วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 6/20 (1)



พระอาจารย์
6/20 (550104A)
4 มกราคม 2555
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  3  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  มาฟังกันไป ก็รู้สึกดีๆ ทั้งนั้นน่ะ ...แต่ว่าเอาไปทำรึเปล่า นี่อีกเรื่องนึง ...รู้หลักแล้ว ทำได้-ไม่ได้นี่ อีกเรื่องนึง 

หลัก...เอาหลักให้แม่น จำไว้ให้แม่น มันก็ไม่หนีจากหลักศีลสมาธิปัญญา ...แล้วก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำมันก็ไม่เกิดผล 

ศีลสมาธิปัญญาจะเกิดได้สมบูรณ์...ต้องมีสติเป็นตัวคุม ... ถ้าไม่มีสติ...ศีลสมาธิปัญญาเป็นมิจฉาหมด 

สติ...ก็ต้องเข้าใจความหมายของสติ ...สติเป็นไปเพื่อการระลึกรู้...รู้ด้วยความเป็นกลาง สักแต่ว่ารู้ กายสักแต่ว่ากาย จิตสักแต่ว่าจิต เวทนาสักแต่เวทนา ธรรมสักแต่ธรรม

รู้แบบกลางๆ สติมันก็จะเริ่มเป็นสัมมาขึ้น ...เมื่อมีสติแล้ว สมาธิก็มี ปัญญาก็เกิด ...นี่ คิดรู้ว่าคิด  ส่วนมากมันรู้ว่าคิด แต่พอไม่คิดแล้วมันไม่รู้ ...มันหลง

มีอารมณ์รู้ว่ามีอารมณ์  แต่พอไม่มีอารมณ์แล้วมันไม่รู้ มันหาย อย่างเนี้ย  มันทิ้งไป ...มันก็เป็นสติแบบขาดๆ เกินๆ ไม่ต่อเนื่อง ...สติไม่ต่อเนื่อง

ไม่ต่อเนื่องเพราะอะไร ...เพราะไม่ตั้งมั่น ไม่มีสมาธิที่ตั้งมั่นอยู่ในฐาน...ฐานรู้ ฐานกายฐานใจ...ฐานใจสำคัญ ระลึกแล้วก็รู้ ...พอมันรู้อะไรปล้อบแปล้บๆ มันก็หาย 

หายเพราะจิตมันไม่ตั้งมั่น มันไม่มีที่อยู่ ...ไม่มีที่อยู่ก็หลง ...พอมันรู้ สิ่งที่ถูกรู้ดับ รู้ก็ดับไปหายไป ...พอหายไปปุ๊บโมหะก็ครอบงำ ...โมหะครอบงำ ความหลง ความเผลอ ความเพลินก็แทรก

เพราะนั้นต้องรักษาสติ รักษาสมาธิ รักษาใจ  ระลึกถึงใจแล้วก็รักษาใจไว้ด้วยสมาธิตั้งมั่น ต้องน้อมอยู่เสมอ ...ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นการเพ่งผู้รู้หรือว่าเพ่งใจ  ไม่เพ่งมันก็หลง ไม่รักษามันก็หลง จิตไม่ตั้งมั่น

ถ้าจิตไม่ตั้งมั่นนี่ ปัญญาไม่เกิดหรอก ...มันก็ไม่เห็นความเป็นจริงต่อเนื่อง...การเกิดขึ้น การตั้งอยู่... อะไรเกิด อะไรตั้ง อะไรดับไป ...มันก็ต้องมีใจผู้รู้ตั้งไว้ เป็นผู้สังเกต เป็นผู้เห็น เป็นผู้ดู เป็นผู้แยบคาย

ถ้าไม่มีผู้รู้อยู่นี่ มันจะไปรู้อะไร ...ถ้าไม่มีใจที่รู้ที่เห็น ตั้งอยู่ คอยสังเกตการณ์อยู่  มันก็ไม่เห็นขันธ์ตามความเป็นจริง  ไม่เห็นกาย ไม่เห็นเวทนา ไม่เห็นจิต ไม่เห็นธรรม

มันก็เห็นแต่ที่มันบอก มันก็เห็นแต่ที่ความเห็นผิดมันว่า...ว่ากายเป็นนั้น กายเป็นนี้  ว่ากายเป็นเรา ว่ากายเป็นเขา ว่ากายเป็นชาย ว่ากายเป็นหญิง ...มันก็เห็นไปอย่างนั้น

แต่ถ้ามันตั้งมั่นเป็นผู้รู้ สังเกตดูต่อเนื่องไป  มันก็เห็นกายตามความจริง  สติมันก็จะเห็นกายเป็นกาย เห็นกายแท้จริง ...แต่พวกเรา สติมันยังเห็นกายไม่จริง มันยังไม่เห็นกายตามความจริง

มันยังเห็นกายตามความเห็น ตามความเชื่อ ตามความเข้าใจผิด ตามความหลงอยู่...ว่าเป็นเรานั่งบ้าง เป็นผู้ชายมั่ง เป็นผู้หญิงมั่ง  เดินไปเดินมาก็เป็นเรา เห็นใครเดินไปเดินมาก็เป็นเขา

นี่ เรียกว่าสติมันไม่เห็นกาย มันยังไม่เห็นกาย ...ถ้าสติเห็นกาย มันก็ต้องเห็นกายเป็นกาย กายคือกาย กายก็คืออะไรอย่างนึงตั้งอยู่แค่นั้น...ไม่ว่าอะไร 

ดินน้ำไฟลมก็ไม่ว่า ชายหญิงก็ไม่ว่า สวยก็ไม่ว่า ไม่สวยก็ไม่ว่า  มันเป็นอะไรสักแต่ว่ากายอันหนึ่ง เนี่ยเรียกว่าสติเห็นกาย ...ถ้าเห็นความคิด สติเห็นจิต เห็นอารมณ์ เห็นธรรม เห็นเวทนา...ก็สักแต่

ก็เรียกว่าเป็นสติ ...เห็นกาย รู้กายมันก็เห็นกาย รู้จิตมันก็เห็นว่าเป็นจิต รู้ธรรมที่เกิดขึ้นมันก็เห็นว่าเป็นธรรม รู้เวทนาก็เห็นว่ามันเป็นแค่เวทนา อย่างเนี้ย...ถึงเรียกว่าเป็นสติปัฏฐาน

ไม่ต้องไปค้นไม่ต้องไปคิดอะไร แค่รู้ไปตรงๆ ให้รู้ไปตรงๆ ...แล้วอาศัยความต่อเนื่องคือความตั้งมั่นอยู่ภายใน  ผู้รู้ผู้เห็นนั่นแหละ มันก็จะทำความแยบคายกับกาย เวทนา จิต ธรรม

ว่ามันเป็นเรา หรือไม่เป็นเรา ว่ามันเป็นของเราหรือมันไม่ได้ไม่เป็นของเรา ...มันก็จะแยบคายในตัวของมันเอง ด้วยการสังเกตอยู่เสมอ ต่อเนื่องไป

มันก็จะเห็นว่ากายก็สักแต่ว่ากาย ...ในกายนี้ไม่มีเรา ไม่ได้เป็นเรา ไม่ได้เป็นของเรา ...เป็นอะไรอย่างหนึ่งเท่านั้น 

การนั่ง การเดิน การยืน การนอน...ก็ไม่มีใครเดินใครยืน ก็ไม่มีใครนั่งก็ไม่มีใครนอน ...ก็เป็นแค่มันยืน มันเดิน มันนั่ง มันนอน ...เป็นเรื่องของมัน ไม่มีเรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของเรา

มันก็จะแยบคายไปตามลำดับลำดา ตั้งแต่อยู่...มันนิ่งก็เห็นมันนิ่ง มันเคลื่อนไหวก็เห็นมันเคลื่อนไหว  ก็ไม่มีเคลื่อนไหวในเรา มันนิ่งก็ไม่มีนิ่งในเรา ...มันก็สังเกตอยู่สม่ำเสมอไป

ความรู้ภายในมันก็เกิดขึ้นตรงนั้นน่ะ...ตรงที่ใจมันเห็นซ้ำซากลงไปในธรรมอันเดียว  กาย หรือจิต หรือเวทนา หรือธรรม ...มันก็ซ้ำลงไป เห็นซ้ำลงไป

มันก็ไปลบความเห็นผิดที่มันเคยเข้าไปให้ค่า ให้ความหมาย ให้ความเห็นใดๆ กับกายเวทนาจิตธรรมนี้ ว่าเป็นนั้น ว่าเป็นอย่างนั้น ว่าเป็นอย่างโน้น ว่าดีว่าร้ายว่าถูกว่าผิด ว่าใช่ว่าไม่ใช่

ความเป็นสักกาย ความยึดมั่นถือมั่นในกาย ความเห็นกายเป็นเราก็จะน้อยลง จางลง จนหมดสิ้น ...ก็จะเห็นกายตามความเป็นจริง สักแต่ว่ากายจริงๆ ไม่ใช่หญิง-ชาย ไม่ใช่สัตว์บุคคล ไม่ใช่ดี-ชั่ว ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา

นั่น มันค่อยๆ คลี่คลายไปในตัวของมัน ...ไม่ต้องไปทำอะไร ไม่ต้องไปคิดค้นอะไร ...ดู รู้ ตรงลงไปที่ธรรมที่ปรากฏเบื้องหน้า ตรงๆ ...รู้ตรงๆ ลงไป

แล้วก็รักษาใจผู้รู้ไว้ให้มั่น อยู่ที่รู้อยู่ที่เห็นเป็นฐาน ...อย่าออกไปคว้าไปไขว่ ไปส่ายไปหา ไปทำ ไปแก้ไปหนีอะไรก็ตาม ...ก็ให้เท่าทันอยู่เสมอ อยู่ภายใน 

กลับมาอยู่เป็นแค่ผู้รู้ผู้เห็นอยู่เสมอ แล้วก็สังเกตปัจจุบัน ...ให้ยืนอยู่ในหลักกายไว้มากๆ จิตมันเป็นของละเอียด เอาไว้ทีหลัง ไม่ต้องไปจดจ่อจดจ้องกับมันมาก เดี๋ยวมันจะไหล

ใจถ้ามันยังไม่ตั้งมั่นแล้ว สมาธิไม่ตั้งมั่นเพียงพอต่อเนื่องอยู่ภายใน แน่วแน่อยู่ภายในแล้วนี่ ...มันจะดูอาการจิต หรือว่าดูจิตดูอารมณ์นี่ ไม่ค่อยต่อเนื่อง มันจะไหลเข้าไปเป็นเนื้อเดียวกัน

ก็พยายามระลึกรู้อยู่กับกาย เห็นอยู่กับกายไว้...ให้มันชัด ให้รู้มันชัด กายมันชัด ...ถ้าเอามั่นลงที่กายแล้ว รู้มันจะชัดขึ้นตามลำดับ 

เมื่อรู้ชัดขึ้นแล้วนี่ ให้ตั้งมั่นลงที่รู้ไว้ อยู่กับรู้ อยู่ที่รู้ ...ตั้งไว้ ให้มันแน่วแน่อยู่ภายในนั่นล่ะ กายมันจะชัดเจนตามความเป็นจริง ไม่ต้องไปคิดอะไร ...แล้วก็เห็นกายไปตรงๆ

 เป็นก้อนก็เป็นก้อน ไม่ต้องไปว่ามัน ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจารณ์มัน ...มันไหวก็มันไหว ไม่ต้องไปบอกว่าอะไรไหว ...พอมันจะบอกว่าอะไรไหว ก็ให้ทัน ไม่ต้องไปว่าอะไรไหว ก็รู้สึกว่าไหว 

เย็นร้อนอ่อนแข็ง...ก็รู้สึกว่าเย็นร้อนอ่อนแข็ง  ไม่ต้องไปบอกว่าอะไรเย็น อะไรร้อน อะไรแข็ง ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจารณ์ วิตกวิจารกับมัน ...ดูไป รู้ไป เห็นไป แล้วก็ตั้งมั่นอยู่ในที่อันเดียวคือใจผู้รู้

ความชัดเจนในกายจะปรากฏขึ้นตามลำดับ ...มันไม่ได้ชัดแบบเห็นกระดูก เห็นอะตอม เห็นอะไรหรอก หรือว่าเห็นมันแตก เห็นมันดับ หรือว่าเห็นมันแตกสลายเป็นนิมิตอะไรหรอก

มันเห็นกายตรงๆ นั่นแหละ ที่ไม่มีคำพูด ...เรียกว่าเห็นกายเป็นกายปรมัตถ์ คือกายวิเวก ...เพราะกายมันเงียบ มันเงียบ เหมือนกับวัตถุ ก้อนดิน ก้อนน้ำ ก้อนหินน่ะ

มันเงียบในตัวของมันเองอยู่แล้ว มันเป็นกายวิเวก ...ไม่ต้องไปว่าอะไร มันก็แสดงตัวตนที่แท้จริงของมันอยู่โดยตลอดเวลาอยู่แล้ว ตัวตนที่เป็นธรรมที่ปรากฏ เท่าที่มันปรากฏเท่านั้นแหละ

มันไม่มีความหมายใดๆ ในธรรมที่ปรากฏ...ที่เราสมมุติว่ากายนี้หรอก ...เพราะนั้นมันไหวก็ไหว มันนิ่งก็นิ่ง ไม่ต้องไปว่า ...รู้ไปดูไป มันเกิดอะไรก็เห็นไป ตั้งมั่นแล้วก็ดู เห็นไปเฉยๆ

มันก็จะคลี่คลายออก ความหมายมั่นในกายก็จะค่อยๆ คลายลง ...ความเห็นผิดในกาย ว่ากายนี้ดี กายนี้ไม่ดี กายนี้เป็นเรา-ไม่เป็นเรา มันก็จะน้อยลงไป จางลงไป

จนเห็นเป็นก้อน จนเห็นเป็นแค่สิ่งหนึ่ง จนเห็นกายเป็นแค่สิ่งหนึ่ง หรือเห็นเป็นแค่อาการหนึ่ง หรือเห็นเป็นแค่ปรากฏการณ์หนึ่ง หรือเห็นเป็นแค่ธรรมชาติหนึ่งที่ปรากฏ

ใจขณะนั้นก็จะมีภาวะที่เรียกว่าเป็นปกติ ...เพราะกายเขาก็เป็นปกติโดยธรรมชาติของเขาอยู่แล้ว  การปรากฏขึ้น การเคลื่อนการไหว เขาก็แสดงอาการตามปกติของเขาอยู่แล้ว

เพราะนั้นต่างอันต่างปกติปุ๊บ จิตก็เป็นกลาง ใจก็เป็นกลางมากขึ้น ...จิตที่แส่ส่ายด้วยความคิด ด้วยความเห็น ด้วยความจำได้หมายรู้ ด้วยความเชื่อต่างๆ นานา  มันก็จะหยุด...หยุดปรุงแต่งกับกาย

จิตที่จะเข้าไปปรุงแต่งกับกายมันก็จะน้อยลง จนหมดสิ้นไป ไม่เข้าไปว่าอะไร ไม่เข้าไปขวนขวายในกาย ในแง่ใดแง่หนึ่ง ...ก็เห็น...ก็สักแต่ว่าเห็นมันไป 

มันจะ...ไหวก็สักแต่ว่าไหวไป นิ่งก็สักแต่ว่านิ่ง เย็นก็สักแต่ว่าเย็น ร้อนก็สักแต่ว่าร้อนไป ...ไม่ได้ไปยินดี พอใจ หรือตำหนิ หรือไปโทษไปว่าอะไรมัน

เพราะนั้นไอ้พวกที่ยินดีพอใจ ตำหนิติโทษมันนี่ มันเกิดจากจิตปรุงแต่ง ...จิตไม่รู้มันเข้าไปปรุงแต่งกับกาย แล้วเราไม่ทัน แล้วเราเชื่อจิตปรุงแต่งมากกว่าเชื่อธรรม

เพราะมันยังไม่เห็นธรรม ...มันก็เลยยังไม่เชื่อว่า...ธรรมที่แท้จริงของกายคืออะไร

แต่ถ้าเห็นกายเป็นธรรมเมื่อไหร่ ความปรุงแต่งในกาย จิตที่จะออกไปปรุงแต่งกับกาย ทั้งในแง่ที่เป็นปฏิฆะ ทั้งในแง่ที่เป็นราคะ ...มันก็จะค่อยๆ จืดจางลง จนหดลง จนสั้นลง จนหมด

ไม่รู้จะไปปรุงทำไม ...เพราะมันเห็นแล้วว่ากายนี่ไม่ได้เป็นอย่างที่จิตมันว่า ไม่ได้เป็นอย่างที่เราน่ะว่า ...มันเป็นแค่อะไรๆ อย่างหนึ่งเท่านั้น ...เนี่ย ตามธรรม


เพราะนั้น เมื่อมันเห็นกายเป็นธรรมอย่างนั้น ที่ปรากฏยังไงก็อย่างงั้น ...ตรงนี้ถึงจะเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ เรียกว่ารู้ชอบเห็นชอบ


(ต่อจากแทร็ก 6/20  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น