วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 6/22 (2)


พระอาจารย์
6/22(550104C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
4 มกราคม 2555
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 6/22  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  กลับมาหยุดอยู่..บ่อยๆ มากๆ  หยุดอยู่ที่นี้ เดี๋ยวนี้ กับธรรมอันนี้พอแล้ว รู้อยู่แค่นี้ ...เอาให้แจ้ง เอาธรรมนี้ให้แจ้ง ไม่ว่าจะเป็นรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อากาศที่แวดล้อมอยู่เดี๋ยวนี้ กายที่รู้สึกสัมผัส

รู้อยู่กับธรรมที่เป็นตรงนี้ เดี๋ยวนี้...เท่านั้นน่ะพอแล้ว พอที่จะไม่กลับมาเกิดอีกแล้ว ...ถ้าเราเข้าใจในธรรมบทนี้ เรียกว่าธรรมอันนี้ ธรรมเดียว เป็นธรรมเดียว คือธรรมหนึ่ง หนึ่งในปัจจุบัน

อดีต-อนาคตไม่ต้องไปพิจารณา  ไม่ต้องคาด ไม่ต้องหมาย ไม่ต้องหวัง ไม่ต้องไปดู ไม่ต้องหา ...รู้อยู่เห็นอยู่กับธรรมอันเดียวที่เป็นปัจจุบัน ตื่นรู้ตื่นเห็นกับธรรมอันนี้..เสมอ

เตือนตัวเองไว้บ่อยๆ  พอมันแล่นออกไปหาอะไร กำลังกำหนดอะไร จะหาอะไรข้างหน้า-ข้างหลัง ...ให้ละซะ อย่าไปเผลอเพลิน อย่าไปคล้อยตามมัน

อย่าไปอ้อยอิ่ง อย่าไปประมาทกับธรรม ...ไม่งั้นมันจะเพลิน แล้วจะเป็นนิสัย แล้วจะล้างนิสัยเดิมไม่ได้ ...เพราะธรรมดามันเป็นนิสัยเดิมอยู่แล้ว

ถ้าเราเปรียบ..ก็เคยเปรียบไว้ว่า จิตผู้ไม่รู้นี่เหมือนขี้เมาที่เป็นแอลกอฮอลิซึ่ม มันเป็นแอลกอฮอลิซึ่ม ...คือมันเมาข้ามภพข้ามชาติ เมาโดยสันดาน เมาแบบไม่ฟื้น เข้ากระแสเลือด

เพราะฉะนั้น ขันธ์ห้า โลก ผัสสะ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ทุกสิ่งทุกอย่าง อดีต อนาคต ...พวกนี้เหมือนเหล้า มันเหมือนเหล้า

แต่เป็นเหล้าก็คือเหล้า เหล้าก็คือเหล้า ตัวมันคือความเมา ...แต่เหล้านี่เขาไม่เดินมาเข้าปากคน  ไอ้ขี้เมานี่ไปหยิบเหล้ากิน แต่เหล้านี้เขาไม่เดินมาหาขี้เมานะ ใช่มั้ย

จิตที่เป็นขี้เมานี่ คือจิตไม่รู้นี่ มันเป็นแอลกอฮอลิซึ่ม ...เพราะนั้นมันเห็นอะไร มันสัมผัสสัมพันธ์อะไรปั๊บนี่ เหมือนขี้เมากับเหล้า คว้าได้..คว้า กรอกได้..กรอก กินได้..กิน หาได้..หา ซื้อได้..ซื้อ

พอกินเสร็จแล้วก็ว่า 'ฮื้อ ไอ้นี่มันไวน์ห้าปี ไม่เท่า..ตอนนั้นกูกินไวน์ร้อยปี รสชาติดีกว่านี้' ...เห็นมั้ย มันเปรียบเทียบนะ เปรียบเทียบสุขเวทนาในผัสสะ ในความเมามายในอารมณ์นั้นที่มันได้ ที่มันเสพ

แล้วมันได้เสพไวน์ร้อยปี มันก็เกิดความคำนึงไปข้างหน้าว่า 'ถ้าไวน์พันปีล่ะ มันจะเลิศกว่าไหม เลิศขนาดไหน' ...เนี่ย มันก็อยู่ด้วยความกระวนกระวาย กระเหี้ยนกระหือรือ กระหายใคร่อยาก ใคร่มี ใคร่เป็น

ทั้งๆ ที่ว่ายังหาไม่เจอนะ ...แต่มันมีความกระหายอยู่ภายใน เหมือนขี้เหล้าที่ไม่ได้กินเหล้า กำลังจะลงแดง...จิตผู้ไม่รู้น่ะแหละ ...นั่นแหละคืออาสวะกิเลสอยู่ภายใน มันฝังอยู่ เป็นขี้เมาอยู่นั่นน่ะ

แล้วคราวนี้...ยังไงในการใช้ชีวิตของพวกเรานี่ ยังไงมันต้องมีรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมารมณ์  มันเป็นธรรมชาติของโลกอยู่แล้ว ...มันต้องมีสุข-ทุกข์ มันต้องมีเวทนาอยู่แล้ว

แต่ด้วยความไม่รู้ไม่เท่าทันนี่...มันเข้าไปกิน มันเข้าไปเสพ ...แล้วมันเข้าไปติดในรสชาติของสิ่งที่มันสัมผัสสัมพันธ์ 

ถ้าไม่มีการแก้ การเยียวยารักษาด้วยศีลสมาธิปัญญา มันไม่หายเมาง่ายๆ หรอก ...ยากที่มันจะถอนขึ้นจากสิ่งมึนเมา 

มันก็เกิดภาวะที่เรียกว่า เมาในขันธ์ เมาโลก เมาขันธ์อยู่ตลอด ...หลงโลก หลงขันธ์ หลงธรรม อยู่ตลอด

เป็นขี้เมาเดินเซไปเซมา ไม่ตรงทาง ...มันก็ตกทางอยู่เรื่อย ไม่ซ้ายก็ขวา ไม่ไปทางอัตตกิลมถานุโยค ก็ไปทางกามสุขัลลิกานุโยค ...อยู่อย่างนั้นน่ะอยู่เสมอ

เพราะนั้น ทำความรู้ชัดเห็นชัดอยู่ในปัจจุบัน  ถือกายเป็นหลัก..ให้ชัด  แล้วจะเห็นเองว่า เหล้าก็คือเหล้า มันไม่เมาให้ใครหรอก ...ถ้าเราไม่กิน มันก็อยู่ของมัน

มันก็มีรสชาติของมันไปในตัวของมันนั่นแหละ แต่มันไม่มีเจตนาให้ใครเมา ...เพราะนั้นอย่าไปเมากับมัน ต้องรั้งไว้ดึงไว้ ...จิตที่ไม่รู้นี่มันจะเอา มันจะออกไปหา ไปเสพ ออกไปกิน ไปครอบครองอยู่กับมัน

ระลึกเพื่อหยุด กลับมาอยู่กับรู้ กลับมาอยู่กับเห็นไว้ ...ตั้งมั่นไว้ จนมันเลิกละความเมามาย จนสร่างเมา จนหายเมา จนแจ่มชัด จนแจ่มใส จนตื่น เป็นคนเต็มสติ

สติสัมปชัญญะเต็ม...ก็คนตื่นน่ะ เหมือนคนตื่นนอน ไม่ใช่คนเมา ...เดินไปเดินมามันก็ชัดเจน ตรงในทาง  ไปไหนมาไหนมันก็เห็นตลอด ไม่ใช่ไปแบบเมามายเดินโซซัดโซเซ

การภาวนา มันก็วนเวียนอยู่แค่นี้แหละ เรียนรู้ก็แค่นี้แหละ กาย-ใจ ตาหูจมูกลิ้น มีอยู่แค่นี้แหละ ไม่ต้องไปหาอะไรไกลกว่านี้ ...อะไรเกิดขึ้นก็รู้ตรงนั้น ให้เห็นตรงนั้น

ว่ามันเป็นอะไร มันควรค่าแก่การเข้าไปถือครองมั้ย มันควรค่าแก่การเข้าไปมีเข้าไปเป็นกับมันมั้ย มันมีอะไรน่าจริงจังมั้ย ...เนี่ย รู้อยู่ ดูอยู่กับมัน..ตรงๆ นั่นแหละ

ก็จะเห็นเองว่า มันก็เป็นแค่นั้นน่ะ ไม่เห็นมีอะไรนอกจาก..เดี๋ยวมันก็หายไป ...นั่น ให้มันเห็นอยู่ตรงนี้ ตั้งมั่น รู้อยู่เห็นอยู่ ไม่ไปไม่มากับมัน...เสมอ

ใจมันจะค่อยๆ แจ่มชัด ตื่นขึ้น เห็นธรรมตามจริงมากขึ้น ...เห็นว่าอันไหนควร อันไหนไม่ควร  ควรจะวางกับมันอย่างไร วางตัวกับมันอย่างไร

สุดท้ายมันก็จะเข้าใจด้วยตัวมันเองว่า...การวางตัวกับมันก็คือ การไม่เข้าไปแตะต้องเลย ไม่เข้าไปใกล้มันเลย ไม่เข้าไปยุ่งกับมันเลย...ต่างคนต่างอยู่ จะเป็นการที่ดีที่สุด ...มันรู้เอง

ไม่ต้องไปคิดวิเคราะห์เสาะหาว่ามันเกิดมาจากอะไร บ่มกี่ปี ผลิตที่ไหน บริษัทไหนเป็นผู้จัดจำหน่าย ใครเป็นคนเอามา ใครเป็นคนนำเข้า ...นี่ ไม่สน ไม่แตะต้อง ไม่ลงไปยุ่งกับมันเลย

ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างเกิด ต่างคนต่างตาย  ให้มันเป็นไปตามธรรมของมัน ให้มันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน ...ใจก็เป็นธรรมชาติของมัน..ก็แค่รู้แค่เห็น นี่ธรรมชาติของใจ มีแค่นั้น

ไม่ไปปรุง ไม่ไปต่อ ไม่ไปเติม ไม่ไปตัด ไม่ไปแต่ง ไม่ไปเพิ่ม ไม่ไปลด ไม่เข้าไปแทรกแซงใดๆ ทั้งสิ้น ...นี่ มันก็เป็นอิสระมากขึ้นๆ กับขันธ์ กับโลก

ความเป็นอยู่ก็เป็นสันติ ใจก็เป็นสันติกับทุกสิ่งมากขึ้น ไม่เข้าไปให้ค่าให้ความเห็นใดๆ ...ใจดวงนี้ก็จะเป็นกลาง เป็นสันติในตัวของมัน ยิ่งขึ้น ตรงขึ้น ...ไม่หวั่นไหว ไม่เอนเอียง

เมื่อมันตรงขึ้นเท่าไหร่ ใจมันตั้งเท่าไหร่ เป็นกลางอยู่ภายในมากขึ้นเท่าไหร่  มรรคก็ยิ่งดำเนินไปในตัวของมันเอง ตรงต่อทาง ...ใจมันตรง ใจมันตั้ง คือมรรคมันตรงแล้ว...ทุกอย่างตรงหมด

ทุกอย่างจะตรงหมด ตรงลงไปในที่เป็นมรรคอันเดียวนั่นแหละ ...จนถึงที่สุดของมรรค นั่นน่ะ มันก็หลุดออกมาจากขันธ์ห้า..โลกทั้งสามก่อน

แล้วก็เหลือแต่มรรคที่ใจ ใจเป็นมรรค ใจเป็นผล..อยู่ที่อันเดียวกัน ...จนเป็นความรู้ตัวขั้นสุดท้าย ความรู้ขั้นสุดท้ายที่มันจะไปกวาดล้างจนสิ้นซาก ...คำว่าสิ้นซากคือไม่เหลืออะไร ไม่เหลือซาก

ขันธ์นี่มันสิ้นซากก่อน โลกก็สิ้นซากตามมา  สุดท้ายก็ไม่เหลือเลย สิ้นซาก...ก็คือไม่เหลือใจ มันกวาดล้างสิ้นซากโดยสิ้นเชิง จึงจะเรียกว่าเป็นนิโรธ สมุจเฉทโดยสมบูรณ์


เพราะนั้นถ้าไม่รู้ ถ้าไม่มีรู้อยู่ตัวเดียวนี่ ...มันไม่รู้อะไรหรอก มันไม่เห็นอะไรหรอก มันไม่เห็นธรรมตามจริงหรอก มันไม่รู้ธรรมตามจริงหรอก

เพราะนั้นถึงบอกว่ารู้ธรรมเห็นธรรมน่ะ ไม่ใช่ธรรมอะไรหรอก ...อย่างเนี้ย ธรรมคือเดี๋ยวนี้ อะไรที่อยู่ขณะนี้น่ะ ก็รู้ธรรมนั้นซะ เห็นธรรมนั้นซะ

รู้กายเห็นกาย รู้จิตเห็นจิต รู้ธรรมเห็นธรรม รู้เวทนาเห็นเวทนา  ให้รู้ว่าเป็นธรรมในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ซะ ...เรียกว่ารู้ธรรมเห็นธรรมอยู่เสมอ

ไม่ต้องไปหาธรรมมารู้ ไม่ต้องไปหาธรรมมาเห็น ...ให้รู้ธรรมเห็นธรรมตรงนี้ ธรรมนี้ เดี๋ยวนี้ ...อะไรก็ได้ ยังไงก็ได้ ขอให้มันเป็นธรรมที่เดี๋ยวนี้ เกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ ตั้งอยู่ตรงนี้

เท่าที่มันมี เท่าที่มันเป็น ...ไม่ไปเพิ่มไม่ไปลดกับมัน ไม่ไปหาเหตุหาผลกับมัน ไม่ไปปรุงแต่งกับมัน ไม่เอาความเห็นไปทาบทากับมัน

มันปรากฏยังไง...ด้วยความเห็นใดก็ตามที่มันออกมากับความเห็นที่มันปรากฏ ...รู้ไปตรงๆ กับมัน  แล้วมันก็จะจำแนก วิจยธรรมนั้นออกเป็นส่วนๆ ไป

มันเจือด้วยตัณหากี่ส่วน มันเจือด้วยความเห็นอะไร มันเจือด้วยความเห็นผิดอย่างไร นี่ วิจยะ ...จนถึงเรียกว่าเป็นธรรมล้วนๆ จนเหลือเป็นของจริงคือธรรมล้วนๆ

มันก็จะเข้าถึงธรรม คือเห็นธรรมตามจริง เรียกว่าเข้าถึงธรรมนั้นๆ ...เช่นกายเป็นต้น ก็จะเข้าถึงกายจริงๆ เห็นกายจริงๆ 

ก็เข้าถึงธรรม เป็นผู้เข้าถึงธรรมตามจริง...ว่ากายเป็นอะไร ที่สุดของกายคืออะไร ที่แท้จริงของกายคืออะไร

เพราะนั้นไอ้ที่เคยเชื่อก่อนๆ มา ...มันก็จะเห็นเองว่ายังไม่แท้จริง ยังเป็นธรรมไม่แท้ ยังเป็นธรรมที่ปลอมปน ปนเปื้อนด้วยความไม่รู้ ด้วยความเห็น ด้วยความเชื่อ ต่างๆ นานา

มันก็คัด...คัดออกๆ คัดความเห็นความเชื่อนั้นออกไป รู้มันก็จะชัดตรงกับธรรมนั้นๆ ...จากนั้นก็ไล่จากกายไป ก็จะเห็นทุกอย่างเป็นธรรมเดียวกัน

ก็คือธรรม ...ไม่เรียกอะไรแล้ว เห็นทุกอย่างเป็นธรรมอันเดียว อยู่ในสภาวะเดียวกัน...เกิดขึ้นเป็นเบื้องต้น ตั้งอยู่เป็นท่ามกลาง ดับไปเป็นที่สุด

นั่นแหละเห็นธรรมอันเดียวกัน ไม่ได้แบ่งแยก ว่าธรรมนี้ธรรมนั้น ชื่อนี้-ชื่อนั้นอะไร  ดี-ร้ายอย่างไร ...เหมือนกันหมด เป็นอันเดียวกันหมดๆ

ใจมันก็จะหลุดพ้นออกจากธรรมที่มันร้อยรัดด้วยความเห็นผิด มันร้อยรัดกันด้วยความเห็นผิด ...ถ้าหมดความเห็นผิด มันก็หมดการร้อยรัดในธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้น ต่างอันต่างก็เป็นอิสระในการเกิด การตั้ง การดับ 

ก็คืนสู่ธรรมชาติ ...ใจก็คืนสู่ธรรมชาติที่ไม่เกิดไม่ดับ ขันธ์ก็คืนสู่ธรรมชาติที่เกิดดับไปตามปกติวิสัยของขันธ์ของโลก ...ไม่ข้องกัน


..................................




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น