนั้นมันเป็นกิเลสธรรมพื้นฐานที่ปิดบังใจ มันไม่มีวิธีหรอก ที่จะทำให้มันหมดไปสิ้นไปโดยการนึกๆ คิดๆ

พอนึกๆ คิดๆ มันก็เป็นอะไรล่ะ ...มันก็เป็นนิวรณ์อีกตัวที่เรียกว่าอุทธัจจะกุกกุจจะ ...ถ้าเบื่อ รำคาญอาการนี้อีก มันเป็นอะไรล่ะ มันก็เป็นพยาบาท

หรือปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนั้น ก็เป็นกามราคะ พอใจที่จะเป็นอย่างนี้ ไม่ขวนขวาย ช่างหัวมัน คนทั้งโลกเขาก็เป็นกัน ไม่เห็นต้องทำอะไร ...มันก็เป็นกามราคะอย่างนี้

เห็นมั้ย มันก็วนเวียนอยู่ในนิวรณ์ กางกั้นอยู่อย่างนั้นเพราะนั้นตัวที่ว่าจะฝ่าฝันนิวรณ์เหล่านี้มาได้ ไม่มีอย่างอื่นนอกจากสติสมาธิปัญญา หรือว่าศีลสมาธิปัญญาหรือว่าไตรสิกขา

ก็ไม่พูดไม่ว่าอะไรกับมัน ...ก็รู้ไปเบื้องต้น อะไรเกิดขึ้นก็รู้ อะไรตั้งอยู่ก็รู้ กำลังทำอะไรอยู่ก็รู้ มีอะไรเกิดขึ้นก็รู้ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็รู้ ...นั่นสติ สติเป็นเครื่องมือแรก เครื่องมือต้น ที่จะเปิดใจขึ้นมา 

เหมือนเปิดแหวกฟ้า แหวกเมฆให้เห็นพระอาทิตย์ ...ขณะใดที่มีสติ สติก็ทำให้จิตมันตื่น ตื่นรู้ขึ้นมาในขณะนั้น ...แต่ถ้ามีสติตัวเดียวก็ยังใช้งานไม่ได้


โยม –  แปลว่ารู้อย่างเดียวไม่พอ

พระอาจารย์ –  ไม่พอ เดี๋ยวก็หลับ


โยม –  ทำไมเมื่อก่อนอาจารย์บอกพอคะ แล้วตกลงมันพอหรือไม่พอคะ

พระอาจารย์ –  ไม่พอ...เพราะพวกเราเจริญสติยังไม่เป็น ก็เลยไม่พอ ...สติเป็นเครื่องระลึก เป็นธรรมที่เรียกว่าสติธรรม เป็นธรรมตัวหนึ่งที่เกิดการระลึกขึ้นมา...เพื่อรู้ ให้มีใจรู้ขึ้นมาในปัจจุบันนั้น 

แต่มันยังไม่พอ เพราะพวกเราไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา รักษาสติไม่เป็น เพราะไม่มีสมาธิ ...ก็ต้องเข้าใจว่าสมาธิก็ต้องเป็นสัมมาสมาธิ ไม่ใช่มิจฉาสมาธิ 

เพราะนั้นตัวสัมมาสมาธิ ...ก็ต้องเข้าใจว่าจะเป็นสัมมาสมาธิได้ ก็ต้องเป็นสัมมาสติ มันเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน ...แต่ถ้าเป็นมิจฉาสติ มันก็ได้มิจฉาสมาธิ


โยม –  คือต่างกันตรงที่มันเป็นสติสมาธิในกายใจเรารึเปล่าคะ

พระอาจารย์ –  ในกายใจก็เป็นมิจฉาได้


โยม –  ยังไงคะ

พระอาจารย์ –  สติแปลว่าระลึกรู้ แล้วมันจะมีสติทำไมถ้ามันไม่ระลึกขึ้นมาเพื่อรู้ ...เพราะนั้นจุดมุ่งหมายของสติเพื่ออะไรล่ะ ก็เพื่อระลึกแล้วให้มี “รู้”

นี่ถ้าแยบคายในธรรมบทนี้ ก็จะเข้าใจว่าสติเพื่อการใด ระลึก..รู้  ถ้าไม่ระลึกขึ้นมา มันไม่รู้ ...เห็นมั้ย เพราะนั้นสติเป็นไปเพื่อการรู้ ตื่นขึ้น ให้ใจรู้ตื่นขึ้น จิตรู้ตื่นขึ้น จิตผู้รู้ตื่นขึ้นมา นั่นน่ะหน้าที่ของสติ

เมื่อหน้าที่ของสติคือการระลึก หน้าที่ของสมาธิ คือตั้งมั่น ...แล้วมันจะไปตั้งมั่นที่ไหนล่ะ นอกจากรู้ ...ก็สติเป็นไปเพื่อให้เกิดสัมมาสมาธิ มันก็เป็นไปเพื่อการระลึกรู้ ก็ต้องตั้งมั่นลงที่รู้

เพราะนั้นถ้ามันตั้งมั่นอยู่ที่รู้ ภาวะตื่นมันก็จะต่อเนื่อง คงภาวะตื่นรู้อยู่ ตื่นเห็นอยู่ ไม่ขาดไม่หาย

เพราะนั้นถ้ามีสติอย่างเดียว ไม่มีสมาธิ เดี๋ยวก็หลับ เดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็เพลิน เดี๋ยวก็เผลอ ...เพราะมันไม่มีสมาธิเข้าไปเกื้อหนุน คือจิตไม่ตั้งมั่น ใจไม่ตั้งมั่นอยู่ที่รู้

เมื่อมันตั้งมั่นอยู่ที่รู้แล้วนี่ ปัญญาเบื้องต้น มันเห็นอะไรๆ ...มันเห็นว่า สิ่งที่อยู่หน้ารู้นี่ เป็นแค่สิ่งหนึ่งที่ถูกรู้ และมันเห็นอีกตัวเป็นสิ่งที่รู้อยู่กับสิ่งที่อยู่ต่อหน้ามัน

นี่เป็นปัญญาเบื้องต้น สัมมาทิฏฐิเบื้องต้นเลยของสติสมาธิปัญญา...มันเห็นเป็นของสองสิ่ง 

ถ้าไม่มีปัญญามันไม่เห็น อยู่ดีๆ ไปนั่งคิดมันก็ไม่เห็น มันก็ไม่ใช่ ...นึกเอาฟังเอาแล้วก็เข้าใจเอา เข้าใจเอาว่า ก็ยังไม่ใช่ แค่จินตา นึกๆ คิดๆ เอาแบบว่า...เออ ถ้าจะจริงมั้ง 

แต่ถ้าระลึกขึ้นนี่ นั่ง นี่สติระลึกขึ้นแล้วก็รู้ว่านั่ง เห็นมั้ย แล้วก็อยู่ที่รู้ ตั้งมั่นอยู่อย่างนั้น  มันก็จะเห็น...หลังจากตั้งมั่นอยู่ที่รู้ มันก็เห็นว่า อือ มันเป็นกายอันหนึ่ง...รู้อันหนึ่ง

แล้วเดี๋ยวก็หายอีก ก็ระลึกขึ้นมาอีก แล้วก็ตั้งมั่นลงไปอีก แล้วก็เห็นต่อไปอีก ...ทำอยู่อย่างนี้ เข้าใจมั้ย นี่เขาเรียกว่าเจริญสติสมาธิปัญญาพร้อมกัน มีครบ

แล้วไอ้ที่นั่งยกมือนี่ได้อะไร จะเอาอะไร ...ต้องเข้าใจก่อน ต้องเข้าใจก่อนนะว่านั่งยกมือเพื่ออะไร  เราไม่ได้บอกว่าผิดถูกนะ เราถามว่าเข้าใจไหม


โยม –  หนูนั่งยกมือให้เห็นกาย คือให้เห็นกายเคลื่อนไหวค่ะ ได้ไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  เอ้า ก็ไปตั้งอยู่ที่ไหนล่ะ ทุกวันนี้มันตั้งที่ไหน


โยม –  ก็มันต้องตั้งอยู่ที่กายและใจ แต่ว่ามันตั้งได้แค่แวบๆ

พระอาจารย์ –  สมาธิแปลว่าอะไร


โยม –  ความตั้งมั่น

พระอาจารย์ –  ตั้งมั่นกับสิ่งใด


โยม –  กายและใจ กับผู้รู้ค่ะ แต่ว่ามันแวบ มันน้อย

พระอาจารย์ –  เออ สมาธิเป็นหนึ่ง เข้าใจคำว่าหนึ่งมั้ย  แล้วจะมาบอกว่ากาย-ใจยังไง ...ถ้ากายใจมันก็เป็นสองสิ ...แล้วตอนนี้ก็เลือกเอา จะเอาตรงไหนดีล่ะ


โยม –  เอาหนึ่งค่ะ

พระอาจารย์ –  เอ้า ถ้าหนึ่งก็ต้องเลือกเอาอีกว่า จะเอาพ่อหรือจะเอาแม่  ถ้าเอาหนึ่งน่ะ ไม่พ่อก็แม่ เอ้า สมาธิตั้งมั่น ตั้งใจ ...ทำไมท่านเรียกว่าตั้งใจ เป็นความตั้งใจ ใจต้องตั้งมั่น ชื่อก็บอกอยู่แล้ว ให้ตั้งใจ 

เมื่อมีสติระลึกขึ้นได้แล้ว รู้ปรากฏแล้ว อย่าไปไหน อยู่ที่ใจรู้ใจตื่นนั่นแหละ ...เพราะนั้นฝึกไปมันจะรู้เอง ...รู้ยังไง รู้ว่าไง ...รู้ว่าสติอ่อน หรือสมาธิอ่อน หรือปัญญาอ่อน ใช่ป่าว หรือไม่รู้อะไรเลย อ่อนหมด


โยม – (หัวเราะ) อ่อนหมด

พระอาจารย์ –  อือ อ่อนหมดก็ต้องเจริญเยอะๆ แล้วก็จำไว้ว่าต้องสามตัวนี้


โยม (อีกคน) –  พระอาจารย์ ขอโทษค่ะ สติ สมาธิ นี่ มันต่างกันยังไงคะ

พระอาจารย์ –  สติแปลว่าระลึกรู้  สมาธิแปลว่าจิตตั้งมั่น เอ้า ต่างกันมั้ย


โยม –  ถ้าระลึกรู้ไปบ่อยๆ ก็กลายเป็นจิตตั้งมั่นใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ถ้าโง่...ก็ไม่ตั้ง ...ถ้าไม่มีปัญญานี่ ไม่มีทางตั้งขึ้นนะ รู้แล้วก็หลับๆ เอาดิ ถ้าสติอย่างเดียว เขาเรียกว่าไม่มีปัญญามาประกอบเลยนะ ไม่มีสัมมาทิฏฐิ...ไม่มีทางตั้งมั่นเองได้นะ

นักเจริญสติก็รู้ไปเรื่อย ก็แค่รู้ไปเรื่อยๆ น่ะ ...รู้ไปทำไม หา มันจะรู้ไปทำไมวะ ปัญญามันเกิดตรงไหน ตอนไหน มันวางอะไร มันเข้าใจอะไร เนี่ย รู้ไว้ ไม่ผิดหรอก ...แต่ก็ยังไม่ถูก 

รู้แล้วรู้อีก รู้บ่อยๆ ...ทำไมถึงบอกให้ต้องรู้บ่อยๆ ...มันจะได้ชัด มันจะได้เห็นชัดว่าจะเอาพ่อหรือจะเอาแม่ดี ...ไม่งั้นมันไม่ชัด ไม่เห็นชัด 

ถ้าไม่รู้บ่อยๆ ว่าเนี่ย กายอันหนึ่งจิตอันหนึ่ง กายอันหนึ่งใจอันหนึ่ง...นี่ ชัด เบื้องต้นเห็นชัดในสองสิ่ง นี่ ปัญญามาแล้ว ...แต่มันยังไหลไปไหลมา

เพราะอะไร ...เพราะจิตมันไม่มีสมาธิ มันไม่ตั้งมั่น  มันไปๆ มาๆ กับของที่มันไปๆ มาๆ เข้าใจมั้ย ...อะไรไปๆ มาๆ น่ะ มันไปๆ มาๆ มันไม่เสถียร


โยม –  ใจมันก็ไปๆ มาๆ

พระอาจารย์ –  ก็ใช่น่ะสิ มันไม่ใช่แค่กายอย่างเดียวนี่ ...ถ้ามันรู้กายอย่างเดียวเห็นกายอย่างเดียว มันไม่ไปไม่มา ...แต่นี่ เดี๋ยวก็คิด เดี๋ยวก็มีอารมณ์แทรกขึ้นมา เห็นมั้ย ไอ้สิ่งที่มันรู้มันไม่เสถียร

เมื่อมันรู้สิ่งที่ถูกรู้ไม่เสถียร ไอ้ตัวรู้ก็ดันไม่เสถียรอีก มีหรือมันจะไม่หาย ...ยกมืออยู่ดีๆ อย่าให้ใครโทรศัพท์มานะ ลืมไปเลย นั่งสมาธิอยู่มีใครมาพูดปุ๊บ ลืมบทภาวนาเลย กำลังภาวนาอะไรอยู่ หายหมด

เพราะอะไร มันไม่มีจิตที่ตั้งมั่นอยู่ภายใน  ไม่มีสมาธิ พูดงั้นเถอะ ...ถึงมีสติมันก็มีตอนนั้นน่ะ แต่พอสิ่งที่ถูกรู้มันเปลี่ยนนะ...มึงเสร็จกู กูเอาไปกิน โมหะคาบ มันจะแทรกเข้ามาตอนนั้น

ท่านถึงให้รู้บ่อยๆ เบื้องต้น เนืองๆ เป็นนิจ เป็นนิสัย มากๆ ...จะได้เห็น...ว่ามันมีอะไรระหว่างที่รู้น่ะ จากนั้นตั้งมั่นลงไป ให้ใจมันตั้งมั่น

ซึ่งมันไม่ตั้งมั่นเองหรอกถ้าเราไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจ ไม่เข้าไปที่ใจ ...ถ้าไม่เข้าไปที่ใจ ใจก็จะไปตั้งได้ยังไง  มัวแต่จับปลาสองมืออยู่นี่


โยม –  จับปลาสองมือหมายถึง กายทีใจทีอย่างนี้หรือ

พระอาจารย์ –  มันไปเรื่อยน่ะ มันไม่รู้จะเอาอะไรดี


โยม –  คือพระอาจารย์จะบอกว่าให้เรามีหลักอยู่ที่กายให้มั่น แล้วถ้าเผื่อใจมันแวบๆ แล้วเราก็กลับมาที่กายทันที

พระอาจารย์ –  อือ นั่นน่ะเป็นการฝึกสติ ...เพื่ออะไร ...เพื่อให้เห็นชัด รู้ชัด เพื่อให้เกิดภาวะรู้ชัดเห็นชัด ...เมื่อเกิดภาวะรู้ชัดเห็นชัดปุ๊บนี่ ตั้งมั่น ให้ตั้งมั่นตรงที่รู้ตรงที่เห็น ตั้งมั่นลงที่ใจรู้ใจเห็น


โยม –  ถ้ามันมีสิ่งถูกรู้กับตัวผู้รู้ นี่ ตั้งมั่นดูทั้งสองอย่างให้ชัดเจนใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  เอาที่ใจให้มันตั้งมั่นก่อน ให้มันตั้งให้มั่น ...เคยเล่นชักกะเย่อไหม สองคน สองต่อสอง ถือเส้นเชือกคนละด้าน ยืนอยู่บนโคลน บนกระจกที่มีโคลนทา ลากกัน

อยู่มั้ย เอากันอยู่มั้ย... โยมน่ะจะไหลไปกับมัน ไหลไปอีกข้างหนึ่ง ตราบใดที่ที่โยมยืนกันอยู่มันเป็นขี้โคลน ก็ลากไปเรื่อยน่ะ เข้าใจมั้ย นั่นน่ะไม่ตั้งมั่น


โยม –  แต่มันก็เพาะบ่มกำลังอยู่ไหมคะ ตอนขณะลากไป

พระอาจารย์ –  ไม่บ่ม ถ้าไม่มีปัญญา มันก็ดูไปเรื่อยอีกน่ะ สติก็สติไปเรื่อยเปื่อย ไม่รู้จะรู้ไปทำไม ไม่รู้จะระลึกรู้ไปทำไม เข้าใจมั้ย

ตั้งมั่น สติระลึกเพื่อให้รู้ เอารู้ไว้ อย่างอื่นอย่าเพิ่งสน ...ให้มันตั้งมั่นอยู่ที่รู้ๆ ให้ชัด ให้ชัดอยู่ที่รู้ ไม่ต้องไปทำอะไรหรอก ไม่ต้องไปหาเครื่องมือมาตั้ง หาอุปกรณ์ใดๆ มาให้มันตั้ง

ให้ชัดอยู่ที่รู้ นั่นแหละ แล้วมันจะตั้งมั่นขึ้นมา ...จากที่มันเป็นขี้โคลนน่ะ มันจะเริ่มแข็งเป็นดิน ...ถ้าเป็นดินแล้ว มันอยู่กับที่แล้ว มันพอชนะกันได้

พอที่มันจะไม่ลากเราถูไถออกไป เลื่อนลอยออกไป ไหลออกไป เคลื่อนออกไปจากที่ ...ถ้ามันตั้งมั่นได้จริงน่ะ ไม่โอนอ่อนผ่อนตามมันน่ะ เอาดิ ดึงกันจนเชือกขาดน่ะ


(ต่อแทร็ก 6/24  ช่วง 2)


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น