วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 6/24 (2)


พระอาจารย์
6/24 (550106B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
6 มกราคม 2555
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 6/24  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นสติสมาธิปัญญา มันจะเกื้อหนุนกัน เป็นเหตุปัจจัยต่อเนื่องกัน ซึ่งมันเนื่องกัน สงเคราะห์กันและกัน นี่ สติมาก..สมาธิมาก..ปัญญามาก  

เมื่อปัญญามาก..สติก็มากต่อ..สมาธิมากต่อ ปัญญาก็มากขึ้น ...มันจะเป็นเกลียวกันอยู่อย่างนี้  ไม่หลงไม่ลืม ไม่เผลอไม่เพลินเลย รู้อย่างเดียว เด็ดเดี่ยว ตั้งมั่นอยู่ภายใน 

ความรู้ ความเข้าใจ ชัดเจนในสิ่งที่ถูกรู้และรู้...ชัดเจนจริงๆ แจ่มชัดเลย แจ่มชัดทั้งในส่วนที่ถูกรู้ และส่วนที่รู้ …ซึ่งไอ้ความแจ่มชัดนั่นแหละ ความแจ่มใสชัดเจน นั่นน่ะคือญาณ คือทัสสนะ

ซึ่งญาณทัสสนะหรือปัญญาญาณนี่ จะไม่เกิด...ถ้าไม่มีผู้รู้ผู้เห็น คือใจเป็นผู้รู้ผู้เห็นอยู่ ที่มันตั้งอยู่ในที่อันเดียว ...คือถ้าใจนั้นไม่มีสมาธิตั้งมั่นอยู่ มันจะไม่เห็นอะไรชัดเจน

ซึ่งสมาธิก็จะตั้งไม่ได้ ถ้าไม่มีสติคอยระวังรักษาไว้...ให้มันรู้อยู่เห็นอยู่ในที่อันเดียว อะไรก็ได้..แล้วก็รู้ๆ อย่าให้มันหาย อย่าให้มันเพลิน อย่าให้มันลืม

เพราะนั้นเบื้องต้นน่ะ ยังงั้ยยังไง ถ้าไม่มีสติ...สมาธิไม่เกิดหรอก ...แต่ถ้ามีสติแล้วไม่มีปัญญา สมาธิก็ไม่เกิด ก็อยู่แค่เจริญสติ


โยม –  ปัญญาเกิดจากการเป็นผู้ดูผู้รู้อยู่ตลอด เนืองๆ อย่างนี้ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ใช่ เป็นผู้สังเกตการณ์อยู่ ...อะไรๆ ที่มันไม่ชัดเจนตอนนี้ของพวกเรานี่ เพราะสมาธิไม่มี มันน้อย มี...แต่มันน้อย มันตั้งได้นิดๆ หน่อยๆ เห็นได้นิดๆ หน่อยๆ ยังไม่แจ้ง ยังไม่เข้าใจอะไรเท่าไหร่ เพราะสมาธิมันน้อย

แต่ว่าโดยการงานน่ะ ถ้าคนทำงานน่ะ มันต้องอยู่กับสติ เป็นหลัก มากๆ ...ไม่ให้มันเผลอเพลินนานเกินไป จนหาใจไม่เจอ จนหลงออกนอกกายใจกู่ไม่กลับ แค่นั้นเอง

สติก็มาเพื่อประคับประคองกายใจไว้ เหมือนกำราบกิเลสเบื้องต้น คือโมหะความหลงลืม

แต่เมื่อมีเวล่ำเวลา หรือว่าว่างจากงานภายนอก ผัสสะภายนอกที่มันแผดร้อน ...ทำใจให้ตั้งมั่น ไม่ต้องสนใจอะไร รู้อย่างเดียว อยู่ที่รู้ไว้ ตั้งอยู่ในที่อันเดียวคือใจรู้ใจเห็นนั่นน่ะ

เมื่อตั้งมั่นอยู่ที่รู้ปุ๊บนี่ ภาวะที่จะเกิดขึ้นต่อมาคืออาการเห็น มันจะมีอาการเห็น ...ตรงนี้ หลังจากที่มันตั้งมั่นควรแก่งานแล้ว ผู้รู้ชัดอยู่ภายในไม่ไปไม่มา มันแน่วแน่อยู่ภายในอยู่อย่างนั้นน่ะ มันจะเห็น

มันเห็นอะไรล่ะ ...เราบอกว่าไม่ต้องเห็นอันอื่น นอกจากกายนี่ ...เอากายเป็นเครื่องระลึก ดูต่อ เห็นต่อ ให้เห็น เบื้องต้นก็เอากายเป็นเครื่องระลึก

คือมันไม่เข้าใจอะไรกับกายสักเท่าไหร่หรอก แต่มันเป็นอุปกรณ์เหมือนเป็นกระจกสะท้อนมาสู่ใจ เพื่อให้ใจนี้ตั้งมั่น ...เมื่อตั้งมั่นดีแล้ว มันจะออกมาเห็นกายอีกทีหนึ่ง...ญาณทัสสนะนี่ มันเริ่มออกมาเห็น

เพราะนั้นหลังจากจิตตั้งมั่นดีแล้วนี่ หลังจากอยู่ที่ผู้รู้ผู้เห็นนี่ ...อาการที่ออกมาเห็นกาย มันจะเห็นในลักษณะภาวะที่เรียกว่ากลางๆ ...ไม่ต้องคิด พอคิดอีก...ทันอีก 

พอเริ่มคิด พอเริ่มหา หรือมีความคิดอะไรขึ้นมา สติมันยังมีอยู่กับสมาธินี่ ก็ระลึกแล้วก็ตั้งลงที่รู้อีก ...ไม่เอาคิด คิดไม่เอา พิจารณาไม่เอา ออกไปข้างหน้าข้างหลัง อดีตอนาคตไม่เอา...รู้ไว้ 

สติก็ต้องประคองใจไว้ รักษาใจไว้ให้ตั้งมั่นอยู่ที่รู้ ...พอมันตั้งมั่นดีแล้วนี่ ไม่ค่อยไป ไม่ค่อยมา ไม่มีอะไรวอกแวกๆ แล้วน่ะ...ผู้รู้ก็รู้ๆๆๆๆ ชัดเจนดีภายใน นี่...ให้มันเห็นกาย ให้เห็นกายในอิริยาบถปกติ 

นี่เรียกว่าเห็นปกติกาย ...เข้าใจมั้ยว่าปกติกาย มันเป็นยังไงก็เป็นยังงั้นน่ะ ...มันร้อนๆๆ เห็นกายร้อน มันเย็น เห็นกายเย็น มันตึงเห็นกายตึง ...นี่ ปกติมันเป็นยังไง ให้เห็นอย่างนั้น

ไม่ต้องไปลึกซึ้งกว่านั้นด้วยความแต่งแต้มเติมต่อด้วยจินตา หรือตามตำรา ...คือมันปกติกายอย่างไร เห็นอย่างนั้น  ตั้งมั่นไว้ รู้ไว้ เห็นไว้ เฉยๆ ...นั่น ปัญญามันจะเริ่มจำแนกธรรมแล้ว จำแนกกายแล้ว 

มันเข้าไปวิเคราะห์ พินิจ วิเคราะห์กายแล้ว ด้วยอาการแค่รู้แค่เห็น ...ระหว่างนั้นน่ะสติมันจะวิ่งรอบอยู่ ดูเหมือนคล้ายกับรู้รอบเห็นรอบ รอบตัวเองอยู่ ...คือให้อยู่ในงานนี้ ไม่ให้ออกนอกงานนี้ 

พอมันจะวอบแวบๆ ไปมาในที่ไหน ปุ๊บ สติมันจะเท่าทัน ...อาการอื่นที่นอกเหนือจากที่มันตั้งใจจะรู้กายเห็นกาย เช่นความคิดความปรุงอะไรขึ้นมาปุ๊บ มันไม่เอา ...ต้องให้มั่นอยู่ในที่อันเดียวคือกาย

แต่ไม่ได้หมายความว่าไปห้ามไม่ให้มันเกิดอะไร ก็ปล่อยให้เป็นปกติของมันจะขึ้นมาอย่างไร ...แต่ให้รู้ทัน รู้ทันแล้วก็ไม่ต้องสนใจมัน  ก็ละ..แล้วก็เห็นความดับไปในส่วนของนามนั้นๆ

แต่สติสมาธิมันไม่ดับไปพร้อมกับนามที่ดับ มันก็ตั้งรู้ตั้งเห็นอยู่ต่อเนื่อง ...แล้วก็มาทำงานเก่า งานเดิม คือพิจารณากาย นี่...คำว่าพิจารณากายนี่ไม่ใช่คิดนะ

คือมันเหมือนกับใจรู้ใจเห็นนี่มันเข้าไปลูบไล้ที่กาย แค่นั้นน่ะ เป็นปกติกับกาย เห็นปกติกับกาย คืออาการที่เข้าไปวิเคราะห์หรือพินิจพิจารณากายด้วยใจรู้ใจเห็น กลางๆ

เดี๋ยวก็ร้อน เดี๋ยวก็หนาว เดี๋ยวก็ตึง เดี๋ยวก็ไหว เดี๋ยวก็นิ่ง มันเปลี่ยนก็เปลี่ยนไป ...แต่ตัวหนึ่งที่มันไม่เปลี่ยนคือตัวรู้ตัวเห็นก็ตั้งอยู่อย่างนั้นน่ะ เห็นอยู่

นั่น มันเห็นอะไร มันเห็นไตรลักษณ์ในกาย มันเห็นเองน่ะ ไม่ต้องไปบอกว่าไตรลักษณ์อะไร ...พอมันจะบอกว่าพิจารณาดูว่าอันนี้เป็นอนิจจังไหม ไม่ต้องไปสนใจมันอ่ะ

รู้ไปกลางๆ อยู่ที่รู้ที่เห็นไว้ ตั้งไว้ที่รู้ที่เห็น แล้วก็ดูมันไป เห็นมันไป  มันก็เปลี่ยนไป ...ถ้ามันไม่เปลี่ยน มันตั้งอยู่ อ่ะ ไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยน ก็ไม่ต้องไปหาอะไร ...ดูอาการตั้งของกายนั้นๆ

เช่นมันเย็น มันเย็นๆๆ อยู่อย่างนี้ ไม่เห็นมันหายเลย ใช่มั้ย ...ก็ไม่ต้องไปคิดอะไร ก็รู้เย็น เห็นกายว่าเย็น รู้อยู่กับเย็น มีรู้อยู่อันหนึ่งกับเย็น ตั้งดู พินิจที่เย็น

ไม่เห็นมันเป็นสัตว์เป็นบุคคลอะไรเลย ไม่เห็นเป็นเราเป็นเขาเลย ...ถึงไม่เกิดไม่ดับ มันก็ไม่ได้เป็นสัตว์เป็นบุคคล ไม่ได้เป็นเราของเรา  มันก็เป็นเย็นเฉยๆ บ่ดาย ซื่อๆ

ไม่มีใครเย็น เย็นไม่เคยบอกว่าเป็นใคร ...เนี่ย มันเห็นอย่างนั้น ให้มันเห็นอย่างงั้น...ไม่ต้องคิดน่ะ มันเห็นเองน่ะ มันเห็น...เห็นด้วยใจเป็นกลางๆ

มันก็เย็นเฉยๆ น่ะ เย็นซื่อๆ เย็นธรรมดา เย็นแบบไม่มีชีวิตจิตใจในเย็น เย็นแบบไม่มีความเป็นสัตว์เป็นบุคคลในเย็น เย็นแบบไม่ใช่ใครของใคร เย็นแบบไม่มีเราไม่มีเขา...อย่างนี้ ก็ดูไป

เอ้าขยับมา มันก็...เย็นดับ ขยับเกิด อ่ะ ใจก็อยู่ ตั้งมั่นอยู่ ...มันก็เห็นว่าขยับเกิดแล้วก็ดับ ไม่ต้องไปหาอะไร ...พอมันจะหาอะไร กลับมารู้ไว้ ตั้งไว้

นี่เรียกว่าอยู่ด้วยสมาธิ อยู่ด้วยปัญญาในสมาธิ อยู่ด้วยสติในสมาธิ อยู่ด้วยสติในใจ ...เห็นมั้ย สติสมาธิปัญญา มันจะมาสงเคราะห์ลงที่ใจดวงนั้นเสมอ ไม่ได้ไปตามรู้ ตามหา ตามเห็นอะไร

แรกๆ นี่ สติเราจะตามรู้ตามหา ยังไม่เข้าใจ ...เพราะนั้นพอสติมันลงล็อคหรือว่าเป็นสัมมา ตรงลงที่ใจที่เดียวแล้ว ตรงนั้นน่ะสติรู้อย่างเดียว สติที่เราว่านั่นแหละ มีสติคือรู้อย่างเดียว เข้าใจมั้ย

แค่สติตัวนั้นน่ะพอแล้ว ที่รู้อย่างเดียว แล้วมันตั้งอยู่ที่นั้นน่ะ ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ระวังรักษาใจที่รู้อย่างเดียวนั่นแหละ ตรงรู้นั่นแหละ ...อาการเห็นโดยรอบตามความเป็นจริง มันจะเห็นไปตามลำดับลำดา

แต่จากนี้ไปนี่ เราเน้นที่กาย ให้เห็นกายมากๆ ไม่มีอะไรดู ก็รู้แช่เห็นแช่อยู่ที่กายนั่นแหละ ไม่ว่ากายมันจะเป็นยังไง ปกติของมัน ...ไม่เอาความคิดไปทาบไปทา ไปแยกไปแยะ ด้วยความคิดอะไร

เห็นไปโง่ๆ น่ะ รู้ไปโง่ๆ เห็นไปโง่ๆ กับกาย สติก็รักษาใจไว้ นี่สติอยู่ที่ใจแล้ว รักษาใจรู้ใจเห็นไว้อยู่เสมอ ...แล้วก็ให้มันเห็นอะไรดี...ก็เอากายดีกว่า 

นอกนั้นไม่ดู ไม่เห็น ไม่เอา ...แต่ว่าไม่ห้าม เออ ไม่ห้ามด้วยนะ แต่ไม่เอามันเพราะว่ามันห้ามไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นเรื่องของขันธ์

เดี๋ยวขันธ์ก็มีสัญญาลอยขึ้นมาแล้ว เรื่องคนนั้นเรื่องคนนี้ เรื่องในอดีต เดี๋ยวก็ความคิดความอยากก็ขึ้นมาแล้ว เดี๋ยวจะไปทำนั่น เดี๋ยวจะไปทำนี่ดีมั้ย ...ปึ้บ ไม่เอา

สติรักษาไว้อยู่ที่ใจรู้ใจเห็นปุ๊บ มันดับไป พอว่าไม่เอาแล้วเดี๋ยวมันก็ดับ ...เดี๋ยวมันตั้งมั่นอยู่ที่รู้ชัดรู้เจนอยู่ภายใน ให้เห็นกายต่อ  นี่ทำงาน กลับมาทำงาน  งานคืออะไร พินิจพิเคราะห์ธรรมที่ปรากฏ

ทำไมเราต้องเลือกธรรมที่ปรากฏคือกาย ...เพราะกาย ยังไงๆ มันก็มีอยู่  ถ้าเป็นนามนี่ มันมาแบบแวบๆ เดี๋ยวก็มี เดี๋ยวก็ไม่มี  อารมณ์เดี๋ยวก็มี เดี๋ยวก็ไม่มี เดี๋ยวก็เปลี่ยน


โยม –  ถ้าเผื่อนามไม่มีแล้วเราอยู่กับสติระลึกรู้ล่ะคะ

พระอาจารย์ –  อย่าบังอาจ ...สติขั้นต้นนี่ สมาธิขั้นต้นนี่ ไม่สามารถที่จะไปตั้งป้อมระลึกรู้อยู่กับอรูปโดยตรง บอกให้เลย โมหะเอาไปกินหมด หลง ลืม เพลิน หาย ...แล้วใจรู้ใจเห็นจะหายเลย


โยม –  อ๋อ

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นเอาของชัวร์ อย่าเอาความอยากนำ ...อยากเร็ว อยากละเอียด คือกะเอายอดเลย กะเด็ดยอดเลย คือประเภทกูจะเอาอรูป ๔ เป็นอารมณ์น่ะ...เสร็จ บอกให้

จะดูความว่าง จะดูความนิ่ง จะดูความไม่มีนะ...ตั้งได้ไม่เกิน ๕ วิ เอามั้ย ท้ากันเลย ...ถ้าไม่ใช่สติระดับพระโสดาขึ้นไป บอกให้ ยังไม่แจ้งในกายนี่ ไม่มีทาง อย่าอาจหาญเล่นกับของสูง ของละเอียด

ไปไม่รอด ตกม้าตาย บอกให้ ...แล้วจะสงสัย แล้วจะวน แล้วจะเข้าใจว่าทำผิดรึเปล่า แล้วจะลังเล...ไอ้ที่ทำมาไม่เห็นมีประโยชน์ ใช้อะไรไม่ได้เลยหรือ ...เห็นมั้ย มันท้อนะ

นี่ พีระมิด รู้จักพีระมิดใช่มั้ย มันต้องมีฐานนะ ไม่ใช่ไปเริ่มจากยอดมา ไม่มีทาง ...ต้องเริ่มจากอย่างนี้แล้วค่อยเรียงเรียวๆๆ ขึ้นไป นั่น เห็นมั้ยกี่พันปีแล้วยังไม่พัง

เพราะนั้น...ต้องวางรากฐานของใจให้มั่นก่อน  สติสมาธิปัญญารวมลงที่ใจดวงเดียวก่อน เอาให้มั่น เอาให้รู้ชัด

แต่ถ้าทำงานทำการอยู่ มันไม่สามารถรักษาสติ รักษาใจ ได้โดยตรงหรอก ...ก็รู้ไปเรื่อยๆ ...เพื่ออะไร ...เพื่อให้มันอยู่ในกายใจ ไม่ออกนอกกายใจ

แต่ไม่ต้องมาจำแนกแยกออกเป็นชัดเจนว่าสองสิ่ง แล้วก็เอาสิ่งหนึ่งไปพิจารณา ...เพราะระหว่างนั้นมันจะพิจารณากายไม่ได้ บอกให้ ...เห็นแค่เกิดๆ ดับๆ พอแล้ว เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาพอแล้ว

มันยังไม่เข้าใจอะไรลึกซึ้งหรอก ...เอาแค่ว่ามันไม่ไปก่อกรรมทำเข็ญ ไปก่อบ่วง สร้างบ่วง สร้างห่วง จนรุงรัง ไม่สร้างเรื่องให้รุงรังยิ่งขึ้นมาก็พอแล้ว 

เพราะถ้ารุงรังแล้วเวลากลับบ้านมา...แล้วมันส่งผล ลอยมาเป็นสัญญานี่ เป็นพืดเลย ทั้งสังขารด้วย...เดี๋ยวจะยังไงต่อไป ปรุงข้างหน้า..ข้างหลัง มันจะไม่จบ

เพราะนั้นพอรักษาสติได้บ้างในระหว่างวัน ประจำวิถีการดำเนินชีวิตไป แล้วเวลากลับไปอยู่คนเดียว เวลาอยู่ที่เงียบ ที่ออกจากอารมณ์อันหยาบภายนอกแล้วนี่ ...สติสมาธิปัญญามันจะเด่นชัดขึ้น 

ใจผู้รู้ก็จะตั้งมั่นชัดเจนขึ้น รักษาใจดวงนั้นไว้ เมื่อตั้งมั่นดีแล้ว ควรแก่งานแล้ว ...เข้าใจคำว่าควรแก่งานมั้ย  คือมันไม่ได้แส่ส่าย แค่ออกมารู้เห็นเบาๆ อยู่กับกายได้ 

ตรงนั้นน่ะดูไป นั่งก็รู้ว่านั่ง ดูอาการนั่ง เห็นอาการนั่งไว้ ...ตรงนั้นน่ะรู้มันจะคู่กันอยู่ตลอด


(ต่อแทร็ก 6/25)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น