วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 6/20 (3)


พระอาจารย์
6/20 (550104A)
4 มกราคม 2555
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 6/20  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  เพราะเวลาเรานึกเรารู้สึกถึงกายนี่ มันจะติดรูปกายไปด้วยในสัญญา ...อย่างว่าขยับนี่ มันก็รู้ว่าขยับ แต่มันไม่รู้แค่ขยับตรงๆ น่ะ ...ยังไม่ตรงต่อการขยับนะ

มันยังเห็นแขนขยับ มันรู้สึกว่ามีแขนขยับ มันมีภาพของแขนขยับตามด้วย เห็นมั้ย มันยังมีรูป...รูปกาย ติดอยู่กับผัสสะ ติดอยู่กับความรู้สึกที่ขยับ

พอดูไปดูมา มันจะตรงเข้าไปเรื่อยๆ ในกาย เห็นตรงลงที่กายเรื่อยๆ ปุ๊บ มันจะรู้สึกจริงๆ แค่ขยับ...ไม่มีแขน ไม่มีรูปของแขนขยับ ...มันเป็นแค่อาการขยับๆ

เนี่ย เมื่อมันเห็นอาการที่ตรงลงไปในกายมากขึ้นเรื่อยๆ ปุ๊บ รูปกายพวกนี้แตกหมด หาความเป็นรูปร่างทรวดทรงไม่ได้...ในใจนะ ...แต่ตามันยังเห็นอยู่นะ

แต่ว่าในใจที่รู้สึกนี่ไม่มีรูปกาย ...มันก็เป็นความรู้สึกทางกาย เหลือแค่ความรู้สึกทางกาย เป็นเวทนาทางกาย เป็นเย็นร้อนอ่อนแข็ง ...ดูสิ เย็นร้อนอ่อนแข็ง มันอยู่ตรงไหนล่ะ

มันเป็นความรู้สึกที่มันลอยอยู่ท่ามกลางโลกกว้างน่ะ ท่ามกลางอวกาศน่ะ เห็นมั้ย กายมันเป็นแค่อะไรที่ผุดโผล่ขึ้นท่ามกลางความว่าง ...เพราะรูปกายมันแตกแล้ว

แล้วพอความเย็นดับไปปั๊บ มันก็จะเห็นกายดับขณะนึง แล้วก็เกิดขึ้นใหม่ เป็นความรู้สึกอะไรก็ได้ แข็งก็ได้ นิ่งก็ได้ ไหวก็ได้ สลับกัน พั้บ แล้วก็ดับวาบหายไปในความว่าง

เข้าใจคำว่าเห็นกายในกายมั้ย ...นั่นแหละ เห็นกายในกายแล้ว คือกายอนัตตา ...เห็นกายเป็นอนัตตา คือตอนที่มันดับ ว่างหายไป

รูปกายนี่แตกแล้วนะ ไม่มีแล้ว ...มีแต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นชั่วคราวขณะหนึ่งๆ แล้วก็พั้บ หายไป ว่าง เห็นกายว่างแล้ว กายไม่มีแล้ว รูปขันธ์ไม่มีแล้ว

มันเห็นอยู่ซ้ำอยู่อย่างนั้นน่ะ ...จนมันทำลายความหมายมั่นในกาย ว่ากายนี้เป็นใครของใคร ...นีี่ เป็นอนัตตา เห็นกายเป็นอนัตตาแล้ว

พอเห็นกายเป็นอนัตตาแล้ว เหลืออะไรล่ะ ...ยังเหลือผู้รู้อยู่อีก มันยังรู้อยู่ท่ามกลางความว่างเปล่า นั่น ตอนนั้นมันทิ้งกายแล้วนะ ...คือพระอนาคานะนี่ ถึงจะเห็นอย่างนี้

ทำลายกายหมด ทำลายรูปกายแล้ว ทำลายความเห็น ทำลายความเชื่อว่ามีกาย รูปกายแล้ว ...ทำลายขันธ์ที่เรียกว่ารูปขันธ์ออกมาแล้ว รูปภพ กามภพ ทำลายแล้ว ...เหลือใจผู้รู้ 

แต่ระหว่างนี้มันจะเรียนรู้กับอนัตตา กับว่าง กับไม่มีอะไร ...ตัวใจนี่มันจะไม่เหลือ มันจะหายไปกับความว่าง ความไม่มีตัวตน ...แล้วมันจะพอใจ เกิดความสบายกับความว่างเปล่า

เหมือนอยู่ในความว่างของอวกาศไร้แรงดึงดูดน่ะ มันจะเข้าไปอยู่ในโลกนั้น เป็นภพอีกภพนึง ...แต่ใจไม่มี ว่าง อยู่กับความว่าง ใจกลายเป็นว่างไปเลย

นี่ ก็ต้องมาเรียนรู้อีก สติมาอีก ...ต้องเรียกสติสมาธิปัญญา คืน ซ้ำ ย้ำ กลับมาเดินมรรคเริ่มต้นใหม่ ระลึกรู้ๆ อีก ...ถ้ามันยังไม่คืน ก็ฝืนคืนมา อนุโลม-ปฏิโลม

กลับมารู้กายต่ออีก ... ตั้งรูปขึ้นมา...ให้รู้ชัดขึ้นมา ...เอารู้ไม่เอารูปหรอก ถือว่าเอากายเป็นบริกรรม ...เห็นมั้ย สุดท้ายน่ะ เราบอกให้เลย ทิ้งกายไม่ได้

แม้จะขาดแล้วก็ตาม แม้จะดับสูญไปแล้วก็ตาม ไม่มีความเป็นรูปกาย รูปคน รูปสัตว์  หรือความหมายในคำว่าเป็นคน สัตว์ บุคคล ...อะไรก็ตาม

แต่พอถึงภาวะที่เป็นอรูปเมื่อไหร่นี่ ...ถ้ามันแยกอรูปกับรู้ไม่ออก ต้องกลับมาไล่จากหยาบขึ้นใหม่ ตั้งรูปขึ้นมาใหม่ ตั้งกายขึ้นมา รู้กาย ...เหมือนเริ่มต้นเลย

ก็รู้ไปงั้นๆ ไม่ได้ทำความแจ้งชัดอะไรหรอก  มันแจ้งชัดจนไม่รู้จะชัดยังไงแล้ว ...แต่รู้เพื่อให้ใจรู้มันชัดจริงๆ 

พอกายมันดับพั้บ หายไปพั้บ ...คราวนี้มันเห็นแยกเป็นของสองสิ่ง ระหว่างไม่มี...กับรู้  ความว่าง...กับรู้

ตอนนี้มันก็จะโอปนยิโกอยู่ที่รู้อย่างเดียว รู้รวมอยู่ที่รู้อย่างเดียว รู้อยู่ที่ใจดวงเดียวเท่านั้น ...ความปรุงแต่งอะไรภายในก็เป็นอะไรยิบยับๆๆ ขาดหมด พั่บๆๆๆ อยู่นั่นเลย ...มหาสติ มันเป็นอย่างนั้น

มันก็ดำเนินไปอยู่ในหลักนี้แหละจนถึงที่สุด ...เมื่อถึงที่สุดของความปรุงแต่ง หยุดหมด ไอ้ที่ยิบยับๆ ออกมาจากดวงจิตผู้รู้นั่นหรือว่าใจผู้รู้นั่น ...มันหมด มันสิ้น มันหาย มันว่าง

มันหมดสิ้น มันขาด ...มันหมดความปรุงแต่ง มันก็เลยขาดจากความปรุงแต่งไป...ใจผู้รู้จิตผู้รู้ที่ขาดสิ้นจากความปรุงแต่ง หรือหมดกำลังของความปรุงแต่งภายในแล้วนี่

คำว่าจิตผู้รู้นี่ เขาเรียกว่าเป็นสังขตธรรม มันยังเป็นสังขตธาตุสังขตธรรมอยู่ ...คือมันเป็นธรรมที่เป็นใจผู้รู้ จิตผู้รู้..ที่ก่อเกิดขึ้นด้วยอำนาจของความปรุงแต่งภายในคืออวิชชา

เมื่อมันหมดกำลังของความปรุงแต่งภายใน ตัวของมันเองก็หมด ...เมื่อมันหมดสิ้นความปรุงแต่งภายใน ตัวผู้รู้เองก็หมด หมดสภาพ หมดสภาพผู้รู้ไป

มันก็คืนสู่ธรรมแท้ธรรมเดิม คือใจหรือธาตุรู้ที่แท้จริง นั่นน่ะคือใจ ...จึงจะเข้าสู่ใจที่เป็นอนันตมหาสุญญตาโดยสมบูรณ์...โดยสมบูรณ์แล้ว

แต่ว่าในระหว่างดำเนินเดินมาในเส้นทางนี่ มันจะเห็นใจที่แท้จริงนี่ไม่กี่ครั้งหรอก ...แล้วมันเห็นก็เห็นแวบๆ เห็นสภาวะใจที่ไม่มีประมาณนี่แวบๆ ...นอกนั้นเป็นเรื่องของความจำ

ไอ้ที่มันเห็นจริงนี่ไม่กี่ครั้งหรอก ชาตินึงนี่เห็นใจเจ้าของเองนี่ไม่กี่ครั้งหรอก...เออ ไม่ใช่แค่ชาตินึงนะ ตั้งแต่อเนกชาติเลยแหละ เห็นใจจริงๆ น่ะ...สี่ครั้ง ...ครั้งสุดท้ายน่ะ 'กูไม่เกิดแล้ว' แล้วมันก็หายไป 

เพราะนั้นไอ้ที่เหลืออยู่นี่ได้แต่นึกคิดเอา ยังไม่ใช่ ยังไม่ใช่ใจที่แท้จริง ...ผู้รู้ก็ไม่ใช่ใจ ผู้รู้ก็เป็นอย่างที่เราพูดเมื่อวานน่ะ เป็นประตูที่ติดอยู่ในห้องเนี่ย

สมมุติว่าในใจเหมือนห้องที่ว่าง แล้วมีประตูอยู่อย่างเนี้ย ...เนี่ยผู้รู้คือประตู ผู้รู้ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในห้องนี้ มันห่อหุ้มไว้ แต่ว่าในเวลาที่อะไรๆ จะเข้าสู่ใจ...เข้ามาสู่ใจผู้รู้ที่เป็นฐานที่เป็นประธานนี่ มันต้องผ่านประตู 

แล้วตรงประตูนี่มันจะมีองครักษ์พิทักษ์อยู่...คืออวิชชา ก่อนจะผ่านประตูมึงต้องผ่านกูก่อน แล้วกูจะเป็นคนตัดสินว่าจะให้มึงไปทำอะไร ...นี่ เป็นคนรับฎีกา มันรับฎีกาไว้ก่อน 

พอรับฎีกาแล้วก็...เฮ้ย กูไม่พอใจมึง นั่น มันก็แสดงอาการไม่พอใจ หรือวันนี้กูพอใจมึง กูก็แสดงอาการไป ...นี่ มันมาติดอยู่ที่องครักษ์พิทักษ์ประตูนี่ หน้าผู้รู้นี่แหละ

จนกว่าเราจะทำลายสิ้นประตูรู้ ผู้รู้หมด ...มันก็ต้องทำลายองครักษ์นี่ เสนาอำมาตย์ที่รายล้อมแวดล้อมนี่ คือกิเลสมารน้อยใหญ่ หรือว่าขันธมาร เหล่านี้

ที่พระพุทธเจ้าท่านเปรียบเทียบเหมือนกับพญามาร เหมือนกับที่พระแม่ธรณีบีบมวยผม แล้วก็ช้างม้าวัวควายที่พญามารยกทัพมานี่ล้มระเนระนาดไปหมด

นี่คือเสนามารที่มันรายล้อมอยู่รอบบ้านหลังนี้ ที่มีประตูผู้รู้อยู่ข้างหน้านี่ ...จนมันเกลี้ยงหมด แล้วก็เหลือแต่รู้เปล่าๆ ข้างหน้าบ้านเปล่าๆ

คราวนี้มันก็ไม่รู้จะทำอะไรแล้ว อะไรก็เข้าตรงสู่ใจที่เดียวนี่ ...มันก็หมดสิ้นความปรุงแต่งที่มันจะออกไปมีปฏิกิริยาโต้ตอบ  action-reaction...ต่อขันธ์ ต่อโลก ต่อสามโลกธาตุ ...ไม่มีแล้ว

เพราะในตัวนี้มันว่าง มันไม่มีปฏิกิริยาอะไรหรอก ...ไอ้ที่มันมีปฏิกิริยานั่นไม่ใช่ใจนะ  คือสิ่งที่อยู่หน้าใจ คือสิ่งที่ครอบงำใจอยู่ คืออวิชชา...ความไม่รู้

ความมืด ความเศร้า ความหมอง มลทินทั้งหลายทั้งปวง ...มลทินสิบอย่างนั่นแหละ คือกิเลสน้อยใหญ่ นั่นแหละ ที่มันห่อหุ้มใจเอาไว้นี่ 

จนมันชำระหมดไปๆ หมดไปสิ้นไปๆ ...ซึ่งมันไม่มีทางชำระใดอื่น นอกจากใจมันเห็นไตรลักษณ์  เกิด-ดับ...เกิดแล้วก็ดับ ไม่มีตัวตน ไม่มีอะไร 

มันก็...เกิด-ดับ-ว่าง...เกิด-ดับ-ว่าง หายไปจากตัวตน ...ตัวตนเป็นแค่ชั่วคราว ไม่มีความจริงจัง ไม่มีสาระ นี่... ตัวนี้เท่านั้นแหละจึงจะทำลายอาสวะที่มันห่อหุ้มดวงใจนี้อยู่  

มันหมดสิ้นความปรุงแต่งแล้วนี่ ปึ๊บ ปัญญาขั้นสุดท้าย มันไม่เข้าไปจับความปรุงแต่งนี้ ให้สืบเนื่องเป็นอารมณ์ เป็นภพ เป็นชาติ เป็นชรา พยาธิ โสกะ ปริเทวะ โทมนัส อุปายาส ...ไม่มีแล้ว

ยังไม่รู้เลยเป็นอะไร ...ยังไม่รู้เลยว่าเป็นรูป ยังไม่รู้เลยว่าเป็นนาม  ยังไม่ทันจะตั้งเป็นรูป ยังไม่ทันจะตั้งเป็นนามได้เลย  ยังไม่มีสมมุติด้วย ยังไม่มีบัญญัติด้วย...พั่บๆๆ ...มันขาดตั้งแต่ ณ ที่เกิดเหตุ

เกิดตรงไหน..ดับตรงนั้นๆ ...เกิด-ดับๆๆ  ถึงเรียกว่ามีแต่เกิดดับ ...ตรงนั้นแหละใจดวงเดียว เกิดดับๆๆ ...ไม่รู้อะไรเกิด ไม่รู้อะไรดับ แต่มันเกิดดับไม่จบไม่สิ้นอยู่อย่างนั้นน่ะ

คืออยู่อย่างนั้นน่ะ ...เหลือใจผู้รู้ดวงเดียว ประตูว่างๆ กับใจกลวงๆ รู้กลวงๆ อยู่อย่างงั้น ...จนสิ้น ความเกิดดับสิ้นน่ะ จนถึงที่เรียกว่าพอ หมดสิ้นความปรุงแต่ง

พอหมดสิ้นความปรุงแต่งคือความดับครั้งสุดท้าย ...ตรงนั้นน่ะท่านเรียกว่านิโรธ เป็นนิโรธ...นิโรธที่สุดของนิโรธ เป็นนิโรธมรรค นิโรธในอริยมรรค พั้บ...ขาด ดับ สิ้น 

พั่บสุดท้ายปุ๊บ ...ตรงนั้นจะเกิดญาณตัวสุดท้ายเลย รู้ได้ด้วยตัวเองเลยว่า...สิ้นแล้ว จบแล้ว หมดแล้ว  ใจดวงนี้หมดสิ้นซึ่งความปรุงแต่งแล้ว...ปั๊บ ผู้รู้ถูกทำลายทันที 

ประตูนี้เปิดเลย ...ไอ้ที่ตั้งเป็นประตูรั้วรอบขอบชิดนี่ ทะลายหมด ล้มหมด ...มันไม่ต้องห่อหุ้มอะไรแล้ว ไม่ต้องมารับรู้อะไร หรือไม่รับรู้อะไรแล้ว  

ใจก็คืนสู่ธรรมชาติเดิม...เป็นอิสระ ...หมด ไม่มีตัวตน ไร้ร่องรอย ไม่มีสัณฐานประมาณ ไม่มีที่ตั้ง ...ไม่มีรูปไม่มีนามใดปรากฏตั้งอยู่ได้ ไม่มีการรับสัมผัสใดๆ เป็นรูปเป็นนามใดได้ ...ก็หมด ก็เรียกว่าจบสิ้น 

ก็คืนสู่ภาวะที่เรียกว่าเป็นอสังขตธาตุ อสังขตธรรม ...ไม่อาศัยความปรุงแต่งใดๆ ก่อเกิดขึ้น ไม่ต้องอาศัยความปรุงแต่งใดๆ มาสร้างความก่อเกิดขึ้นอีก ไม่มีแรงดึงดูดใดๆ มารวมตัวเป็นรูปเป็นนามขึ้นมาได้อีก 

ก็หมด...หมดภาระของนักภาวนา ...ไม่ต้องมาเจริญสติ ไม่ต้องมาตั้งมั่น ไม่รู้จะไปตั้งมั่นทำอะไร ไม่รู้จะรู้อะไร รู้ทำไม  ไม่มีใครอยากรู้ ไม่มีใครอยากเห็น ไม่มีใครอยากละ ไม่มีใครอยากเลิกอยากถอนแล้ว

มันไม่มีความเป็นสัตว์บุคคลในภาวะรู้นั้นจริงๆ หมดสิ้นซึ่งความเป็นสัตว์บุคคล ...คือผู้รู้นี่ยังเป็นบุคคล ยังมีความเป็นบุคคลในใจผู้รู้จิตผู้รู้อยู่นะ 

แต่พอถึงภาวะธรรมชาติของใจแท้จริงนั้น เป็นภาวะไร้ซึ่งความเป็นสัตว์และบุคคล  เป็นใจอะไรก็ไม่รู้ ของใครก็ไม่รู้ เป็นใจดวงเดียว ...ใจดวงเดียว อันนั้นน่ะถึงเรียกว่าใจดวงเดียวโดยสมบูรณ์

แต่เบื้องต้นใจดวงเดียวที่เป็นผู้รู้นี่ คือเอาจิตมารวมลงที่ผู้รู้  มันก็จะเหลือเป็นผู้รู้ เหมือนกับเป็นใจดวงหนึ่ง เป็นจิตหนึ่ง...จิตหนึ่งยังไม่ใช่จิตเอก คือจิตหนึ่งมารวมเป็นผู้รู้

เมื่อทำลายผู้รู้นั่นน่ะ ...จิตเอกคือใจ เป็นเอก ไม่มีสองอีกต่อไป ไม่มีสองแม้แต่ปรมาณูหนึ่งของจิต ...ไม่มี หมด หมดสิ้นซึ่งความปรุงแต่ง ...เพราะนั้นตัณหาอุปาทานนี่หมดอำนาจโดยปริยาย


(ต่อแทร็ก 6/21)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น