วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 6/26 (1)


พระอาจารย์
6/26 (550106D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
6 มกราคม 2555
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  ภาวนาน่ะสำคัญที่ใจ ...ใจจะได้มาด้วยสติ...จะเกิดขึ้น ปรากฏขึ้นด้วยอำนาจของสติ ...จะออกมาอาศัยใจนี้ทำงานได้ต้องมีสมาธิและปัญญา เห็นมั้ย มันขาดตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้หรอก

แต่เบื้องต้นที่เราบอกให้รู้ไว้ รู้มากๆ คือโดยนัยยะ ...แต่ถ้าไม่เฉลียว มันก็รู้ไปเรื่อย ...เพราะนั้นแรกๆ เราก็จะจำเพาะอยู่แต่ให้รู้กาย เพื่อให้มันเกิดความรู้ชัดในกาย รู้ชัดกับกาย

รักษารู้ไว้ ตั้งมั่น ให้มันตั้งมั่น ...การเห็นโดยองค์รวม การเห็นกายเป็นกายจะเกิดขึ้น ...เข้าใจคำว่าเห็นกายมั้ย  รู้กายเห็นกาย รู้จิตเห็นจิต รู้ธรรมเห็นธรรม รู้เวทนาเห็นเวทนา

เพราะนั้นสติเบื้องต้นนี่ มันรู้กาย...แต่มันยังไม่เห็นกาย คือมันรู้อ่ะ ยืนเดินนั่งนอนนี่มันรู้ ...แต่ยังไม่เห็นว่ามันเป็นกายจริงๆ  มันยังเห็นว่ารู้ว่า “เรา” เดิน  “เรา” นั่ง  “เรา” นอน  “เรา” ขยับ

เพราะนั้นไอ้รู้แค่รู้ สติแค่รู้ตรงนี้ มันยังไม่รู้กายเห็นกาย มันแค่รู้กาย...แต่ยังไม่เห็นว่าเป็นกาย เข้าใจมั้ย นั่นแหละเรียกว่าสติปัฏฐาน รู้กายต้องเห็นเป็นกาย รู้จิตต้องเห็นเป็นจิต รู้ธรรมต้องเห็นเป็นธรรม รู้เวทนาต้องเห็นว่าเป็นเวทนา

เห็นมั้ย ไอ้ตัวที่เห็นว่าเป็นกายนั่นแหละคือปัญญา...รู้กายว่าเป็นกายจริงๆ ไม่ใช่กายเรา ...ต้องแยบคายนะ ต้องโยนิโสมนสิการ


โยม –  มันห็นแวบๆ แบบมันแค่นิดเดียวเท่านั้นเองน่ะค่ะ

พระอาจารย์ –  คือมันยังไม่ชัด มันยังไม่ตรง แล้วมันไม่ตั้งมั่น  เดี๋ยวก็แวบๆ ไป รู้ก็หาย ...เพราะนั้นถ้าใจมันตั้งมั่น สมาธิมันตั้งมั่นเพียงพอ  ไอ้สิ่งที่เห็นนี่ มันจะเห็นกายเป็นกายชัดเจน

การชัดเจนนั่นแหละเป็นผลจากสติสมาธิตั้งมั่น  มันก็เห็นกายเป็นกายชัดเจน เป็นสักแต่ว่าไหว สักแต่ว่าขยับ ...เพราะนั้นไอ้ตัวอาการที่ว่าขยับ มันก็เป็นสักแต่ว่าขยับ ไม่ใช่เราขยับ

แล้วพอทำความชัดเจนมากขึ้นไปเรื่อยๆ จากนั้นน่ะ...ไม่มีขยับ มันจะเห็นกายในกาย เข้าไปเรื่อยๆ ...เคยได้ยินมั้ย เห็นกายในกาย เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม เห็นเวทนาในเวทนา

เบื้องต้นต้องรู้กายเห็นกาย รู้จิตเห็นเป็นจิตก่อน ...พอมันเริ่มรู้ว่าเป็นกายจริงๆ แล้ว เห็นว่าเป็นกาย แล้วนี่ ...จากนั้นไปนี่ มันจะเห็นกายในกายนั้น ปั๊บ..นั่ง เห็นว่านั่ง...ไม่มีใครนั่ง ...นี่เห็นกาย

และเห็นอะไรในนั่ง เห็นนั่งไหม...อ้าว มันไม่ได้ว่านั่งนี่ อย่างนี้  ก็เป็นอาการที่ไม่มีคำพูด ที่ไม่มีสมมุติ ที่ไม่มีบัญญัติ ...มันก็เลยไม่มี “นั่ง” ในที่ว่ากายนั่ง

ก็ไม่มีกายนั่ง ไม่มีนั่งในกาย เห็นมั้ย มันเห็นเข้าไปในกายนี่ ...พอเห็นไม่มีนั่งในกาย มันก็เป็นแค่กาย เห็นกายจริงๆ แล้ว เริ่มเห็นกายตรงลงไปแล้ว

เอ้าดูไปดูมา...ก็ไม่มีกาย ไม่มีกายซะอย่างนั้นน่ะ ในกายที่ว่าเป็นกายก็ไม่มีกาย ...กายเป็นอะไร กายไม่ได้เป็นดินน้ำไฟลม กายเป็นสมมุติ ...มันกลายเป็นสมมุติซะอย่างนั้นน่ะกาย

คำว่ากายเป็นสมมุติ เห็นมั้ย พอมันเห็นในกายไม่มีกาย เห็นไม่มีกายในกาย ...มันเหลือแต่อะไรว่างๆ อยู่ในนั้น...ว่างจากภาษา ว่างจากสมมุติบัญญัติ ว่างจากความหมายใดๆ ทั้งสิ้น

ขนาดนั้นยังไม่สุดเลยนะ ในส่วนของธรรมที่เรียกว่า “กาย” นี่ ...เดี๋ยวมันก็วึ้บ..ดับ วึ้บ..ดับ เปลี่ยน..ดับๆ นั่น จากที่ว่าไม่มีบัญญัติ ไม่มีสมมุติแล้วนี่ ...มันไม่มีอะไรจริงๆ ในนั้นเลย...สูญ

นั่น อนัตตา...กายเป็นอนัตตา เห็นกายในกายเป็นอนัตตา อะไรๆ ที่อยู่ในกายนี้เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตนที่แท้จริง แป๊บหนึ่ง ชั่วคราว ดับ สูญ ตลอด

นั่น ตั้งมั่นอยู่ที่ตรงนี้ แล้วก็เห็นกายเป็นกาย รู้กายเห็นกาย แล้วก็เห็นกายในกาย แล้วก็เห็นที่สุดของกาย...กายนั้นดับ จะเห็นกายดับ ...มันดับตรงสมมุติก่อน แล้วมันดับในตัวของมันเองอีกทีหนึ่ง

เหมือนกันหมด จากนั้นไป เวทนา จิต ธรรม...เรื่องเดียวกัน ธรรมเดียวกัน เป็นอันเดียวกันทั้งรูปและนามอย่างนั้นแหละ ...ปัญญามันก็จะแทงเข้าไปตลอด ในกายนี้ ในนามนี้ ในรูปนี้ในนามนี้

เพราะนั้นถ้าดูกายละเอียดไปเรื่อยๆ นี่ อยู่ในที่อันเดียวในกายนี่ ไม่ออกไปนอกอื่นเลยนี่ ...ต่อไปนี่ จะเห็นรูปกายดับ มันจะไม่มีทรวดทรงหลงเหลืออยู่ ไม่มีรูปทรงรูปร่างหน้าตาเหลือเลย

เพราะเวลาเราเห็นนี่ มันจะติดขึ้นมาด้วยรูปที่จำได้ ว่ารู้สึก ว่าไหว ...มันจะเห็น รู้สึกเห็นถึงภาพของแขนไหว แล้วก็จะมีความรู้สึกในแขนนี่ไหว เข้าใจไหม 

เพราะนั้นมันยังไม่ใช่กายจริงๆ เป็นรูปกายเข้ามาประกอบด้วยสัญญา ...ยังมีจิตปรุงแต่งด้วยนะ ขนาดเห็นขนาดนี้ ก็ยังแอบมีจิต ...เห็นมั้ยว่าธรรมยังเคลื่อนอยู่นะ

ธรรมมันยังเคลื่อนอยู่ คือกายนี้ยังเคลื่อนจากความเป็นจริงอยู่ ด้วยการเข้าไปปรุงแต่งของความไม่รู้ ...มันก็เลยไปว่าแขนนี่ไหว ยังมีความรู้สึกว่าแขนนี่ไหว

ดูไปเรื่อยๆ ตรงที่ความรู้สึกที่กายตรงลงไปๆ จะเหลือแค่ความรู้สึกล้วนๆ ...รูปกาย รูปนี่มันจะบางลงๆ จนไม่มีรูปกาย เหลือแต่ความรู้สึกทางกายล้วนๆ ที่ไม่มีคำพูด ไม่มีภาษา เป็นกายวิเวก

เหมือนหนาว เย็น นี่ ถ้าไม่ต้องไปคิดไปปรุงอะไรเลยนะ จับปุ๊บนิ่งปุ๊บกับหนาวนี่ ...มันจับต้องไม่ได้เลย ไม่มีที่ตั้งน่ะ มันเป็นแค่ความรู้สึกหนาวๆ ขึ้นมาเท่านั้นน่ะ

ไม่มีหนาวแขน หนาวขา หนาวหน้า หนาวมือเลย  มันเป็นหนาวจริงๆ ที่ปรากฏขึ้นเท่านั้นเอง..กับรู้ ...ถ้ามันเห็นกายตรงลงไปที่กายนะ มันทะลุผ่านรูปไปเลยน่ะ

ปัญญามันแทงแล้วทะลุผ่านรูปไปเลย แล้วมันก็สักแต่ว่าหนาว กายเหลือสักแต่ว่าหนาว ...แล้วตรงนั้นน่ะ จากหนาวไปนี่กลวง ไม่มีแก่น ไม่มีแก่นในหนาว กลวง โบ๋เบ๋

ถึงมันตั้งมันหนาวอยู่ ก็กลวง ตั้งแบบกลวงๆ ...เพราะมันเห็นข้างในหนาวนั้นอีก...ไม่มีอะไรในหนาว ไม่มีตัวตนในหนาวที่แท้จริง มันเป็นแค่ตั้งอยู่กลวงๆ

มันทะลุเข้าไปถึงความว่าว่าง ความว่าสูญ ตลอด ไม่มีอะไรเป็นสาระในอาการที่ตั้งอยู่...ไม่ว่าจะสมมุติว่ากายหรือสมมุติว่านาม

ขันธ์ห้านี่เป็นขันธ์ห้าโดยสมมุตินะ ...พอทำลายสมมุติบัญญัติของขันธ์ห้าแล้วนี่ จึงจะเห็นขันธ์ห้าตามความเป็นจริง จนถึงที่สุดของความจริง...คือไม่มีขันธ์ห้า ทั้งสมมุติและทั้งปรมัตถ์

ความรู้พวกนี้ ความเห็นพวกนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากนึก คิด น้อม จำ วิเคราะห์ คิดหา ...เกิดจากญาณทัสสนะ คือรู้และเห็นด้วยใจที่เป็นกลาง นั่น เข้าใจคำว่าสัมมาทิฏฐิไหม แปลว่ารู้ชอบเห็นชอบ 

รู้กายเห็นว่าเป็นกายนี่ก็สัมมาทิฏฐินิดๆ  นี่ยังนิดๆ นะ ...พอเห็นเข้าไปในกายอีก ว่าไม่เห็นกายในกาย  นี่ก็สัมมาทิฏฐิสักครึ่งหนึ่งแล้ว รู้ชอบเห็นชอบครึ่งหนึ่งแล้วนะในคำว่า “กาย” นี้ 

พอเห็นกายไม่มีอะไรในกายแล้ว ว่าง ดับ สูญ  นั่นน่ะคือตัวตนที่แท้จริงของกาย คือสูญ ไม่มีอะไรในกายนี้...ทั้งสมมุติทั้งปรมัตถ์ ...นั่นแหละสัมมาทิฏฐิที่สุด รู้ชอบเห็นชอบโดยตรงที่สุด

เพราะนั้นสัมมาทิฏฐิจึงเป็นหนึ่ง รู้เห็นเป็นหนึ่ง...ไม่มีสอง ไม่มีความเห็นที่สองออกมาเลยในธรรม  จึงเรียกว่าเป็นหนึ่ง ธรรมนั้นเป็นหนึ่ง

แม้แต่สัมมาทิฏฐิเบื้องต้นก็ยังเป็นหนึ่ง แล้วมันก็เกลาหนึ่งนั้นลงไปเรื่อยๆ ...จนหนึ่งจนเรียกว่าหนึ่งจริงๆ โดยเที่ยงแท้โดยสัจจะ คือหนึ่งที่ไม่มีอะไรเลย เป็นหนึ่งนั้นแหละ

จึงจะเรียกว่าเป็นสัมมาทิฏฐิโดยสมบูรณ์ เข้าสู่ที่สุดของความรู้ชอบเห็นชอบ เพราะนั้น ไอ้ตรงนี้ ที่รู้แค่นี้ เห็นกายๆ  นี่เรียกว่าสัมมาอาชีโว เป็นการงานนะ ...อย่าออกนอกการงานนี้

เพราะนั้นไอ้ตัวที่มาจะทำการงานนี้ได้...ก็คือสติศีลสมาธิปัญญาเท่านั้น จึงจะมาทำงานนี้ได้ ...จนถึงที่สุดของผลงานก็คือสัมมาทิฏฐิ ที่สุดของสัมมาทิฏฐิ

ถ้ายังสงสัยว่ามันอะไรดี จะดูว่ามันเป็นยังไงดี จะเห็นมันเป็นอะไรดีนี่ ...นี่มันยังเป็นมิจฉาล้วนๆ แค่เข้าไปเจตนาคิด เจตนาเห็นกับมันนี่

คือธรรมดาที่มันอยู่กับเรามาตั้งแต่เกิดนี่ มันถูกพอกเอาไว้น่ะ ...เหมือนโยมโบ๊ะหน้านี่ คือตื่นนอนขึ้นมามันโบ๊ะหน้ามาตั้งแต่เกิดน่ะ คือฟังโฆษณามามาก เขามีสารพัดครีม

มีเดย์ครีม มีกันฝ้ากันแดด กันเปื้อนกันซึม โอ้ย มีหลายกัน ไม่รู้มันจะกันอะไรนักหนา นี่ เอาแล้ว ได้ยินมามาก โฆษณามันแรง คนใช้เขาก็มาสนับสนุนว่าเห็นผล ...ก็เอาเลย ซ้ำลงไป โบ๊ะ โปะ ปิด บัง กัน

แล้วเดินไปเดินมากันนี่ เหมือนลิเกหลงโรงว่ะ ตลก แต่มันเดินยิ้มแป้นกันทั้งโลกเลย ...แต่จริงๆ เหมือนลิเกมันหลงโรงอยู่ เอ้า หัดล้างหน้าซะบ้าง ...แค่ล้างหน้าออก แล้วมันก็จะเจอโดยธรรมชาติที่มันเกิดมา

ที่ว่านี่ของเรา เราเป็นหญิง เราเป็นชาย เราสวย เราหล่อ เราไม่หล่อ มันติดมาตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว นี่ก็เรียกว่า ถ้าเรารู้แค่นี้ๆ ก็เรียกว่าเป็นสัมมาทิฏฐิเบื้องต้นแล้ว ...อย่ารู้เกินนี้ อย่าเห็นเกินนี้

แล้วก็ทำงานไป...ขัด เหมือนขัดออกน่ะ ไอ้ที่มันแต่งไว้ตั้งแต่เกิดนี่ เอาว่าหน้าแท้หน้าจริงมันหน้าไหนแน่วะ หน้ากูนี่ ...เหมือนกับเอาความเห็นผิดนี่ออก ชำระออก ขัดออก...ด้วยศีลสมาธิปัญญา

ทำงานเดียวนี่นะ ...ไม่ใช่ทำไปทำมา หยิบหนังสือมาอ่าน หาโบรชัวร์มาดู ฮึ กลัวว่าหน้าจริงจะไม่สวยเหมือนที่เขาเดินกัน หรือมันธรรมดาเกินไป มันต้องเมคอัพนิดนึง ...เอาแล้ว

ลิปมันหน่อยนึง เขียนคิ้วจึ๊กนึง นี่ ถึงจะดูไปวัดตอนสายๆ ได้ไม่เขินไม่อาย ...เห็นมั้ย มันติดธรรมนะ ติดสังขารธรรม ติดสภาวธรรมนะ ติดคุณธรรมนะ ติดดีนะ ติดภาพของนักปฏิบัติ

ผู้ใดลอกหนังหน้าออกหมด ถึงหน้าเดิมหน้าแท้หน้าจริง..ที่ไม่มีหน้าไม่มีตา ไม่มีตัวไม่มีตนแล้วนี่ ...พอมาเห็นพวกเหล่านี้ ก็ว่าตลกเว้ยเฮ้ย ลิเกเดินเต็มถนนเลย 

บางคนก็สวมชฎา บางคนก็ประดับเพชรประดับพลอยเข้าไปซะอีก ...โยมรู้สึกไหม โยมไปรู้สึกดูว่าเห็นคนหนึ่งแต่งลิเกแล้วเดินอยู่กลางถนน เดินในตลาดนี่ โยมมองด้วยอาการยังไง


โยม –  ตลกค่ะ

พระอาจารย์ –  แอบยิ้มด้วยนะ แอบนึกว่าบ้ารึเปล่าวะเนี่ย มันมาจากไหน  นี่ เวลาพระอริยะท่านมองคน ท่านเห็นเป็นอย่างงั้นนะ ...แต่คนมันก็บอกว่าหนูปกติดี ไม่เห็นเป็นอะไรเลย

แต่เวลาถ้าลอกหนังหน้าออกแล้ว ...ท่านลอกตัว ท่านลอกตน ท่านลอกความเป็นเรา ท่านลอกความเป็นของเราออกแล้ว  ท่านจะเห็นเลยว่า...ไอ้พวกนี้ผิดปกติ มันบ้า มันเมา กำลังเมา เมาเมคอัพ

อะไรเป็นเมคอัพ อะไรเป็นตัวแต่งเติมเสริมไว้...คือมิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นต่างๆ นานา ...แล้วมันก็สรรหาความเห็น ความคิด สร้างสรรค์แต่งแต้ม เติมสีสันเข้าไป ...นั่นแหละเขาเรียกว่าจิตปรุงแต่ง

นี่ ดูหนังสือนี่...พื้นเดิมของหนังสือคือกระดาษเปล่า ...แต่ถ้าวาดเขียนลงสีเข้าไปสิ มันก็มีข้อความปรากฏ มันมีรูปภาพปรากฏ นี่...เข้าใจคำว่าจิตปรุงแต่งไหม

หนังสือเล่ม มันปรากฏขึ้นอย่างนี้ ไม่เหมือนกัน นี่คือธรรมชาติของสิ่งที่ปรากฏขึ้นตามเหตุปัจจัยอันควร มันจะเป็นสีขาวก็ได้ มันจะเป็นขนาดนี้ อาจจะบางหรือหนากว่ากันก็ได้ อันนี้แล้วแต่มันปรากฏขึ้นมา 

แต่จากนี้เปิดเขียนใหม่ เติมเข้าไป ...แล้วแทนที่เราจะใส่ใจกับการดำรงคงปรากฏของความเป็นจริงตรงนี้ กลับไปใส่ใจกับข้อความรูปภาพในกระดาษ 

เห็นไหมว่าสิ่งที่แต่งแต้มเติมเข้ามานี่ มันมาปิดบังความเป็นจริงของอันนี้ ว่าธรรมชาติตามความเป็นจริงของมันคืออะไร ...มันก็เลยเกิดการให้ค่าให้สาระตามที่รูปภาพหรือข้อความในนี้ที่จะเขียนอะไร 

ทั้งหมดนี่เกิดจากอำนาจความปรุงแต่ง ทั้งจิตตัวเองนี้ที่ไม่รู้ และจิตคนอื่นที่ไม่รู้เหมือนกัน ...ก็เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่า นี่หนังสือเล่มนี้เขียนดี ข้อความในนี้ดี ข้อความในนี้ใช้ได้ ถูก 

แต่เราบอกว่า...นี่ มันเป็นแค่นี้ เราเห็นแค่นี้ ...นอกนั้นเราบอกว่า เติม และไม่จริง ไม่มีอะไรจริงนอกจากนี้ ที่เราถืออยู่ตรงนี้...ขันธ์ห้านี่ โลกนี่ เขาปรากฏเท่านี้ ...นอกนั้นไม่จริง 

เพราะนั้นที่ปรากฏตรงนี้ เราถือได้แป๊บเดียว ...ที่เห็นนี่ กายเป็นกายนี่ ไม่เหลือ ไม่เกินร้อยปี ไม่เหลือ นี่เห็นกายในกาย อันนี้จริงที่สุด

กว่าจะเริ่มไม่เชื่อถือตัวหนังสือตรงนี้ กว่าจะไม่เชื่อความเห็นของจิตปรุงแต่ง กว่าจะยอมรับว่ามันเป็นมิจฉาทิฏฐิ กว่าจะบอกว่ามันไม่จริงนี่ ...แทบรากเลือดนะ

เพราะคนในโลกเขาใช้กันมาแต่เนิ่นนานกาเล เราก็ใช้มาแต่เนิ่นนานกาเล กรรม สีสันวรรณะที่มันแต่งแต้ม จนเป็นความเคยชิน จนเป็นสันดาน

จนเหมือนว่าเป็นธรรมดา จนเหมือนว่ามันเป็นปกติของจิต ...แล้วใช้ประโยชน์จากมัน ได้ผลเป็นสุขเป็นทุกข์กับมัน  เกิดติดเกิดข้องในผลที่ได้ คือสุขบ้างทุกข์บ้าง


(ต่อแทร็ก 6/26  ช่วง 1)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น